วานนี้ (16 พฤศจิกายน) เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง ที่ Lima Convention Center ประเทศเปรู แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม APEC โดยมี ดินา โบลัวร์เต ประธานาธิบดีแห่งเปรู เป็นประธาน
พร้อมเปิดเผยภายหลังการประชุมนัดสุดท้ายก่อนพิธีปิดการประชุม APEC ครั้งที่ 31 อย่างเป็นทางการว่า ขอบคุณประธานาธิบดีเปรูและประชาชนชาวเปรูในการต้อนรับอย่างอบอุ่นตลอดการเดินทางมากรุงลิมา อีกทั้งขอขอบคุณในงานเลี้ยงอาหารค่ำต่อผู้นำ APEC เมื่อคืนที่ผ่านมา ที่เจ้าภาพเปรูเลี้ยงรับรองด้วยอาหารที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเปรูออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม และขอขอบคุณกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้กับสมาชิก APEC ทราบถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน
แพทองธารย้ำว่า โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน เชื่อว่า APEC เป็นเวทีที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอย่างมากระหว่างสมาชิก APEC ด้วยกัน และมั่นใจว่า ด้วยการทำงานร่วมกันของสมาชิกจะสามารถสร้างเวทีการแข่งขันที่เท่าเทียมกันและมีปัจจัยใหม่ๆ ในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกประเทศ โดยมีประชาชนและโลกเป็นศูนย์กลางที่จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
จากนั้นกล่าวถึงแนวคิดในการสร้างความร่วมมือและก้าวไปสู่เป้าหมายนี้ร่วมกันของประเทศสมาชิก APEC ว่า
- เราจะสร้างโอกาสสำหรับทุกคน โดยสมาชิก APEC จะทำงานร่วมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อบริหารจัดการกับเศรษฐกิจในระบบที่สมาชิกสามารถตกลงร่วมกันได้ ขณะเดียวกันประเทศไทยก็เข้าใจถึงความท้าทายในการบริหารการทำงานนอกระบบ เนื่องจากในประเทศไทยยังมีแรงงานและธุรกิจขนาดเล็กมากกว่าครึ่งที่อยู่ในการทำงานนอกระบบ
รัฐบาลไทยจึงดำเนินการแก้ไขเพื่อสนับสนุนให้เกิดการทำงานในระบบให้เติบโตในทุกมิติ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึง AI มาใช้เป็นกลไกสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านระบบการเงินดิจิทัลให้กลุ่มเปราะบางให้มีโอกาสทัดเทียมกันในการดำรงชีวิต โดยมีเป้าหมายในการขจัดความยากจน นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังพิจารณานำ Negative Income Tax ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่จะช่วยให้คนที่อยู่ในประเทศไทยทั้งที่เสียภาษีและไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี มาอยู่ในระบบฐานข้อมูลเพื่อจะจัดสรรประโยชน์จากรัฐที่เป็นธรรมมากที่สุด
สำหรับความร่วมมือของสมาชิก APEC นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ควรเพิ่มความเชื่อมโยงทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในภูมิภาค เพราะนอกจากจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันแล้ว ยังสามารถส่งเสริมการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนด้วยกันได้โดยง่าย โดยเฉพาะกลุ่ม Digital Nomad หรือกลุ่มคนที่มีธุรกิจค้าขายผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ APEC ควรจัดทำสิทธิพิเศษเป็นบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจ APEC อย่าง APEC Business Travel Card (ABTC) ในประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินทางค้าขายระหว่างกันมากขึ้นอีกด้วย
- ประเทศไทยมีแนวคิดส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางการค้า ดังนั้นการเตรียมพร้อมสำหรับ FTAAP จะเสริมสร้างขีดความสามารถในประเทศสมาชิกได้ โดยจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมถึง MSMEs และกลุ่มบุคคลทุกเพศทุกวัย ขณะเดียวกันประเทศไทยเชื่อว่าการสร้างสิ่งใหม่ๆ และพัฒนาโลกการเงินที่เรียกว่า ‘สร้างสถาปัตยกรรมทางการเงิน’ ที่สมดุลและยืดหยุ่นมากขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจได้รับการปกป้อง มีเสถียรภาพ ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้อีกด้วย
- APEC ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวตามเป้าหมายที่เคยประชุมร่วมกันที่กรุงเทพฯ หรือ BCG ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยวางแผนการเพิ่มพลังงานสะอาด 20 กิกะวัตต์ภายใน 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 โอกาสนี้ประเทศไทยจึงขอให้ APEC เป็นผู้นำในการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญในการเปลี่ยนไปสู่ BCG รวมทั้งสนับสนุนให้มีการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดและการค้าคาร์บอนเครดิตร่วมกัน ซึ่งไทยเชื่อมั่นว่า APEC สามารถเป็นผู้นำในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันได้
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า แม้จะยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากใน APEC แต่เชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้จะทำให้ APEC ใกล้บรรลุผลในการทำงานร่วมกันและใกล้ชิดประชาชนทุกประเทศมากขึ้น และขอแสดงความยินดีกับเปรูในความสำเร็จในการจัดการประชุม อีกทั้งประเทศไทยจะเฝ้ารอความคืบหน้าต่างๆ ในการประชุมอีกครั้งในโอกาสที่ประเทศเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพประชุมในครั้งต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับการประชุม APEC 2024 ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC (2) ถ้อยแถลง Ichma ว่าด้วยมุมมองใหม่ในการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก และ (3) แผนงาน Lima เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลกของ APEC ซึ่งถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นการประชุมอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ในการประชุม APEC CEO Summit นายกรัฐมนตรีมีโอกาสพบตัวแทนนักเรียนไทยที่เป็นอาสาสมัครและมาช่วยในการประชุม APEC ครั้งนี้ โดยสอบถามถึงการมาทำหน้าที่ช่วยเหลือการประชุม APEC ซึ่งนักเรียนอยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องทุนการศึกษา จึงตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่อยากให้เด็กไทยมีทุนการศึกษาที่มากขึ้น
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การไปศึกษาต่ออยากให้เป็นในสาขาวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจและเทคโนโลยีแห่งอนาคตให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการบริหารธุรกิจและการตลาด เพราะประเทศไทยมีดีอยู่แล้ว แต่เรื่องที่เป็นเทคโนโลยีล้ำหน้าอย่าง AI หากเราสามารถสนับสนุนตรงนี้ให้เด็กนักเรียนสามารถไปเรียนต่อในต่างประเทศได้ก็จะถือเป็นเรื่องดี
ก่อนสร้างความเชื่อมั่นถึงความชัดเจนเรื่องทุนการศึกษาที่จะมอบให้นักเรียนเพื่อไปเรียนต่อในต่างประเทศว่า จะชัดเจนเร็วๆ นี้แน่นอน