×

Wisesight เผย ‘THE STANDARD’ ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุดของสำนักข่าวบนโลกออนไลน์ ช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา

24.05.2022
  • LOADING...
Wisesight

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้นับเป็นอีกครั้งของการเลือกตั้งใหญ่ในไทยตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2562 เป็นการเลือกตั้งที่ผู้สมัครรวมถึงสื่อมวลชนใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหนึ่งในช่องทางหลักในการสื่อสารนโยบาย

 

เพราะ 9 ปีมานี้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปอย่างมาก โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่เคยเป็นช่องทางหลักได้เสื่อมมนตร์ขลังไปแล้ว และถูกแทนที่ด้วย ‘สื่อออนไลน์’ ที่นับวันจะทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

“เมื่อ พ.ศ. 2556 สื่อออนไลน์อย่าง Facebook หรือ YouTube ยังเป็นแค่สื่อเสริม ช่วงนั้นยังเป็นจุดพีคของสื่อดั้งเดิม ซึ่งแบรนด์รวมไปถึงการหาเสียงใช้เป็นองค์ประกอบหลัก” ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI Group กล่าว

 

“แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ออนไลน์กลายเป็นกระแสหลัก แถมแตกกระจายยิบย่อยไปอีก ไม่ได้อยู่ในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง การหาเสียงแบบเดิมๆ จึงใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้นนี่จึงเป็นโจทย์หลักของผู้สมัครในการคิดรูปแบบใหม่ๆ ในการหาเสียง หากต้องการคะแนนหรือได้ใจคนกรุงเทพฯ” 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

 

Wisesight ระบุว่า สำหรับวงการสื่อมวลชนเราคงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงกันตั้งแต่เลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาแล้วว่า ในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมีเดีย การสื่อสารกับผู้คนในแบบเดิมๆ อาจไม่ตอบโจทย์ รวมถึงหากสังเกตดีๆ คุณจะพบว่าการเลือกตั้งผู้ว่าที่เพิ่งผ่านไป วงการสื่อมวลชนได้เปิดพื้นที่และให้ความสำคัญกับการประชันวิสัยทัศน์กันมากขึ้น ส่งผลให้การพูดถึงบนโลกโซเชียลในประเด็นเกี่ยวกับผู้ว่าฯ กทม. ก็เพิ่มขึ้นไปด้วย

 

โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลกว่า 196,000 ข้อความที่พูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye พบว่าประมาณ 15% หรือ 30,000 กว่าข้อความเป็นข้อความที่พูดถึงสื่อมวลชน รายการดีเบต ประชันวิสัยทัศน์ หรือรายการพิเศษที่สื่อแต่ละสำนักได้มีการทำขึ้นเพื่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ 

 

ซึ่งล้วนแต่มีรูปแบบรายการที่แตกต่าง หลากหลาย ไม่ซ้ำกันเลย เป็นทางเลือกสำหรับผู้ชมที่กำลังตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ ในดวงใจอยู่ ซึ่งข้อความเหล่านี้มีเอ็นเกจเมนต์รวม 12,813,487 เอ็นเกจเมนต์

 

จากเอ็นเกจเมนต์ทั้งหมดที่พูดถึงสื่อแต่ละสำนัก จะพบว่า THE STANDARD ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด อยู่ที่ราวๆ 4,124,726 เอ็นเกจเมนต์ (32%) ซึ่งถือว่าสูงมากๆ ในบรรดาสื่อที่ทำข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในครั้งนี้ โดยเอ็นเกจเมนต์ส่วนใหญ่มาจากรายการ THE CANDIDATE BATTLE พลิกโฉมดีเบต ศึกดวลความคิด พิชิตโหวต ของ THE STANDARD ที่เกิดขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม

 

โดยรายการมีลักษณะเป็นการประชันวิสัยทัศน์ที่ไม่ใช่เพียงแค่นำผู้สมัครมาเล่านโยบายเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอบคำถามสดๆ ที่มาจากผู้ชม ณ ตอนนั้น รายการจึงมีความตื่นเต้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา รวมถึงมีการตัดไฮไลต์ออกมาค่อนข้างเยอะเพื่อลงในช่องทางออนไลน์ของตัวเอง 

 

หากย้อนกลับไป THE STANDARD เคยจัดเวทีดีเบตในลักษณะนี้มาแล้วเมื่อครั้งเลือกตั้งใหญ่ พ.ศ. 2562 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก ครั้งนี้จึงมีการสานต่อความสำเร็จนั้น และได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม

 

Wisesight

 

สื่อสำนักต่อมาที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุดคือ Voice TV ที่นำเสนอรายการที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และเรื่องที่ถูกพูดคุยบ่อยที่สุดในช่วงนี้จะเป็นเรื่องอะไรไม่ได้ นอกจากเรื่องของผู้ว่าฯ กทม. ที่ทำเอ็นเกจเมนต์รวมทั้งสิ้นราวๆ 2,546,304 เอ็นเกจเมนต์ (19%) เลยทีเดียว 

 

ความโดดเด่นของ Voice TV คือการตั้งคำถามที่แตกต่างออกไป อย่างเช่นวิดีโอที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุดคือวิดีโอที่ชื่อว่า ‘ใครคือคนที่คุณจะไม่เลือก และฝากชีวิตไว้กับเขา’ ซึ่งเป็นคำถามที่แตกต่างไปจากสื่ออื่นที่มักจะถามถึงคนที่ประชาชนชื่นชอบ หรือต้องการที่จะเลือก วิดีโอนี้มีเอ็นเกจเมนต์ในเฟซบุ๊กสูงถึง 137,000 เอ็นเกจเมนต์ ยอดเข้าชมสูงถึง 2.6 ล้านครั้ง 

 

หรือจะเป็นอีกวิดีโอหนึ่งที่มีการสอบถามและพูดคุยกับกลุ่มผู้สูงอายุใน กทม. ว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจและไม่ค่อยได้เห็นบนพื้นที่สื่อมากนัก เพราะหลายๆ สำนักจะเน้นไปที่ New Voter หรือคนรุ่นใหม่กันมากกว่า ทำให้เราอาจไม่ค่อยได้เห็นมุมมองของผู้สูงอายุต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และหากมองดีๆ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งกันมากกว่าหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่ที่หลายคนอาจจะเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีทะเบียนบ้านที่กรุงเทพฯ หรืออยู่ในจังหวัดใกล้เคียงอย่างนนทบุรี สมุทรปราการ เป็นต้น 

 

สื่อสำนักต่อมาที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์มากที่สุดนั่นก็คือช่อง 3 โดยไฮไลต์ของช่อง 3 คือการทำรายการดีเบต ‘ช่อง 3 ตามหาผู้ว่าฯ เลือกตั้ง’ ที่เข้มข้นจนชาวโซเชียลต่างพากันพูดว่า นี่คือรายการดีเบตที่ดุเดือดและประชันวิสัยทัศน์ของแต่ละผู้สมัครได้อย่างถึงที่สุด เพราะมีการพาประชาชนจากต่างสาขาอาชีพมาพูดถึงปัญหาที่พบมาตลอด และให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ ได้ตอบกันสดๆ ณ ตรงนั้น ซึ่งผู้ดำเนินรายการถือว่าเป็นนักข่าวแม่เหล็กของช่อง 3 เลย ทั้ง สรยุทธ สุทัศนะจินดา และ กรรชัย กำเนิดพลอย จาก เรื่องเล่าเช้านี้ และ โหนกระแส 

 

ถือเป็นความแปลกใหม่ของรูปแบบรายการประชันวิสัยทัศน์อยู่ไม่น้อย เพราะเป็นการนำผู้คนที่ประสบปัญหามากมายในกรุงเทพฯ มาเป็นประเด็นเพื่อให้ผู้สมัครหาทางออก และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่กำลังจะโหวตในอีกไม่กี่วันต่อจากนั้น และในวันที่ 20 พฤษภาคม ช่อง 3 ก็ได้จัดดีเบตอีกครั้ง และครั้งนี้ก็ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม โดยช่อง 3 นั้นได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมทั้งสิ้น 1,293,174 เอ็นเกจเมนต์ (10%)

 

นอกจากนั้นยังมีอีกหลายสำนักข่าวที่มีเอ็นเกจเมนต์สูงในลำดับถัดมา ตัวอย่างเช่น 

 

  • Thairath (10%) ที่แม้จะเป็นช่องข่าวแต่ก็ยังมีรายการอื่นๆ ที่มีการพูดถึงประเด็นของผู้ว่าฯ กทม. หรือแม้กระทั่งมีรายการเกมโชว์แนวประชันวิสัยทัศน์ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เป็นของตัวเองหลายรายการ กวาดเอ็นเกจเมนต์ไปทั้งสิ้นราวๆ 1,307,778 เอ็นเกจเมนต์
  • workpointTODAY (5%) ที่เรามองว่าโดดเด่นในเรื่องของเกมโชว์ประชันวิสัยทัศน์ไม่แพ้ Thairath ซึ่งตัวรายการมีการพูดถึงเรื่องราวที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ทั้งการให้ผู้สมัครมาลองจัดสรรงบประมาณของ กทม. การให้บัตรใบหนึ่งแล้วลองทายว่าบัตรนี้คืออะไร (ซึ่งมันคือบัตรตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุมนั่นเอง) หรือจะเป็นคอนเทนต์รวมเพลงหาเสียงของผู้สมัครก็เป็นหนึ่งหัวข้อที่นับว่าน่าสนใจมากเช่นกัน
  • The MATTER (5%) ดึงจอมขวัญมาเป็นผู้ดำเนินรายการที่มาพร้อมกับ #กาเปลี่ยนกรุง ที่มีคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรายการสั้นๆ ที่เป็นการแนะนำความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับผู้ว่าฯ กทม. รายการแนวจับเข่าคุยอย่าง ‘ผู้ว่าHardTalk’ ที่ในตอนท้ายมีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นด้วยการให้ผู้สมัครลอง Role Play (แสดงเลียนแบบ) เป็นผู้สมัครคนอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นอีกมุมหนึ่งที่เราไม่ได้เห็นจากผู้สมัครในรายการอื่นๆ อย่างแน่นอน
  • The Reporters (4%) ที่เน้นไปทางการรายงานข่าวสดตามจุดต่างๆ ซึ่งนำทีมโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย และนักข่าวภาคสนามอีกมากมาย รวมถึงในวันเลือกตั้งวันจริงก็มีการลงพื้นที่หลากหลายจุด เพื่อรายงานสดให้กับพี่น้องประชาชนที่รอลุ้นผลการเลือกตั้งอยู่หน้าจออย่างใจจดใจจ่อ

 

และอย่างที่ได้กล่าวไปว่า ตอนนี้คือยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อผู้คนในหลายเรื่องราว ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องของการเลือกตั้งและตัวผู้สมัคร Wisesight ได้จับมือกับ WeVis และ THE STANDARD พัฒนาเว็บไซต์ Bangkok Election 2022 ซึ่งเป็นชุดข้อมูลสาธารณะที่รวบรวมทุกมิติเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งมีส่วนของ Social Trends เพื่อเช็กว่าที่ผ่านมาผู้สมัครแต่ละคนถูกพูดถึงมากน้อยแค่ไหน รวมถึงเรื่องไหนบ้างที่พวกเขาพูดถึงกัน 

 

ข้อมูลที่ใช้ในงานชิ้นนี้ เก็บรวบรวมโดยเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียล ‘Zocial Eye’ ของ Wisesight ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการร่วมมือกันระหว่างสื่อและ Wisesight ที่จะนำเสนอข้อมูลโซเชียลที่ไม่ได้อยู่เพียงแค่ในเครื่องมือ แต่ยังสามารถเชื่อมต่อกับสื่อและถูกเผยแพร่ไปยังทุกคนได้

 

หากย้อนกลับไปเมื่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 9 ปีที่แล้ว คุณอาจจะกำลังเฝ้ารอผลเลือกตั้งอย่างใจจดใจจ่ออยู่หน้าจอทีวี ตามเสียงวิทยุในรถ รอรายการข่าวตอนเย็นเพื่อสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้น เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปวงการสื่อก็ย่อมเปลี่ยนแปลงให้ทันกัน นี่เป็นเพียงบางส่วนสำหรับหน้าประวัติศาสตร์แห่งวงการสื่อสารมวลชนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย รวดเร็ว ผนวกเข้ากับโซเชียลมีเดียที่กำลังจะกลายเป็นสื่อหลักในวันนี้ ต่อจากนี้วงการสื่อจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่น่าจับตามองจริงๆ 

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising