×

ต่างกันอย่างไร มื้อเช้าของฉันและเธอ? นี่คือ 10 เมนูอาหารเช้าของคนทั่วโลก

31.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ท่องโลกผ่าน 10 เมนูอาหารเช้าแสนอร่อยของคนนานาชาติ

อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน คุณกำลังเตรียมตัวออกไปเรียนและไปทำงาน แต่อะไรวางอยู่บนโต๊ะอาหารของคุณตอนเช้า? จะเป็นข้าวต้มฝีมือแม่หรือหวานใจ หรือแซนด์วิชขนมปังโฮลวีตที่คุณเตรียมไว้เมื่อคืน หรือจะกาแฟสักถ้วยก็เอาอยู่? 

 

ด้วยความกลมเกลียวของวัฒนธรรมต่างๆ ที่หลอมรวมอยู่ในประเทศไทย ทำให้อาหารมื้อเช้าของเรามีความหลากหลาย จนกล่าวได้ยากว่า อาหารเช้าจริงๆ ของคนไทยคือเมนูข้าวเหนียวหมูปิ้ง ข้าวต้มผักดอง โจ๊กหมูเครื่องใน ไข่กระทะ หรือขนมปังกาแฟ แต่จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ สภาพภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่พัฒนาไปตามกาลเวลา ทำให้วัฒนธรรมการกินอาหารเช้าเป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงความเป็นตัวตนของแต่ละชนชาติได้อย่างที่น่าสนใจทีเดียว

 

แต่มื้อเช้าธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของแต่ละประเทศมีอะไรน่าสนใจบ้าง เราพาไปชมกัน

 

 

ออสเตรเลีย: Vegemite, mate! (mate เอ็มไม่ต้องใหญ่นะจ๊ะ)

วัฒนธรรมการออกไป ‘Brekkie’ หรือไปหม่ำมื้อเช้าของชาวออสซี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาหารเช้าในออสเตรเลียรับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมหลากหลาย จนพัฒนาไปในรูปแบบต่างๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย แต่สิ่งที่เรียกว่า ‘เวเจอไมต์ (Vegemite)’ ในโหลติดพลาสติกสีเหลืองคือสิ่งที่ต้องมีคู่บ้าน ซึ่งพวกเขานำมาทำเป็นขนมปังปิ้งทาเนย และทาเจ้าเวเจอไมต์เป็นอาหารเช้า อันเป็นเมนู ‘สิ้นคิด’ ที่ชาวออสซี่คุ้นเคย ส่วนหากคุณสงสัยว่า เวเจอไมต์นี้คืออะไร สิ่งนี้คือผลผลิตของยีสต์จากการหมักอาหารและเครื่องดื่มผสมกับสารสกัดจากผักและเครื่องเทศ มีสีน้ำตาลดำ รสชาติเค็มและขมเล็กน้อย มีรสอุมามิคล้ายซุปก้อน คนที่ชิม ถ้าไม่ชอบไปเลย ก็ขยาดไปเลย หากใครมีเพื่อนเป็นชาวออสซี่มาบอกให้ชิมขนมปังราดช็อกโกแลตอาจต้องเอะใจกันสักหน่อย ว่ากันว่าการกินเวเจอไมต์ให้อร่อย อยู่ที่สัดส่วนการทาเวเจอไมต์กับเนย ใครชอบทาอะไรมากกว่าให้ไปทดลองชิมดูได้

 

 

 

แคนาดา: แคนาดาไม่ใช่อเมริกา

ถ้าคิดถึงแคนาดา เราคงคิดว่า อาหารเช้าเขาคงไม่ต่างจากเพื่อนบ้านมากนัก แต่แคนาดามีความภูมิใจอย่างมากในวัตถุดิบท้องถิ่นที่ปัจจุบันมีอยู่ทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ต เช่นเดียวกับอเมริกันเบรกฟาสต์ แคนาเดียนเบรกฟาสต์นั้นมีสัดส่วนของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และผัก คล้ายๆ กับของชาวอเมริกัน แต่สิ่งที่คนแคนาดาหวงนักหนาคือ เมเปิลไซรัปและแคนาเดียนเบคอน ซึ่งเมเปิลไซรัปเป็นน้ำเชื่อมสีเหลืองทองที่ได้จากการแตกโมเลกุลแป้งซึ่งได้จากต้นเมเปิลมาเป็นน้ำตาล คล้ายน้ำผึ้งแต่เหลวกว่า และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว การผลิตเมเปิลไซรัปเชื่อกันว่า เป็นภูมิปัญญาของชาวพื้นถิ่นในทวีปอเมริกาเหนือมาช้านาน ส่วนแคนาเดียนเบคอน หรือ Back Bacon จะมีขนาดใหญ่กว่าเบคอนปกติ มีหัวกลมอุดมไปด้วยเนื้อแดง ไม่มีมันแทรกเป็นชั้นๆ อย่างเบคอนทั่วไป

 

 

 

เดนมาร์ก: ออกเสียง Smørrebrød ให้ถูกนะ

เราขอท้าให้คุณออกเสียงคำว่า Smørrebrød (คล้ายๆ ‘ชมอร์บรึด’) ให้ถูกต้อง เพราะนี่คือ Open Sandwich หรือแซนด์วิชแบบเปิดของชาวเดนมาร์กเขา ที่นอกเหนือจากอาหารเช้าทั่วไปอย่างขนมปังแบบเดนิช ซีเรียล และโยเกิร์ตแล้ว นี่เป็นแซนด์วิชที่มีขนมปังสองแผ่นประกบกัน ทำให้วางส่วนประกอบเป็นหน้าของแซนด์วิชได้เต็มที่ Smørrebrød ของเดนมาร์กนั้น เพื่อนบ้านอย่างสวีเดนเรียกว่า Smörgåsbord ส่วนนอร์เวย์เรียกว่า Smørbrød ซึ่งดั้งเดิมแล้วเป็นวัฒนธรรมการรับประทานบุฟเฟต์ที่มีขนมปังเป็นตัวชูโรงกับเครื่องเคียงเสิร์ฟเย็นเป็นตัวประกอบสำคัญที่ทำให้มื้ออาหารสมบูรณ์ 

 

แต่นี่อาจไม่ใช่เมนูที่ทุกบ้านรับประทานกัน และปัจจุบันได้มีการประยุกต์ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้เราเห็น Smørrebrød ที่ประกอบร่างสำเร็จได้ตามตู้ของร้านเบเกอรีให้ซื้อและรับประทานได้ง่าย เครื่องเคียงหรือหน้าของ Smørrebrød มีได้ตั้งแต่ไข่ต้มธรรมดา ปลาแฮริง แซลมอนรมควัน (หรือ Gravlax แซลมอนดองเค็มกับผักชีลาว) แฮม กุ้งค็อกเทล อะโวคาโด และอีกหลายสิ่งหลายอย่างตามที่แต่ละร้านจะรังสรรค์ ทำให้ Smørrebrød เป็นเมนูที่มีสีสันสวยงามน่ารับประทาน 

  

 

เอธิโอเปีย: แกงเนื้ออุ่นๆ ชนะใจ

ร่องรอยอารยธรรมอันร่ำรวยเมื่อหลายพันปีก่อน สะท้อนในอาหารเอธิโอเปีย

เอกลักษณ์อาหารเอธิโอเปียมักประกอบไปด้วยแกงเนื้อข้นๆ กลิ่นเครื่องเทศฉุนๆ เพื่อกลบกลิ่นคาว และแผ่นแป้งหนานุ่มชื่อว่า Injera (እንጀራ) ขนาดเท่าถาดที่เสิร์ฟนั่นแหละ ส่วนใครเป็นโรคกลัวจุด อย่าได้มอง Injera นานๆ เชียว อาหารเช้าที่เรานำมาเสนอชื่อว่า Injera Fit-Fit (እንጀራ ፍትፍት) เป็นเมนูพื้นฐานสำหรับพ่อบ้านแม่บ้านชาวพื้นถิ่น นำแป้ง Injera มาขยำผสมกับหัวหอม เนยละลาย และเครื่องเทศ Berbere (በርበሬ) สูตรเฉพาะของชาวเอธิโอเปีย หลังจากนั้นก็โปะหน้าด้วยเครื่องเคียงอื่นๆ เช่น ถั่วบดปรุงรสหรือสตูว์เนื้อที่เหลือจากเมื่อวาน อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเมนู Breakfast for Champions ที่ทำให้คุณมีพลังต่อสู้กับรถติด กับงานหนักๆ ได้แน่นอน และเมนูนี้ บางทีชาวเอธิโอเปียก็เรียกว่า Chechebsa

 

 

อินโดนีเซีย: คล้ายไทยกว่าที่คุณคิด

เราคงคุ้นเคยกับเมนูหมี่โกเร็ง (Mie Goreng) หมี่ผัดสารพัดเนื้อ หรือนาสิ เลอมัก (Nasi Lemak) ข้าวมันหุงกับกะทิเสิร์ฟพร้อมเนื้อต่างๆ และซอสพริกที่เรียกว่า ซัมบัล (Sambal) เผ็ดๆ แต่วันนี้เราขอนำเสนอเมนูอาหารเช้าที่ทำให้เรารู้ว่า สายใยประเทศเพื่อนบ้านเราใกล้ชิดกว่าที่เราคิด อย่างบูเบอร์ อายัม (Bubur Ayam) ที่แปลตรงตัวว่า ‘โจ๊กไก่’ รับประทานร้อนๆ กับเนื้อไก่ฉีก ต้นหอมซอย และหอมแดงเจียว เช่นเดียวกับโจ๊กบ้านเรา บูเบอร์ อายัมนั้นเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน แต่ละร้านจะนำเสนอเครื่องเคียงที่น่าสนใจต่างกันเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น ไก่สะเต๊ะ เกี๊ยวทอด ฟองเต้าหู้ทอด บ้างก็ใส่ไข่ ใส่ผักดองก็มี เมนูที่รับอิทธิพลมาจากชาวจีนนี้ หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมอินโด จนธุรกิจแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดบรรจุบูเบอร์ อายัมเป็นเมนูพิเศษที่หาได้แค่ในสาขาในประเทศอินโดนีเซีย

  

 

 

โมร็อกโก: ไข่กระทะที่เป็นมากกว่าไข่กระทะ

เมนูไข่กระทะและซอสสีแดงฉานท่วมชื่อ Shakshouka (شكشوكة‎) หรือชาชูก้า เป็นเมนูที่พบได้ทั่วไปในทวีปแอฟริกาเหนือ ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมการกินของชาวอาหรับ เห็นได้จากการใช้เครื่องเทศและการปรุงสตูว์ซึ่งใช้มะเขือเทศเป็นหลักในการทำซุป เป็นเอกลักษณ์ของอาหารที่พบได้ตั้งแต่ทวีปแอฟริกาเหนือไปจนถึงซีเรียและคาบสมุทรบอลข่านที่คำว่า ชาชูก้า เป็นศัพท์สแลงที่สื่อถึงการผสมและทำให้เกาะติดเป็นเนื้อเดียวกัน ชาชูก้าทำจากสตูว์มะเขือเทศรวมกับผักและเครื่องเทศ เมื่อเข้ากันดีต่อยไข่ใส่ลงไป (อย่าให้แตก ถ้าแตกเราโกรธนะ!) ปิดฝาหรือคลุมภาชนะให้ความร้อน อบให้ไข่สุกได้ที่ แล้วเสิร์ฟบนกระทะร้อนๆ โรยเครื่องเทศอย่างปาปริก้าป่นเพิ่มอีกนิด รับประทานกับขนมปังและชาสะระแหน่แสนสดชื่น

 

  

 

สกอตแลนด์: รู้จัก English Breakfast ดี แต่รู้จัก Scottish Breakfast หรือยัง

Scottish Breakfast หรือ Full Scottish เป็นจานอาหารเช้าแบบจัดเต็มที่ไม่เหมือน English Breakfast เสียทีเดียว และเช่นเดียวกับ American/Canadian Breakfast ทุกอย่างปรุงแยกกัน และมีสัดส่วนทางโภชนาการครบถ้วน จานนี้มีขนมปัง เบคอน ไส้กรอก ไข่ดาว ถั่วในซอสมะเขือ มะเขือเทศ และเห็ดย่าง ที่แตกต่างคือ สิ่งที่เรียกว่า แฮกกิส ซึ่งอาหารประจำชาติที่ชาวสกอตภูมิใจ แต่เป็นปริศนาสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักเอามากๆ… มักเสิร์ฟเป็นแว่นหนาๆ มีเนื้อสัมผัสเหมือนไส้กรอกสดผสมกับเม็ดธัญพืชแฮกกิส แท้จริงแล้วได้มาจากการแร่เนื้อแกะ (หรือสัตว์อื่นๆ) จำพวกเครื่องใน ผสมกับหัวหอม เครื่องเทศ และธัญพืชบดผสมกัน ห่อในกระเพาะของแกะ ลักษณะเดียวกับการทำไส้กรอกดั้งเดิม และรู้หรือไม่ว่า โจ๊กข้าวโอ๊ตราดน้ำผึ้ง (Porridge) ซึ่งเคยเป็นที่นิยมในสมัยก่อนในรูปแบบของผงชงสำเร็จ มีต้นกำเนิดที่สกอตแลนด์นะ

  

 

สวิตเซอร์แลนด์: ฟองดูไม่ใช่อาหารเช้า

เทรนด์รักสุขภาพมาพร้อมกับเมนูโยเกิร์ตพร่องมันเนย โรยด้วยผลไม้และธัญพืช (บางคนเรียกอาหารนก) Müesli หรือ Bircher Müesli (อ่านให้ถูกต้อง ‘เมิสลี’ นะครับ) ถูกคิดค้นโดยคุณหมอชาวสวิสเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ดั้งเดิมมักจะใช้นมเป็นฐาน และผลไม้สดและแห้งเป็นเครื่องโรย ปรุงด้วยน้ำผึ้งและผงอบเชย ก่อนจะพัฒนามาเป็นเมล็ดธัญพืชที่แช่ในนมสดไว้ข้ามคืนให้อ่อนตัว ปัจจุบันเมิสลีมีให้พบเห็นในรูปแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำโยเกิร์ตมาใช้ ผลไม้ตามฤดูกาลต่างๆ ล่าสุด เมนูอาหารสายสวยที่พวกเราคุ้นเคย Açai Bowl ที่มีพื้นฐานคับคล้ายคับคลา Bircher Müesli แต่มี Açai Berry เป็นตัวชูโรงแทน

 

 

Vietnam: Bánh Mì อาหารฝรั่งบนถนนเวียดนาม

เวียดนามมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับประเทศฝรั่งเศสมาเป็นเวลานาน บั๋นหมี่ (Bánh Mì) เป็นหนึ่งในมรดกตกทอดจากอิทธิพลของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาพร้อมคุณูปการต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่า เป็นการกร่อนคำจากภาษาฝรั่งเศสว่า *[2] Pain de Mie ซึ่งเป็นขนมปังขาวก้อนยาวหนานุ่ม ที่ชาวเวียดนามนำมาผ่ากลางและยัดไส้ต่างๆ ตามแต่ชอบ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของรถเข็นหรือร้านรวงในห้าง บั๋นหมี่ก็มีให้เห็นได้ทุกหัวถนนทั่วประเทศเวียดนาม เป็นเรื่องน่าสนใจที่ขนมปังซึ่งเป็นอาหารของชาวตะวันตก ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเอเชียอย่างเช่นที่เวียดนามนี้ได้อย่างกลมกลืน

 

 

ตุรกี: ขนมปังมีรู

ถ้าคุณได้ไปเที่ยวตุรกี จะเห็นพ่อค้าพร้อมถาดที่วางขนมปังกลมมีรูตรงกลางไว้เป็นชั้นสูงๆ ทูนไว้บนหัว นั่นแหละคือ Simit Kahvaltı เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกอาหารมื้อเช้า แปลตรงตัวว่า ก่อนกาแฟ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ซิมิต ที่จะว่าไปมันก็คือขนมปังเบเกิลแบบตุรกี นั่นคงทำให้คุณจินตนาการหน้าตาเมนูนี้ได้ง่ายขึ้น เมนูนี้เป็นขนมปังทำจากแป้งขาว ม้วนเป็นวงกลม โรยด้วยเมล็ดงาดำ หรือ Poppyseeds แล้วอบให้เหลืองหอม ว่ากันว่า ซิมิตมีจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ชาวออตโตมันมายาวนานกว่า 500 ปี *[1] ซิมิตกรอบนอกนุ่มใน สามารถนำมาเคียงกับเครื่องได้หลายชนิด เช่น ผัก ผลไม้ ชีส และโยเกิร์ต และนอกจากจะมีความผูกพันหยั่งรากลึกในวัฒนธรรมชาวตุรกี ปัจจุบันความนิยมเมนูนี้ทำให้มีเชนร้านอาหารที่มีซิมิตเป็นเมนูหลักดังไปทั่วโลก และมีการดัดแปลงสูตรให้รับประทานง่ายและคุ้นเคยชีวิตชาวตะวันตก เช่น ผ่ากลางและใส่ไส้ต่างๆ ให้เหมือนแซนด์วิช

 

 

ภาพ: Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising