×

ย้อนรอยวิกฤตเยเมน: จากความขัดแย้งภายใน สู่สมรภูมิสงครามตัวแทน

14.06.2019
  • LOADING...
yemen crisis

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • การเมืองและความขัดแย้งในเยเมนมีความซับซ้อนมากกว่าที่เราเห็น นอกจากกลุ่มฮูตีที่เป็นมุสลิมชีอะฮ์ทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลเยเมนมาตลอดแล้ว เยเมนยังเป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากกลุ่มอัลกออิดะห์แห่งคาบสมุทรอาระเบีย และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของประเทศ
  • ความจริงวิกฤตเยเมนคือปัญหาการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างตัวแสดงของกลุ่มฝ่ายต่างๆ ไม่ใช่ปัญหาความแตกแยกในนิกายศาสนา แม้ว่ากลุ่มฮูตีจะเป็นมุสลิมชีอะฮ์สายซัยดียะฮ์ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือ ขณะที่ฝ่ายผู้สนับสนุนประธานาธิบดีมันศูร ฮาดี จะเป็นมุสลิมซุนนีสายชาฟีอีย์ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ตาม
  • ชีอะฮ์สายซัยดียะฮ์มีความคล้ายคลึงกับซุนนีในเชิงเทววิทยามากที่สุดหากเทียบกับชีอะฮ์สายอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ ทั้ง 2 กลุ่มชนจึงมีลักษณะความปรองดองมากกว่าจะแตกแยก แต่ระยะหลังแนวโน้มความแตกแยกได้ก่อตัวขึ้นจากพัฒนาการทางการเมืองในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการขับเคี่ยวแข่งขันระหว่างอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย
  • กลุ่มฮูตีถูกมองจากพันธมิตรอาหรับว่าเป็นตัวแทนของอิหร่านในเยเมน ความร่วมมือระหว่างกันสร้างความหวาดระแวงต่อพันธมิตรอาหรับ จึงไม่แปลกที่เมื่อกลุ่มฮูตียึดอำนาจในเยเมน ซาอุดีอาระเบียและชาติพันธมิตรจึงเคลื่อนไหวเข้ามาแทรกแซงทันที

สถานการณ์สงครามเยเมนกลับมาเป็นที่สนใจของโลกอีกครั้ง หลังกลุ่มฮูตี (Houthi) ยิงขีปนาวุธถล่มสนามบินนานาชาติอับฮา ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มฮูตีได้อธิบายการกระทำครั้งนี้ว่าเป็นการตอบโต้กองทัพซาอุดีอาระเบียและพันธมิตร ที่ใช้ปฏิบัติการทางอากาศถล่มโจมตีเยเมนตลอดนับตั้งแต่ปี 2015

 

การโจมตีสนามบินดังกล่าวทำให้กระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์ว่า “กองบัญชาการกำลังพันธมิตรร่วมขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติการตอบโต้อย่างเร่งด่วน” พร้อมกล่าวหารัฐบาลอิหร่าน คือตัวการที่อยู่เบื้องหลังสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย

 

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 4 ปีที่แล้ว หรือเดือนมกราคม ปี 2015 เยเมนกลายเป็นประเทศที่ตกอยู่ในสภาพขาดเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคง จากการที่กลุ่มฮูตีได้ยกกำลังเข้าปิดล้อมสถานที่ราชการ และสถานที่สำคัญของรัฐบาลหลายแห่งในเมืองหลวงของเยเมน จนสามารถประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมาบริหารประเทศเองได้

 

เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้หลายประเทศต่างทยอยปิดสถานทูต พร้อมทั้งอพยพเจ้าหน้าที่กลับบ้านอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกัน ประธานาธิปดีมันศูร ฮาดี (Abdrabbuh Mansour Hadi) ซึ่งมีซาอุดีอาระเบียเป็นมิตร ก็ได้ย้ายที่ตั้งของรัฐบาลชั่วคราวไปอยู่ที่เมืองเอเดนทางภาคใต้ของประเทศ (“Al Qaida takes three Yemen towns days after US raid”: 2017) นั่นหมายความว่าขณะนี้เยเมนกลายเป็นประเทศที่มี 2 รัฐบาลที่กำลังแย่งชิงอำนาจระหว่างกัน

 

การยึดอำนาจของกลุ่มฮูตีคงไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ทำให้นานาชาติแห่ปิดสถานทูต และอพยพผู้คนของตัวเองกลับบ้าน อันที่จริงการเมืองและความขัดแย้งในเยเมนมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่เราเห็น นอกจากกลุ่มฮูตีที่เป็นมุสลิมชีอะฮ์ทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลเยเมนมาตลอดแล้ว เยเมนยังเป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากกลุ่มอัลกออิดะห์แห่งคาบสมุทรอาระเบีย (Al-Qaeda in the Arabian Peninsula) และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของประเทศ

 

การยึดอำนาจของกลุ่มฮูตีจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของปัญหาทางการเมืองในเยเมน แต่เป็นจุดเริ่มต้นของคลื่นความรุนแรงที่ได้เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น

 

yemen crisis

 

เท่าที่ผ่านมาประชาคมโลกไม่ค่อยให้ความสนใจกับสถานการณ์ในเยเมนมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะเยเมนเป็นประเทศที่ยากจนมากที่สุดในโลกอาหรับ และไม่ได้มีความสำคัญมากนักต่อการเมืองระหว่างประเทศ

 

แต่ถึงอย่างนั้น เยเมนก็เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นดินแดนที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลแดงกับมหาสมุทรอินเดีย มีเมืองท่าเอเดนที่แสดงบทบาทสำคัญต่อการค้าและการขนส่งของโลก โดยเฉพาะหลังจากที่มีการเปิดคลองสุเอซครั้งใหม่ในปี 1975 เรียกได้ว่าเรือเข้า-ออกคลองสุเอซแทบทุกลำต้องเทียบท่าที่เอเดนกันทั้งนั้น อีกทั้งเยเมนยังเป็นประเทศที่มีที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวเปอร์เซีย ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันทั้งหลาย ซึ่งเป็นแหล่งศูนย์กลางพลังงานของโลก

 

ขณะเดียวกัน ระยะหลังเยเมนยังได้รับความสนใจจากประเทศมหาอำนาจมากขึ้น จากการที่เยเมนถูกกล่าวอ้างว่าเป็นแหล่งซ่องสุมของอัลกออิดะห์แห่งคาบสมุทรอาระเบีย โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ระทึกขวัญวันคริสต์มาสปี 2009 ที่นักศึกษาวัย 23 ปี ชาวไนจีเรียจากประเทศเยเมน พยายามก่อวินาศกรรมบนเครื่องบินนอร์ทเวสต์แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน 253 ซึ่งไม่สำเร็จ เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ดึงความสนใจของมหาอำนาจที่กำลังประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย มาสู่ประเทศนี้อย่างจริงจัง (ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์: 2553)

 

สำหรับประเทศไทยแล้ว เยเมนถือเป็นมิตรประเทศที่สำคัญอีกประเทศหนึ่งของเราในตะวันออกกลาง เรานำเข้าน้ำมันจากเยเมนเป็นลำดับที่ 3 รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมาน และมีการค้าการขายระหว่างกัน ฉะนั้น การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาประกอบการวิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นไปในปัจจุบัน และแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของเยเมนขณะนี้

 

yemen crisis

 

ปัญหาเยเมนหลังรวมชาติเหนือ-ใต้

เยเมนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประวัติศาสตร์การเมืองที่แปลกไม่เหมือนใคร เพราะดินแดนแห่งนี้เคยถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วนมานานกว่า 200 ปี โดย ‘เยเมนเหนือ’ เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมัน (Ottoman Empire) ซึ่งเป็นอาณาจักรสุดท้ายของโลกมุสลิม ส่วน ‘เยเมนใต้’ นั้น เคยตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ สองดินแดนนี้เพิ่งเข้ามาผนวกรวมเป็นชาติเดียวกันเมื่อปี 1990 หรือประมาณ 29 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยมีกรุงซันอา (Sanaa) เป็นเมืองหลวง

 

แม้จะรวมตัวกันได้ในที่สุด แต่ความห่างเหินกันของประชาชน และความแตกต่างทางแนวคิดการเมือง รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละดินแดนที่กินเวลากว่า 200 ปี ย่อมส่งผลต่อความเป็นเอกภาพของพลเมืองในประเทศภายหลังจากที่รวมชาติได้สำเร็จ

 

ดินแดนของประเทศนี้ (บางส่วน) ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอาระเบีย เป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุก ทำให้การเพาะปลูกแบบขั้นบันไดได้ผลดี แม้จะเป็นดินแดนที่อยู่ติดประชิดกับประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียทั้งหลาย แต่เยเมนกลับเป็นดินแดนที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ไม่มากนัก ถึงอย่างนั้น เยเมนก็เป็นดินแดนที่สำคัญในอดีต เพราะเคยเป็นศูนย์กลางการค้าที่ผูกขาดการค้าอบเชยและเครื่องเทศมาก่อน และด้วยสภาพที่ตั้งของประเทศทำให้เยเมนเป็นศูนย์รวมของเครื่องเทศที่ขนส่งมาจากอินเดียและแอฟริกา ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์เยเมนก็มีอายุยาวนานร่วม 4,000 ปี จึงเป็นดินแดนที่มีวิวัฒนาการด้านอารยธรรมไม่แพ้ชนชาติอื่นๆ และเป็นดินแดนที่มหาอำนาจชาติต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามายึดครองในแต่ละยุคแต่ละสมัย

 

ประเทศเยเมนปัจจุบันมีเนื้อที่ 527,970 ตารางกิโลเมตร จัดเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของคาบสมุทรอาระเบีย รองจากซาอุดีอาระเบีย มีเมืองหลวงชื่อซันอา ซึ่งขณะนี้อยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มฮูตี (Houthi) ซึ่งเป็นมุสลิมชีอะฮ์สายซัยดียะฮ์ (Zaidiyyah) ประเทศเยเมนมีเกาะในทะเลอยู่ประมาณ 200 เกาะ โดยเกาะโซโคตราซึ่งอยู่ห่างไปทางใต้ของประเทศประมาณ 350 กิโลเมตรนอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด ประชากรของเยเมนมีอยู่ประมาณ 28.25 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม ทั้งที่เป็นซุนนีและชีอะฮ์

 

เยเมนหลังรวมชาติระหว่างเหนือ-ใต้ยังคงเป็นประเทศที่เกิดปัญหาตามมามากมาย การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1990 นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ อันเป็นความร่วมมือกันระหว่าง ‘สภาที่ประชุมใหญ่ประชาชน’ (Popular General Congress: พีจีซี) ซึ่งมีประธานาธิบดี อาลี อับดุลลอฮ์ ซอและฮ์ เป็นผู้นำ กับ ‘พรรคสังคมนิยมเยเมน’ (Yemeni Socialist Party: วายเอสพี) หรือกลุ่มการเมืองของเยเมนใต้ในอดีต การรวมตัวกันดังกล่าวสร้างความกังวลให้แก่ซาอุดีอาระเบีย เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะซาอุดีอาระเบียมีความขัดแย้งเรื่องพรมแดนกับเยเมนมาตลอด

 

ทั้งนี้ เยเมน (เหนือ) ไม่เคยให้การยอมรับการที่ซาอุดีอาระเบียผนวกเอาดินแดนญิซาน (Jizan) อะซีร (Asir) และนัจรอน (Najron) ไปเป็นของตนเอง อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะซาอุดีอาระเบียเคยให้การสนับสนุนราชวงศ์กษัตริย์ (ระหว่างปี 1962-1970) ในการต่อสู้กับรัฐบาลเยเมน (เหนือ) มาก่อน

 

yemen crisis

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยิ่งเลวร้ายลงหลังสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1990 เพราะเยเมนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับกองกำลังผสมระหว่างประเทศ (นำโดยสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย) ในการต่อต้านและขับไล่กองทัพอิรักให้ออกไปจากคูเวต ทำให้ซาอุดีอาระเบียขับไล่ชาวเยเมนที่อาศัยและเป็นแรงงานอยู่ในซาอุดีอาระเบียมานานนับสิบๆ ปีจำนวน 800,000 คนออกจากประเทศ ส่งผลให้เยเมนสูญเสียรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล กลายเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลเยเมนอย่างมาก นอกจากนั้น ซาอุดีอาระเบียยังยกเลิกเงินช่วยเหลือต่างๆ ที่เคยให้เยเมนอีกด้วย (Laura Etheredge: 2011)

 

ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 27 เมษายน 1993 และพรรคที่ได้รับชัยชนะคือ ‘พีจีซี’ แต่ความตึงเครียดระหว่างประชาชนทางเหนือ-ใต้ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสมาชิกแรงงานสังกัดพรรค ‘วายเอสพี’ จำนวนกว่า 10 คนถูกลอบสังหาร ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม 1994 กองกำลังทหารจากทางเหนือของประเทศได้เคลื่อนตัวข้ามเขตที่เคยเป็นพรมแดนระหว่างเหนือกับใต้ อันนำไปสู่สงครามกลางเมือง แต่สุดท้ายสงครามครั้งนี้ก็สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 1994 (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน John Pike: 2011)

 

หลังสงครามกลางเมือง บทบาททางการเมืองของกลุ่มวายเอสพีก็หมดลง และถูกแทนที่ด้วยกลุ่มอัล-อิสละห์ (Al-Islah) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน 1990 โดยการรวมตัวของตัวแทนจากพันธมิตรที่เป็นพลังทางสังคม-การเมืองของประเทศ 3 ฝ่าย ได้แก่ ตัวแทนชนเผ่า ชนชั้นกลาง และขบวนการภราดรภาพมุสลิม อันเป็นกลุ่มที่นับวันก็ยิ่งมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น

 

ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองอยู่นั้น ซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนฝ่ายคอมมิวนิสต์ (หรือวายเอสพี) ทางตอนใต้ เพื่อทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในเยเมน แต่หลังจากที่คอมมิวนิสต์พ่ายแพ้ คนเหล่านี้จึงลี้ภัยไปอยู่ในซาอุดีอาระเบีย เยเมนและซาอุดีอาระเบียเกือบต้องทำสงครามระหว่างกันอีกในช่วงต้นปี 1995 โชคดีที่ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้เสียก่อน การฟื้นความสัมพันธ์ขั้นปกติเกิดขึ้นเมื่อเยเมนให้การยอมรับสนธิสัญญาตออีฟ (Taif Treaty) ซึ่งยินยอมให้ซาอุดีอาระเบียผนวกเอาดินแดนเยเมนเหนือบางส่วนมาเป็นของตน ขณะที่การทำข้อตกลงกำหนดเขตพรมแดนระหว่างกันก็เสร็จสิ้นลงในปี 2000

 

ในภาพรวมหลังการรวมชาติแล้ว นอกจากเยเมนจะต้องเผชิญกับปัญหาการแบ่งแยกของประชาชนระหว่างดินแดนทางภาคเหนือและใต้ และปัญหาความสัมพันธ์ที่ยุ่งยากระหว่างรัฐบาลกับขบวนการนิยมแนวทางอิสลามภายใต้การนำของกลุ่มอิสละห์ ซึ่งรัฐบาลตีตัวออกห่างมาตั้งแต่ปี 1997 แล้ว ความพยายามในการสร้างเอกภาพภายในชาติยังเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า อันเกิดจากการเมืองระบบชนเผ่าที่รัฐบาลต้องคอยระแวดระวัง และต้องสร้างความสมดุลภายในกลุ่มก้อนทางสังคมอยู่ตลอดเวลา

 

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น สถานการณ์ได้ผลิกผันไปหลังเหตุการณ์ 9/11 ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลเยเมนได้นำตัวเองเป็นภาคีกับสหรัฐฯ ร่วมมือในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สหรัฐฯ เสนอเงินงบประมาณช่วยเหลือ เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลเยเมนต้องดำเนินการปราบปรามเครือข่ายนักรบของขบวนการอัลกออิดะห์ ตลอดจนการสร้างความร่วมมือทางการทหารระหว่างกัน เพื่อต่อสู้กับเครือข่ายของอุซามะห์ บิน ลาดิน และการปรับปรุงระบบความมั่นคงที่บริเวณท่าเรือ และสนามบินของประเทศ ผลตอบแทนจากความร่วมมือนี้ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ อนุมัติเงินช่วยเหลือเยเมนเป็นจำนวนมาก

 

ความจริงเยเมนเป็นประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน เพราะถึงแม้ประเทศจะค้นพบแหล่งน้ำมันสำรองทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 438,000 บาร์เรลต่อวัน แต่เยเมนก็ยังเป็นประเทศที่พึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลัก และยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก

 

yemen crisis

 

วิกฤตเยเมน: จากความขัดแย้งภายในสู่สงครามตัวแทน

ปัจจุบันเยเมนกลายเป็นประเทศที่เผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ การต่อสู้ระหว่างกองกำลังของกลุ่มฮูตี (Houthi) ซึ่งมีฐานกำลังอยู่ทางภาคเหนือ กับกองกำลังที่สวามิภักดิ์ต่อประธานาธิบดีมันศูร ฮาดี ซึ่งได้แรงสนับสนุนจากมวลชนภาคใต้ของประเทศ ได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อดินแดนในคาบสมุทรอาหรับแห่งนี้ มิหนำซ้ำกองทัพพันธมิตรชาติอาหรับอย่างน้อย 10 ประเทศ นำโดยซาอุดีอาระเบีย ยังได้เข้ามาถล่มโจมตีทางอากาศเพื่อสกัดกั้นการรุกคืบของกลุ่มฮูตี โดยอ้างความชอบธรรมที่ประธานาธิบดีฮาดีเรียกร้องขอความช่วยเหลือ

 

วิกฤตเยเมนครั้งนี้เกิดจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญคือกระแส ‘อาหรับสปริง’ (Arab Spring) ซึ่งนำเยเมนเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนับตั้งแต่ปี 2011 หลังประธานาธิบดีอาลี อับดุลลอฮ์ ซอและฮ์ ถูกมวลชนขับไล่ออกไป ก็มีการกำหนดกรอบเส้นทางสู่การปฏิรูปการเมือง แต่สุดท้ายหมุดหมายในการปฏิรูปก็หยุดชะงักเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาหลัก 2 ประการด้วยกัน หนึ่งคือรายละเอียดในระบบการแบ่งสรรอำนาจ โดยเฉพาะการรวมเอากลุ่มฮูตีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างการเมืองการปกครอง กับอีกหนึ่งปัญหาคือการกำหนดเขตแดนของรัฐต่างๆ หากประเทศจะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นสหพันธรัฐ

 

เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ใน 2 ประเด็นใหญ่นี้ ประเทศก็เข้าสู่ทางตันทางการเมือง ตลอดช่วงเวลาที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนี้ กลุ่มฮูตีได้อาศัยความอ่อนแอของรัฐไล่รุกขยายปฏิบัติการทางทหาร แต่จังหวะเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อจริงๆ คือตอนที่รัฐบาลสั่งยกเลิกมาตรการช่วยเหลือพลังงานแก่ประชาชน จนเกิดความไม่พอใจขึ้นทั่วทุกหัวระแหง กลุ่มฮูตีเริ่มระดมพลของตนเองเข้ามาประท้วงในเมืองหลวง ยกระดับการเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นยึดเมืองหลวงได้ และนำไปสู่การยึดอำนาจจากรัฐบาลของประธานาธิบดีมันศูร ฮาดีในที่สุด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน Mareike Transfeld: 2014)

 

yemen crisis

 

ความจริงวิกฤตเยเมนคือปัญหาการแย่งชิงอำนาจการเมืองระหว่างตัวแสดงของกลุ่มฝ่ายต่างๆ ไม่ใช่ปัญหาความแตกแยกในนิกายศาสนา แม้ว่ากลุ่มฮูตีจะเป็นมุสลิมชีอะฮ์สายซัยดียะฮ์ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือ ขณะที่ฝ่ายผู้สนับสนุนประธานาธิบดีฮาดี จะเป็นมุสลิมซุนนีสายชาฟีอีย์ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ตาม

 

ทั้งนี้ชีอะฮ์สายซัยดียะฮ์มีความคล้ายคลึงกับซุนนีในเชิงเทววิทยามากที่สุดหากเทียบกับชีอะฮ์สายอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้ง 2 กลุ่มชนจึงมีลักษณะความปรองดองมากกว่าจะแตกแยก มีการแต่งงานข้ามกลุ่มกัน ใช้มัสยิดเป็นที่ละหมาดอย่างผสมปนเป ไม่ได้มีการแบ่งแยก และไม่เคยมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างนิกายศาสนาแม้แต่ครั้งเดียวมาก่อน

 

แต่ระยะหลังแนวโน้มความแตกแยกได้ก่อตัวขึ้นจากพัฒนาการทางการเมืองในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการขับเคี่ยวแข่งขันระหว่างอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย กลุ่มฮูตีถูกมองจากพันธมิตรอาหรับว่าเป็นตัวแทนของอิหร่านในเยเมน แม้จะไม่มีความชัดเจนมากนักถึงระดับความช่วยเหลือที่มาจากอิหร่านทั้งด้านการเงินและอาวุธ แต่ที่ผ่านมากลุ่มฮูตีได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการเข้าเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน เช่น มีการเจรจาเปิดสายการบินระหว่างเตหะรานกับเยเมน มีการเยือนอิหร่านของผู้นำระดับสูงของเยเมนเพื่อขอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ก้าวย่างอย่างนี้สร้างความหวาดระแวงต่อพันธมิตรอาหรับ จึงไม่แปลกที่เมื่อกลุ่มฮูตียึดอำนาจ ซาอุดีอาระเบีย และชาติพันธมิตรจึงเคลื่อนไหวเข้ามาแทรกแซงทันที

 

สำหรับประเทศเยเมนแล้ว แม้จะไม่เกิดวิกฤตความรุนแรงขึ้นเหมือนอย่างที่เกิดทุกวันนี้ เยเมนก็ถือเป็นประเทศที่กำลังเดินหน้าสู่ปัญหามนุษยธรรมร้ายแรงอยู่แล้ว เยเมนนำเข้าอาหารจากโลกภายนอกกว่าร้อยละ 90 เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในหลายหัวเมือง ผู้คนอยู่ในสภาพหิวโหย เป็นโรคขาดสารอาหารที่ขยายตัวไปทั่วประเทศ วิกฤตสงครามครั้งนี้มีแต่จะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ขณะที่การถล่มโจมตีทางอากาศของพันธมิตรอาหรับภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบียก็ยิ่งสร้างความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภคของประเทศ

 

การใช้กำลังทางทหารเข้าห้ำหั่นต่อสู้กันดูเหมือนจะไม่สามารถแก้ปัญหาเยเมนได้ เพราะยังมองไม่เห็นว่าฝ่ายไหนจะสามารถกำชัยชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ประชาชนเกิดความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างรุนแรง การเข้าแทรกแซงโดยซาอุดีอาระเบียก็ยิ่งทำให้ความรุนแรงและความขัดแย้งในเยเมนดำเนินต่อไปอย่างยืดเยื้อยาวนาน จนอาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง และบริเวณพื้นที่ศูนย์กลางแหล่งพลังงานโลกอย่างอ่าวเปอร์เซียได้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising