ในวันนี้ (14 กรกฎาคม) สองหน่วยงานภายใต้สังกัดองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศอย่างเป็นทางการว่า แอสปาร์แตม ซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้น เป็นสารที่ ‘มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง’ (ต้นทางภาษาอังกฤษคือ Possibly Carcinogenic to Humans) แต่ ‘ยังสามารถกินได้อยู่’ ซึ่งคำตอบของ WHO ทำให้หลายคนออกอาการงงงวยว่าแล้วตกลงฉันจะต้องทำยังไงกับมันกันแน่
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว THE STANDARD นำประกาศของ WHO มาสรุปกันให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
ต้องเท้าความกันก่อนว่า แอสปาร์แตมเป็นสิ่งที่เราพบเจอมันอยู่แทบจะทุกวันในปริมาณไม่มากก็น้อย เพราะมันคือสารทดแทนความหวานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในอาหารและเครื่องดื่มประเภทแคลอรีต่ำหรือน้ำตาล 0% รวมไปถึงลูกอม หมากฝรั่ง ยาสีฟัน ไอศกรีม โยเกิร์ต ซอส และขนมอีกหลากหลายชนิด หรือแม้กระทั่งยารักษาโรค
ต้องแยกแบบนี้ก่อนว่า ในวันนี้มีคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์กร 2 แห่งภายใต้สังกัด WHO ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแอสปาร์แตม ไล่เรียงจากองค์กรแรกคือองค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) ซึ่งระบุว่าแอสปาร์แตมเป็นสารก่อมะเร็งระดับ 2B หรือ ‘ที่มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง’ ซึ่งคำว่า ‘มีความเป็นไปได้’ นั้นแปลว่าปัจจุบันโลกของเรามีหลักฐานบ่งชี้ว่ามันก่อมะเร็งในมนุษย์ก็จริง แต่หลักฐานพวกนั้นก็มีจำกัดเอามากๆ จนทำให้ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่ามันก่อให้เกิดมะเร็งแน่นอนนั่นเอง อย่างพวกสารหนู เบนซิน หรือควันบุหรี่
ถามว่า 2B น่ากลัวระดับไหน? ก็ต้องบอกแบบนี้ว่าจริงๆ แล้วมีสารระดับ 2B เป็นส่วนผสมในสิ่งของที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน เช่น กรดคาเฟอิก (Caffeic Acid) ซึ่งพบในกาแฟ ว่านหางจระเข้ นิกเกิล สารสกัดจากแปะก๊วย (อยู่ในอาหารเสริมทั่วไป) และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าว แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คนตกใจหรือให้ความสนใจเท่ากับสารทดแทนความหวาน
ส่วนการประกาศของอีกองค์กรหนึ่งในวันนี้คือคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญร่วมของ WHO และองค์การอาหารและเกษตรว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหาร (JECFA) ที่ออกมาเปิดเผยว่า แม้ IARC จะประกาศว่าแอสปาร์แตมเป็นสารก่อมะเร็งประเภท 2B ก็จริง แต่ปัจจุบันยังไม่มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอที่โลกจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคแอสปาร์แตมจากที่เคยกำหนดไว้ในปี 1981 ฉะนั้นทุกคนยังคงสามารถบริโภคภายในปริมาณที่กำหนดไว้ต่อวันเช่นเดิม คือไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัดๆ คือ ผู้ใหญ่น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม จะต้องดื่มน้ำอัดลมที่มีแอสปาร์แตมผสมอยู่มากกว่า 9-14 กระป๋องต่อวันถึงจะเป็นอันตราย หรือเรียกว่าแทบจะต้องดื่มแทนน้ำเปล่ากันเลย (หมายเหตุเอาไว้ว่าสมมติฐานนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า น้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีแอสปาร์แตมอยู่ 200-300 มิลลิกรัม และผู้ใหญ่คนดังกล่าวไม่ได้รับแอสปาร์แตมจากแหล่งอื่นๆ เลย)
ฉะนั้นแล้วจึงสามารถสรุปได้ว่าการบริโภคแอสปาร์แตมแต่น้อยก็ยังสามารถทำได้อยู่และมีความปลอดภัย ยืนยันด้วยข้อมูลจาก JECFA แต่เจ้าหน้าที่ของ WHO กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “หากคุณลังเลว่าจะเลือกดื่มโคล่าที่มีแอสปาร์แตมหรือแบบที่มีน้ำตาลปกติดี ผมขอเสนอทางเลือกที่สาม คือการดื่มน้ำเปล่าแทน” และเราก็เห็นด้วยตามนั้น
ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล
อ้างอิง: