×

‘สหรัฐฯ’ ผนึกกำลัง 5 ชาติปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ ตั้งเป้าเพิ่มซัพพลาย หวังบรรเทาปัญหาน้ำมันแพง

24.11.2021
  • LOADING...
oil reserves

ทำเนียบขาวของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีคำสั่งปล่อยน้ำมันดิบสำรองจากคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ปริมาณรวมทั้งสิ้น 50 ล้านบาร์เรล ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ยาวไปจนถึงเดือนเมษายนปีหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อฉุดราคาน้ำมันให้ลดต่ำลง หวังบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันแพงในเวลานี้

 

โดยประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ ย้ำว่า เหตุผลหลักในการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่า ปริมาณซัพพลายน้ำมันในตลาดขณะนี้ไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด และความร่วมมือกับอีก 5 ชาติ คือ จีน, อินเดีย, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะช่วยให้สหรัฐฯ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำมัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันแพงได้ในที่สุด

 

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ภายใต้แผนดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มแลกเปลี่ยนน้ำมันสำรองปริมาณ 32 ล้านบาร์เรลในเดือนหน้า กับผู้ซื้อที่ตกลงว่าจะส่งน้ำมันดิบในปริมาณเท่ากันคืนให้กับรัฐบาลระหว่าง ค.ศ. 2022-2024 ส่วนอีก 18 ล้านบาร์เรลจะนำออกขายโดยตรงให้กับโรงกลั่น

 

ทั้งนี้ คลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ถือเป็นคลังน้ำมันสำรองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงาน โดยน้ำมันทั้งหมดถูกเก็บไว้ในถ้ำที่สร้างขึ้นในโดมเกลือตามแนวชายฝั่งอ่าวเท็กซัสและลุยเซียนา และปัจจุบัน สหรัฐฯ มีปริมาณน้ำมันดิบอยู่ในคลังปิโตรเลียมสำรองทางยุทธศาสตร์ทั้งหมด 621 ล้านบาร์เรล

 

นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นตรงกันว่า ลำพังการปล่อยน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐฯ ที่เตรียมปล่อยออกมานี้ อาจไม่เพียงพอที่จะปรับลดราคาในขณะนี้ของสหรัฐฯ ที่ระดับ 3.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 แกลลอน (ราว 0.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อลิตร) ซึ่งเป็นราคาที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 2 เท่าลงได้

 

อย่างไรก็ตาม หากรวมกับปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่อีก 5 ประเทศเตรียมนำออกมาใช้ด้วยนี้ ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงได้เช่นกัน โดยทบวงพลังงานระหว่างประเทศแสดงความเห็นต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าวระบุว่า เคารพการตัดสินของแต่ละประเทศที่จะออกมาตรการที่ดีที่สุดเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านราคาน้ำมัน เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อไม่ให้กดดันภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโรคโควิดระบาดอีกต่อไป

 

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า รัฐบาลอินเดียได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ และมีแผนที่จะปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของประเทศออกมาที่ 5 ล้านบาร์เรล 

 

ด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่า ต้องหารือในเรื่องปริมาณกับระยะเวลาที่จะปล่อยกับประเทศอื่นๆ เสียก่อน แต่คาดว่าปริมาณที่จะปล่อยคงไม่ต่างจากความร่วมมือที่เกาหลีใต้เคยมีมาในอดีต พร้อมยกตัวอย่างกรณีวิกฤตสงครามกลางเมืองลิเบียในปี 2011 ที่เกาหลีใต้ปล่อยน้ำมันในคลังน้ำมันสำรองเกือบ 3.5 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 4% ของปริมาณน้ำมันสำรองทั้งหมดของประเทศ  

 

ด้านรัฐบาลสหราชอาณาจักรกล่าวว่า จะเปิดทางให้บรรดาบริษัทเอกชนทั้งหลายร่วมปล่อยน้ำมันสำรองโดยสมัครใจ รวมแล้วไม่เกิน 1.5 บาร์เรล ซึ่งเป็นปริมาณที่เห็นว่าสมเหตุสมผล 

 

ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาปริมาณน้ำมันสำรองที่จะปล่อยออกมา ซึ่งตามรายงานของสำนักงานข้อมูลพลังงานสหรัฐฯ ญี่ปุ่นมีปริมาณน้ำมันดิบในคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ทั้งหมด 388 ล้านบาร์เรล ในจำนวนนี้ราว 76% เป็นของรัฐ และราว 24% เป็นของเอกชน

 

ส่วนประเทศจีน ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองรองจากสหรัฐฯ และเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของโลกระบุว่า กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อปล่อยน้ำมันในคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยโฆษกสำนักงาน อาหารและน้ำมันสำรองยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน (National Food and Strategic Reserves Administration) เผยว่า จีนกำลังเร่งผลักดันให้สามารถปล่อยน้ำมันสำรองให้เร็วที่สุด

 

CNN รายงานว่า เหตุผลหลักของความร่วมมือในครั้งนี้ก็คือ ความต้องการลดภาระราคาน้ำมันแพงของผู้บริโภคในแต่ละประเทศเป็นหลัก หลังราคาพลังงานที่แพงขึ้นในช่วงฤดูหนาวในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อสูง จนเสี่ยงต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยเงินเฟ้อของสหรัฐฯ วัดจากดัชนีผู้บริโภคชาวอเมริกันพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 31 ปี ที่ 6.2% ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้นอกจากแผนปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์แล้ว รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังอาจใช้วิธีแทรกแซงราคาในตลาดเชื้อเพลิงเพื่อทำให้ราคาลดต่ำลง

 

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งต่างจับตามองปฏิกิริยาของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง นำโดยสมาชิกกลุ่ม OPEC (Organization of the Petroleum Exporting Countries) 13 ประเทศ ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะใช้วิธีลดปริมาณการผลิตน้ำมันเพื่อชดเชยส่วนที่เพิ่มขึ้นจากทั้ง 6 ประเทศดังกล่าว เพื่อให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคงอยู่ที่ระดับสูงเช่นนี้ต่อไป

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising