×

เปิดเหตุผล ทำไม กนง. จึงมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5%

22.02.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • ที่ประชุม กนง. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
  • กนง. เชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน (2.50%) มีความเหมาะสม เพราะมีความเป็นกลางต่อเศรษฐกิจ (Neutral Interest Rate) จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
  • เศรษฐกิจประเทศไทยปี 2566 เติบโตได้ช้า แต่ กนง. ประเมินว่า GDP ปี 2567 จะเติบโตในอัตรา 2.5-3% รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวขยายตัวและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น
  • ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น กนง. มองว่าเกณฑ์ LTV (Loan-to-Value) ในปัจจุบันมีความเหมาะสม ส่วนข้อเสนอให้พิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ LTV อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้จากการกระตุ้นการซื้อขายในระยะสั้น

ที่ประชุม กนง. ครั้งที่ 1/2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% เหตุเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยไม่ช่วยแก้ปัญหาการเติบโตต่ำได้ อีกทั้งยังเป็นการใช้ Policy Space ที่มีจำกัดอย่างไม่คุ้มค่า

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ และวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

 

ทั้งนี้ กรรมการ 7 ท่านที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย

 

  • เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน)
  • อลิศรา มหาสันทนะ (รองประธาน)
  • รุ่ง มัลลิกะมาส
  • ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน
  • รพี สุจริตกุล
  • สันติธาร เสถียรไทย
  • รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

 

ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน

 

รายงานการประชุม กนง. ครั้งที่ 1/2567 ระบุว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในปี 2567 แต่ผลดีต่อการค้าโลกยังมีจำกัด โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เป็นแรงส่งหลักยังคงถูกขับเคลื่อนด้วยการฟื้นตัวของภาคบริการ

 

ด้านเศรษฐกิจจีนที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียสูงยังคงฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ ทำให้ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับลดลง โดยภาวะแวดล้อมดังกล่าวทำให้ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ล่าช้า

 

ขณะที่การกลับมาของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกแม้จะเริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนขึ้นบ้าง แต่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งผลให้การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของบางประเทศในภูมิภาคเอเชียอาจได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ จึงคาดว่าการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้าของภูมิภาคเอเชียในปี 2567 จะมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

ตลาดการเงินโลกสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น (Risk-On Sentiment) ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับสูงขึ้นและเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าประเทศในภูมิภาคมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากการคาดการณ์แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักภายในปีนี้ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ

 

จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาภาวะการเงินในประเทศโดยรวมทรงตัว โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ทรงตัวใกล้เคียงเดิม ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนยังได้รับสินเชื่อใหม่อย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมาจากการชดใช้คืนหนี้ที่กู้ยืมจากมาตรการช่วยเหลือพิเศษในช่วง COVID-19 หลังจากสภาพคล่องภาคธุรกิจเริ่มทยอยฟื้นตัว ผู้ประกอบการในภาพรวมยังสามารถชำระหนี้ได้ โดยมีธุรกิจ SMEs บางส่วนที่เผชิญกับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นและภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวตามความระมัดระวังของสถาบันการเงิน

 

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ปรับอ่อนค่าในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์เงื่อนเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นสำคัญ

 

ภาวะเศรษฐกิจไทย

 

เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงในช่วงปลายปี 2566 โดยหลักมาจาก

 

  1. ภาคการส่งออกและการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ชะลอลง เนื่องจากอุปสงค์สินค้าโลกและคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวช้า ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยโดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการส่งออกและการผลิต

 

  1. รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับต่ำลงแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีวันพักเฉลี่ยน้อยลง ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายต่อทริปลดลง และ

 

  1. การลงทุนภาครัฐที่ลดลงมากเป็นพิเศษในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3.0% ในปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

 

  1. การบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น

 

  1. ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและเครื่องชี้ความต้องการท่องเที่ยวในไทยที่อยู่ในทิศทางขยายตัว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 จะอยู่ที่ 34.5 ล้านคน

 

ในขณะที่ภาคการส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์สินค้าโลกที่ฟื้นตัวช้า และผลประโยชน์จากการกลับมาของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่น้อยลง

 

นอกจากนี้ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านความสามารถการแข่งขันในภาคการส่งออก จะเป็นอุปสรรคมากขึ้นและลดทอนประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกหากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอน โดยมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญจากเศรษฐกิจโลกที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจจีนและผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงผลดีจากการฟื้นตัวของการค้าโลกต่อภาคการส่งออกของไทยที่อาจน้อยกว่าที่ประเมินไว้จากปัญหาเชิงโครงสร้าง

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบในระยะสั้นจากปัจจัยเฉพาะด้านอุปทาน อาทิ

 

  1. ราคาอาหารสดที่ปรับลดลงจากสินค้าบางรายการมีผลิตผลออกสู่ตลาดมาก อาทิ เนื้อสุกรและผัก

 

  1. ราคาพลังงานที่ปรับลดลงจากการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

 

สำหรับปี 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ก่อนที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวในระดับใกล้เคียงเดิม สอดคล้องกับเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อที่ทรงตัว ทั้งนี้ ต้องติดตามความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

 

ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการ กนง. อภิปราย

 

คณะกรรมการ กนง. ประเมินว่าปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันภาคการส่งออกและภาคการผลิตมาเป็นเวลานานส่งผลชัดเจนขึ้นต่อเศรษฐกิจ โดยกลุ่มสินค้าส่งออกกว่า 70% ที่ฉุดรั้งมูลค่าการส่งออกในปี 2566 มาจากสินค้าที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น

 

  1. สินค้าหมวดปิโตรเคมีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของจีนที่ต้องการเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ และลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ (Dual Circulation Strategy)

 

  1. สินค้า Hard Disk Drive ที่สูญเสียตลาดให้กับ Solid State Drive ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนที่ผู้ประกอบการในไทยยังไม่มีความสามารถในการผลิต ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวได้เฉลี่ย 4% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่ขยายตัว 37%, 14% และ 10% ตามลำดับ

 

  1. สินค้าเกษตร เช่น ข้าว โดยส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวของไทยลดลง ล่าสุดมาอยู่ที่ 13% จาก 25% ในปี 2546

 

นอกจากนี้การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศของไทยถูกกระทบจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน สะท้อนจากสัดส่วนสินค้านำเข้าต่อการบริโภคภาคเอกชนของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 17% มาอยู่ที่ 24% ในปี 2566 โดยเป็นการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นจาก 5% มาอยู่ที่ 9%

 

คณะกรรมการ กนง. เห็นว่าการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีความท้าทายมากขึ้น จากเหตุผลดังนี้

 

  1. การประเมินผลกระทบของปัจจัยเชิงโครงสร้างต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยส่งผลต่อแรงส่งเศรษฐกิจในระยะสั้น อาทิ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออก และระยะยาวผ่านระดับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่อาจลดต่ำลง ซึ่งยังไม่สามารถประเมินเชิงปริมาณได้ชัดเจนในปัจจุบัน และขึ้นอยู่กับการปรับตัวของภาคเอกชนและนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้วย

 

  1. การประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยมีความท้าทายมากขึ้น สะท้อนจาก GDP ด้านการใช้จ่ายและด้านการผลิตที่มีความแตกต่างกัน และทำให้การเปลี่ยนแปลงของระดับสินค้าคงคลังและค่าสถิติคลาดเคลื่อน (Change in Stock and Statistical Discrepancy) มีอิทธิพลต่อตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากในระยะหลัง คณะกรรมการ กนง. จึงให้ความสำคัญกับการติดตามเครื่องชี้วัดที่หลากหลาย รวมถึงให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความครอบคลุมรอบด้านและทันการณ์

 

คณะกรรมการ กนง. ประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในช่วงประมาณการ โดยมีแรงสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ภาคครัวเรือน โดยอัตราการว่างงานที่คำนวณจากค่าเฉลี่ยข้อมูลรายเดือนสำหรับไตรมาส 4 ปี 2566 ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่น้อยกว่า 1% จากที่เคยอยู่ในระดับสูงถึง 2.2% ในช่วงวิกฤต COVID-19 รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี เป็นต้น

 

สำหรับแรงกระตุ้นภาครัฐโดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2568 ปรับเพิ่มขึ้นตามกรอบงบประมาณใหม่ และต้องติดตามการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลและมาตรการอื่นๆ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน

 

คณะกรรมการ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบไม่ได้สะท้อนอุปสงค์ที่อ่อนแอ โดย

 

  1. ราคาสินค้าที่ปรับลดลงมากจำกัดอยู่ในบางกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเฉพาะด้านอุปทานและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ เช่น ราคาอาหารสดและพลังงาน โดยหากหักผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงเป็นบวก

 

  1. ราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง โดยล่าสุดมีเพียง 25% ของรายการสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อทั่วไปที่ราคาปรับลดลง ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับในอดีต

 

  1. การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง (Medium-Term Inflation Expectations) ยังทรงตัวใกล้เคียงค่ากลางของกรอบเป้าหมาย คณะกรรมการ กนง. เห็นว่าอัตราการขยายตัวของราคาที่ต่ำในบางกลุ่มสินค้าส่วนหนึ่งอาจเกิดจากโครงสร้างตลาดและภาวะการแข่งขันที่กำลังเปลี่ยนแปลงมากกว่าปัจจัยมหภาค และเห็นควรให้ศึกษาผลกระทบในระยะข้างหน้า

 

อย่างไรก็ดี กระบวนการ Disinflation ที่เกิดขึ้นของไทยนั้นเร็วกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพของครัวเรือนหลังจากที่เร่งสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา

 

คณะกรรมการ กนง. ประเมินว่าภาวะการเงินไม่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม สะท้อนจาก

 

  1. ธุรกิจในภาพรวมยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ทรงตัวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2566 ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดเล็กบางส่วนแม้ปรับด้อยลงแต่เป็นผลมาจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้ามากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

 

  1. สินเชื่อปล่อยใหม่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านยอดคงค้างสินเชื่อปรับลดลงจากการใช้คืนหนี้ที่กู้ยืมจากมาตรการช่วยเหลือพิเศษในช่วง COVID-19 เป็นสำคัญ

 

  1. การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แม้มีผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงบางรายระดมทุนทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน (Rollover) ได้ไม่เต็มจำนวน แต่เกิดจากปัจจัยเฉพาะของบริษัทและไม่ได้มีปัญหาเชิงระบบ

 

คณะกรรมการ กนง. ประเมินว่าเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) ของไทยในปัจจุบันมีความเหมาะสม โดยเห็นว่าข้อเสนอให้พิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จากองค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ผ่านกระทรวงการคลัง อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้จากการกระตุ้นการซื้อขายในระยะสั้น เนื่องจาก

 

  1. เกณฑ์ LTV ในปัจจุบันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนส่วนใหญ่ โดยจากข้อมูลพบว่าเกือบ 90% ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยไม่ได้ติดเกณฑ์ LTV และสามารถได้รับวงเงินกู้ที่ 100% อยู่แล้ว นอกจากนี้เกณฑ์ LTV ปัจจุบันของไทยที่ 90-100% สำหรับสัญญาแรกมีความผ่อนปรนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อาทิ เกณฑ์ LTV ของเกาหลีใต้, สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ อยู่ที่ 50-70%, 75% และ 80% ตามลำดับ

 

  1. ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังสามารถเติบโตได้ โดยยอดขายยังเพิ่มขึ้น สะท้อนจากจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ ในขณะที่อุปทานฟื้นตัว สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังสะท้อนมุมมองการขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

 

  1. การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV เพิ่มเติมอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ผ่านการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยบางกลุ่มปรับสูงขึ้น ผู้กู้บางรายอาจก่อหนี้เกินตัว อีกทั้งกระบวนการลดหนี้ (Deleveraging) ที่เริ่มมีความคืบหน้าไปบ้างอาจถูกกระทบ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสร้างความเปราะบางให้กับระบบการเงินในระยะยาว

 

คณะกรรมการ กนง. ตระหนักถึงผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะบริษัทที่มีขนาดเล็กและกำไรต่ำ หรือครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูงที่จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่นๆ จึงสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการผลักดันให้สถาบันการเงินดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง และการใช้มาตรการเฉพาะจุด เช่น การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ซึ่งจะมีประสิทธิผลมากกว่าและมีต้นทุนน้อยกว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ส่งผลกว้างระดับมหภาค (Blunt Tool)

 

คณะกรรมการ กนง. ส่วนใหญ่เห็นว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจ (Neutral Interest Rate) จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินเป็นพื้นฐานสำคัญ โดยเห็นว่า

 

  1. เศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลงและผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

 

  1. การลดอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มแรงส่งต่อเศรษฐกิจได้ไม่มากนักในบริบทที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง และไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำได้ อีกทั้งยังเป็นการใช้ Policy Space ที่มีจำกัดอย่างไม่คุ้มค่า

 

  1. ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจมีนัยต่อ Neutral Interest Rate ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบดังกล่าวประเมินว่ามีไม่มาก อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ความชัดเจนที่มากขึ้น

 

  1. ต้นทุนของการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเกินไปคือการกระตุ้นการสร้างหนี้ใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจที่ปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงมากอยู่แล้ว และอาจทำให้กระบวนการลดหนี้ (Deleveraging) ที่กำลังคืบหน้าหยุดชะงัก นอกจากนี้อาจเพิ่มพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่เสี่ยงมากขึ้น (Search for Yield) ลดทอนแรงจูงใจในการพัฒนาด้านศักยภาพการผลิต ส่งผลลบต่อประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งเพิ่มการสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ กนง. มีความยืดหยุ่นและพร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากพัฒนาการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยเห็นว่า

 

  1. ระดับ Neutral Interest Rate อาจต่ำกว่าที่ประเมินอย่างมีนัย จากศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่รุนแรงและชัดเจน

 

  1. การผ่อนคลายภาวะการเงินลงระดับหนึ่ง แม้อาจไม่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจได้มากนักในระยะสั้น แต่เป็นการลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอลงต่อเนื่องในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะหากภาคการส่งออกและการผลิตฟื้นตัวช้ามากกว่าที่คาด จนส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการจ้างงาน ซึ่งมีนัยสำคัญต่อความยั่งยืนในการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน

 

การดำเนินนโยบายการเงิน

 

คณะกรรมการ กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

 

คณะกรรมการ กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในปี 2567 จากการชะลอลงในภาคการส่งออกและการผลิต โดยเป็นผลจากอุปสงค์โลกและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศที่เป็นเครื่องยนต์หลักยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทาน และมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว และไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

 

แต่บริษัทที่มีขนาดเล็กและกำไรต่ำ รวมถึงครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูง ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อสำหรับ SMEs และครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังฟื้นตัวช้า

 

คณะกรรมการ กนง. สนับสนุนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการเฉพาะจุด และแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

 

คณะกรรมการ กนง. ประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศและปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีแรงส่งต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว

 

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ กนง. เห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าจากปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

 

ภาพ: Rawpixel / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising