×

World Cup Memo Day 4: จากชัยชนะในมังงะ สู่ชัยชนะในโลกของความเป็นจริง

24.11.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้วตลอดมาเยอรมนีคือชาติที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเหมือน ‘ลาสบอส’ มาโดยตลอด เพราะในช่วงที่ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ได้เริ่มเขียนมังงะที่กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวอาทิตย์อุทัยในช่วงปี 1981 เยอรมนีซึ่งขณะนั้นยังเป็นเยอรมนีตะวันตกอยู่คือชาติมหาอำนาจของเกมลูกหนัง
  • มันชวนจินตนาการให้คิดถึงสิ่งที่ ฮาจิเมะ โมริยาสุ โค้ชที่เคยเป็นมือขวาของ อากิระ นิชิโนะ ในฟุตบอลโลกคราวที่แล้ว (ก่อนที่นิชิโนะจะได้มาคุมทีมชาติไทยในเวลาต่อมา)​ ได้พยายามปลุกเร้าลูกทีม เช่นกันกับในการพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการส่งขุนพลที่มีสับเปลี่ยนลงไปในสมรภูมิ

ตามสถิติที่มีการบันทึกไว้ ทีมชาติญี่ปุ่นลงสนามไม่เคยพ่ายแพ้ให้กับทีมชาติเยอรมนีเลยแม้แต่ครั้งเดียว

 

ในการพบกันครั้งแรกนัดชิงชนะเลิศของศึกฟุตบอลยุวชนโลกรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ญี่ปุ่นเอาชนะเยอรมนีได้อย่างสุดมัน 3-2

 

จากนั้นญี่ปุ่นได้พบกับทีมชาติเยอรมนีอีก 2 ครั้ง ซึ่งจบลงด้วยการเสมอกัน 2-2 และอีกครั้งในรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี คราวนี้เป็นเกมระดับ Epic ที่ญี่ปุ่นเอาชนะได้อย่างดุเดือดเลือดพล่านด้วยสกอร์ถึง 7-5

 

เพียงแต่สถิติดังกล่าวไม่ได้เป็นสถิติในโลกของความเป็นจริง แต่เป็นสถิติที่เกิดขึ้นในมังงะระดับตำนานอย่าง Captain Tsubasa ที่เป็นการปะทะกันระหว่าง โอโซระ ซึบาสะ ผู้มีลูกฟุตบอลเป็นเพื่อน กับ คาร์ล-ไฮนซ์ ชไนเดอร์ ศูนย์หน้าเจ้าของลูกยิง ‘ไฟเออร์ช็อต’ ที่เป็นหนึ่งในสุดยอดนักเตะที่เก่งที่สุดของโลก

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้วตลอดมาเยอรมนีคือชาติที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเหมือน ‘ลาสบอส’ มาโดยตลอด เพราะในช่วงที่ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ได้เริ่มเขียนมังงะที่กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวอาทิตย์อุทัยในช่วงปี 1981 เยอรมนีซึ่งขณะนั้นยังเป็นเยอรมนีตะวันตกอยู่คือชาติมหาอำนาจของเกมลูกหนัง

 

ตัวละครของทีมชาติเยอรมนีอย่างผู้รักษาประตู ดีเตอร์ มุลเลอร์ (ซึ่งก็นำชื่อมาจากนักฟุตบอลที่มีตัวตนจริงๆ แต่ไม่ได้เล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตู) หรือ คาร์ล-ไฮนซ์ ชไนเดอร์ ต่างก็เป็นตัวละครที่ถอดแบบมาจากนักฟุตบอลที่มีตัวตนจริงๆ ของเยอรมนีอย่าง โทนี ชูมัคเกอร์ ยอดนายทวาร หรือ คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเก ยอดศูนย์หน้าในช่วงเวลานั้น

 

ส่วนในชีวิตจริงนั้นทั้งสองทีมไม่เคยพบกันมาก่อนในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และเกมเมื่อคืนคือการพบกันครั้งแรก

 

ความรู้สึกมันเหมือนกับได้ดูมังงะเรื่องนี้ผ่านตัวละครที่มีชีวิตและเลือดเนื้อจริงๆ

 

เราจะเห็นได้ตั้งแต่ต้นเกมว่าเยอรมนี แชมป์ฟุตบอลโลก 4 สมัยลงสนามด้วยความรู้สึกมั่นใจในฝีเท้า และขีดความสามารถที่เหนือกว่าทุกด้านของพวกเขา

 

เล่นกันเหมือนผู้ใหญ่กับเด็ก จะเลี้ยงผ่านก็ผ่านดื้อๆ จะตัดบอลกลับก็ตัดได้ง่ายๆ จะเปิดบอลถล่มเข้าเล่นงานก็สบายๆ เพราะญี่ปุ่นดูเสียเปรียบในเรื่องของรูปร่างและขีดความสามารถของร่างกาย มัดกล้ามของพวกเขานั้นที่สุดแล้วก็ยังเป็นร่างกายของคนเอเชีย

 

เพราะเช่นนั้นทำให้ ทาเคฟุสะ คุโบะ หนึ่งในความหวังของทีมไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อต้องเจอกับยักษ์โขมดอย่าง อันโตนิโอ รูดิเกอร์ ซึ่งมีจังหวะหนึ่งที่ชิงเหลี่ยมใช้ความใหญ่ของร่างกายเบียดเอาบอลไปดื้อๆ เหมือนแย่งบอลจากเด็กอนุบาล

 

ญี่ปุ่นตั้งรับข้างเดียวและสุดท้ายก็ทานทนไม่ไหว ชูอิจิ กอนดะ ผู้รักษาประตูพยายามออกมาบล็อกและพยายามจะแย่งบอลจาก เดวิด รอม แบ็กซ้ายที่เติมขึ้นมาได้ถึงในกรอบเขตโทษสุดท้ายกลายเป็นการฟาวล์ และเป็น อิลคาย กุนโดกัน ที่รับหน้าที่สังหารเข้าไปอย่างนิ่มๆ

 

หลังจากนั้นทุกอย่างก็อยู่ในการบงการของพี่ใหญ่จากยุโรปที่เหนือกว่าในทุกกระบวนท่า สิ่งเดียวที่ขาดไปคือพวกเขายังไม่ยอมลงดาบปลิดชีพญี่ปุ่นให้แดดิ้น

 

สิ่งนี้เองที่กลายเป็นความผิดพลาด เพราะความอ่อนหัดไม่ปิดเกมให้เรียบร้อยมันได้นำไปสู่การพลิกผันให้เกิดขึ้น

 

อย่างที่บอกไปว่าพูดแล้วก็นึกถึงมังงะครับ มันชวนจินตนาการให้คิดถึงสิ่งที่ ฮาจิเมะ โมริยาสุ โค้ชที่เคยเป็นมือขวาของ อากิระ นิชิโนะ ในฟุตบอลโลกคราวที่แล้ว (ก่อนที่นิชิโนะจะได้มาคุมทีมชาติไทยในเวลาต่อมา)​ ได้พยายามปลุกเร้าลูกทีม เช่นกันกับในการพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการส่งขุนพลที่มีสับเปลี่ยนลงไปในสมรภูมิ

 

โมริยาสุกล้าหาญอย่างมากที่ขอเลือก ‘สู้แค่ตาย’ ในสไตล์บูชิโด ทยอยส่งตัวรุกที่มีลงไปเพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงกระแสลมของการแข่งขันให้ได้

 

ความกล้าหาญนั้นได้ถูกส่งผ่านลงมาถึงลูกทีมที่เริ่มฮึกเหิมไม่กริ่งเกรงพี่ใหญ่อย่างเยอรมนีแล้ว จากที่แพ้ทุกกระบวนท่าพวกเขาค่อยๆ เอาชนะได้ในการรุมกินโต๊ะแย่งตัดบอลครั้งหนึ่ง ชนะในการปั๊มบอลครั้งหนึ่ง ชนะในการแทงบอลหลุดให้เพื่อนได้เข้าไปยิงครั้งหนึ่ง

 

ญี่ปุ่นค่อยๆ สะสมชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มาเรื่อยๆ ในระหว่างเกม

 

สุดท้ายใจของพวกเขาก็เริ่มใหญ่กว่าคู่แข่ง นักเตะซามูไรบลูส์เป็นฝ่ายเดินหน้าถล่มเยอรมนีอย่างหนัก

 

ในขณะที่คู่แข่งยังติดประมาท ดังจะเห็นจากจังหวะที่รูดิเกอร์ วิ่งสับขาเพื่อบังทางบอลของ ทาคุมะ อาซาโนะ กองหน้าที่เร็วที่สุดของญี่ปุ่นด้วยรอยยิ้ม แต่สำหรับซามูไรในสนามตอนนั้นพวกเขาเริ่มเชื่อว่าโอกาสที่รอคอยจะมาถึงอย่างแน่นอน มากกว่านั้นคือพวกเขามองเห็นจุดอ่อนในเกมรับของเยอรมนีแล้ว

 

และมันก็มาจริงๆ ในจังหวะที่ ทาคุมิ มินามิโนะ หนึ่งในสตาร์ที่ดังที่สุดและเคยเป็นตัวหลักแต่ลงสนามมาในฐานะตัวสำรองสบโอกาสหลุดเข้ามาในกรอบเขตโทษก่อนตวัดเข้ามาวัดใจกลางประตู มานูเอล นอยเออร์ (ที่ก็ชวนให้คิดถึง ดีเตอร์ มุลเลอร์ อยู่เหมือนกัน) ปัดบอลออกมาไม่พ้นอันตรายสุดท้ายมาเข้าทาง ริตสึ โดอัน ที่ยิงตีเสมอได้สำเร็จก่อนหมดเวลา 15 นาที

 

ก่อนที่อาซาโนะ กองหน้าที่ค้าแข้งอยู่กับโบคุมในเยอรมนี จะหลุดกับดักล้ำหน้าก่อนควบเข้าเขตโทษและยิงแสกหน้าผ่านนอยเออร์ที่ออกมาปิดมุมเสาแรกไม่มิดเข้าไปอย่างสุดมัน 

 

จังหวะนี้หากเป็นมังงะ ระหว่างที่ ‘ไอ้เสือจากัวร์’ (สมญาของอาซาโนะจริงๆ!) สับขาสุดแรงกล้าไปคงจะมีแฟลชแบ็กหวนให้คิดถึงอดีต การต่อสู้ที่ผ่านมา ภาพคุณพ่อที่สอนฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เพื่อนรัก แฟนคนแรก ก่อนตัดภาพมามองเห็นผู้รักษาประตูอยู่ตรงหน้า แล้วตะโกนออกมาด้วยเสียงอันดังว่า

 

“จงเข้าไปประตูแห่งความฝัน ลูกยิงเสือจากัวร์!” 

 

อย่างไรก็ดีอาซาโนะคงไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ มันเป็นระยะเวลาแค่ไม่กี่วินาที แต่มันเป็นไม่กี่วินาทีที่จะเป็นตำนานตลอดไป

 

หลังจากนั้นญี่ปุ่นไม่ยอมปล่อยให้เยอรมนีกลับมาสู่เกมอีกแล้ว พวกเขาคว้าชัยชนะได้สำเร็จ 2-1 เป็นชัยชนะครั้งแรกของญี่ปุ่นเหนือเยอรมนีในโลกของความเป็นจริง ไม่ใช่โลกของมังงะอีกต่อไป

 

สำหรับเยอรมนี ความพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นบทเรียนใหญ่ของประเทศชาติพวกเขาที่ต้องถอดบทเรียนว่าเหตุใดจึงทำผลงานในฟุตบอลโลกได้เลวร้ายอีกครั้ง ซึ่งครั้งก่อนก็พลาดท่าพ่ายทีมจากเอเชียอย่างเกาหลีใต้มาก่อน คราวนี้ก็มาพ่ายต่อญี่ปุ่นซ้ำอีก

 

สำหรับญี่ปุ่นชัยชนะครั้งนี้คือชัยชนะของการลงทุนเพื่ออนาคต

 

จากมังงะอย่าง Captain Tsubasa (และอีกหลายเรื่องในความทรงจำเช่น Shoot!, Viva Calcio จนถึงรุ่นปัจจุบันอย่าง Inazuma Eleven, Blue Lock หรือ Ao Ashi) สู่การวางรากฐานอนาคตของวงการฟุตบอลครั้งใหญ่กับฟุตบอลเจลีกในปี 1992

 

30 ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทีมชาติผ่านเข้าฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 7 สมัยติดต่อกัน ขณะที่นักฟุตบอลญี่ปุ่นกลายเป็นผลผลิตส่งออกไปยุโรปที่ได้รับการรับประกันคุณภาพว่า Made in Japan ของดีคุณภาพสูง โดยไม่ต้องพึ่งพาการตลาดนำทาง (ไปขายเสื้อ, ไปเพราะสปอนเซอร์จ่าย) เหมือนสมัยของ คาซูโยชิ มิอุระ นักฟุตบอลญี่ปุ่นคนแรกที่ได้ไปเล่นในยุโรปอีก

 

แต่นี่จะไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่พวกเขาปรารถนา

 

เป้าหมายของญี่ปุ่นอยู่ที่การเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้ภายในปี 2050 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า ซึ่งเท่ากับฟุตบอลโลก 7 สมัย

 

หากถึงตรงนั้นและทำได้เมื่อไร คนรุ่นนั้นจะหันกลับมาย้อนมองอดีต

 

ว่าจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของเรื่องราวทั้งหมด คือลายเส้น ตัวการ์ตูน และความฝันที่ซ่อนอยู่ในนั้น


บทความที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X