การกลับสู่ชีวิตปกติหลังโควิด ทำให้เครื่องดื่มชูกำลังที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกกลับมาขายดีอีกครั้ง โดย Red Bull GmbH มีรายรับสูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว ขายได้มากกว่า 1.1 หมื่นล้านกระป๋อง
แน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการที่ Red Bull ขายดีขึ้นย่อมหนีไม่พ้น ‘ตระกูลอยู่วิทยา’ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเครื่องดื่มชูกำลังชื่อก้องโลกขึ้นมา Bloomberg ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ตระกูลอยู่วิทยามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 7.8 พันล้านดอลลาร์ หรือ 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาตระกูลเศรษฐีของเอเชีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตระกูล ‘อยู่วิทยา’ รับปันผล Red Bull กว่า 7.6 พันล้านบาท
- ฉีกลุคเครื่องดื่มสำหรับกลุ่มใช้แรงงาน TCP จับมือ Halls ออก ‘Red Bull Halls XS’ เครื่องดื่มชูกำลังสำหรับเจาะกลุ่ม Gen Z
- ผ่าอาณาจักรกระทิงแดงในไทย ทำไมจึงบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับ ‘บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา’
Bloomberg Billionaires Index ระบุว่า ณ วันที่ 14 มีนาคม ความมั่งคั่งของตระกูลอยู่วิทยาอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 9.3 แสนล้านบาท ซึ่งความร่ำรวยส่วนใหญ่มาจากการถือหุ้นใน Red Bull ด้วยสัดส่วน 51%
“เครื่องดื่มชูกำลังกลายเป็นสัญลักษณ์ของวิถีชีวิตที่แอ็กทีฟ” ไซมอน แชดวิก ศาสตราจารย์ด้านกีฬาและเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ Skema Business School ในปารีส กล่าว พร้อมเสริมว่า คนที่ออกกำลังกายอีกครั้งและกลับไปที่สำนักงานเพื่อทำงานเป็นเวลานานขึ้นจะต้องดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง
จากธุรกิจที่เริ่มต้นในประเทศไทย วันนี้ Red Bull ถือเป็นแบรนด์ระดับโลกที่มีทั้งทีมฟุตบอลและรถแข่ง ตลอดจนสนับสนุนกีฬาผาดโผน
“Red Bull เป็นหนึ่งในนักการตลาดด้านไลฟ์สไตล์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในสินค้าอุปโภคบริโภค” โฮวาร์ด เทลฟอร์ด ผู้จัดการอาวุโสด้านอุตสาหกรรมน้ำอัดลมของ Euromonitor International กล่าว “นั่นทำให้ Red Bull สามารถรักษาเอกลักษณ์ที่แข็งแกร่งและพรีเมียมในหมวดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เฟื่องฟู”
สิ่งที่น่าสนใจจากรายงานของ Bloomberg หากนับตระกูลอยู่วิทยารวมกับตระกูลเจียรวนนท์แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์และตระกูลจิราธิวัฒน์ที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มเซ็นทรัล จะพบว่า มีความมั่งคั่งรวมกันมากกว่า 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปี 2564
ถึงวันนี้ Red Bull จะเป็นยักษ์ใหญ่ในกลุ่ม Energy Drink ด้วยส่วนแบ่งในตลาดโลกกว่า 25.1% แต่ในวันที่ทายาทต้องขึ้นมาบริหารงานต่อ ต้องรับมือกับความท้าทาย ตั้งแต่การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงความกังวลเกี่ยวกับการใช้อำนาจเหนือตลาดในทางที่ผิดในยุโรป และข้อพิพาทเรื่องเครื่องหมายการค้าที่ยาวนานหลายปีในจีน
อ้างอิง: