วานนี้ (7 กันยายน) องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธ์ุสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) ยังคงเป็นเชื้อที่น่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้ แม้จะมีการตรวจพบเชื้อโควิดกลายพันธ์ุชนิดใหม่อย่าง ‘เชื้อมิว’ (B.1.621) ที่มีแนวน้มจะสามารถหลบเลี่ยงและต้านทานภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนหรือการเคยติดเชื้อโควิดได้
ด้วยความสามารถที่แพร่กระจายเชื้อได้ดีกว่าเชื้อไวรัสดั้งเดิมที่ตรวจพบที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน ส่งผลให้เชื้อเดลตากลายเป็นเชื้อสายพันธ์ุหลักที่ตรวจพบแล้วอย่างน้อยใน 170 ประเทศทั่วโลกภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ในขณะที่เชื้อมิวที่ตรวจพบครั้งแรกในโคลอมเบียเมื่อช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา และตรวจพบเชื้อแล้วอย่างน้อย 39 ประเทศ แต่ในภาพรวมเชื้อมิวกลับมีแนวโน้มการแพร่ระบาดลดลงและยังคงอยู่ในระดับต่ำ
ทางด้าน ดร.ไมค์ ไรอัน หัวหน้าทีมฉุกเฉินของ WHO ระบุว่า “เชื้อไวรัสต่างพยายามที่จะขึ้นมาแข่งขันกับเชื้อไวรัสแถวหน้าซึ่งในขณะนี้คือเชื้อเดลตา และมีแนวโน้มที่เชื้อเดลตาจะเหนือกว่าเชื้อกลายพันธ์ุอื่นๆ อย่างเชื้อมิว
ถ้าเชื้อมิวยกระดับกลายเป็นเชื้อที่น่ากังวล เราจำเป็นต้องศึกษาอาการของโรคและหาวิธีพัฒนาขีดความสามารถของวัคซีนโควิด”
แต่อย่างไรก็ตาม WHO ก็จะเฝ้าจับตาเชื้อกลายพันธ์ุชนิดใหม่นี้ พร้อมกำหนดให้เชื้อมิวกลายเป็นหนึ่งในเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มการกลายพันธ์ุที่น่าสนใจ (Variants of Interest: VOI) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่วมกับเชื้ออีตา (B.1.525) เชื้อไอโอตา (B.1.526) เชื้อแคปปา (B.1.617.1) และเชื้อแลมป์ดา (C.37) และหากมีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า เชื้อมีระดับความรุนแรงมากขึ้น แพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น ก็จะเลื่อนระดับให้อยู่ในกลุ่มการกลายพันธ์ุที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) ซึ่งในขณะนี้มีเชื้อกลายพันธ์ุที่ WHO จัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ 4 สายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นเชื้ออัลฟา (B.1.1.7) เชื้อเบตา (B.1.351) เชื้อแกมมา (P.1) และเชื้อเดลตา (B.1.617.2)
ขณะที่ ดร.แอนโทนี เฟาชี ที่ปรึกษาทางด้านการแพทย์ประจำทำเนียบขาว ระบุว่า ทางการสหรัฐอเมริกาจะเฝ้าจับตาการกลายพันธ์ุของเชื้อมิว พร้อมพยายามศึกษาและทำความเข้าใจเชื้อกลายพันธุ์ชนิดต่างๆ ให้มากขึ้น
“พวกเรากำลังเฝ้าจับตาเชื้อกลายพันธุ์นี้อย่างจริงจัง แต่เรายังไม่ได้พิจารณาให้เชื้อมิวกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ในทันที”
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ภาพรวมประเทศในอาเซียนฉีดวัคซีนโควิดไปถึงไหนแล้ว โดย Our World in Data
- ไทย-เพื่อนบ้านอาเซียน รั้งท้ายประเทศที่มีความยืดหยุ่นช่วงโควิด โดย Bloomberg (สิงหาคม 2021)
- สำรวจแนวทางการใช้วัคซีน mRNA เป็น ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ในประเทศที่ใช้วัคซีน Sinovac
- สำรวจ ‘วัคซีนเข็มกระตุ้น’ หรือ ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ที่น่าสนใจในประชาคมโลก
- เปรียบเทียบประสิทธิภาพล่าสุด วัคซีน Sinovac vs. Pfizer-BioNTech ในชิลี
- โควิด-19 กลายพันธ์ุสายพันธ์ุต่างๆ มีชื่อเรียกใหม่ว่าอย่างไร
- สำรวจราคาวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก โดสละเท่าไร
- ผลข้างเคียงวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก อาการเป็นอย่างไรบ้าง
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุด
ภาพ: Richard Juilliart / Shutterstock
อ้างอิง: