×

สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีไทยเป็นประเทศ ‘เฝ้าจับตา’ ปั่นค่าเงินต่อเนื่อง ด้าน ธปท. ย้ำไม่มีนัยต่อธุรกิจการค้าการลงทุน

17.04.2021
  • LOADING...
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury) ได้เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งระบุว่า ประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ใน Monitoring List (เฝ้าจับตา) ต่อเนื่องจากการประเมินครั้งก่อน (ธันวาคม 2563) 

 

โดยสาเหตุที่ไทยยังมีรายชื่ออยู่ในบัญชีดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของ GDP ซึ่งเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ ที่กำหนดให้ติดตามประเทศใน Monitoring List ต่อเนื่องไปอีก 2 รอบการประเมิน 

 

สำหรับการประเมินรอบนี้ มีคู่ค้า 11 ประเทศที่จัดอยู่ใน Monitoring List ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเม็กซิโก

 

จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวย้ำว่า การที่ไทยถูกจัดอยู่ใน Monitoring List ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ อีกทั้งการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อบทบาทของ ธปท. ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ และเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของธนาคารกลาง และความเหมาะสมของสถานการณ์ 

 

โดย ธปท. จะติดตามและประเมินการเปลี่ยนแปลงของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยว

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่า ไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น และจะเข้ามาดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็น เพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า โดยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising