×

ธนาคารโลกกระตุ้นไทยปรับเกณฑ์ส่งเสริมการแข่งขันให้เป็นธรรม และส่งเสริม SMEs

24.02.2022
  • LOADING...
ธนาคารโลกกระตุ้นไทยปรับเกณฑ์ส่งเสริมการแข่งขันให้เป็นธรรม และส่งเสริม SMEs

จากรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ประจำประเทศไทย ในหัวข้อ ‘รายงานการวิเคราะห์ภาคเอกชนของประเทศไทย: พลิกฟื้นผลิตภาพด้วยเครื่องยนต์ใหม่ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยืดหยุ่นและมั่นคง’ ซึ่งเป็นการศึกษาผ่านความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกและบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) ระบุว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง 

 

อย่างไรก็ตามการจะเข้าถึงโอกาสในการเติบโตเหล่านี้ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องแก้ไขข้อจำกัดด้านการลงทุนในหลายด้านที่สำคัญ ได้แก่ การยกระดับการแข่งขันให้เป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชน 

 

ขณะเดียวกันภาครัฐควรปรับเกณฑ์ในการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รวมถึงการเอื้อให้แรงงานที่มีทักษะสูงจากต่างชาติสามารถเข้ามาทำงานในประเทศได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการปรับหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน โดยเฉพาะทักษะทางด้านนวัตกรรม 

 

รุจิรา คูมาร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส IFC กล่าวว่า การดึงแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ โดยเฉพาะกับ 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ เกษตรและอาหาร รับเหมาก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยลดต้นทุนไปได้รวมกันราว 1.6 พันล้านดอลลาร์ต่อปี 

 

อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังมีข้อจำกัดที่สำคัญ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันทางการค้าและมีการผูกขาดตลาดสูง ขณะที่การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลงมายาวนาน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ได้ดี เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย จะเห็นว่าประเทศเหล่านี้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ดีกว่า 

 

ปัจจุบันเงินทุนจากต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะเงินจากการร่วมลงทุน หรือ Venture Capital อยู่ในระดับเพียง 0.03% ต่อ GDP ขณะที่ระบบการปล่อยสินเชื่อไม่เอื้อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าถึงแหล่งทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเพียงพอ นอกจากนี้แรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไร้ทักษะถึงทักษะระดับกลาง ขณะที่เอกชนต้องการแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากประเทศไทยจะเข้าถึงโอกาสการเติบโตจะต้องแก้ไขข้อจำกัดสำคัญเหล่านี้อย่างเร่งด่วน

 

ขณะเดียวกันรายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นว่าเรื่องของ Venture Capital ในไทยยังค่อนข้างอ่อนแอ แม้จะมีหลายบริษัทขนาดใหญ่ของไทยตั้งหน่วย Venture Capital แต่จะเป็นรูปแบบของ Corporate Venture Capital (CVC) แม้จะไม่ใช่สิ่งที่แย่ แต่ก็อาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะเงินทุนจาก CVC มักจะไหลเข้าไปในบริเวณที่เกิดประโยชน์กับบริษัทแม่เท่านั้น และไม่ได้ไหลเข้าไปยังบริษัทที่อาจจะเป็นความต้องการที่แท้จริง 

 

“อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญคือ การจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ของไทยค่อนข้างต่ำ ส่วนตัวไม่แปลกใจเพราะจดทะเบียนยากมาก ไม่ว่าจะทั้งการผ่านออนไลน์ หรือไปจดผ่านเจ้าหน้าที่ อย่างกรณีการตั้งบริษัทของตัวเองล่าสุด ก็มีส่วนที่ต้องไปขอ Statement จากธนาคารเพื่อยืนยันว่ามีเงินในบัญชี 5 บาท มาแสดงกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้นทุนการขอเอกสารอาจจะสูงกว่า” 

 

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่ดีจากภาคการผลิตและการส่งออก แต่หลายปีที่ผ่านมาพบว่าการลงทุนใหม่ๆ ที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับประเทศลดลงมาก เช่นเดียวกับการลงทุนจากต่างประเทศที่ชะลอลง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านปรับเปลี่ยนเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนได้ดีขึ้น จึงถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อหาเครื่องยนต์ใหม่ๆ กระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัว ซึ่งพบว่าหากไทยปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่อสร้างโมเดลใหม่ในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในฐานการผลิต รวมทั้งการส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน จะช่วยสร้างเม็ดเงินการลงทุน ประหยัดค่าใช้จ่าย และสร้างรายได้ให้ประเทศสูงถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising