×

จะเกิดอะไรขึ้นหากปูตินเสียชีวิตกะทันหัน หลังมีกระแสข่าวลือเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ

13.09.2022
  • LOADING...
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน

ในช่วงตลอดหลายเดือนที่ผ่านมามีกระแสข่าวลือจำนวนไม่น้อยกล่าวถึงปัญหาสุขภาพของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียในวัยย่าง 70 ปี แหล่งข่าวจากสื่อหลายสำนักอ้างว่า เขาอาจจะป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคพาร์กินสัน หรือแม้แต่เพิ่งรอดชีวิตจากเหตุพยายามลอบสังหาร ซึ่งยังไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ชัดว่าผู้นำคนสำคัญของรัสเซียรายนี้มีปัญหาสุขภาพและป่วยหนักจริงหรือไม่ 

 

หนึ่งในคำถามสำคัญที่หลายฝ่ายตั้งคำถามและชวนให้คิดต่อคือ จะเกิดอะไรขึ้นหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ปูตินเสียชีวิตกะทันหัน 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

ทาเตียนา สตาโนวายา นักวิเคราะห์การเมืองรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศอย่าง Al Jazeera ว่า ความจริงแล้วฉันไม่ได้สนใจประเด็นปัญหาด้านสุขภาพของเขาเท่าไรนัก เพราะฉันมองว่าเขาน่าจะยังสามารถอยู่ในอำนาจได้อีกเป็น 10 กว่าปีหากเขาต้องการ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบริบทแวดล้อมในขณะนั้นด้วย

 

แต่ถ้าหากปูตินเสียชีวิต หรือประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน สภาสหพันธรัฐ (Federation Council) หรือสภาสูงของรัสเซีย มีระยะเวลา 14 วันที่จะประกาศให้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียคนใหม่ หากไม่เป็นเช่นนั้น คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งกลางจะเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทน

 

ในขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีมิคาอิล มิชุสติน (Mikhail Mishustin) จะขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีรัสเซียชั่วคราว โดยสตาโนวายามองว่ามิชุสตินไม่ได้เป็นตัวละครทางการเมืองที่สนิทสนมและใกล้ชิดกับปูตินมากขนาดที่จะได้รับการวางตัวให้เป็นทายาททางการเมืองคนต่อไป หรือมีความน่าเชื่อถือ หรือได้รับความเชื่อมั่นมากพอที่จะชนะการเลือกตั้งชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศคนใหม่ได้

 

นอกจากนี้เธอยังเชื่อว่าการจากไปของปูตินไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด จะทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจ ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจ หน่วยงานด้านความมั่นคง และชนชั้นนำอื่นๆ ในสังคมรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาในวันพรุ่งนี้หรือในอนาคตอันใกล้ ระบบที่ถูกตั้งไว้จะยังคงดำเนินต่อไปได้ โดยเธอเชื่อว่ากองกำลังด้านความมั่นคง (Siloviki) จะก้าวขึ้นมามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

 

  • ใครคือผู้ที่อาจจะก้าวขึ้นมาบริหารประเทศต่อจากปูติน 

สตาโนวายาชี้ว่า จริงๆ แล้วยังไม่มีใครรู้ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นทายาททางการเมืองของปูติน หรือก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัสเซียคนต่อไป เหตุผลหนึ่งคือ บุคคลนั้นจะตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองในทันที อาทิ ดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำรัสเซียอีกสมัย ภายหลังจากยุคของปูติน เมดเวเดฟจะถูกโจมตีจากฝ่ายที่เสียผลประโยชน์ทางการเมือง ดังนั้น ไม่มีใครอยากจะเผยตัวชัดเจนในฐานะผู้รับช่วงต่อคนต่อไป เพราะนั่นหมายความว่าตำแหน่งทางการเมืองอาจถูกสั่นคลอนได้

 

ทางด้าน ฟาริดา รุสตาโมวา สื่อมวลชนที่ติดตามการเมืองรัสเซียอย่างใกล้ชิด ให้ความเห็นว่า เป็นการยากที่จะคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เพราะเราจะไม่ทราบเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น เธอยังเสริมอีกว่า สิ่งที่บรรดาผู้ต่อต้านปูตินจะทำได้ในช่วงเวลานี้คือจินตนาการเท่านั้น

 

เธอชี้ว่า โฆษณาชวนเชื่อและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในรัสเซียในปัจจุบันเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน การปฏิรูปต่างๆ จึงทำได้เพียงจากส่วนบนลงล่างเท่านั้น เนื่องจากระบบโครงสร้างทางอำนาจของปูตินนั้นดำรงอยู่และฝังรากลึกอยู่ในสังคมรัสเซียมาอย่างยาวนาน

 

นอกจากพรรคยูไนเต็ดรัสเซีย (ER) รวมถึงแนวร่วมพันธมิตรออล-รัสเซียพีเพิลฟรอนต์ของปูตินแล้ว กลุ่มคอมมิวนิสต์รัสเซีย (KPRF) ถือเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่งเป็นอันดับ 2 ในการเมืองประเทศนี้ ซึ่งปัจจุบัน เจนนาดี ซูกานอฟ (Gennady Zyuganov) เป็นผู้นำพรรคที่ไม่ค่อยแสดงบทบาทต่อต้านการบริหารประเทศของปูตินมากเท่าไรนัก 

 

รุสตาโมวาระบุว่า ตัวละครฝ่ายค้านทางการเมืองรัสเซียที่มีชื่อเสียงและโดดเด่นที่สุด คงหนีไม่พ้น อเล็กซี นาวัลนี (Alexei Navalny) แกนนำคนสำคัญในการต่อต้านปูติน ที่เคยถูกลอบวางยาพิษจนต้องนำตัวไปรักษายังต่างประเทศ ก่อนที่ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจะถูกต้องโทษจำคุกเพิ่มอีก 9 ปี หลังตรวจพบความผิดพัวพันการฉ้อโกง และยังมีอีกหลายประเด็นที่นาวัลนีจะต้องสะสาง ในส่วนคะแนนความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นก็ยังไม่เป็นที่พอใจมากเท่าไรนัก

 

โดย เยฟเกนี รอซแมน (Yevgeny Roizman) ตัวละครฝ่ายค้านในเกมการเมืองรัสเซียอีกรายหนึ่ง ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างมากจนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเยคาเตรินบุร์ก ก่อนที่เมื่อไม่นานมานี้จะถูกจับกุมโทษฐานดิสเครดิตกองกำลังรัสเซีย ต้องโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามีความพยายามใช้กลไกและวิธีการต่างๆ จัดการกับคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาลปูตินอย่างแยบคายตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

ทางด้าน มาร์ก กาเลียตติ (Mark Galeotti) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง มองว่า ในช่วงเวลานี้นายกรัฐมนตรีมิคาอิล มิชุสติน และ เซอร์เก ซอบยานิน (Sergei Sobyanin) นายกเทศมนตรีกรุงมอสโก เป็นตัวละครที่อาจจะมีคุณสมบัติเป็นผู้นำคนต่อไป แต่ก็อาจเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุป เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดชี้ว่าปูตินกำลังป่วยหนักจริง รวมถึงยังไม่มีสัญญาณใดๆ บ่งชี้ว่าเขาจะตัดสินใจก้าวลงจากอำนาจในเร็ววันนี้ กาเลียตติยังไม่เห็นภาพที่ปูตินจะเลิกเล่นการเมือง เว้นเสียแต่ว่าอาจจะได้รับแรงกดดันจากบรรดาผู้มีอำนาจที่อยู่รอบตัวเขา

 

ขณะนี้ยังไม่มีทายาททางการเมืองที่ชัดเจน และอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีมากนักที่คุณจะพยายามสมัครงานในตำแหน่งที่ยังไม่เว้นว่างลงหรือยังไม่เปิดรับ

 

โดยปูตินจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งลงในปี 2024 ซึ่งในปี 2020 มีการปรับแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ปูตินสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก 2 วาระ (วาระละ 6 ปี) นั่นหมายความว่าเราอาจเห็นปูตินนั่งเก้าอี้ผู้นำรัสเซียต่อไปจนถึงปี 2036 หรือในช่วงเวลาที่เขามีอายุมากถึง 86 ปี

 

แฟ้มภาพ: Sergei Bobylyov / Sputnik / AFP

อ้างอิง:

FYI

วลาดิเมียร์ ปูติน เคยดำรงตำแหน่งสำคัญของรัสเซียมาอย่างยาวนาน

  • เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย (1999) 
  • นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ในสมัยประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน (1999-2000)
  • ประธานาธิบดีรัสเซีย (2000-2008) 
  • นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ในสมัยประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ (2008-2012)
  • กลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียอีกครั้ง (2012 – ปัจจุบัน)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X