นับตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของคำสั่งศูนย์การค้า เหลือเพียงบางส่วนที่ยังเปิดได้อยู่ เช่น ร้านอาหารที่ต้องปิดโซนที่นั่งกินในร้าน เหลือเพียงการซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรี
‘เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป’ หรือ ZEN เชนร้านอาหารที่มีแบรนด์ในมือกว่า 15 แบรนด์ เช่น ZEN (ร้านอาหารญี่ปุ่น), AKA (ร้านปิ้งย่าง), On The Table (ร้านอาหารญี่ปุ่น), ตำมั่ว, Din’s (ร้านอาหารจีน), เขียง (ร้านอาหารจานด่วน) ฯลฯ ก็เป็นอีกรายที่ต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจจากที่เน้นกินในร้านมาเน้นให้บริการเดลิเวอรีแทน
บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า การปิดร้านในศูนย์การค้าบางส่วนได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่โชคดีมีร้านบางส่วนที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า กลุ่มนี้ไม่ได้กระทบ โดยได้มีการปรับครัวในร้านบางส่วนให้สามารถทำเมนูของร้านอาหารอื่นๆ ได้ เช่น ครัวเขียงจะเข้าไปแบ่งพื้นที่ครัวตำมั่ว, ครัวมุฉะอยู่ในพื้นที่ครัว ZEN เป็นต้น
ขณะเดียวกันในส่วนของแบรนด์เขียง ได้ปรับร้านให้เปิด 24 ชั่วโมงเป็นการชั่วคราว ผลตอบรับค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ เช่น ร้านที่เคยขายได้ 10,000 บาทต่อวัน เพิ่มมาเป็น 30,000 บาท หรือ 20,000 บาท เพิ่มมาเป็น 50,000 บาท
ส่วนภาพรวมของยอดขายเดลิเวอรีของทั้งเครือ เดิมมียอดขายเดลิเวอรีเฉลี่ย 10-15 ล้านบาทต่อเดือน คาดว่าช่วงนี้จะเพิ่มเป็น 40-50 ล้านบาท แต่ยอดขายไม่ได้สร้างเซอร์ไพรส์ได้เท่ากับลูกค้ารู้จักเบอร์คอลเซ็นเตอร์มากขึ้น
“ก่อนหน้านี้เราใช้งบโฆษณาค่อนข้างเยอะกับการโปรโมตเบอร์คอลเซ็นเตอร์ 1376 ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีการโทรเข้ามาเฉลี่ย 40-50 สายต่อวัน ส่วนใหญ่สั่งผ่านแอปพลิเคชันมากกว่า แต่ช่วงนี้ปรากฏว่ามีคนโทรเข้ามา 150-200 สาย บางรายโทรไม่ติดด้วยซ้ำ ถือเป็นข้อดีที่ทำให้เราไม่ต้องเสียเงินโปรโมต แต่คนรู้จักเบอร์คอลเซ็นเตอร์มากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม บุญยงยอมรับว่ายอดขายจากเดลิเวอรีไม่อาจทดแทนยอดขายทั้งหมดได้ เพราะเดลิเวอรีคิดเป็นสัดส่วนยอดขายเพียง 10-15% เท่านั้น ดังนั้นในช่วงที่ต้องปิดไม่ให้กินในร้าน ประเมินว่ายอดขายเมื่อเทียบกับช่วงปกติจะลดลงประมาณ 50% ซึ่งก่อนที่จะมีการระบาดของโรคที่รุนแรงขึ้น ยอดทราฟฟิกลดลงประมาณ 20% อยู่แล้ว
แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ZEN จึงใช้โอกาสที่คนอยู่ในบ้านไม่กล้าออกมากินข้าวนอกบ้านเพราะกลัวโรคโควิด-19 ทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ ‘ผูกปิ่นโต’ คล้ายๆ กับรูมเซอร์วิสที่โรงแรมมี เบื้องต้นจะใช้โมเดลนี้กับแบรนด์ Sushi Cyu ซึ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น โดยจะให้ทีมเดลิเวอรีออกไปประชาสัมพันธ์ในบริเวณที่มีคอนโดมิเนียม ซึ่งมีพื้นที่จำกัด ไม่สะดวกต่อการทำอาหารเอง
โดยลูกค้าสามารถสั่งอาหารเป็นเซตไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะมีพนักงานมาส่งตามช่วงเวลาที่กำหนด ไม่ต้องโทรไปสั่งเป็นครั้งๆ ไป เบื้องต้นมีให้เลือก 2 แพ็กเกจคือ 2 ครั้งต่อ 1 วันราคา 1,000 บาท หรือเฉลี่ยมื้อละ 500 บาท และ 14 ครั้งใน 1 สัปดาห์ เฉลี่ยมื้อละ 428 บาท โดยโมเดลธุรกิจใหม่นี้เริ่มทำแล้ว ต่อไปจะเริ่มทำโมเดลนี้กับอาหารไทยในอีก 2-3 วันต่อจากนี้
“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทถือโอกาสทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปในตัว เนื่องจากตอนนี้เรามองสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนแม่น้ำ เมื่อแม่น้ำไหลเปลี่ยนทิศแล้วจะไม่ย้อนกลับมาที่เดิม เราต้องดูว่าความชุ่มชื้นอยู่ที่ไหนก็ตามไป เพราะถ้าเราอยู่ที่เดิมก็จะเจอแต่ความแห้งแล้ง เช่นเดียวกันพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ตอนนี้หันมาสั่งเดลิเวอรีกันมากขึ้น น่าสนใจว่าหากผ่านช่วงนี้ไปแล้วจะยังไปกินที่ร้านอยู่ไหม เราก็ต้องเตรียมตัวหาลู่ทางใหม่ๆ ไว้ก่อน”
สำหรับช่วงนี้ซึ่งโควิด-19 ต่างส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ บุญยงกล่าวว่าทุกคนต่างได้รับผลกระทบหมด ยอดขายลดลงแน่ๆ ไม่มากก็น้อย สิ่งสำคัญคือต้องควบคุมค่าใช้จ่ายและจัดการกระแสเงินสดให้ดี สิ่งสำคัญที่ต้องทำตอนนี้คือ ‘เงินเข้าต้องเร็ว เงินออกต้องช้า’
ส่วนแผนการขยายสาขาและปรับปรุงร้านนั้น เบื้องต้นมองสถานการณ์ไว้ 2 รูปแบบคือ ถ้าเป็น V-Shape แผนธุรกิจเดิมจะดำเนินต่อไป แต่ถ้าเป็น U-Shape อาจจะต้องชะลอไปก่อน แต่ “ความยากคือต้องประเมินให้ดีว่าจุดที่กราฟกลับขึ้นมาจะเป็นช่วงไหน” บุญยงกล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า