×

ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform

06.07.2022
  • LOADING...
ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในดัชนีที่ชี้วัดปัจจัยมหภาคล่วงหน้า (Leading Indicators) และการศึกษาลักษณะของวิกฤตในอดีต FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้เรากว่าที่คิด และอาจเกิดขึ้นได้

 

แต่ ‘ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ’ FINNOMENA Investment Team จึงได้เตรียม Playbook คู่มือในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ภายใต้กลยุทธ์ Predict (คาดการณ์) Prepare (เตรียมพร้อม) และ Perform (ทำผลงาน) ซึ่งมาพร้อมกับความมุ่งมั่นในการช่วยนักลงทุนพลิกพอร์ตจากโอกาสยามวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


Playbook หน้าที่ 1: Predict

ก่อนอื่นมาเริ่มที่ปัจจัยจากดัชนีประเภท Leading Indicators หรือดัชนีที่มักส่งสัญญาณล่วงหน้าก่อนเหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้นกันก่อน ว่ามีปัจจัยอะไรที่อาจบ่งบอกถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในอนาคตได้บ้าง?

 

สถิติชี้ 10 จาก 13 ครั้ง การขึ้นดอกเบี้ยแตะเบรกชะลอเงินเฟ้อของ Fed ก่อให้เกิดการถดถอย

 

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

สถิติย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 1954 จนถึงปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ 10 จาก 13 ครั้ง จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

 

ดัชนีชี้วัดแบบส่งสัญญาณล่วงหน้า (Leading Indicators) ราคาโภคภัณฑ์ และดัชนีชี้วัดความตึงตัวด้านการเงินของสหรัฐฯ อาจบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

ดัชนียอดคำสั่งซื้อใหม่ภาคการผลิต (Philadelphia Fed New Orders) ที่มักเคลื่อนไหวในทิศทางคล้ายกันกับดัชนีชี้วัดภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับประมาณ 65 จุด มายังระดับราวๆ -15 จุด ในขณะที่ดัชนี ISM Manufacturing PMI ยังปรับตัวลงเพียงเล็กน้อย จึงอาจสื่อเป็นนัยได้ว่าภาคการผลิตอาจหดตัวตาม Leading Indicators ดังกล่าว (Business Outlook Survey)

 

นอกจากนั้นยังมี Leading Indicators อื่นๆ เช่น University of Michigan Consumer Sentiment (ดัชนีชี้วัดแนวโน้มผู้บริโภค) กับ Unemployment Rate (อัตราการว่างงาน), ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน (U.S. Mortgage Rates) กับอัตราการเติบโตของราคาบ้าน (House Price Growth), อัตราดอกเบี้ยนโยบายและดัชนีวัดความตึงตัวด้านการเงินของสหรัฐฯ (Chicago Fed’s National Adjusted Financial Conditions Index) ที่มีความสัมพันธ์ในแบบตรงกันข้ามและสอดคล้อง เริ่มส่งสัญญาณชี้นำเช่นเดียวกัน

 

ทางด้านราคาโภคภัณฑ์ ทั้งพลังงาน สินค้าเกษตรและเนื้อสัตว์ โลหะอุตสาหกรรม เริ่มมีการปรับตัวลงมาในช่วงล่าสุดเช่นเดียวกัน สะท้อนความต้องการ (Demand) ที่ลดลง และอาจชี้นำภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต

 

ทางด้านการประมาณการกำไรของนักวิเคราะห์จาก Bloomberg (มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับดัชนีตลาดหุ้น) ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่การประมาณการดังกล่าวมักปรับลงหลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังได้รับผลกระทบจากปัจจัยมหภาคที่ชะลอตัว ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณตามดัชนีต่างๆ ก่อนหน้า

 

สัญญาณการยอมแพ้ของนักลงทุนยังไม่ชัดเจน

สัญญาณการยกธงขาวยอมแพ้ (Capitulation) ของนักลงทุนยังไม่ชัดเจน อาจเริ่มเห็นการยอมแพ้ในกลุ่มของสัญญาณ Sentiment เช่น ดัชนี CNN Fear & Greed Index ซึ่งใช้วัดอารมณ์ของนักลงทุนในตลาดได้เคลื่อนไหวในระดับกลัวสุดขีด (Extreme Fear) อย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันหลายสัญญาณยังบ่งชี้ว่านักลงทุนในบางกลุ่มยังไม่ได้ยอมจำนนต่อตลาด ทั้งเม็ดเงินลงทุนไหลออกจากกองทุนหุ้นเทียบกับขนาดทรัพย์สิน (Total Equity Outflow to AUM) ของนักลงทุนสถาบันปรับตัวขึ้นมาที่ระดับราว 0.5% ซึ่งยังต่ำมากเมื่อเทียบกับขนาดของเงินไหลออกในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 ที่ระดับราวเกือบ 7% และวิกฤตโควิดที่ระดับราว 2.5% รวมถึงระดับการถือครองหุ้นของนักลงทุนรายย่อยที่ยังอยู่สูงเมื่อเทียบกับระดับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต และกิจกรรมการใช้ตลาดออปชัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงขาลงที่ยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

จากปัจจัยชี้นำในเชิงมหภาคต่างๆ ข้างต้น จึงอาจสะท้อนได้ว่าเราอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย (GDP ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส) ในอนาคต ในขณะที่นักลงทุนอาจจะยังไม่ได้ปรับพอร์ตเตรียมพร้อมวิกฤตจากสัญญาณยอมจำนนดังกล่าว FINNOMENA จึงได้วิเคราะห์กลยุทธ์สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือ (Prepare) ภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ดังกล่าว

 

Playbook หน้าที่ 2: Prepare

สถิติจากการประมาณการกำไรชี้ ดัชนี S&P 500 อาจปรับตัวลงได้อีก

 

หลังจากที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้าถึงเรื่องประมาณการกำไรที่ยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่อาจปรับตัวลงได้หลังปัจจัยมหภาคเริ่มสั่นคลอน FINNOMENA จึงได้ประมาณการระดับราคาของดัชนี S&P 500 ที่อาจปรับตัวลงได้ จากค่าเฉลี่ยของการปรับตัวลงในช่วงวิกฤต ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือดัชนี S&P 500 อาจปรับตัวลงได้อีกราวๆ 25% จากสมมติฐานประมาณการกำไรที่ปรับตัวลดลง -20% และค่า P/E ที่ลดลงสู่ระดับ -1 S.D. คิดเป็นที่ระดับ 14.6 เท่า 

 

ธนาคารกลางเริ่มเก็บของ… ‘ทองคำ’ สินทรัพย์โดดเด่นกลางวิกฤต 

ทองคำยังถือเป็นสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากภาวะวิกฤต โดยสถิติย้อนหลังบ่งชี้ว่า ในช่วงวิกฤตทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ปรับตัวลงน้อยกว่าหุ้น และอาจสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ในบางช่วง

 

โดยผลสำรวจชี้ว่า 61% ของธนาคารกลางที่ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า ธนาคารกลางอื่นๆ ทั้งโลกน่าจะสะสมทองคำเพิ่มขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้า สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณเตรียมการเชิงรับของธนาคารกลางทั่วโลก

 

ตราสารหนี้ อีกสินทรัพย์ปะทะขาลงหุ้น

หากนับย้อนไปตั้งแต่ปี 1900 ตราสารหนี้จะสร้างผลตอบแทนเป็นบวกหากดัชนีหุ้น S&P 500 ปรับตัวลง โดยตราสารหนี้โลกจะมีความผันผวนมากกว่าตราสารหนี้ไทย แต่ให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่า

 

อีกทั้งในช่วงล่าสุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและตราสารหนี้ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมากหากเทียบกับช่วงปีที่แล้ว ตราสารหนี้จึงอาจเป็นอีกสินทรัพย์ที่น่าสนใจในยามวิกฤต โดยทาง FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าตราสารหนี้คุณภาพสูงอาจมีความน่าสนใจ

 

Playbook หน้าที่ 3: Perform

เข้าใจอดีตเพื่อมองอนาคต

 

จากการศึกษาของ FINNOMENA Investment Team มีมุมมองต่อวิกฤตครั้งนี้ว่าอาจมีความคล้ายคลึงกับวิกฤตเงินเฟ้อปี 1970 ในยุคของ Paul Volcker วิกฤตฟองสบู่ดอตคอมปี 2000 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 จึงมีการนำค่าสถิติจาก 3 วิกฤตดังกล่าวมาประกอบการคาดการณ์จังหวะลงทุน 

 

จังหวะลงทุนจากการศึกษาอดีต

จากสถิติ หากภาคอสังหาหดตัว เช่นในปี 2008 จังหวะที่ดีในการเข้าลงทุนคือช่วง 3-4 เดือนหลังจากตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) แต่หากเกิดการปรับฐานที่ลงลึก เช่น วิกฤตดอตคอม จังหวะที่ดีในการเข้าลงทุนคือช่วงที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง 30-40% จากจุดสูงสุด

 

Playbook กลับเข้าลงทุน ดูอะไร? ถึงกลับเข้าสังเวียนอีกครั้ง!

หากเศรษฐกิจชะลอตัวแบบ Soft-Landing (ไม่เกิด Recession) จะกลับเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงโดยพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้

  • อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัยโดยไม่มีสัญญาณ Recession
  • Leading Economic Indicators กลับมาส่งสัญญาณฟื้นตัว
  • สงครามรัสเซีย-ยูเครนสิ้นสุด

 

คาดว่าจะมีระยะกลับเข้าลงทุนประมาณ 3-6 เดือนนับจากปัจจุบัน หากเศรษฐกิจชะลอตัวแบบ Recession จะกลับเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงโดยพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้

  • สัญญาณยกธงขาวจากตลาดการลงทุน
  • การกลับตัวด้านนโยบายการเงินจาก Policy Makers เช่น การลดดอกเบี้ย การกลับมาทำ Q/E

 

คาดว่าจุดเข้าลงทุนจะอยู่ในช่วงระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือนหลังจากนี้ หรือถ้าตลาดปรับฐานลงต่ออีก 10-20%

 

บทสรุป The Recession Playbook: Predict, Prepare, and Perform คาดการณ์ เตรียมพร้อม และทำผลงาน

จากการศึกษาสัญญาณของดัชนีชี้วัดต่างๆ ที่มักจะส่งสัญญาณล่วงหน้าก่อนภาวะถดถอยจะเกิดขึ้น FINNOMENA Investment Team จึงมีมุมมองว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจเกิดขึ้นได้ในวันข้างหน้า และอาจส่งผลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดการปรับฐานของหุ้นต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดีทาง FINNOMENA Investment Team ได้มีการศึกษาอดีตและพิจารณาปัจจัยในด้านต่างๆ อย่างถี่ถ้วน และเตรียมกลยุทธ์รับมือพร้อมสร้างผลตอบแทนจากวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้

 

‘ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ’ ประโยคนี้อาจไม่ใช่ประโยคขายฝันแต่อย่างใด พิสูจน์ได้จากนักลงทุนหลายๆ ท่านที่พลิกชีวิตได้จากวิกฤตในตลาดหุ้น และสร้างผลตอบแทนได้อย่างงดงามในวันที่เลวร้ายที่สุด

 

ฟ้าหลังฝนย่อมงดงามเสมอ… 

 

Be prudent, rational and stay positive for opportunities 🙂

 

คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X