Q: หัวหน้าชอบให้เราทำงานเกิน Scope of work บางอย่างก็เป็นสิ่งที่เราไม่ถนัด เราทำไม่ได้ แต่ก็ยังให้เราทำอยู่ ไม่รู้ว่าเพราะเชื่อมั่นในตัวเราหรือเพราะไม่รู้จะไปใช้ใคร เอะอะก็เรียกใช้เราตลอด ทำไมหัวหน้าต้องคิดว่าเราทำได้ทุกอย่างด้วยคะ
A: เข้าใจครับว่าได้ทำงานเยอะคงเหนื่อยบ้าง เหนื่อยใช่ไหมครับที่ต้องทำอะไรเยอะแยะไปหมด บ่นมาเลยครับ ยินดี
เรื่องนี้อยู่ที่มุมมองเลยครับว่าเราจะมองสิ่งที่เจอแบบไหน
เรื่องแรก การทำงานเกิน Scope of work ผมคิดว่า Scope of work ที่ดีนั้น ครึ่งหนึ่งควรมาจากสิ่งที่บริษัทอยากให้พนักงานทำ อีกครึ่งหนึ่งที่ควรเว้นว่างไว้คือพนักงานแต่ละคนควรเติมเอาเองว่าแล้วตัวเขาล่ะอยากทำงานแบบไหน อยากทำอะไรให้องค์กร
ใช่แล้วครับ Scope of work ที่ดีไม่ใช่ ‘คำสั่ง’ ที่บอกว่าพนักงานต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ควรมีพื้นที่เปิดกว้างพอที่พนักงานจะสามารถเติมคุณค่าที่เขามีอยู่ให้องค์กรได้ นั่นแปลว่าต่อให้อยู่ตำแหน่งเดียวกัน Scope of work อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ ส่วนที่เหมือนกันคือหน้าที่พื้นฐานที่บริษัทมอบหมายให้ แต่ส่วนที่ต่างกันคือการที่พนักงานแต่ละคนจะกลับมามองว่าเขาอยากทำอะไร อยากเติบโตแบบไหน อยากเก่งเรื่องอะไร ก็เขียนเป็น Scope of work ขึ้นมา
พอเป็นแบบนี้ปุ๊บ ตัวเรานี่ล่ะครับจะเป็นคนบอกเองว่าองค์กรต้องการอะไร องค์กรมีปัญหาแบบไหน และเราจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหรือเติมคุณค่าให้องค์กรได้อย่างไร คือแทนที่องค์กรจะบอกว่าเราต้องทำอะไร เป็นเราต่างหากที่ต้องบอกว่าเราจะทำอะไรให้องค์กร มีเราอยู่แล้วองค์กรดีขึ้นได้อย่างไร
ส่วนที่จะทำให้เรามีคุณค่าขึ้นมามันคือส่วนที่เราเติมเข้าไปเองว่าจะทำอะไรให้องค์กรนี่ล่ะครับ Scope of work ปกติที่องค์กรให้เรามานั้น ถ้าเราทำได้แปลว่าเราได้มาตรฐาน แต่ถ้าเราทำได้มากกว่านั้น หรือใส่เพิ่มเอาเองว่าเราจะทำอะไรให้องค์กรบ้างนั่นล่ะครับ ตัวเราจะมีคุณค่า เราจะไม่ใช่พนักงานที่ผ่านมาตรฐาน แต่ผลักดันตัวเองให้อยู่เหนือมาตรฐาน
เพราะฉะนั้นถ้าเราทำงานเกิน Scope of work แต่ในมุมหนึ่งแปลว่าเราทำได้มากกว่ามาตรฐานปกติ ผมว่าเราก็เปลี่ยนให้มันกลายเป็นคุณค่าในตัวเราได้ครับ แปลว่ามีเราอยู่แล้วเราทำอะไรให้องค์กรได้ตั้งเยอะ ไม่ใช่แค่ทำตามมาตรฐานปกติ
กระซิบบอกคุณก็ได้ว่า นั่นแปลว่าคุณมีอำนาจต่อรองมากขึ้นไปด้วยนะครับ เพราะคุณไม่ใช่พนักงานธรรมดาแบบที่เขาจะหาได้ง่ายๆ คุณทำได้ตั้งหลายอย่าง ลองถ้าคุณทำงานได้ตาม Scope of work ปกติ คุณก็จะไม่มีอำนาจต่อรองได้มากนักหรอกครับ นี่ไง อำนาจอยู่ในมือคุณแล้ว
เรื่องต่อมา “หัวหน้าให้เราทำสิ่งที่ไม่ถนัด บางอย่างก็เป็นสิ่งที่เราทำไม่ได้” ทุกอย่างที่เราทำแล้วถนัดในทุกวันนี้ก็เริ่มจากไม่ถนัดมาก่อนทั้งนั้นครับ มันก็ต้องลองทำดู
สมมติปลายทางที่หัวหน้าและคุณต้องการคืออยากได้งานงานหนึ่งขึ้นมา หน้าที่ของเราคือต้องรู้ว่างานนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง เช่น ใครเป็นคนถนัดในเรื่องนี้ก็ไปถามเขา ขอความรู้จากเขา หรือเชื่อมโยงประสานงานให้เขาทำงานนั้นขึ้นมาให้ได้ แล้วต้องได้รับการสนับสนุนอะไรบ้างเพื่อให้เกิดงานนั้น เพราะฉะนั้นคุณอาจจะไม่ใช่คนที่ต้องลงมือทำงานนั้นเองทั้งหมด แต่เป็นคนเชื่อมโยงให้คนที่ทำงานนั้นได้มาทำงานนั้น แล้วคุณเป็นคนดูแลการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ
หัวหน้าคงไม่คาดหวังว่าคุณจะต้องเป็นคนทำสิ่งนั้นทั้งหมด แต่คาดหวังว่าคุณคือคนรับผิดชอบที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นมาให้ได้ เหมือนหัวหน้าอยากได้บ้าน คุณไม่จำเป็นนะครับว่าต้องเป็นทั้งคนออกแบบ ก่ออิฐ ทำเรื่องขอสร้างบ้าน เดินไฟ ต่อท่อน้ำ ฯลฯ คุณไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด แต่คุณต้องเป็นคนที่ดูแลการผลิตทั้งหมด นั่นแปลว่าคุณอาจจะไม่ใช่เป็นคนก่ออิฐถือปูนเอง แต่คุณต้องรู้ว่าจะต้องไปหาใคร และต้องหาข้อมูลและความรู้มากพอที่จะรู้ว่าจะขับเคลื่อนโปรเจกต์นี้ให้ออกมาได้อย่างไร เมื่อหัวหน้าถามว่าบ้านเป็นอย่างไรบ้าง คุณก็ต้องตอบได้ หรือถ้าตอบไม่ได้ก็ต้องวิ่งไปหาคำตอบมาให้ได้
ตอนแรกมันจะยุ่งเหยิงและไม่ถนัดเลยครับ แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ คุณจะคุ้นเคยมากขึ้น เปิดใจลองเรียนรู้ครับ เราอาจจะไม่ได้เป็นกูรูทุกเรื่อง แต่ถ้าเรารู้ว่าจะไปหากูรูได้ที่ไหน เราก็จะทำงานออกมาได้
ถ้าไม่รู้ก็ไปหาความรู้ ถ้าทำไม่ได้ก็ไปหาว่าจะต้องทำให้ได้ได้อย่างไร — การแก้ปัญหามันเรียบง่ายแบบนั้นเลยครับ และใช้ได้กับทุกเรื่อง
เรื่องสุดท้าย “เอะอะหัวหน้าก็เรียกใช้เราตลอด” ถ้าเราคิดว่าเขากำลัง ‘ใช้’ เราก็จะทุกข์ระทมแบบนี้ล่ะครับ เพราะคนเราไม่ชอบโดนใช้หรอก แต่ถ้าเรามองว่าเขากำลัง ‘ให้โอกาส’ เราจะใช้โอกาสนี้อย่างคุ้มค่าครับ
ถ้าวันนี้หัวหน้าเรียกหาเราจังเลย ดีใจไว้ก่อนครับ เพราะถ้าเมื่อไรเขาไม่เรียกเราแล้วนี่สิ อันนี้จะหนาว ฮ่าๆ
ผมไม่รู้ว่าตอนนี้หัวหน้าเรียกคุณเพราะไม่มีคนอื่นหรือเพราะมั่นใจในตัวคุณ แต่สิ่งที่คุณทำได้คือทำให้ทุกครั้งที่หัวหน้ามอบหมายงานกับคุณ เขาจะไว้ใจได้ว่างานจะอยู่ในมือของคนที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้สำเร็จครับ
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับคุณแน่นอนก็คือ ถ้าคุณสามารถจัดการทุกปัญหาได้ แปลว่าคุณเก่งขึ้น คุณรับมือได้ทุกปัญหาที่ดาหน้าเข้ามา
หัวหน้าอาจจะได้ลูกน้องที่เก่ง แต่คุณได้ตัวคุณเองที่เก่งขึ้น และความเก่งนี้อยู่ในตัวคุณนะครับ ใครก็เอาไปไม่ได้ เผื่อวันหนึ่งที่คุณไปเป็นหัวหน้าเอง ประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการลงมือทำอะไรเยอะแยะในตอนนี้จะเป็นต้นทุนที่ดีให้ตัวคุณเองครับ
และฝากไปถึงหัวหน้าที่มีลูกน้องที่เราให้เขาทำโน่นทำนี่เยอะๆ นะครับ ให้เวลาเขาได้เรียนรู้และให้โอกาสเขาพลาดบ้าง คนเราไม่ได้เก่งทุกอย่างในเวลาอันรวดเร็ว ชื่นชมและเห็นคุณค่าความพยายามบ้าง และเมื่อเขาพลาดทำสิ่งที่ไม่ถนัดหรือสิ่งที่ใหม่สำหรับเขามากๆ ต้องให้กำลังใจเขา ถ้าไปด่าเขาซ้ำ เขาจะยิ่งไม่อยากเรียนรู้เลยครับ ฮ่าๆ และบางทีเราต้องกลับมามองเหมือนกันครับว่าเราได้กระจายโอกาสในการพัฒนากับพนักงานอย่างทั่วถึงไหม ถ้าเราให้คนใดคนหนึ่งทำทุกอย่างคนเดียว วันหนึ่งที่เขาไม่ไหวก็จะพัง หรือถ้าเขาเก่งขึ้นคนเดียว แต่คนอื่นไม่เก่งตาม ทีมก็ไปไม่รอดครับ
สุดท้ายผมคิดว่าลองเปลี่ยนจากคำถามว่า “ทำไมหัวหน้าคิดว่าเราทำได้ทุกอย่าง” เป็น “ทำไมเราคิดว่าเราจะทำไม่ได้ล่ะ” และ “ทำไมเราต้องคิดว่าเราทำได้แค่บางอย่าง” ล่ะ
นั่นสิครับ ทำไมเราจะทำไม่ได้ ทำมันให้หมด เรียนรู้ให้หมด
เป็นกำลังใจให้ครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์