×

Vinyl Museum คลังแผ่นเสียงนับหมื่นที่รอให้ทุกคนมานั่งเปิดเพลงที่ชอบฟังได้ตามใจ

30.08.2022
  • LOADING...
Vinyl Museum

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • หากต้องไปนั่งคาเฟ่ทุกวันหรือไปบาร์ทุกคืนเพื่อฟังเสียงจากแผ่นไวนิล เราว่าทุกคนก็น่าจะหมดทั้งแรงทั้งเงินเสียก่อน วันนี้เราเลยอยากพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับพิพิธภัณฑ์แผ่นเสียง หรือ ‘ห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์’ ที่ซ่อนอยู่ในย่านอารีย์ เพราะที่นี่มีเพลงคลาสสิกนับหมื่นเก็บไว้ รอให้ทุกคนไปตามหาเพลงที่ชอบมาเปิดฟังกันได้แบบฟรีๆ เลย
  • หากเป็นแผ่นอายุเก่าที่สุดในพิพิธภัณฑ์ก็น่าจะเป็นของ Elvis Presley หรือ สุนทราภรณ์ (ประมาณ พ.ศ. 2516) หากใครอยากฟังก็สามารถหยิบแผ่นมาเปิดเล่นที่เครื่องได้เลย โดยจะมีให้บริการอยู่ 3-5 เครื่อง หรือหากใครมีศิลปินในดวงใจก็สามารถค้นหาจากคอมพิวเตอร์ของพิพิธภัณฑ์ได้เช่นกัน

เราชอบเวลาได้เห็นคนรุ่นใหม่รักความทันสมัย แต่ในขณะเดียวกันก็ชอบความเก่าคลาสสิกไปพร้อมๆ กันด้วย อย่างเช่นหลายคนที่มือหนึ่งถือโทรศัพท์รุ่นใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีกล่องฟิล์มเก่าคล้องไว้บนคอ เรารู้สึกว่าไลฟ์สไตล์ใหม่ผสมเก่าแบบนี้ช่างมีเสน่ห์และน่าสนุกมากจริงๆ

 

เช่นเดียวกับ ‘แผ่นไวนิล’ หรือแผ่นเสียงคลาสสิกที่กำลังฮิตอยู่ในตอนนี้ คิดว่าอาจเป็นเพราะบาร์และคาเฟ่หลายแห่งหยิบแผ่นเสียงมาเปิดให้ฟัง หรืออาจเพราะศิลปินรุ่นใหม่ปล่อยเพลงบนแผ่นไวนิลด้วยก็ได้ จึงทำให้คนสมัยใหม่เริ่มสนใจและอยากฟังเพลงผ่านแผ่นเสียงอนาล็อกดูบ้าง

 

Vinyl Museum

ชั้นวางแผ่นเสียงของ Elvis Presley

 

Vinyl Museum

แผ่นเสียงจะถูกเรียงไว้เหมือนชั้นหนังสือ

 

ทว่าหากต้องไปนั่งคาเฟ่ทุกวันหรือไปบาร์ทุกคืนเพื่อฟังเสียงจากแผ่นไวนิล เราว่าทุกคนก็น่าจะหมดทั้งแรงทั้งเงินเสียก่อน วันนี้เราเลยอยากพาเพื่อนๆ หลายคนที่ยังไม่รู้ (หรือรู้แล้วแต่ยังไม่เคยเข้าไปชม) ไปรู้จักกับพิพิธภัณฑ์แผ่นเสียง หรือ ‘ห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์’ ที่ซ่อนอยู่ในย่านอารีย์ เพราะที่นี่มีเพลงคลาสสิกเก็บไว้นับหมื่น รอให้ทุกคนไปตามหาเพลงที่ชอบมาเปิดฟังกันได้แบบฟรีๆ เลย

 

คลังแผ่นเสียงแห่งนี้เป็นสถานที่รวบรวมแผ่นไวนิลเก่าๆ จากหลายยุค เริ่มตั้งแต่สมัยประเทศไทยมีรายการวิทยุและดีเจ ต้องนำแผ่นไวนิลมาเปิดให้ทุกคนฟังผ่านเสียงตามสาย จนกระทั่งยุคสมัยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากแผ่นไวนิลกลายเป็นเทป กรมประชาสัมพันธ์ผู้รับหน้าที่จัดรายการวิทยุจึงกลายเป็นผู้เก็บรักษาแผ่นเสียงเหล่านั้นไว้ และคอยนำออกมาปัดฝุ่น ดูแลทำความสะอาด ก่อนเก็บใส่ชั้นตามหมวดหมู่เหมือนห้องสมุดหนังสือ

 

Vinyl Museum

อัลบั้มของ Chicago หรือ The Beatles ก็มี

 

Vinyl Museum

นำแผ่นที่อยากฟังมาให้เจ้าหน้าที่เปิดตรงนี้ได้

 

Vinyl Museum

ขั้นตอนการทำความสะอาดแผ่นไวนิล

 

เราได้คุยกับเจ้าหน้าที่ดูแลแผ่นเสียงเลยได้รู้ว่าแผ่นแต่ละชนิดต้องดูแลรักษาต่างกันนิดหน่อย เพราะก่อนจะกลายมาเป็นแผ่นไวนิลน้ำหนักเบาอย่างที่เห็น สมัยแรกแผ่นเสียงเหล่านี้เคยถูกเรียกว่า แผ่นครั่ง เพราะทำมาจากยางชนิดหนึ่งที่ได้จากแมลง นำมาตีเป็นแผ่น และบันทึกเสียงลงไป ซึ่งแผ่นครั่งจะมีน้ำหนักเยอะกว่าแผ่นไวนิลพอตัว แตกหักง่ายด้วย แถมยังต้องใช้เครื่องเล่นเฉพาะชนิดไขลาน เนื่องจากต้องใช้เข็มมีน้ำหนัก

 

ตรงข้ามกับแผ่นไวนิลที่เป็นแผ่นเสียงยุคใหม่ เพราะทำจากพลาสติกน้ำหนักเบา ทำให้ดูแลง่าย แต่ต้องใช้กับเครื่องเล่นสมัยใหม่ที่มีเข็มเล็กเท่านั้น เนื่องจากแผ่นพลาสติกจะบอบบางกว่า

 

ถ้าใครอยากเห็นภาพจริงอย่างที่เราเล่ามา ที่พิพิธภัณฑ์นี้มีให้ทุกคนชมทั้งหมดเลย

 

Vinyl Museum

แผ่นครั่งและแผ่นไวนิลสมัยใหม่

 

Vinyl Museum

หากใครชอบฟังเพลงเก่าคลาสสิกต้องสนุกแน่นอน

 

เจ้าหน้าที่บอกเราว่าพิพิธภัณฑ์นี้มีแผ่นเสียงเก็บไว้ประมาณ 5,000 แผ่น ซึ่งแผ่นเสียงส่วนใหญ่จะบันทึกเพลงไว้หน้าละ 5-6 เพลงทั้งสองด้าน หากนับคร่าวๆ ก็มีเพลงให้ฟังนับหมื่น

 

และหากเป็นแผ่นอายุเก่าที่สุดในพิพิธภัณฑ์ก็น่าจะเป็นของ Elvis Presley หรือ สุนทราภรณ์ (ประมาณ พ.ศ. 2516) หากใครอยากฟังก็สามารถหยิบแผ่นมาเปิดเล่นที่เครื่องได้เลย โดยจะมีให้บริการอยู่ 3-5 เครื่อง หรือหากใครมีศิลปินในดวงใจก็สามารถค้นหาจากคอมพิวเตอร์ของพิพิธภัณฑ์ได้เช่นกัน

 

“แผ่นเสียงส่วนใหญ่จะเรียงตามชนิดเพลง มีทั้งลูกทุ่งและลูกกรุง แบ่งตามชื่อศิลปินเป็นหลัก หากเป็นเพลงสากลจะเรียงตามตัวอักษรชื่อศิลปินหรือชื่อวง แต่ถ้าใครมาหาแล้วไม่เจอก็เขียนโน้ตทิ้งไว้ได้ พวกเราจะหาให้” ทีมบรรณารักษ์ฝากบอกมา เนื่องจากพวกเขามีแผ่นเสียงต้องบันทึกข้อมูลใหม่ทุกวัน หรือนำออกมาทำความสะอาด ทำให้บางครั้งแผ่นที่พวกเราอยากฟังอาจไม่ได้เก็บอยู่บนชั้น

 

Vinyl Museum

เพลงญี่ปุ่นเวอร์ชันภาษาไทยก็มีนะ

 

Vinyl Museum

พื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ดูแลแผ่นไวนิล

 

Vinyl Museum

เพลงเก่าสมัยพ่อแม่ก็มีเช่นกัน

 

ห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์ เปิดอยู่บนชั้น 2 ในกรมประชาสัมพันธ์ หากใครอยากเข้าใช้บริการต้องจองล่วงหน้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะจัดคิวให้ทุกคนมานั่งฟังเพลงได้อย่างไม่แออัดเกินไป (เปิดให้ใช้ครั้งละไม่เกิน 3 เครื่อง) แถมจะได้มีความเป็นส่วนตัวด้วย แล้วหากใครอยากรู้จักแผ่นไวนิลมากขึ้นอีก ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยพาเดินชมและเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังเช่นกัน

 

ทุกคนสามารถสอบถามหรือจองคิวเพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์แผ่นเสียงได้ที่ พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์

 

Vinyl Museum

ทุกคนนำแผ่นมาเปิดฟังเองที่เครื่องเล่นนี้ได้เลย

FYI
  • พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ เปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10:00-16:30 น. โทร. 0 2618 2323 (ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม)
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising