ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2562 ‘ไมเนอร์ ฟู้ด’ ได้กดปุ่มลุยธุรกิจ ‘เดลิเวอรี’ แบบเต็มสูบด้วยการเปิดตัว ‘1112 Delivery’ เปลี่ยนโลโก้ใหม่ เปลี่ยนเสื้อใหม่ ที่มาพร้อมกับจุดเด่น สั่งครั้งเดียวได้ทุกเมนูในร้านอาหารทั้ง 7 แบรนด์ในเครือ และไม่เพียงแค่ 1 ออร์เดอร์ต่อ 1 ร้านเท่านั้น แต่ 1 ออร์เดอร์ยังสามารถสั่งได้หลายๆ ร้าน ช่วยเพิ่มความสะดวกในเครือได้อีกด้วย
ผ่านมา 1 ปีกว่า ‘ไมเนอร์ ฟู้ด’ ได้ตัดสินใจยกเครื่อง ‘1112 Delivery’ อีกครั้ง โดยเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ลงไป เช่น การติดตามออร์เดอร์แบบออนไลน์ การแชตตอบโต้ระหว่างลูกค้าและคนขับ โปรโมชันที่จัดเต็มกว่า Food Aggregator รายอื่นๆ และคำสั่งจะตรงไปที่ร้านเลย โดยไม่ต้องรอให้คนขับตอบรับคำสั่งซื้อก่อน พร้อมยึดสโลแกนส่งภายใน 30 นาที ส่วนฟีเจอร์การสั่ง 1 ออร์เดอร์หลายร้านได้ถูกยกเลิกไป หลังพบว่ามีลูกค้าเพียง 3% เท่านั้นที่สั่ง
สิ่งที่ต้องจับตาคือ ทำไม ไมเนอร์ ฟู้ด จึงตัดสินใจปั้น 1112 Delivery อย่างจริงจังด้วยงบประมาณหลักร้อยล้านบาท พร้อมกับแยกธุรกิจเดลิเวอรีออกมาเป็นอีกบิสิเนสยูนิตใหม่ โดยไม่ได้รวมเป็นส่วนหนึ่งกับแบรนด์ใด พร้อมตั้ง ปัทม์ พงษ์วิทยาพิพัฒน์ ขึ้นมาเป็นผู้ดูแลโดยเฉพาะ
ก่อนอื่น ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า ธุรกิจเดลิเวอรีนับว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจร้านอาหาร โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ธุรกิจร้านอาหารเติบโตเฉลี่ย 4.8% จากมูลค่า 7.36 แสนล้านบาทในปี 2557 เป็น 9.31 ล้านบาทในปี 2562 และ 5 ปีจากนี้คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 3.3% เป็น 1.097 ล้านล้านบาทในปี 2567
ขณะที่ธุรกิจเดลิเวอรีเติบโตเฉลี่ย 7.9% จากมูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาทในปี 2557 เป็น 6.1 หมื่นล้านบาทในปี 2562 และ 5 ปีจากนี้คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10.0% เป็น 9.9 หมื่นล้านบาทในปี 2567 จึงเห็นได้ว่าธุรกิจเดลิเวอรีมีอัตราการเติบโตที่หวือหวากว่าธุรกิจอาหารเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นไมเนอร์ ฟู้ด จึงพลาดไม่ได้ที่จะลงมาเล่นในสงครามนี้เอง
อย่างไรก็ตามจริงอยู่ที่วันนี้ Food Aggregator ในบ้านเรามีหลากหลาย และแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อชิงฐานลูกค้า ขณะเดียวกันการแข่งขันนี้เองทำให้ลูกค้ามีความคุ้นชินกับการสั่งอาหารออนไลน์ไปด้วย ยิ่งเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ผลักดันให้ลูกค้าที่ยังไม่เคยได้ทดลองใช้ หันมาใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์
ทว่าสิ่งที่แลกมากับความสะดวกสะบายของผู้บริโภค ได้กลายเป็น ‘ต้นทุน’ ที่บรรดาธุรกิจร้านอาหารต้องแบกรับขึ้นมา นอกเหนือจากต้นทุนปกติที่มีอยู่ ทั้งค่าเช่าสถานที่ พนักงาน วัตถุดิบ ฯลฯ ซึ่งต้นทุนที่ว่าคือ ‘ค่า GP’ หรือ Gross Profit ซึ่งเป็นค่าคอมมิชชันที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแอปฯ สั่งอาหาร ซึ่งปกติร้านอาหารต่างๆ จะต้องจ่ายอยู่ในสัดส่วน 30-35%
แม้ไมเนอร์ ฟู้ด จะเป็นเชนใหญ่ มีร้านอาหารในเมืองไทยกว่า 1,582 สาขา จากแบรนด์ร้านอาหารนับ 10 แบรนด์ เช่น The Pizza Company, BonChon, Burger King, Swensen’s, Sizzler, Dairy Queen และ The Coffee Club เป็นต้น จึงจ่ายค่า GP ในอัตราที่น้อยกว่า และแม้ว่าวันนี้ยอดขาย 50% ในช่องทางเดลิเวอรีมาจากช่องทางต่างๆ ของตัวเอง และที่เหลืออีก 50% มาจาก Food Aggregator
เหล่านี้ถือเป็นต้นทุนจำนวนมากที่ได้เข้ามาเบียด ‘กำไร’ ที่บางเฉียบอยู่แล้วของธุรกิจร้านอาหารขึ้นไปอีก ดังนั้นไมเนอร์ ฟู้ด จึงต้องปั้นแอปฯ เดลิเวอรีของตัวเองขึ้นมา เพื่อที่อย่างน้อยจะได้ช่วยลดต้นทุนที่ต้องจ่ายออกไป โดยประพัฒน์ย้ำว่า “เราไม่ได้ต้องการปั้นขึ้นมาแข่งกับ Food Aggregator แต่เป้าหมายหลักคือการซัพพอร์ตร้านอาหารในเครือมากกว่า”
และที่มากไปกว่านั้น การมีแอปฯ สั่งอาหารเป็นของตัวเองจะทำให้ไมเนอร์ ฟู้ด สามารถเข้าถึง ‘ข้อมูล’ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่สั่งอาหารของตัวเองได้ ซึ่งข้อมูลที่ว่าสามารถนำไปต่อยอดกับธุรกิจ เนื่องจากปกติแล้วข้อมูลที่มีค่าดั่งทองคำดังกล่าว ฝั่ง Food Aggregator จะไม่ได้แชร์ให้กับฝั่งร้านอาหารให้รับทราบด้วย
ทั้งนี้ รายได้ของ 1112 Delivery มาจากค่า GP เช่นเดียวกับที่ Food Aggregator เก็บก็จริง แต่ประพัฒน์ระบุว่า ไม่ถือว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นเหมือนกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวามากกว่า โดยธุรกิจเดลิเวอรีไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในจุดที่ทำกำไรเยอะๆ ขอให้เพียงเลี้ยงตัวเองได้ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งปัจจุบันธุรกิจเดลิเวอรียังไม่ได้อยู่ในจุดที่ทำกำไร เพราะยังอยู่ในช่วงของการลงทุนเพื่อสร้างฐานลูกค้าก่อน
ขณะที่ ปัทม์ พงษ์วิทยาพิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจเดลิเวอรี บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ปี 2560 ยอดขายจากช่องทางเดลิเวอรีคิดเป็นสัดส่วน 13% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2560 ก่อนจะเติบโต 43% เป็น 14% ใน 2561 และเติบโตจากปีก่อนหน้าอีก 26% โดยสัดส่วนในปี 2562 ยังอยู่ที่ประมาณ 14% เท่ากัน
แต่ในปี 2563 ซึ่งมีการระบาดของโรคโควิด-19 มาเป็นปัจจัยเร่ง ทำให้ยอดขายจากเดลิเวอรีเติบโตแบบก้าวกระโดดกว่า 200-300% เพิ่มสัดส่วนขึ้นมาเป็น 30% โดยมี 3 แบรนด์ที่เติบโตโดดเด่นเป็นอย่างมากคือ The Pizza Company โต 55%, Swensen’s โต 3 เท่า และ BonChon โต 1.9 เท่า
“นอกจากการเติบโตแล้ว อีกสิ่งที่เราเจอคือ พฤติกรรมผู้บริโภคระหว่างคนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่ไม่เหมือนกัน โดยคนกรุงเทพฯ ต้องการความเร็วในการส่ง ความคุ้มค่าของโปรโมชัน และที่เพิ่มมาในช่วงนี้คือสุขลักษณะ และคุณภาพของคนส่งอาหาร ส่วนคนต่างจังหวัดนั้นจะเน้นเรื่องความคุ้มค่า และราคาค่าส่งที่เอื้อมถึงได้”
ปัทม์กล่าวว่า เมื่อดูจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในกรุงเทพฯ จะเห็นได้ว่า ให้ความสำคัญกับคนขับส่งอาหารเป็นอย่างมาก ดังนั้นการที่มี 1112 Delivery จะช่วยให้ไมเนอร์สามารถควบคุมคุณภาพของคนขับได้ด้วย โดยปัจจุบันในระบบมีคนขับอยู่ราว 3,000 คนที่เป็นพนักงานส่งของ The Pizza Company และยังมีคนขับฟรีแลนซ์ ซึ่งหากในช่วงที่มีคำสั่งซื้อจำนวนมากก็สามารถเพิ่มขึ้นได้อีก 2-3 เท่า โดยให้บริการแล้วใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ เหลือเพียง 2 จังหวัดที่ยังไม่มีคือ แม่ฮองสอน และนราธิวาส
ปัจจุบันภายใต้ 1112 Delivery แบรนด์ร้านอาหารในเครือ รวมถึง 9 ร้าน และยังมีร้านอาหารที่ไมเนอร์เข้าไปถือหุ้นอยู่เช่น S&P และ BreadTalk แต่ขณะนี้กำลังเจรจาที่จะเพิ่มร้านอื่นๆ เข้าไปอีก 2-3 แบรนด์ เพื่อให้ครอบคลุมร้านอาหารในทุกเซกเมนต์ เบื้องต้นร้านที่เข้ามายังเป็นร้านที่ไมเนอร์เข้าไปถือหุ้นก่อน ส่วนร้านนอกเครือค่อยพิจารณาเป็นเฟสต่อไป
ขณะเดียวกันเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ ได้มีการทำโปรโมชันฟรีค่าบริการจัดส่งอาหารใน 8 กิโลเมตรแรก เมื่อมียอดใช้จ่ายถึง 400 บาท ลูกค้าใหม่จะได้รับส่วนลด 100 บาท เมื่อมียอดใช้จ่ายถึง 300 บาทต่อออร์เดอร์ โดยมีระยะเวลาถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
“ในปีนี้เราต้องการตั้งเป้าการเติบโต 5 เท่าจากปีก่อนหน้า และในปี 2564 เราต้องการเติบโต 10 เท่า ในส่วนยอดของการดาวน์โหลดนั้น เราต้องการยอดให้ครบ 1 ล้านครั้งภายในสิ้นปี 2563” ปัทม์กล่าวทิ้งทายถึงเป้าหมายที่วางไว้สำหรับ 1112 Delivery
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์