รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจ่อชงคณะรัฐมนตรีไฟเขียวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ ด้าน พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 คาดเริ่มใช้ได้ภายใน 1 เดือน ประเมินพฤษภาคมนี้เห็นเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 100,000 ล้านบาท ลั่น Chevrolet ลาไทยไม่ทำตลาดรถสะเทือน
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุม Meeting between EU-ASEAN Business Council (EU-ABC) ว่า ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นให้กับคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยมาตรการดังกล่าวนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาสแรกนี้
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะเน้นการดูแลความเชื่อมั่น การสนับสนุนการอุปโภคบริโภค โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง รวมถึงประชาชนทั่วไป
ส่วนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อแน่นอน โดยกระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนรอบใหม่ และมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่บัตรสวัสดิการเพื่อสำหรับจับจ่ายใช้สอยด้วย
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะออกมาในไม่ช้านี้แน่นอน ส่วนเม็ดเงินจะเท่าไรนั้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา” อุตตมกล่าว
ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 นั้น คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ภายใน 1 เดือน โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ได้วางแผนในการเร่งรัดการเบิกจ่ายให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อม โดยคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากกว่า 100,000 ล้านบาท และมีเม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกมากกว่า 100,000 ล้านบาทด้วย
ส่วนการการประชุม Meeting between EU-ASEAN Business Council (EU-ABC) นักลงทุนมีความสนใจลงทุนระยะยาวในประเทศไทย โดยจะเห็นเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนในแทบสหภาพยุโรปมาลงทุนไทยภายในปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวเห็นว่าไทยยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่จะเข้ามาลงทุนในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ธุรกิจออนไลน์ และยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวไม่ได้สอบถามถึงความเสี่ยงในระยะสั้นที่เกิดขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยที่นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวมองเป็นโอกาสของประเทศไทยในการสร้างรายได้จากวิกฤตที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ในการประชุมกระทรวงการคลังยังระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีความพร้อม และจะเดินหน้าเรื่องการปฏิรูปต่อ ตั้งแต่ระดับฐานราก เพื่อยึดโยงไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย และให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในอนาคต รวมถึงการเน้นการเติบโตที่ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่การกระจุกตัวเท่านั้น ซึ่งมองว่าจะเป็นผลดีกับภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติด้วย
“ในการประชุมครั้งนี้ นักลงทุนไม่ได้ถามเรื่องเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะเขาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ และมีความคุ้นเคยกับประเทศไทยอยู่แล้ว เขาจึงมีความพร้อมที่จะลงทุน เพียงแต่ขอความชัดเจนในระยะยาว การสนับสนุนการลงทุนในระยะยาวเท่านั้น” อุตตมกล่าว
ส่วนกรณี General Motors ประเทศไทย จะยุติการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ Chevrolet ในประเทศไทยภายในสิ้นปี 2563 นักลงทุนไม่ได้แสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งไทยได้ชี้แจงว่าเป็นแผนในการปรับโครงสร้างของบริษัทเอง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์ สะท้อนจากผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์รายอื่นๆ ยังมีความสนใจลงทุนในไทย
“เรื่อง Chevrolet เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้สำหรับธุรกิจข้ามชาติ แม้สถาบันการเงินเองก็มีการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ จึงมองว่าจะไม่มีผลกระทบ” อุตตมกล่าว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์
เรียบเรียง: สุรเมธี มณีสุโข
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com