สิ่งหนึ่งที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ตามหน้าข่าวในตอนนี้คือการที่องค์การอาหารและยา หรือ อย. ออกมากล่าวถึงกรณีการโฆษณา ‘เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์’ ที่เป็นประเด็นยอดฮิตอยู่ในตอนนี้ แน่นอนว่ามันทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจของทั้งฝั่งผู้ผลิตเอง รวมไปถึงสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวเองก็ด้วย ทีนี้คำถามคือ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ว่านี้ผลิตขึ้นมาอย่างไร ทำให้ใครดื่ม รวมไปถึงสื่อและผู้ผลิตเองจะสามารถโฆษณาหรือนำเสนอเครื่องดื่มประเภทนี้ได้อย่างไรโดยไม่ผิดกฎหมาย
เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ของ Heineken 0.0 ในรูปแบบกระป๋อง
Photo: ABM Media
เครื่องดื่มมอลต์ ไม่ใช่เบียร์
เราสามารถพูดได้ตรงไปตรงมาว่าเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์นี้ไม่ใช่เบียร์ แต่มีกระบวนการผลิตที่คล้ายคลึงกัน ใช้วัตถุดิบที่เหมือนกันทั้งตัวตั้งต้นของการหมักไม่ว่าจะเป็น มอลต์ ฮอปส์ รวมไปถึงยีสต์ และหลังจากกระบวนการผลิตเสร็จสรรพ พวกเขาจะใช้เครื่องมือสกัดนำแอลกอฮอล์ออกให้เหลือต่ำกว่า 0.5 ดีกรีหรือไม่มีเลย อย่างที่เราเห็นในตัวผลิตภัณฑ์ของ Heineken 0.0 ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเร็วๆ นี้ หรืออีกแบรนด์หนึ่งที่วางขายมาโดยตลอดก็จะมีวิธีจัดการในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือการใช้ยีสต์หมักที่ไม่ก่อให้เกิดแอลกอฮอล์ตั้งแต่ในช่วงการผลิต ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือเครื่องดื่มมอลต์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ ให้รสชาติความหวาน และกลิ่นของมอลต์หมักอย่างครบถ้วน
ในแง่ของการโฆษณาซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่นั้น แน่นอนว่าทาง อย. ได้ทำหนังสือรับรองการโฆษณาของผลิตภัณฑ์นี้อย่างถูกต้องในชื่อ ‘เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์’ หรือ ‘เครื่องดื่มมอลต์ที่สกัดแอลกอฮอล์ออก’ ในปัจจุบันมีอยู่ในท้องตลาดกว่า 23 รายการ โดยสื่อและผู้ผลิตเองสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์นี้ได้อย่างถูกต้อง แต่ต้องไม่มีการอ้างอิงหรืออวดอ้างสรรพคุณว่าสิ่งนี้มีรสชาติคล้ายเบียร์แต่อย่างใด ซึ่งในหนังสือชี้แจงกรณีนี้จาก อย. เป็นคำชี้แจงของนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าการโฆษณาเครื่องดื่มประเภทนี้ ต้องไม่สื่อในทำนองที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงถึงเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมแสดงข้อความ ‘เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์/สกัดแอลกอฮอล์ออก’ ปรากฏคู่กับการแสดงภาพเครื่องดื่มดังกล่าวทุกครั้ง เพื่อความไม่เข้าใจผิดแก่ประชาชน เพราะตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ระบุว่าเบียร์ถูกจัดอยู่ในหมวดเดียวกันกับสุรา ซึ่งหมายถึงวัตถุทั้งหลาย หรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ สามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับสุรา ฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไรตามกฎหมายยืนยันว่าถ้าใช้คำว่า ‘เบียร์’ ก็จะหมายถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เสมอ
เราจะดื่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ไปทำไม?
แท้จริงแล้วไอเดียของผลิตภัณฑ์นี้ก็แทบจะไม่ได้แตกต่างกับเครื่องดื่มอื่นๆ ที่อยู่ในตู้ขายในร้านสะดวกซื้อเลย เพราะในเมื่อผลิตภัณฑ์นี้ระบุฉลากว่าเป็นเครื่องดื่มมอลต์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ฉะนั้นรูปแบบของเครื่องดื่มนี้ก็อยู่ในสถานะเดียวกันกับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั้งน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ ซึ่งการทำตลาดของ Heineken 0.0 เองก็เป็นเหมือนใบเบิกทางหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่อยากดื่มหนัก ไม่ชอบน้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ รวมไปถึงกลุ่มคนที่ไม่อยากได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ เนื่องด้วยเหตุผลของสุขภาพหรือปัจจัยอื่นๆ ในชีวิต แต่ยังต้องการรสชาติของมอลต์ที่เป็นเอกลักษณ์อยู่ ซึ่งก็นับเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ ที่จะสามารถทำให้พวกเขาสนุกกับการดื่มได้เหมือนเดิม เช่นกลุ่มผู้ปกครองที่มีลูกเล็ก กลุ่มคนทำงานที่อยากดื่มระหว่างวัน หรือกลุ่มคนที่กำลังดูแลสุขภาพตัวเอง
กิจกรรมในงานเปิดตัว Heineken 0.0 ที่น่าสนใจในแง่การสร้างภาพลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์
Photo: ABM Media
ชั้นเชิงในการนำเสนอ และการสร้างภาพลักษณ์
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของ Heineken 0.0 คือการนำเสนอผลิตภัณฑ์โดยพ่วงมากับกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ สามารถตอบโจทย์ของนักดื่มได้ในทุกช่วงเวลา ซึ่งในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของ Heineken 0.0 มีกิจกรรม 4 รูปแบบให้ได้ลองทำ ทั้งการออกกำลัง ทำงานบ้าน การเต้น การเล่นโยคะ รวมไปถึงการรวบรวมสติระหว่างทำงาน สื่อสารผ่านเกมที่จะให้คุณได้ลองรับโทรศัพท์ให้ทันจากโทรศัพท์กว่า 20 เครื่อง โดยต้องนับว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์แก่เครื่องดื่มดังกล่าวให้ออกมามีส่วนร่วมกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งยังสนุก และไม่ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์อีกด้วย
ความรับผิดชอบต่อสังคมและแนวทางการขาย
สิ่งหนึ่งที่ต้องยกให้ในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม คือการที่เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์นี้ ที่ถึงแม้ตัวผลิตภัณฑ์จะจดทะเบียนอย่างถูกต้องในแง่ของการเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่สามารถวางขายได้เฉกเช่นเครื่องดื่มอื่นๆ นอกเชลฟ์แอลกอฮอล์ แต่ Heineken 0.0 กลับเลือกวางขายอยู่บนเชลฟ์เดียวกับเบียร์ในร้านสะดวกซื้อ ทั้งยังจำกัดเวลาขายเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปกติทั่วไป รวมไปถึงจำกัดอายุผู้ซื้อที่จะต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป ด้วยเหตุผลหลักๆ คือไม่ต้องการสนับสนุนให้เยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะลิ้มลองรสชาติของผลิตภัณฑ์ก่อนวัยอันควร เกิดเป็นภาพที่ไม่ดีงาม เนื่องด้วยชื่อแบรนด์ที่ยังคงสื่อสารถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ตราไฮเนเก้น 0.0 จัดจำหน่ายแล้วในกว่า 38 ประเทศทั่วโลก และเพิ่งเปิดตัวในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศแรกในเอเชีย วางจำหน่ายเมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา
- กลุ่มบริษัท ทีเอพี เชื่อว่า เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์จะมีบทบาทมากขึ้น เมื่อผู้บริโภคกำลังปรับตัวเข้าสู่ไลฟ์สไตล์การดื่มแบบรับผิดชอบ การใช้ชีวิตอย่างสมดุล และไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการเติบโตของเซกเมนต์กลุ่มสินค้าไม่มีแอลกอฮอล์ (Zero Alcohol)