×

ตำรวจเปิดโปงเส้นทางยักยอกเงิน 300 ล้านบาท และความสัมพันธ์ซับซ้อน คดีอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง

โดย THE STANDARD TEAM
22.05.2025
  • LOADING...
wat-raikh-ing-money-laundering

วันนี้ (22 พฤษภาคม) ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงความคืบหน้าคดีอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม ที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์ของวัดกว่า 300 ล้านบาท โดยเผยให้เห็นถึงพฤติการณ์ยักยอกเงิน การเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคารหลายสิบบัญชี รวมถึงความสัมพันธ์เชิงชู้สาวและการพนันออนไลน์

 

พ.ต.อ. ภัทราวุธ อ่อนช่วย ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม (ผกก.5 บก.ป.) เผยว่า คดีนี้เริ่มต้นจากหนังสือร้องเรียนที่ส่งมายังตำรวจสอบสวนกลาง ระบุว่าอดีตเจ้าอาวาสมีพฤติกรรมนำเงินวัดไปใช้ส่วนตัว รวมถึงยืมเงินจากฆราวาสและวัดข้างเคียงตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักสิบล้านบาทและไม่ยอมคืน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าเจ้าอาวาสอาจนำเงินไปใช้ในทางที่ผิดหรือถูกบังคับขู่เข็ญ

 

เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่จึงได้แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนคือ ชุดวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อวิเคราะห์เส้นทางการเงินทั้งหมดที่อดีตเจ้าอาวาสเกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่สายลับ ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลแวดล้อม ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับ และรวบรวมข้อมูลความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับอดีตเจ้าอาวาส จนพบหลักฐานว่าอดีตเจ้าอาวาสยักยอกเงินวัดไปใช้ส่วนตัวและโอนให้กับอรัญญาวรรณ ซึ่งนำเงินเข้าสู่ระบบเว็บพนัน

 

พ.ต.อ. จำนาญ จันทร์เทศ ผกก.5 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผกก.5 บก.ปปป.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่พบว่าอดีตเจ้าอาวาสเกี่ยวข้องกับบัญชีธนาคารรวม 51 บัญชี โดยเป็นบัญชีส่วนตัว 21 บัญชี ส่วนอรัญญาวรรณมี 12 บัญชี 

 

จากการสืบสวนพบเงินหมุนเวียนของอรัญญาวรรณตั้งแต่ปี 2559 มีมากกว่า 2,000 ล้านบาท โดยรับเงินผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ การฝากเงินสดเข้าบัญชี, รับโอนเงินจากอดีตเจ้าอาวาส, รับโอนเงินจากอดีตพระมหาเอกพจน์ และรับโอนเงินจากฉัตรชัย

 

สุทธิศักดิ์ สุมน ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และรองโฆษกประจำสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า ปปง. จะพิจารณาว่าอดีตเจ้าอาวาสกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน และจะตรวจสอบความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบุคคลอื่น โดยเน้นธุรกรรมตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป 

 

เบื้องต้นผู้ต้องหาคดีเว็บพนันมีสายสัมพันธ์ทางการเงินกับอดีตเจ้าอาวาสอย่างมาก และยังมีบุคคลอื่นๆ ที่มีเส้นทางการเงินโดยตรงกับอดีตเจ้าอาวาสอีกกว่า 10 ราย ซึ่งรวมถึงพระสงฆ์ด้วย

 

พ.ต.ท. สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ระบุว่า ป.ป.ท. ได้ตรวจสอบบัญชีของวัด พบว่าในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) มีรายได้ที่นำส่งหอการเงิน 107 ล้านบาท และรายได้ที่ไม่ได้นำส่งหอการเงิน 69 ล้านบาท (รวมถึงวัตถุมงคลรุ่นพิเศษ เงินประชุมร้านค้าหาบเร่ เงินกฐิน ค่าเช่าร้านค้า และร้านสวัสดิการ) เฉลี่ยรายได้ต่อวันประมาณ 4 แสนบาท และเฉลี่ยรายได้ต่อเดือน 14.7 ล้านบาท รวมทั้งปี 176 ล้านบาท

 

เจ้าหน้าที่ได้เข้าถึงบทสนทนาระหว่างอดีตเจ้าอาวาสกับอรัญญาวรรณที่พูดคุยกันถึงเรื่องเงินวัดและการใช้จ่าย ทำให้ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ได้ชัดเจน และอดีตเจ้าอาวาสทราบดีว่าอรัญญาวรรณต้องการเงินเพื่ออะไรเนื่องจากมีการพูดคุยกันอย่างชัดเจน

 

อดีตเจ้าอาวาสถือเป็นเจ้าพนักงานที่มีพฤติกรรมทุจริตในหน้าที่ โดยนำทรัพย์ออกจากบัญชีวัดเข้าบัญชีส่วนตัว ส่วนอรัญญาวรรณที่ได้รับเงินไปถือเป็นผู้ร่วมทุจริตในฐานผู้สนับสนุน

 

จากการลงพื้นที่วัดไร่ขิงตลอด 7 วัน เจ้าหน้าที่พบว่าอดีตเจ้าอาวาสมีอิทธิพลสูงกว่าพระรูปอื่นในการจัดการเงินของวัด ไม่มีใครกล้าโต้แย้ง

 

คณพศ หงสาวรางกูร ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตภ.3) กล่าวว่า วัดไร่ขิงมี 3 มูลนิธิภายใต้การกำกับดูแล คือ มูลนิธิหลวงพ่อวัดไร่ขิง (มีเงินมากที่สุด), มูลนิธิหลวงพ่ออุบาลี (มีเงิน 19 ล้านบาท) และมูลนิธิเมตตาประชารักษ์

 

อดีตเจ้าอาวาสยืมเงินจากมูลนิธิวัดไร่ขิง 35 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2563 และคืนเพียง 5 ล้านบาทในปี 2567 โดยไม่มีการแจ้งวัตถุประสงค์การใช้จ่าย ส่วนมูลนิธิอุบาลี อดีตเจ้าอาวาสยืมไป 9 ล้านบาท และคืนปีละ 1.1 ล้านบาท โดยไม่ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ รวมอดีตเจ้าอาวาสยังค้างเงินมูลนิธิทั้ง 3 แห่ง รวม 38 ล้านบาท

 

พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอด 7 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนได้รวบรวมหลักฐานอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหยุดยั้งการกระทำผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวัดและประชาชน

 

จากหลักฐานล่าสุด ตำรวจยังไม่พบว่าอดีตเจ้าอาวาสเล่นการพนันด้วยตัวเองจากโทรศัพท์ แต่ยืนยันว่าอดีตเจ้าอาวาสทราบว่าเงินที่อรัญญาวรรณนำไปถูกนำไปเล่นการพนัน

 

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างอดีตเจ้าอาวาสกับอรัญญาวรรณเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 อรัญญาวรรณเป็นเด็กข้างวัดที่เรียนที่วัดไร่ขิง และเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาในช่วงมัธยมต้น ทำให้ได้พบและพูดคุยกับหลวงพ่อ เมื่อโตขึ้นและไปทำงาน แต่ค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอจึงกลับมาขอความช่วยเหลือจากหลวงพ่อ โดยช่วงแรกยืมเงิน 5-6 หมื่นบาท ซึ่งนำไปสู่การแลกเบอร์โทรศัพท์และ LINE ID หลังจากนั้นเงินก็เริ่มไหลไปทางอรัญญาวรรณ โดยตำรวจมีหลักฐานการสนทนาเชิงชู้สาวที่ชัดเจน

 

ช่วงปลายปี 2567 ความสัมพันธ์เริ่มไม่ดีขึ้น มีการโต้แย้งเรื่องเงินที่ต้องโอนเข้าบัญชีการพนัน อดีตเจ้าอาวาสแจ้งว่าไม่มีหนทางหาเงินให้อีก จนกระทั่งประมาณเดือนธันวาคม 2567 อรัญญาวรรณและแฟนหนุ่มถูกจับกุมในคดีเว็บพนัน อรัญญาวรรณจึงกลับมาขอความช่วยเหลือจากอดีตเจ้าอาวาส โดยขู่ว่าจะเปิดเผยคลิปอนาจารระหว่างทั้งคู่ที่ถูกตำรวจยึดไปสืบสวนคดีเว็บพนัน หากหลวงพ่อไม่ให้ความช่วยเหลือ

 

พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ยังกล่าวถึงกรณีของหมอเตยและแฟน ซึ่งรู้จักกับอดีตเจ้าอาวาสมาตั้งแต่ปี 2551 การที่เตยถูกเรียกว่าหมอเชื่อว่ามาจากการทำพิธีร่างทรง เตยมีอิทธิพลอย่างมากในการบริหารจัดการวัดและร้านค้าสวัสดิการ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบว่าเหตุใดเตยจึงมีอิทธิพลเหนืออดีตเจ้าอาวาส และจะทำการสืบสวนต่อไป ล่าสุดเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถติดต่อทั้งคู่ได้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising