×

#นายกเถื่อน ติดเทรนด์โลกโซเชียล ประมวลเหตุการณ์ 24 สิงหา วาระประยุทธ์ครบ 8 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
24.08.2022
  • LOADING...
ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วันที่ 24 สิงหาคม 2565 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย มีวาระในการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตามการประกาศในราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557

 

การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ มาจากการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จากนั้นปกครองประเทศด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดยมีมาตรา 44 รวบอำนาจทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ให้อยู่ในมืออย่างเบ็ดเสร็จ

 

ก่อนที่จะร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ขึ้นมาใหม่ ประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ถูกบัญญัติไว้ว่า ‘นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่’

 

ส่งผลให้มีข้อถกเถียงเรื่องการนับระยะเวลาการดำรงแหน่งของ พล.อ. ประยุทธ์ ใน 3 ทิศทาง 3 ช่วงเวลา

 

  1. เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 หลังการรัฐประหารปี 2557
  2. เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้
  3. เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 การดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งที่ 2 หลังการเลือกตั้งในปี 2562

 

มีหลายฝ่ายทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน นักวิชาการ มวลชน รวมถึงเสียงจากโลกออนไลน์ มีการแสดงความคิดเห็นคู่ขนานไปกับการจัดกิจกรรมบนถนน ผ่านแฮชแท็ก #นายกเถื่อน #8ปีประยุทธ์ และ #ม็อบ23สิงหา65 โดยยังคงมีการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง

 

บ่ายวันนี้ (24 สิงหาคม) ได้มีการนัดหมายชุมนุมจากหลายกลุ่ม หลายพื้นที่ ในการเดินหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อกดดันและขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ ออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

ขณะเดียวกัน ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ปล่อยวิดีโอความยาวประมาณ 3.28 นาที หัวข้อ ‘8 ปีที่เปลี่ยนไป’ เพื่อนำเสนอนโยบายของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

 

สถานะของ พล.อ. ประยุทธ์ วาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ถูกตีความได้หลายแบบ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ชะตาในวันนี้ เวลา 11.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมตามกำหนดการเพื่อพิจารณาคดีอื่นๆ ส่วนคำร้องของ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เบื้องต้นทางสำนักงานฯ ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณาไว้ แต่หลังจากได้รับคำร้องมาแล้ว ทางหน่วยงานหรือฝ่ายคดีจะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดของคำร้องก่อน จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมตุลาการฯ เพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับไว้พิจารณา

 

จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ คาดว่าองค์คณะตุลาการจะพิจารณาโดยเร็วที่สุดในเดือนกันยายน เนื่องจากเป็นประเด็นที่สำคัญ อยู่ในความสนใจของประชาชน อีกทั้งกรณีดังกล่าวเป็นประเด็นทางข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไม่มีประเด็นอะไรที่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าคำร้องดังกล่าวจะมีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ รวมทั้งพิจารณาคำขอให้มีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา

 

ก่อนหน้านี้ เรื่องราวของ พล.อ. ประยุทธ์ ถูกนำไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมาแล้ว 4 ครั้ง

 

ครั้งที่ 1 วันที่ 27 สิงหาคม 2562 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ส่งเรื่องที่ ภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน มีผู้ร้องว่านายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เป็นการเข้าข่ายการขัดรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่

 

วันที่ 12 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ ‘ไม่รับคำร้อง’

 

ครั้งที่ 2 วันที่ 28 มิถุนายน 2562 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมกันเข้าชื่อ 101 คน ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าเข้าข่ายเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่ง

 

วันที่ 18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัย พล.อ. ประยุทธ์ ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็น ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’

 

ครั้งที่ 3 วันที่ 9 มีนาคม 2563 สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ‘กรณีอาศัยบ้านพักหลวง’

 

วันที่ 2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ จากกรณีอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหาร

 

ครั้งที่ 4 วันที่ 8 เมษายน 2564 ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรรค ยื่นคำร้องต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 184 (2) และมาตรา 186 หรือไม่ สืบเนื่องจากภายหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา โดยคำร้องดังกล่าวมีการเข้าชื่อกันของ ส.ส. จำนวน 75 คน เพราะเชื่อว่ามีข้อมูลเพียงพอที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

 

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง

 

สำหรับเรื่องราวคำร้องครั้งที่ 5 ครั้งล่าสุด ฝ่ายค้านได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี จะเป็นอย่างไร ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising