×

เลือกตั้งกลางเทอม 2022: ทำไม ส.ส. สหรัฐฯ ถึงมีวาระดำรงตำแหน่งแค่ 2 ปี

06.11.2022
  • LOADING...

ระบอบรัฐสภาของสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ อยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือวาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นั้นสั้นมากเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น ต่างจากประเทศส่วนใหญ่ที่ ส.ส. จะมีวาระดำรงตำแหน่งอยู่ที่ 4 ปี ส่งผลให้ชาวอเมริกันต้องมาลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ของพวกเขาในทุกๆ เดือนพฤศจิกายนของปีที่ลงท้ายด้วยเลขคู่ ซึ่งปี 2022 นี้ก็เช่นกันที่ประชาชนอเมริกันจะได้เข้าคูหาเลือก ส.ส. ทั้งสภา (435 คน) ในการเลือกตั้งกลางเทอมนี้

 

แต่มีคำถามหรือหลายคนยังสงสัยว่า เพราะเหตุใดรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ถึงออกแบบมาเช่นนี้ บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจในเหตุผลต่างๆ กัน

 

รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กำหนดไว้

รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด มีการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประธานาธิบดี โดยที่การเลือกตั้ง ส.ส. จะเลือกใหม่ทุกๆ 2 ปี ส่วนประธานาธิบดีจะเลือกทุกๆ 4 ปี ขณะที่ ส.ว. จะมีวาระดำรงตำแหน่งนานกว่าใครเพื่อนคือ 6 ปี และจะเลือกใหม่ราว 1 ใน 3 ของสภาทุกๆ 2 ปี ซึ่งรอบการเลือกตั้งนี้ก็เป็นผลลัพธ์จากการประนีประนอมในที่ประชุมร่างรัฐธรรมนูญที่เมืองฟิลาเดลเฟียเมื่อปี 1787 

 

รัฐสภาของสหรัฐฯ มีหน้าที่คานอำนาจฝ่ายบริหาร

รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ออกแบบมาให้รัฐสภามีอำนาจในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) ของฝ่ายบริหารอย่างเข้มข้น โดยที่กฎหมายใดๆ จะออกมาได้นั้น จะต้องผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภาและประธานาธิบดี และการที่ประธานาธิบดีจะผ่านร่างงบประมาณออกมาได้ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน

 

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. นั้นก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเลือกประธานาธิบดี เพราะเสียงในสภาจะเป็นตัวกำหนดว่าประธานาธิบดีจะสามารถผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ได้มากน้อยแค่ไหน

 

คานอำนาจด้วยการเลือกตั้งทุก 2 ปี

สาเหตุที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกากำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ส. อยู่ที่แค่ 2 ปีนั้น ก็เพราะตั้งใจให้มีการเลือกตั้งถี่ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของประชาชน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ชาวอเมริกันได้มีโอกาสเปลี่ยนทิศทางการบริหารประเทศหลังประธานาธิบดีได้บริหารประเทศมาแล้ว 2 ปี (จากวาระทั้งหมด 4 ปี)

 

ยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายนนี้ หากชาวอเมริกันเห็นว่าการบริหารประเทศของ โจ ไบเดน ในช่วง 2 ปีแรกนั้นล้มเหลว เช่น เห็นว่ารัฐบาลใช้จ่ายมากเกินไปกับโครงการประชานิยม จนทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก พวกเขาก็สามารถไปลงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ส. จากรีพับลิกัน เพื่อให้พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ไบเดนจัดทำงบประมาณแบบมือเติบอีกในช่วง 2 ปีที่เหลือ

 

อีกคำอธิบายก็คือ ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญมองไว้ว่า การเลือกตั้งที่จัดบ่อยครั้งอาจกระตุ้นให้ ส.ส. มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนหรือตอบสนองด้านนโยบายได้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในสมัยถัดไป

 

วุฒิสภานั้นต่างออกไป

ในทางตรงข้าม วาระของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้นยาวนานถึง 6 ปี (นานกว่าประธานาธิบดีเสียอีก) เพราะรัฐธรรมนูญอยากให้ ส.ว. ลอยตัวออกจากการเมืองในระดับหนึ่ง กล่าวคือรัฐธรรมนูญอยากให้ ส.ว. ไม่ต้องกังวลใจกับการเลือกตั้งมากนัก (เพราะวาระการดำรงตำแหน่งนั้นยาว) เพื่อที่พวกเขาจะได้โหวตลงคะแนนให้ร่างกฎหมายแต่ละฉบับผ่านหรือไม่ผ่าน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ต้องกังวลมากนักว่าการโหวตนั้นๆ จะทำให้พวกเขาหรือเธอแพ้การเลือกตั้งในสมัยถัดมา

 

โดยคณะร่างรัฐธรรมนูญปี 1787 เห็นว่า การกำหนดวาระดำรงตำแหน่ง ส.ว. ไว้ที่ 6 ปี (นานกว่า ส.ส.) จะทำให้วุฒิสภาเป็นกลไกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้มีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้โอนเอนไปตามกระแสความต้องการของประชาชนในช่วงเวลานั้นๆ มากเกินไป

 

ภาพ: Hulton Archive / Getty Images

FYI

คณะผู้แทนร่างรัฐธรรมนูญปี 1787 มีการถกเถียงเกี่ยวกับระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของ ส.ส. โดยบางคนรู้สึกว่าควรกำหนดวาระ ส.ส. ไว้แค่ 1 ปี คล้ายกับสมาชิกสภานิติบัญญัติของหลายมลรัฐ แต่หลายคนมองว่าควรกำหนดไว้ที่ 3 ปี เพราะการทำงานกับรัฐบาลกลางมีความซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายมีการประนีประนอมและกำหนดไว้ที่ 2 ปี ซึ่งคณะร่างรัฐธรรมนูญยังเห็นพ้องด้วยว่าการจัดเลือกตั้ง ส.ส. ถี่ขึ้น จะช่วยชดเชยกับการที่ ส.ว. มีวาระดำรงตำแหน่งนาน 6 ปีด้วย  

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising