×

เวที WEF ยก ‘วิกฤตเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพ’ ภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกในระยะเวลาอันใกล้

12.01.2023
  • LOADING...
เวที WEF

เวทีงานประชุมทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง World Economic Forum (WEF) ได้เปิดเผยรายงาน Global Risk Report ผลการศึกษาสำรวจเกี่ยวกับปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งได้มีการเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (11 มกราคม) ก่อนการประชุมประจำปีของ WEF ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าในรีสอร์ตเมืองดาวอสบนเทือกเขาแอลป์ของสวิตเซอร์แลนด์

 

รายงานระบุว่า ขณะที่ปัญหาวิกฤตโลกร้อนยังคงเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจของโลกในระยะยาว แต่วิกฤตเงินเฟ้อที่ส่งผลทำให้เกิดวิกฤตค่าครองชีพที่ราคาสินค้า อาหาร และพลังงาน มีราคาพุ่งสูงขึ้นจนน่าหวั่นใจ อีกทั้งยังกระทบต่อหนี้สินของประเทศต่างๆ อย่างหนักหนาสาหัส ได้กลายเป็นวิกฤตในระยะเวลาอันใกล้ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในที่สุดจะกระทบต่อความพยายามในการร่วมมือแก้ไขรับมือกับปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ หรือภาวะโลกร้อน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายระยะยาวที่ใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจโลก แต่เป็นสิ่งที่โลกเตรียมรับมือน้อยที่สุด เนื่องจากปัญหาระยะสั้นที่นำโดยวิกฤตค่าครองชีพ

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยง ผู้นำอุตสาหกรรม และผู้กำหนดนโยบาย 1,200 คน รายงานของ WEF ระบุว่า ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงทศวรรษหน้าเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน อย่างวิกฤตค่าครองชีพ บีบให้ผู้นำโลกตกอยู่ในภาวะหวานอมขมกลืน ที่แม้รู้ทั้งรู้ว่าการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาโลกร้อนถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง แต่การจัดการกับเงินเฟ้อและสินค้าราคาแพงกลับจำเป็นที่จะต้องเร่งมือแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อน ทำให้ต้องก้มหน้ายอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ชี้ว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อนในเวลานี้ขาดการลงมือปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

 

รายงาน Global Risk Report ที่ทาง World Economic Forum จัดทำขึ้นร่วมกับโบรกเกอร์ประกันภัยระดับโลก Marsh McLennan และ Zurich Insurance Group ระบุว่า การค้าการลงทุนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับรัฐบาลนานาประเทศที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางสังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง 

 

ขณะเดียวกัน แม้ผู้ตอบแบบสำรวจแทบทั้งหมดจะเห็นตรงกันว่า ความล้มเลวในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนจะถือเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงอย่างมาก แต่กลับเป็นความเสี่ยงที่รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกมีการเตรียมพร้อมน้อยที่สุด 

 

Carolina Klint ผู้จัดการด้านการบริหารความเสี่ยงสำหรับภูมิภาคยุโรปของ Marsh กล่าวกับทาง CNBC ว่า มองเห็นการกลับมาของความเสี่ยงเดิมๆ ที่เคยรู้สึกว่าทั่วโลกมีความคืบหน้าที่ดีในแง่ของการแก้ปัญหาจนไม่น่าจะเป็นความเสี่ยงที่ต้องกังวล แต่ตอนนี้ประเด็นดังกล่าววกกลับมาอยู่ในแผนที่ความเสี่ยงอย่างมากอีกครั้ง 

 

รายงานระบุว่า จากความท้าทายระยะยาว 10 ข้อ ผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า 4 อันดับแรกเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ได้แก่ ความล้มเหลวในการจำกัดหรือปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่รุนแรง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการล่มสลายของระบบนิเวศ

 

ส่วนความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในระยะสั้นก็คือการผลักดันให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งกำลังมีช่องว่างระหว่างข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์กับการสร้างความพึงพอใจเพื่อผลทางการเมือง 

 

Klint แนะว่า นานาประเทศจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างแนวโน้มความเสี่ยงในระยะสั้นกับแนวโน้มความเสี่ยงในระยะยาวให้ดีขึ้น โดยตอนนี้ทั่วโลกอาจจำเป็นต้องตัดสินใจในสิ่งที่อาจรู้สึกขัดกับสัญชาตญาณ และเป็นการตัดสินใจที่มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาเพิ่มเติม แต่ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น การลงทุนขยายใหญ่เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน 

 

บทสรุปของรายงานมีขึ้นหลังจากหนึ่งปีที่คำมั่นสัญญาหลายข้อในการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถูกละทิ้งไปในช่วงวิกฤตพลังงานจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน 

 

ทางด้าน Moody’s Investors Service ได้ประเมินความสูญเสียของบรรดาผู้ประกันตนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นค่าเฉลี่ยประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

 

ในส่วนของความท้าทายอันดับต้นๆ ในอีก 2 ปีข้างหน้า คือวิกฤตค่าครองชีพที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด และสงครามของรัสเซียในยูเครนซึ่งทำให้ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้น สร้างแรงกดดันต่อสถานะทางการเงินของบรรดาครัวเรือนทั่วโลก

 

สถานการณ์สภาพ Aftershock ที่จะเกิดขึ้นหลังสงครามและโควิด คือยุคใหม่ของเศรษฐกิจโลกที่แสนมืดมน โดยรายงานระบุว่า รัฐบาลและธนาคารกลางนานาประเทศจะเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือการใช้จ่ายเงินเพื่อป้องกันประชาชนจากผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งอาจเพิ่มระดับหนี้สาธารณะที่สูงอยู่แล้ว

 

ขณะเดียวกัน รายงานยังระบุอีกว่า กระแส ‘อโลกาภิวัตน์ หรือ De-globalization’ กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการค้าการลงทุนทั่วโลก หลังจากที่สงครามในยูเครนเน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาจากการที่ยุโรปต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ในขณะที่การขาดแคลนไมโครชิปในช่วงโควิดระบาดทำให้เห็นข้อจำกัดของระบบโกลบอล ซัพพลายเชนของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย

 

รายงานชี้ว่า สงครามทางเศรษฐกิจจะกลายเป็นบรรทัดฐานปกติ ท่ามกลางความตึงเครียดที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมหาอำนาจระดับโลกใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงรับในการลดการพึ่งพาคู่แข่ง ควบคู่กับนโยบายเชิงรุกเพื่อจำกัดการเติบโตของประเทศคู่แข่ง

 

นอกจากนี้ ปัจจัยที่น่ากังวลอีกประกาศก็คือ ความแตกแยกทางเศรษฐกิจและสังคมกำลังกลายเป็นความแตกแยกทางการเมือง แนวคิดประชาธิปไตยโดนบั่นทอน เพราะความเห็นต่างในเรื่องของการอพยพลี้ภัย โยกย้ายถิ่นฐาน สิทธิทางเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ ศาสนา การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยชนวนที่ทำให้เกิดความเห็นต่างคือ การจงใจให้ข้อมูลผิดๆ หรือการบิดเบือนข้อเท็จจริงจากผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองที่พยายามเผยแพร่ความเชื่อแบบสุดโต่งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้ง

 

ยิ่งไปกว่านั้น ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งคืออาชญากรรมทางไซเบอร์ และความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เกิดจากบริการสาธารณะที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น เช่น ระบบขนส่ง การเงิน และระบบประปา ซึ่งเสี่ยงต่อการหยุดชะงักในกรณีที่เกิดการโจมตีทางออนไลน์

 

รายงานยังระบุว่า ในขณะที่การแข่งขันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในด้านต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัมคอมพิวติ้ง และเทคโนโลยีชีวภาพ จะเสนอแนวทางแก้ไขบางส่วนสำหรับบางวิกฤต แต่ก็อาจส่งผลให้ขยายช่องว่างความไม่เท่าเทียมให้กว้างขึ้น เพราะประเทศยากจนไม่สามารถจ่ายค่าเทคโนโลยีราคาสูงเหล่านั้นได้

 

ดังนั้น ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่เกิดขึ้นอาจเป็นหนึ่งในความแตกต่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจน และทำให้การพัฒนามนุษย์ถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ

 

ในส่วนของคำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้น รายงานสรุปว่า โลกต้องร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการลดสภาพอากาศและการปรับตัวในทศวรรษหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยง ‘การพังทลายของระบบนิเวศ’ และภาวะโลกร้อน ที่กำลังส่งสัญญาณเตือนในเวลานี้ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X