×

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางคืออะไร และเหตุใดจึงสำคัญ

09.01.2024
  • LOADING...

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีการพูดคุยกันอย่างแพร่หลายว่า รัฐบาลกำลังแทรกแซง ‘ความเป็นอิสระ’ (Independence) ของธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่?

 

THE STANDARD WEALTH จึงขอพาทุกคนไปทบทวนบทบาท หน้าที่ และความจำเป็นของธนาคารกลางที่ต้องดำรงความเป็นอิสระไว้

 

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางทั่วโลกกำลังถูกสั่นคลอน?

 

ตามหลักการแล้ว หนึ่งในหน้าที่ที่ธนาคารกลางทั่วโลกได้รับมอบหมายคือ การควบคุมเสถียรภาพของเศรษฐกิจและการรักษามูลค่าของค่าเงินผ่านการควบคุม ‘เงินเฟ้อ’ ดังนั้นด้วยหน้าที่ดังกล่าวแบงก์ชาติทั่วโลกจึงต้องดำรง ‘ความเป็นองค์กรอิสระ’ (Independence) ไว้เป็นเกราะป้องกันจากแรงกดดันทางการเมืองจากรัฐบาล

 

อย่างไรก็ตาม ความเป็นอิสระของธนาคารกลางทั่วโลกกลับถูกตั้งคำถามบ่อยครั้งและถี่ขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังเกิดการระบาดใหญ่ที่ทำให้แบงก์ชาติต่างๆ ต้องก้าวเข้ามาช่วยสนับสนุนรัฐบาล เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินครั้งใหญ่

 

ตัวอย่างประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ กรณีของ ลิซ ทรัสส์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ที่ระบุไว้ในช่วงหาเสียงว่า เธอมีแผนที่จะทบทวนอำนาจ (Mandate) ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จึงเป็นการสร้างความกังวลให้กับสถาบันคลังสมอง (Think Tank) หลายแห่งอย่างมาก

 

ไปจนถึงกรณีการกดดัน Fed หลายต่อหลายครั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยตามการศึกษาของนักวิจัยจาก Duke University และ London Business School พบว่า การโพสต์ข้อความถึง Fed ของทรัมป์ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2018 เป็นภัยคุกคาม (Significant Risk) ต่อความเป็นอิสระของ Fed อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับสามารถกดความคาดหวังของตลาดต่ออัตราดอกเบี้ย (Rate Expectations) ลงได้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

สถานการณ์ล่าสุดในไทยเป็นอย่างไร

 

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในไทย ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า อาจจะต้องพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบายท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อต่ำ ขณะที่ต้นทุนภาคเอกชนและครัวเรือนไทยที่พุ่งสูงขึ้น

 

โดยระบุผ่านแพลตฟอร์ม X (Twitter) ว่า “จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้นไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อยและ SMEs อีกด้วย และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

 

ความตึงเครียดดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก โดยหลายฝ่ายมองว่าสาเหตุของความตึงเครียดครั้งนี้อาจมาจาก ‘โครงการดิจิทัลวอลเล็ต’ โดย ธปท. ได้เคยชี้แจงว่า ความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ‘ยังมีไม่มาก’ เนื่องจากภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้สูงและตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังนั้นผลของโครงการต่อเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดเหตุการณ์นายกฯ เศรษฐา นัดรับประทานอาหารกลางวันกับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ปี 2566 ซึ่งหลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ได้ออกมายืนยันว่า การพูดคุยดังกล่าวเป็นไปได้ด้วยดีและสร้างสรรค์ ไม่มีความขัดแย้ง แม้มีบางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน ก็ถือเป็นเรื่องปกติ

 

ทำไมธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ สำคัญอย่างไร

 

ในเอกสารของ ธปท. ระบุว่า ความอิสระในการดำเนินนโยบาย (Central Bank Independence) ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ธนาคารกลางมีความน่าเชื่อถือและดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพการเงินได้

 

กล่าวคือ เนื่องจากธนาคารกลางเป็นองค์กรที่สามารถพิมพ์เงินได้เอง ‘ไม่จำกัด’ ขณะที่รัฐบาลคือผู้ที่ต้องการใช้เงิน ดังนั้นธนาคารกลางจึงต้องมีความเป็นอิสระ เพื่อขีดเส้นระหว่างผู้พิมพ์เงินและผู้ใช้เงินออกจากกัน เพื่อให้ธนาคารกลางมีความเป็นอิสระ สามารถดูแลเงินเฟ้อได้ดี และไม่ได้เป็นปัจจัยลบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ 

 

โดยจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ธนาคารกลางที่มีความเป็นอิสระมากกว่า (More Independent) เช่น เยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ มีอัตราเงินเฟ้อระหว่างปี 1970-1999 ต่ำกว่าธนาคารกลางที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลมากกว่า (Loser Ties to Their Governments) เช่น นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ และสเปน

 

เปิดพัฒนาการความเป็นอิสระของแบงก์ชาติไทย

 

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติแต่ละประเทศแตกต่างกัน บางประเทศจะเน้นความเป็นอิสระแบบเข้มข้น แต่บางประเทศอาจมีความเป็นอิสระน้อยมาก หรือรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการกำหนดนโยบายดอกเบี้ยของทางแบงก์ชาติอยู่เรื่อยๆ ก็อาจทำให้คุมเงินเฟ้อไม่อยู่ อย่างเช่น กรณีตุรกี เป็นต้น

 

นอกจากนี้ความเป็นอิสระก็อาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย ตัวอย่างเช่น หากประเทศประสบวิกฤตครั้งใหญ่ เช่น วิกฤตระบบสถาบันการเงิน แบงก์ชาติก็อาจจะต้องจับมือกับรัฐบาลเป็นเสียงเดียวกัน

 

สำหรับแบงก์ชาติไทย ธีระชัยระบุว่า เผอิญเคยเจอปัญหาความเป็นอิสระในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากถูกวิจารณ์ว่าขาดความเป็นอิสระอย่างมาก

 

หลังจากนั้นในสังคมไทยจึงเกิดความคิดที่ว่า หากปล่อยให้รัฐบาลมีอำนาจเหนือแบงก์ชาติมากเกินไปก็ไม่ดี จึงมีการแก้กฎหมายและให้ความเป็นอิสระกับแบงก์ชาติอย่างเต็มที่ นอกจากนี้หากรัฐบาลไม่ชอบใจผู้ว่าแบงก์ชาติและอยากจะเปลี่ยนตัวในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดวาระ จะทำได้ยากมาก

 

การแสดงความเห็นของเศรษฐาเป็นการแทรกแซงหรือไม่

 

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในสังคมไทยตอนนี้คือ การแสดงความเห็นของเศรษฐาเป็นการแทรกแซงหรือไม่ โดยธีระชัยระบุว่า มองได้ 2 ทาง

 

โดยมุมมองแรกคือ นายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นส่วนตัว โดยการแสดงความเห็นส่วนตัวก็สามารถทำได้ ขณะเดียวกันแบงก์ชาติจะรับไปประกอบการพิจารณาแค่ไหนก็เป็นสิทธิ์ของแบงก์ชาติ

 

อีกมุมมองก็คือ บางคนอาจมองว่า นายกรัฐมนตรีอาจคุยส่วนตัวกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ เลยต้องมาพูดผ่านสื่อหรือสภา ซึ่งหากนักลงทุนต่างประเทศมองไปในเชิงนี้ แม้อาจจะไม่ใช่ความจริง แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติก็อาจจะลดลงได้

 

อดีตรัฐมนตรีคลังฝากถึงแบงก์ชาติ

 

สุดท้ายนี้ธีระชัยยังกล่าวถึงการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติว่า ในอดีตที่ผ่านมา การที่แบงก์ชาติให้น้ำหนักกับการดูแลเงินเฟ้อค่อนข้างมากนั้นถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะหลังโควิดที่รัฐบาลทุกประเทศใช้จ่ายเงินแบบเกินตัว แต่ว่ามองไปในอนาคตกลับมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่น่าจะกระทบต่อความสามารถในการค้าขายของไทยไม่น้อย ท่ามกลางปัญหาหนี้ทุกภาคส่วนและปัญหาสภาพคล่องของภาคธุรกิจ

 

“ความเสี่ยงในอนาคตน่าจะไปอยู่ที่ความอยู่รอดของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมากกว่าเรื่องเงินเฟ้อ” ธีระชัยกล่าว

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising