×

ทำไมโควิด-19 ถึงแพร่กระจายทางอากาศ (Airborne)

12.05.2021
  • LOADING...
ทำไมโควิด-19 ถึงแพร่กระจายทางอากาศ (Airborne)

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • 7 พฤษภาคม 2564 เว็บไซต์ของ CDC ได้เผยแพร่ข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Brief) เรื่องการแพร่กระจายของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคโควิด-19 โดยระบุว่า ช่องทางการแพร่เชื้อในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ช่องทาง คือ การหายใจเอาไวรัสเข้าไป การสัมผัสเยื่อบุตา / จมูก / ปากโดยตรง และการสัมผัสเยื่อบุตา / จมูก / ปาก ผ่านมือที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส 
  • สารคัดหลั่งทางเดินหายใจ (Respiratory Fluids) ถูกปล่อยออกมาระหว่างหายใจออก เช่น การหายใจตามปกติ การพูด การร้องเพลง การออกกำลังกาย การไอหรือจาม เป็นละอองขนาดเล็ก-ใหญ่แตกต่างกัน และละอองเหล่านี้เป็นตัวพาไวรัสไปติดเชื้อให้กับผู้อื่น แต่จะสามารถแพร่ไปได้ไกลเท่าไรขึ้นกับขนาดของละอองและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น
  • โดยสรุป CDC ยืนยันว่าโควิด-19 สามารถแพร่กระจายได้ไกลกว่า 2 เมตร แต่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อแบบนี้คือ กิจกรรมที่เพิ่มละอองสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ + สถานที่ปิด + ระยะเวลานานเกิน 15 นาที เช่น ฟิตเนส สถานบันเทิง และอนาคตน่าจะมีการพูดถึงร้านอาหารมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน CDC ก็ยืนยันว่ามาตรการเดิมนั้นเพียงพอ

ถ้ามีการตีพิมพ์ผลการสอบสวนโรคในคลัสเตอร์ ‘สนามมวย’ เมื่อปีก่อน ก็น่าจะเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนข้อสรุปล่าสุดของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ (CDC) ว่าโควิด-19 สามารถแพร่กระจายได้ไกลกว่า 2 เมตร หรือที่เรียกว่า ‘การแพร่กระจายทางอากาศ’ (Airborne) เพราะตำแหน่งที่นั่งของผู้ติดเชื้อในสนามมวยค่อนข้างกระจัดกระจาย

 

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 เว็บไซต์ของ CDC ได้เผยแพร่ข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Brief) เรื่องการแพร่กระจายของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคโควิด-19 โดยระบุว่า ช่องทางการแพร่เชื้อในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ช่องทาง คือ 

 

  • การหายใจเอาไวรัสเข้าไป
  • การสัมผัสเยื่อบุตา / จมูก / ปากโดยตรง
  • การสัมผัสเยื่อบุตา / จมูก / ปาก ผ่านมือที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส 

 

อย่างไรก็ตาม CDC ได้ย้ำว่า “ถึงแม้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อจะเปลี่ยนไป แต่วิธีการป้องกันการติดเชื้อยังคงเหมือนเดิม มาตรการป้องกันโรคที่ CDC แนะนำทั้งหมดยังคงมีประสิทธิผลสำหรับทุกช่องทางการแพร่เชื้อดังกล่าว” โดยเหตุผลของการทำข้อสรุปนี้คือการปรับปรุงองค์ความรู้ให้ทันสมัยและจัดรูปแบบใหม่ให้กระชับมากขึ้น

 

ไวรัสติดต่อผ่าน ‘สารคัดหลั่งทางเดินหายใจ’

สารคัดหลั่งทางเดินหายใจ (Respiratory Fluids) ถูกปล่อยออกมาระหว่างหายใจออก เช่น การหายใจตามปกติ การพูด การร้องเพลง การออกกำลังกาย การไอหรือจาม เป็นละอองขนาดเล็ก-ใหญ่แตกต่างกัน และละอองเหล่านี้เป็นตัวพาไวรัสไปติดเชื้อให้กับผู้อื่น แต่จะสามารถแพร่ไปได้ไกลเท่าไรขึ้นกับขนาดของละอองและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น

 

  • ละอองขนาดใหญ่ที่สุด (Largest Droplets) จะตกสู่พื้นอย่างรวดเร็วในระดับวินาที-นาที
  • ละอองขนาดเล็กมาก (Very Fine Droplets) และถ้าแห้งแล้วจะกลายเป็นอนุภาคแอโรซอล (Aerosol Particles) ซึ่งมีขนาดเล็กพอที่จะลอยอยู่ในอากาศได้นานระดับนาที-ชั่วโมง

 

ตรงนี้เองที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ว่าผู้ติดเชื้อไม่ได้แพร่เชื้อผ่านละอองน้ำลายระหว่างการพูดคุย หรือละอองน้ำมูก เสมหะระหว่างการไอหรือจามเท่านั้น แต่ผู้ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อระหว่างการหายใจตามปกติ การหายใจแรงระหว่างการออกกำลังกาย หรือแม้แต่การตะโกนเชียร์ (มวย) ได้ โดยละอองเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ช่องทางคือ

 

  • การหายใจเข้า (Inhalation) คือ การสูดหายใจเอาละอองขนาดเล็กมาก หรืออนุภาคแอโรซอลที่มีไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ความเสี่ยงของการติดเชื้อจะสูงมากในระยะ 1-2 เมตรจากผู้ติดเชื้อ เพราะเป็นบริเวณที่มีความเข้มข้นของละอองเหล่านี้สูง
  • การตกลงบนเยื่อบุผิว (Deposition) คือ การที่ละอองที่มีไวรัสตกลงบนเยื่อบุตา / จมูก / ปาก เช่น การถูกไอจามรด แล้วละอองน้ำลายกระเด็นเข้าตา ‘โดยตรง’ ความเสี่ยงในการติดเชื้อจะสูงมากในระยะ 1-2 เมตรตามความเข้มข้นของละอองเช่นกัน
  • การสัมผัสผ่านมือ (Touching) คือ การนำมือที่ปนเปื้อนหรือหยิบจับพื้นผิวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งขึ้นมาสัมผัสกับเยื่อบุตา / จมูก / ปาก เท่ากับเป็นการสัมผัส ‘ทางอ้อม’ แต่จากหลักฐานในปัจจุบัน การแพร่เชื้อแบบนี้ไม่ใช่ช่องหลักในการติดเชื้อโควิด-19

 

ความเสี่ยงในการติดเชื้อขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัส

เมื่อละอองสารคัดหลั่งกระจายออกมาจากผู้ติดเชื้อ ความเสี่ยงในการติดเชื้อจะลดลงเมื่อระยะห่างจากผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น (อยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อ) และระยะเวลาหลังการกระจายนานขึ้น เพราะจะได้รับเชื้อในปริมาณน้อย หลักการสำคัญในการพิจารณาปริมาณเชื้อที่ได้รับจากการหายใจเข้า หรือการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อมี 2 ข้อ คือ

 

  • การลดความเข้มข้นของไวรัสในอากาศ ละอองที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากจะตกลงบนพื้นผิวตามแรงโน้มถ่วง ในขณะที่ละอองขนาดเล็กมากจะยังคงอยู่ในอากาศ ผสมและถูกเจือจางด้วยอากาศภายในบริเวณนั้น (นึกถึงภาพควันที่ลอยขึ้นมาจากหม้อชาบู หรือใครจะนึกถึงเตาหมูกระทะก็ไม่ว่ากัน)
  • ความสามารถในการอยู่รอดของไวรัสและการติดเชื้อจะลดลงตามระยะเวลา ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และแสงอัลตราไวโอเลต / แสงอาทิตย์

 

การแพร่กระจายของไวรัสที่ไกลกว่า 2 เมตร

ถึงแม้ว่าความเสี่ยงในระยะที่ไกลกว่า 2 เมตรจะ ‘ต่ำ’ กว่าการสัมผัสใกล้ชิด แต่ก็มีรายงานการระบาดในลักษณะนี้หลายเหตุการณ์ เช่น ร้านอาหาร (จีน), ห้างสรรพสินค้า (จีน), รถโดยสารประจำทาง (จีน), ฟิตเนส (เกาหลีใต้, ฮาวาย สหรัฐฯ), สนามสควอช (สโลวีเนีย), วงนักร้องประสานเสียง (วอชิงตัน สหรัฐฯ, ฝรั่งเศส), การร้องเพลงในโบสถ์ (ออสเตรเลีย)

 

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นการติดเชื้อจากการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อภายในอาคารเป็นเวลานาน (มากกว่า 15 นาที หรือเป็นระดับชั่วโมงในบางกรณี) ทำให้มีความเข้มข้นของไวรัสมากพอที่จะแพร่กระจายไปยังผู้อื่นไกลกว่า 2 เมตร และในบางกรณีอาจเป็นการใช้พื้นที่ต่อจากผู้ติดเชื้อ โดย CDC สรุปว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อในลักษณะนี้คือ

 

  • สถานที่ปิด (Enclosed Spaces) อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือการจัดการอากาศไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีการสะสมของละอองขนาดเล็ก
  • กิจกรรมที่ปล่อยสารคัดหลั่งทางเดินหายใจออกมาเพิ่มขึ้น คือกิจกรรมทางกายหรือใช้เสียงดังขึ้น เช่น การออกกำลังกาย การตะโกน การร้องเพลง
  • การสัมผัสเป็นเวลานาน มักจะนานกว่า 15 นาที

 

การป้องกันการติดเชื้อไวรัส

สิ่งที่ CDC รู้ในปัจจุบันคือการสัมผัสทางอ้อม (การสัมผัสผ่านสิ่งของที่ปนเปื้อน) ไม่ใช่ช่องทางหลักในการแพร่เชื้อ ส่วนสิ่งที่ CDC ยังไม่รู้คือปริมาณของไวรัสที่น้อยที่สุดที่สามารถทำให้ติดเชื้อได้ (Infectious Dose) แต่หลักฐานในปัจจุบันพบว่ามาตรการป้องกันโรคที่ CDC เคยแนะนำยังคงใช้ได้ผล ได้แก่ 

 

  • การเว้นระยะห่างทางกายภาพ 
  • การสวมหน้ากากที่กระชับกับใบหน้า
  • การระบายอากาศที่เพียงพอ
  • การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดภายในอาคาร

 

เพราะวิธีการเหล่านี้สามาร ‘ลด’ ความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อผ่านช่องทางการหายใจเข้า และการสัมผัสที่เยื่อบุตา / จมูก / ปากโดยตรง (คือ ‘ลด’ ปริมาณไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อปริมาณไวรัสลดลง ความเสี่ยงในการติดเชื้อก็จะลดลง) ส่วนช่องทางการสัมผัสทางอ้อมสามารถป้องกันด้วยการล้างมือบ่อยๆ และการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม

 

โดยสรุป CDC ยืนยันว่าโควิด-19 สามารถแพร่กระจายได้ไกลกว่า 2 เมตร แต่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อแบบนี้คือ กิจกรรมที่เพิ่มละอองสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ + สถานที่ปิด + ระยะเวลานานเกิน 15 นาที เช่น ฟิตเนส สถานบันเทิง และอนาคตน่าจะมีการพูดถึงร้านอาหารมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน CDC ก็ยืนยันว่ามาตรการเดิมนั้นเพียงพอ

 

ถ้าจะให้ผมแนะนำเพิ่มเติมคือ เรายังใช้ชีวิตนอกอาคารหรือสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้เหมือนเดิม เน้นการเว้นระยะห่างจากผู้อื่น แต่เมื่อเข้าไปในสถานที่ปิดต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา เจ้าของสถานที่ปิดข้างต้น รวมถึงสถาบันการศึกษาควรติดพัดลมดูดอากาศ และติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศ เพื่อเพิ่มการระบายอากาศ และลดความเข้มข้นของปริมาณไวรัส 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X