×

เพราะอะไรชัยชนะของอังกฤษเหนือเยอรมนีจึงมีค่ามากกว่าแค่การเข้ารอบต่อไป

30.06.2021
  • LOADING...
เพราะอะไรชัยชนะของอังกฤษเหนือเยอรมนีจึงมีค่ามากกว่าแค่การเข้ารอบต่อไป

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ชัยชนะของอังกฤษเหนือเยอรมนีในศึกยูโร 2020 เป็นการลบฝันร้ายที่มีมายาวนานมากกว่า 25 ปีของชาวเมืองผู้ดี
  • หลังต่อสู้กับโรคระบาดที่แสนสาหัสมาอย่างยาวนาน ชัยชนะนี้เป็นเหมือนการฉลองให้แก่การกลับมาสู่วิถีชีวิตปกติอีกครั้งของชาวอังกฤษ 
  • ภาพของเหล่าฮีโร่ในสนาม ชัยชนะในเวมบลีย์ จะไม่ได้เป็นแค่ความทรงจำ แต่จะเป็นแรงบันดาลใจของเด็กๆ มากมายที่จะอยากเป็นเหมือนอย่างฮีโร่ที่พวกเขาได้เห็นในวันนี้

Football is coming home!

 

ถึงตัวจะอยู่เมืองไทย แต่ก็พอจะรู้ได้ว่าเพลง Three Lions เพลงฮิตติดหูของแฟนฟุตบอลทีมสิงโตคำรามน่าจะดังไปทั่วทุกหนทุกแห่งในอังกฤษไปอีกหลายวันเลยทีเดียวครับ หลังจากที่พวกเขาสามารถลบฝันร้ายด้วยการเอาชนะเยอรมนีได้ในเกมรอบ 16 ทีมสุดท้ายของฟุตบอลยูโร 2020 เมื่อคืนที่ผ่านมา

 

ภาพการระเบิดความรู้สึกของแฟนบอลในสนามเวมบลีย์หลังจากที่ แฮร์รี เคน กองหน้ากัปตันทีมที่เผชิญกับเสียงวิจารณ์อย่างหนักมาโดยตลอดทั้งรายการ สอดตัวเข้ามาย่อตัวโหม่ง (ซึ่งยากมากนะครับลูกนี้) ลูกเปิดของ แจ็ค กรีลิช ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่เขามีส่วนกับการได้ประตูของอังกฤษ เป็นภาพที่สวยงามและน่าขนลุกในเวลาเดียวกัน

 

ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ประตูที่พาทีมเป็นแชมป์ได้ แต่ความรู้สึกมันก็คล้ายๆ แบบนั้น และนั่นคือเหตุผลที่ย้ำเตือนเราอีกครั้งครับว่า เกมฟุตบอลที่มีกับไม่มีแฟนบอลนั้นแทบจะเป็นกีฬาคนละประเภทกันเลยทีเดียว

 

กูรูเขาว่าอย่างไรบ้างกับชัยชนะของสิงโตคำรามในเกมนี้?

 

ริโอ เฟอร์ดินานด์ ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์เกมให้กับ BBC บอกแบบนี้ครับ “แฟนๆ จะร้องเพลงกันตลอดทางกลับบ้านแน่นอน มันคือช่วงเวลาที่พิเศษ ลูกๆ ของผมก็อยู่ที่นี่ด้วย และมันก็เป็นช่วงเวลาที่งดงามจริงๆ เมื่อคิดถึงสิ่งที่เราต้องเผชิญตลอดมา รวมถึงเรื่องของโรคระบาดด้วย มันเป็นภาพที่สวยงามอย่างยิ่งที่เราได้เห็นกัน

 

“เราเฝ้ารอช่วงเวลานี้เพื่อจะได้สัมผัสถึงพลังที่อยู่ด้านในนั้น สิ่งนี้คือความฝันชัดๆ และมันจะอยู่กับเราไปตลอดกาล”

 

ฟังจากคำพูดของเฟอร์ดินานด์แล้ว ถ้าคนที่ไม่ใช่กองเชียร์ทีมชาติอังกฤษก็อาจจะรู้สึกว่า “อะไรมันจะขนาดนั้นเลยหรือ”

 

ตรงนั้นเข้าใจได้ครับ แต่หากเราคิดกลับกันว่า ถ้าเราเป็นชาวอังกฤษ เป็นแฟนบอลทีมชาติอังกฤษ ชัยชนะเหนือเยอรมนีเมื่อคืนที่ผ่านมานั้นมีคุณค่ามากมายจริงๆ

 

 

1. มันคือชัยชนะที่ลบฝันร้ายที่ยาวนานมากกว่า 25 ปี

ก่อนเกมที่จะลงสนามกับเยอรมนี คนพูดถึงประเด็น ‘ฝันร้าย’ ของ แกเร็ธ เซาท์เกต กันเยอะมากครับ เพราะผู้จัดการทีมชาติอังกฤษนั้นมี ‘ปม’ กับทีมชาติเยอรมนีเต็มๆ จากการยิงจุดโทษไม่เข้าในเกมรอบรองชนะเลิศฟุตบอลยูโร 1996 เมื่อ 25 ปีที่แล้ว (อ่านเรื่อง ‘It’s Coming Home…การพบกันอีกครั้งของคู่แค้นเก่า และความทรงจำในฤดูร้อนปี 1996’ https://thestandard.co/england-vs-germany-euro-96/)

 

วันเวลาอาจจะผ่านมานานกว่า 1 ใน 4 ของศตวรรษ ความเจ็บปวดก็จางลงไปบ้าง แต่เซาท์เกตยังคงรู้สึกกับเรื่องนี้อยู่ และเขาไม่ได้เป็นคนเดียวที่รู้สึก เพราะคนอังกฤษทุกคนต่างก็รู้สึกไม่แตกต่างกัน

 

จะไม่เจ็บอย่างไรไหว เมื่ออังกฤษตั้งความหวังที่จะคว้าแชมป์ฟุตบอลยูโรครั้งนั้นให้ได้ เพราะพวกเขาไม่เคยได้แชมป์รายการใหญ่เลยนับตั้งแต่การได้แชมป์ฟุตบอลโลกเมื่อปี 1966 ดังนั้นการได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลยูโรในอีก 30 ปีต่อมา (ในเพลง Three Lions มีเนื้อท่อนหนึ่งที่เขียนไว้เลยครับว่า Thiry years of hurt, Never stop me dreaming)

 

แต่ความฝันนั้นก็ถูกทำลายลงโดยเยอรมนีเหมือนที่เยอรมนี (ตะวันตก) ที่เคยทำลายความหวังในฟุตบอลโลก 1990 ในการดวลจุดโทษของเกมรอบรองชนะเลิศเหมือนกัน

 

การแพ้เยอรมนีในทัวร์นาเมนต์จึงไม่ใช่แผลเป็นของเซาท์เกตคนเดียว แต่เป็นแผลเป็นคนของคนอังกฤษทั้งชาติที่ยังยึดติดกับเรื่องนี้อยู่ (ขณะที่ชาวเยอรมันไม่ได้ใส่ใจอะไรเลย)

 

ถึงจะไม่ใช่การชนะด้วยการดวลจุดโทษ แต่การหักปีกอินทรีเหล็กในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ได้เป็นการลบฝันร้าย ทำลายกำแพงความรู้สึกบางอย่าง

 

เพื่อทุกคนจะได้ Move On ก้าวเดินต่อไป

 

2. มันคือช่วงเวลาแห่งความสุขของคนทั้งชาติ

สิ่งที่เฟอร์ดินานด์พูดในประเด็นเรื่องของโรคระบาดโควิดนั้นไม่ได้เป็นการแค่พูดเอาหล่อครับ

 

เพราะกว่าที่อังกฤษจะมาถึงวันที่แฟนฟุตบอลกลับเข้าสนามเวมบลีย์ได้มากถึง 40,000 คนนั้น พวกเขาต้องต่อสู้มาอย่างแสนสาหัสจริงๆ

 

ผมเองติดตามข่าวกีฬาทางอังกฤษตลอด ก็พอจะทราบสถานการณ์การระบาดของโควิดในอังกฤษว่ามันเลวร้ายไม่ใช่น้อยครับ อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นนรกบนดินเหมือนในเมืองแบร์กาโม ประเทศอิตาลี ที่มีอัตราการสูญเสียสูงมาก แต่กว่าที่ทางการจะควบคุมสถานการณ์ได้ก็ใช้เวลามากกว่า 1 ปี

 

ช่วงเวลาดังกล่าวคือช่วงเวลาของความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวด การสูญเสีย บางคนต้องเสียคนที่รักไปโดยที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะบอกรักและบอกลาด้วยซ้ำ บางคนไม่ได้พบเจอญาติเป็นปี ปู่ย่าไม่ได้สวมกอดลูกหลาน เด็กๆ ไม่ได้เตะฟุตบอลในสนามหญ้า

 

ดังนั้นชัยชนะเหนือเยอรมนีที่มาในช่วงเวลาที่ทุกอย่างเริ่มดีขึ้นแล้ว จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขสำหรับชาวอังกฤษอย่างแท้จริงครับกับชัยชนะ 2 เด้งเหนือโควิดและเหนือคู่ปรับอย่างเยอรมนี

           

 

 

3. มันคือช่วงเวลาของความหวัง

อย่างที่บอกไว้ข้างต้นครับว่า อังกฤษไม่เคยประสบความสำเร็จอะไรในเวทีระดับชาติอีกเลยนับตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1966 ทั้งๆ ที่ปวารณาตัวเองว่าเป็น ‘ต้นกำเนิดของเกมฟุตบอล’ และยังมี ‘ลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลก’

 

การผ่านด่านคู่ปรับสำคัญอย่างเยอรมนีมาได้ช่วยเพิ่มความมั่นใจได้มากครับ ไม่ใช่เฉพาะกับทีม แต่ยังรวมถึงแฟนบอลทุกคนด้วย

 

เส้นทางต่อจากนี้พวกเขาจะพบกับยูเครนในรอบ 8 ทีมสุดท้าย หากผ่านไปได้ก็จะพบผู้ชนะระหว่างเช็กกับเดนมาร์ก ซึ่งทั้งหมดนี้ว่ากันด้วยชื่อชั้นแล้วอังกฤษเป็นต่อ

 

ขณะที่อีกสายซึ่งแข็งกว่านั้น สเปน อิตาลี เบลเยียม รวมถึงม้ามืดอย่างสวิตเซอร์แลนด์ที่เขี่ยแชมป์เก่าอย่างฝรั่งเศสตกรอบได้นั้นแข็งแกร่งก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอังกฤษจะสู้ไม่ได้เลย แถมถ้าทะลุถึงรอบรองชนะเลิศหรือรอบชิงชนะเลิศได้ ก็มีโอกาสเล่นในเวมบลีย์ต่อด้วย

 

โดยนัดชิงฯ​ อาจจะเปิดให้ชมกันเต็มความจุสนามเหมือนปุสกัส อารีนา ที่บูดาเปสต์ ในประเทศฮังการีครับ

 

มันทำให้พวกเขามีความหวังจริงๆ ที่ไม่ใช่ความหวังล้มๆ แล้งๆ ที่จะประสบความสำเร็จครับ และถ้าทำได้ก็จะเป็นการปลดล็อกวงการฟุตบอลของชาติ เหมือนที่เยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน เคยทำได้มาก่อน

 

 

4. มันคือแรงบันดาลใจของคนรุ่นต่อไป

ฟุตบอลคือกีฬาที่เกิดมาเพื่อส่งต่อครับ

 

ไม่ได้หมายถึงส่งลูกฟุตบอลนะ แต่หมายถึงการส่งต่อความรัก ความผูกพัน ความฝัน และแรงบันดาลใจจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งด้วยวิธีที่ง่ายมากๆ คือการนั่งดูบอลด้วยกัน ไม่ว่าจะที่บ้านหรือการเดินจูงมือลูกหลานไปดูกันที่สนาม

 

ทีนี้ไม่ว่าจะนั่งดูที่ไหนก็ตาม สิ่งที่คนรุ่นใหม่หรือเด็กน้อยรุ่นต่อไปได้เห็น ภาพของความพยายามของนักเตะที่ต่อสู้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ลูกซูเปอร์เซฟของ จอร์แดน พิกฟอร์ด การไล่บอลในแดนกลางของ ดีแคลน ไรซ์ และ คาลวิน ฟิลลิปส์ การลงสนามของขวัญใจอย่าง แจ็ค กรีลิช ประตูขึ้นนำของ ราฮีม สเตอร์ลิง เด็กที่เกิดในจาเมกาแต่มาโตในย่านเบรนต์ที่อยู่ใกล้สนามเวมบลีย์จนแทบจะเรียกที่นี่ว่าเป็น ‘ถิ่นผม’

 

และประตูย้ำชัยของ แฮร์รี เคน

 

ภาพเหล่านี้จะไม่ได้เป็นแค่ความทรงจำ แต่จะเป็นแรงบันดาลใจของเด็กๆ มากมายครับ ที่อยากจะเป็นเหมือนอย่างฮีโร่ที่พวกเขาได้เห็นในสนามวันนี้

 

ในบทความเรื่อง ‘Emotions in Football Fans’ โดย แอนโธนี แฮร์ริส ที่เผยแพร่ใน FC Not Alone องค์กรการกุศลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลสภาพจิตใจของทุกคนที่รักฟุตบอลบอกเอาไว้ว่า ความทรงจำ ความรู้สึก และความผูกพัน ที่เกิดขึ้นในวัยเด็กนั้นคือต้นทุนที่สำคัญของชีวิตครับ

 

การที่พวกเขาเหล่านี้ได้เห็นภาพที่สวยงาม ได้ร้อง รำ ทำเพลง ระหว่างเดินกลับบ้าน ไม่ใช่ต้องเดินคอตกหดหู่ (ความหดหู่ของแฟนบอลไม่ใช่เรื่องล้อเล่น! ขนาดผมเองทำงานด้านนี้ แพ้ทีก็แอบเหี่ยวเหมือนกัน)

 

น่าจะพอเห็นภาพนะครับถึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในชัยชนะครั้งนี้ของอังกฤษ ที่แม้มันอาจจะดูมีความสุขเกินหน้าเกินตาอยู่บ้าง แต่มันคือช่วงเวลาที่พวกเขารอคอยมายาวนานจริงๆ

 

สำหรับคนไทยก็อาจจะฟีลเดียวกับที่ทีมชาติไทยชนะเวียดนาม แล้วได้ตั๋วไปฟุตบอลโลก

 

ไม่รู้เปรียบเทียบแบบนี้จะถูกไหมนะครับ!

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising