×

เกิดอะไรขึ้นกับภาคธนาคารสหรัฐฯ? หลัง Moody’s หั่นเครดิตแบงก์รวดเดียว 10 แห่ง!

08.08.2023
  • LOADING...
ภาคธนาคารสหรัฐ

ไขคำตอบ เกิดอะไรขึ้นกับภาคธนาคารสหรัฐฯ? หลัง Moody’s หั่นอันดับเครดิตแบงก์ขนาดเล็กถึงขนาดกลางของสหรัฐฯ ลงถึง 10 แห่ง พร้อมเตือนว่าอาจปรับลดอันดับเครดิตของแบงก์ใหญ่บางแห่งลงด้วย ทำให้บางคนเกิดคำถามว่า ภาคธนาคารสหรัฐฯ เสี่ยงล่มซ้ำรอย Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank หรือไม่

 

Moody’s Investors Service บริษัทจัดอันดับเครดิตชั้นนำของโลก ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารในสหรัฐฯ 10 แห่งลง 1 อันดับ พร้อมทั้งนำธนาคารยักษ์ใหญ่ 6 แห่งในสหรัฐฯ รวมถึง Bank of New York Mellon, U.S. Bancorp, State Street และ Truist Financial เข้าไปอยู่ในรายชื่อ ‘ทบทวนการปรับลดอันดับเครดิต’ (Review for Downgrade)

 

โดย Moody’s ระบุถึงสาเหตุของการดำเนินการครั้งนี้ในหมายเหตุว่า มาจากผลประกอบการไตรมาส 2 ของธนาคารหลายแห่งแสดงให้เห็นถึงแรงกดดันในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะลดความสามารถในการสร้างทุนภายใน (Internal Capital) ได้

 

พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า ธนาคารบางแห่งยังเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Commercial Real Estate: CRE) ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับธนาคารบางแห่ง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงและความต้องการสำนักงานที่ลดลง อันเป็นผลมาจากการทำงานจากระยะไกล

 

นอกจากนั้น Moody’s ยังหั่นมุมมองอันดับเครดิต (Credit Outlook) ​ธนาคารในสหรัฐฯ 11 ราย เป็นลบ (Negative Outlook) รวมถึงธนาคาร Capital One, Citizens Financial และ Fifth Third Bancorp เป็นต้น

 

พร้อมทั้งเตือนว่าธนาคารที่มีผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจำนวนมาก (Unrealized Loss) แต่ยังไม่ได้สะท้อนอยู่ในอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่สถาบันการเงินดำรงไว้ตามกฎระเบียบ มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความเชื่อมั่นในสภาพแวดล้อมที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงในปัจจุบัน

 

รายงานฉบับนี้เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของ Silicon Valley Bank และ Signature Bank เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่วิกฤตความเชื่อมั่นในภาคการธนาคารของสหรัฐฯ จนไปถึงการแห่ถอนเงินในธนาคารภูมิภาคหลายแห่ง และทำให้ทางการออกมาตรการฉุกเฉินมาเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นในภาคส่วนดังกล่าวอีกครั้ง

 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังมีขึ้นขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ทำให้ความต้องการเงินกู้และการกู้ยืมชะลอตัวลง

 

นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นยังทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและสร้างแรงกดดันต่อภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์

 

ตามข้อมูลการสำรวจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าบรรดาธนาคารในสหรัฐฯ มีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และความต้องการสินเชื่อที่ลดลงจากทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคในช่วงไตรมาสที่ 2

 

เกิดอะไรขึ้นกับภาคธนาคารสหรัฐฯ?

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) มองว่า สาเหตุที่ทำให้ Moody’s เคลื่อนไหวครั้งนี้มาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง การผิดนัดชำระที่มีแนวโน้มมากขึ้น ทิศทางคุณภาพสินทรัพย์และสินเชื่อบ้านของธนาคารต่างๆ แย่ลง

 

รวมไปถึงธุรกิจที่พึ่งค่าธรรมเนียม (Fee Based) ของธนาคาร เช่น ธุรกิจวาณิชธนกิจ (Investment Bank) ก็แย่ลง และการทำ M&A ก็ซาลง ทำให้รายได้ของธนาคารได้รับผลกระทบ

 

นอกจากนี้ “ปัจจัยดอกเบี้ยของ Fed ที่ขึ้นไปสูงมาก จากระดับ 0.25% มาอยู่ที่ 5.5% ในตอนนี้ ทำให้ธนาคารขนาดเล็กและธนาคารภูมิภาคในสหรัฐฯ ที่มีความเปราะบางอยู่แล้วได้รับผลกระทบ หรือมีอาการคล้ายๆ กับ SVB คือดอกเบี้ยขึ้นแล้วปรับไม่ทันขาดทุน” นริศกล่าว

 

สอดคล้องกับ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า การเคลื่อนไหวของ Moody’s ครั้งนี้เห็นเค้าลางมาตั้งแต่ตอนที่ภาคธนาคารสหรัฐฯ เผชิญปัญหา SVB ล่มแล้ว

 

พร้อมทั้งมองว่าสาเหตุของการตัดสินใจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ Moody’s มาจากความเสี่ยงในการระดมทุน (Funding Risk) ที่สูงขึ้น และต้นทุนการเงิน (Funding Cost) ที่สูงขึ้นในภาคธนาคารสหรัฐฯ จากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed สภาพคล่องที่หดตัว และความสามารถในการทำกำไรของแบงก์ที่ลดลง เนื่องจากคุณภาพของสินทรัพย์ธนาคารมีปัญหา รวมไปถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเผชิญการชะลอตัวชัดขึ้นเรื่อยๆ

 

การหั่นเครดิตแบงก์สหรัฐฯ จะส่งผลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed หรือไม่?

 

ดร.พิพัฒน์ มองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่น่ากระทบการตัดสินใจของ Fed มาก โดยระบุว่า “ไม่ว่าจะมีข่าวนี้หรือไม่ Fed ก็ใกล้หยุดขึ้นดอกเบี้ยเต็มที่แล้ว เนื่องจากตอนนี้ดอกเบี้ยขึ้นมา 5.5% แล้ว และเงินเฟ้อก็เริ่มชะลอตัวลงแล้ว ดังนั้นตอนนี้ Fed คงต้องชั่งน้ำหนักว่าการขึ้นดอกเบี้ยต่อแล้วเจอปัญหาพวกนี้ กับผลประโยชน์ที่จะได้จากการลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ คุ้มกันหรือไม่”

 

พร้อมทั้งคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกสักครั้ง แล้วคงไว้ถึงกลางปีหน้า เพื่อกดเงินเฟ้อลง เนื่องจากมองว่าแม้จะเกิดปัญหาในภาคธนาคารเหมือนตอน SVB ขึ้น Fed ก็มีเครื่องมือที่จะเข้าไปจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว

 

นอกจากนี้ ดร.พิพัฒน์ ยังมองว่า Fed น่ามองปัญหาภาคธนาคารแยกจากเงินเฟ้อ โดยจะใช้เครื่องมือดอกเบี้ยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ส่วนปัญหาในภาคการเงินก็สามารถแก้ได้โดยการพิมพ์เงินแล้วปล่อยกู้แทน

 

จับตาผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง

 

นริศมองว่าปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ อาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ เนื่องจากธนาคารต่างๆ เป็นคนส่งต่อสภาพคล่องให้กับภาคเศรษฐกิจจริง โดยหากภาคเศรษฐกิจจริงได้สินเชื่อน้อยลง ก็จะสร้างผลผลิตได้น้อยลง

 

ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ มองว่าอีกผลกระทบจากเหตุการณ์นี้คือต้นทุนการเงินที่อาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากการหั่นอันดับเครดิตอาจทำให้ผู้คนคิดหนักก่อนนำเงินไปลงทุน โดยสังเกตว่าธนาคารที่โดนหั่นแนวโน้มเครดิตเป็นธนาคารที่ทำธุรกิจในตลาดทุนด้วย ไม่ใช่ธุรกิจปล่อยกู้อย่างเดียว

 

นริศกล่าวอีกว่า การเคลื่อนไหวของ Moody’s ครั้งนี้ ทำให้เราต้องมาพิจารณาถึงกลไกการกำกับดูแลความเสี่ยงของธนาคารขนาดเล็กและธนาคารภูมิภาคที่ไม่ได้มาตรฐานเท่าธนาคารขนาดใหญ่หรือธนาคารระหว่างประเทศอีกครั้ง เนื่องจากหากเกิดเหตุแบงก์ล่มอีกครั้งอาจสร้างความตื่นตระหนก (Panic) ในตลาดได้ และอาจนำไปสู่ Systematic Risk Event และการติดเชื้อกันในภาคธนาคาร ซึ่งนริศเชื่อว่าธนาคารกลางกำลังจับตาดูอยู่

 

ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ มองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ Moody’s เหมือนการเตือนไว้ก่อน “ดังนั้นเมื่อเขาเตือนแบบนี้ หลายคนก็ต้องกลับไปดูไปขุดแล้วว่าปัญหาใหญ่แค่ไหน จะหลุดตรงไหนไหม ใครจะเป็นรายต่อไป จุดที่น่ากังวลคือหากคนกังวลว่าจะซ้ำรอย SVB แล้วหยุดธุรกรรมกับธนาคารเหล่านี้ ไม่ซื้อหุ้นกู้ อาจทำให้ปัญหาสภาพคล่องแย่ลงไปอีก หรือไปนำเงินฝากออกมาอีก ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดวิกฤตความมั่นใจได้”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising