×

การเมืองเรื่องน้ำมันชายฝั่งอาร์กติก เมื่อไบเดนเห็นด้วยกับทรัมป์ในโครงการวิลโลว์เจ้าปัญหา

20.03.2023
  • LOADING...

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ได้ให้ไฟเขียวกับโครงการขุดเจาะน้ำมันที่ชายฝั่งอาร์กติกทางตอนเหนือของมลรัฐอะแลสกาที่มีชื่อว่า ‘โครงการวิลโลว์’ ซึ่งการอนุมัติโครงการนี้ได้สร้างความโกรธแค้นให้กับฐานเสียงของพรรคเดโมแครตอย่างมาก เพราะนี่เป็นการผิดสัญญาของไบเดนที่เคยให้ไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า เขาจะไม่อนุมัติโครงการขุดเจาะน้ำมันใหม่ในที่ดินสาธารณะอีก เพื่อเป็นการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน 

 

โครงการวิลโลว์คืออะไร

 

โครงการวิลโลว์เป็นหนึ่งในโครงการของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง ConocoPhillips ที่ได้สิทธิในการสำรวจหาแหล่งน้ำมันสำรองในบริเวณชายฝั่งอาร์กติกทางตอนเหนือของมลรัฐอะแลสกามาอย่างยาวนาน โดยในปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการขุดเจาะน้ำมันไปแล้วสองโครงการ 

 

แต่อย่างไรก็ดี โครงการวิลโลว์นั้นมีขนาดใหญ่กว่าสองโครงการเดิมมาก โดยมีการคาดการณ์กันว่าโครงการวิลโลว์จะสามารถขุดน้ำมันดิบมาได้มากถึง 600 ล้านบาร์เรล ซึ่งอันที่จริงแล้วโครงการวิลโลว์ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2020 ในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทว่า ConocoPhillips ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างแท่นขุดน้ำมันในทันที เพราะทรัมป์ได้พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับไบเดนในช่วงปลายปีเดียวกัน ทำให้บริษัทตัดสินใจที่จะชะลอโครงการไว้ก่อน เพื่อรอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ของไบเดน

 

ปากท้อง vs. โลกร้อน

 

โครงการวิลโลว์เป็นโครงการที่มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก โดยผู้ที่เห็นด้วยส่วนมากคือชาวอะแลสกาเอง (รวมถึงชาวพื้นเมืองที่อาศัยในเขตอะแลสกาตอนเหนือจำนวนหนึ่ง) ที่มองว่าโครงการวิลโลว์จะช่วยสร้างงานในเขตอะแลสกาตอนเหนือที่เป็นเขตทุรกันดารและไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจอื่น ด้วยความห่างไกลและสภาพอากาศอันหนาวเหน็บแบบป่าทุนดรา) พวกเขามองว่าโครงการวิลโลว์จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้รัฐบาลท้องถิ่นเก็บภาษีได้มากขึ้นจนมีงบประมาณมากพอที่จะนำไปพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในดินแดนห่างไกลเช่นนั้น นักการเมืองท้องถิ่นรวมทั้งผู้ว่าการรัฐ ส.ส. และ ส.ว. ของมลรัฐต่างก็ออกมาให้ความเห็นว่ารัฐบาลของไบเดนควรจะอนุมัติโครงการนี้

 

ในทางตรงข้าม กลุ่มชาวอเมริกันที่มีความวิตกกังวลกับปัญหาโลกร้อน (ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดแบบเสรีนิยม และเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต) ต่างออกมาคัดค้านโครงการนี้กันอย่างเข้มข้น จนตอนนี้มีชาวอเมริกันมาลงชื่อคัดค้านใน Change.org กว่า 3 ล้านรายชื่อแล้ว ซึ่งสาเหตุที่พวกเขาต้องการให้ไบเดนล้มเลิกโครงการก็เป็นเพราะว่า โครงการวิลโลว์จะปลดปล่อยคาร์บอนออกมาในชั้นบรรยากาศกว่า 9 ล้านเมตริกตันต่อปี (จากการศึกษาของรัฐบาลของไบเดนเอง) เทียบเท่ากับการมีรถยนต์ใหม่ออกมาสู่ท้องถนน 2 ล้านคันต่อปี นอกจากนั้นก็ยังมีความกังวลว่า การขุดเจาะน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของป่าทุนดราที่กำลังอ่อนไหวกับปัญหาโลกร้อนอยู่แล้ว

 

ทางสองแพร่งของไบเดน

 

รัฐบาลของไบเดนใช้เวลากว่าสองปีในการตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะการตัดสินใจของเขาจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคะแนนนิยมของตัวเขาเอง

 

รายงานข่าวแจ้งว่า แต่เดิมนั้นไบเดนตั้งใจที่จะล้มโครงการนี้เพื่อที่จะรักษาสัญญาประชาคมที่เขาเคยให้ไว้ในสมัยเลือกตั้ง เพื่อที่จะรักษาคะแนนนิยมของเขาในหมู่ฐานเสียงของพรรค แต่อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษากฎหมายของเขาให้ความเห็นตรงกันว่ารัฐบาลของไบเดนไม่มีอำนาจในการยุติโครงการ เพราะรัฐบาลของทรัมป์ได้เซ็นสัญญากับ ConocoPhillips ไปเรียบร้อยแล้ว ที่ปรึกษาของเขามองเห็นตรงกันว่าหากไบเดนล้มเลิกโครงการจนนำไปสู่การฟ้องร้องโดย ConocoPhillips ศาลน่าจะตัดสินเข้าข้างบริษัทจนนำไปสู่ค่าปรับมูลค่ามหาศาลต่อรัฐบาลกลาง

 

นอกจากนี้รัฐบาลของไบเดนก็กำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากปัญหาน้ำมันแพงจนทำให้ต้นทุนการขนส่งและผลิตสินค้าสูงขึ้น จนนำไปสู่ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นของชาวอเมริกัน ถ้าหากรัฐบาลของเขาตัดสินใจล้มเลิกโครงการวิลโลว์ ไบเดนก็อาจจะถูกมองว่าเป็นประธานาธิบดีที่ไม่สนใจปัญหาปากท้องของคนอเมริกัน ไม่สนใจจะแก้ปัญหาน้ำมันแพง เอาแต่เอาใจฐานเสียงถึงปัญหาที่คนอเมริกันอีกจำนวนมากไม่สนใจอย่างปัญหาโลกร้อน

 

แต่การต่อสู้ทางกฎหมายยังไม่จบ

 

ถึงแม้ว่าจะได้ไฟเขียวจากไบเดนแล้ว แต่ก็เป็นที่คาดการณ์กันว่า ConocoPhillips คงจะยังไม่เริ่มก่อสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันในทันที เพราะยังมีภาคประชาชนอีกส่วนหนึ่ง นำโดยองค์กรอย่าง Earthjustice ที่พยายามจะหยุดยั้งโครงการนี้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายว่าโครงการนั้นละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้จะเป็นที่คาดการณ์กันว่าในที่สุดแล้ว ConocoPhillips จะเป็นฝ่ายชนะ แต่การฟ้องร้องก็น่าจะทำให้โครงการต้องล่าช้าไปอีกเป็นปี

 

ภาพ: Paul Morigi / Getty Images for This is Zero Hour

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising