×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ศึกชิงผู้นำสหรัฐฯ ไบเดน-ทรัมป์ ชี้ชะตาประชาธิปไตยทั่วโลก ไปต่อหรือถอยหลัง?

09.10.2020
  • LOADING...
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ศึกชิงผู้นำสหรัฐฯ ไบเดน-ทรัมป์ ชี้ชะตาประชาธิปไตยทั่วโลก ไปต่อหรือถอยหลัง?

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ด้วยความที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำแม่แบบเสรีประชาธิปไตยของโลกสมัยใหม่ การเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งที่จะถึงนี้จึงไม่ใช่แค่กำหนดอนาคตประชาธิปไตยของสหรัฐฯ เองเท่านั้น แต่ยังมีส่วนกำหนดชะตากรรมของระบอบประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลกด้วย
  • โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ค่อยยึดถือคุณค่าประชาธิปไตยเหมือนผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนๆ ทั้งในการดำเนินนโยบายในประเทศเองและต่างประเทศ ทำให้สหรัฐฯ เสียภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำโลกประชาธิปไตย และยังเปิดโอกาสให้ระบอบเผด็จการเติบโตขึ้นในหลายประเทศ หากเขาชนะเลือกตั้งครั้งนี้ก็อาจทำให้ประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอยมากขึ้นไปอีก 
  • คู่ท้าชิงอย่าง โจ ไบเดน ประกาศจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยเต็มตัว พร้อมให้คำมั่นที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยในสหรัฐฯ และทั่วโลก และยังเสนอจัดประชุมระดับโลกด้านประชาธิปไตยหากได้เป็นประธานาธิบดี แต่ถึงอย่างนั้นภารกิจกอบกู้ประชาธิปไตยทั่วโลกของไบเดนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

การขึ้นครองอำนาจของนักธุรกิจชื่อดังอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับสหรัฐฯ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เขาได้ทำอะไรหลายอย่างที่ถูกมองว่าแหกขนบที่ผู้นำคนก่อนๆ ถือปฏิบัติต่อกันมา หนึ่งในนั้นคือการที่เขาดูจะไม่ค่อยยึดถือคุณค่าประชาธิปไตยเสรี ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ยึดมั่นถือมั่นกันมายาวนาน

 

 

นักวิเคราะห์และสื่อหลายสำนักต่างให้ความเห็นว่าพฤติกรรมหลายอย่างของทรัมป์ไม่ค่อยจะยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตยและเสรีนิยม แต่กลับเข้าตำราอำนาจนิยมเสียมากกว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์ได้แสดงความพยายามบางอย่างที่จะควบรวมอำนาจของตัวเอง อย่างการบังคับใช้กฎหมายพิเศษแบบพร่ำเพรื่อ การแต่งตั้งคนที่ภักดีต่อตัวเองเข้าไปแทนที่ในงานของทางการบางตำแหน่ง หรือการพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ทรัมป์ยังออกนโยบายหลายอย่างที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนบางเชื้อชาติ บางศาสนา โดยไม่แยแสหลักความเท่าเทียม และเขามักจะให้ข้อมูลแบบผิดๆ ต่อสาธารณชนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองและป้ายสีฝ่ายตรงข้าม แถมยังคอยโจมตีสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์หรือเปิดโปงตัวเขาเอง

 


ชาวอเมริกันจำนวนมากแสดงความกังวลว่าหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยจะเป็นการเปิดโอกาสให้เขาขยับขยายอำนาจมากขึ้น และเท่ากับว่าสหรัฐฯ อาจตีตนออกห่างจากหลักการประชาธิปไตยเสรีไปสู่อำนาจนิยมมากกว่าเดิม พวกเขาจึงวาดหวังที่จะให้คู่ชิงจากฝั่งพรรคเดโมแครตอย่าง โจ ไบเดน ที่ประกาศตัวว่ายึดมั่นประชาธิปไตยอย่างชัดเจนเอาชนะทรัมป์ให้ได้ เพื่อดึงการเมืองสหรัฐฯ ให้กลับมาอยู่ในร่องในรอย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำแม่แบบเสรีประชาธิปไตยของโลกสมัยใหม่ การเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งที่จะถึงนี้จึงไม่ใช่แค่กำหนดอนาคตประชาธิปไตยของสหรัฐฯ เองเท่านั้น แต่ยังอาจมีส่วนกำหนดชะตากรรมของระบอบประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลกด้วย   

ชัยชนะของทรัมป์นำพาเผด็จการหลายชาติผงาด
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยทั่วไปมักจะยึดหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน สหรัฐฯ ใช้เวลาหลายทศวรรษเดินหน้าโปรโมตแนวคิดเสรีประชาธิปไตยบนเวทีโลก หลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนยังถูกใช้เป็นเงื่อนไขสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการพิจารณาระดับความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ แต่เมื่อทรัมป์ก้าวขึ้นมากุมบังเหียนผู้นำประเทศ เขากลับแทบไม่ได้สนใจและไม่พูดถึงหลักการเหล่านี้เลยในนโยบายต่างประเทศ

องค์กรส่งเสริมเสรีภาพและประชาธิปไตยของสหรัฐฯ หรือ Freedom House ได้เผยแพร่ผลสำรวจปีนี้โดยระบุว่าระดับเสรีภาพและประชาธิปไตยทั่วโลกอยู่ในภาวะถดถอยมาถึง 14 ปีติดต่อกัน และการเข้ามาของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบไม่สนใจหลักประชาธิปไตยมากนักก็เป็นตัวเร่งให้ประชาธิปไตยถดถอยหนักขึ้นไปอีกตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จึงเท่ากับว่าทรัมป์ได้ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียสถานะของการเป็นแกนนำส่งเสริมประชาธิปไตยของโลก และยังทำให้บรรดาผู้นำเผด็จการหลายชาติสบโอกาสรุกคืบสร้างอำนาจมากขึ้น เมื่อไม่ได้มีสหรัฐฯ มายืนถือไม้เรียวคอยห้ามปรามเหมือนแต่ก่อน

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่านโยบายต่างประเทศในยุคทรัมป์นำหน้าด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะยึดหลักประชาธิปไตย ทรัมป์ยินดีกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่ให้ผลประโยชน์ได้โดยไม่สนว่าประเทศนั้นกำลังมีสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยย่ำแย่ขนาดไหน ทรัมป์ไม่เคยหยิบยกเอาประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาบนโต๊ะเจรจา ซึ่งต่างจากผู้นำคนก่อนๆ แถมบางครั้งยังชื่นชมการกระทำที่ละเมิดหลักเสรีภาพของผู้นำบางคนด้วย เช่น การพบปะกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตร์เต ที่กรุงมะนิลาในปี 2560 ขณะที่ดูเตร์เตกำลังถูกนานาชาติวิจารณ์อย่างหนักต่อนโยบายสงครามยาเสพติด ทรัมป์ก็ไม่ได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมากดดัน แถมก่อนหน้านั้นเขายังชมว่านโยบายนี้น่าทึ่งและดูเตร์เตก็ทำได้ดี ปีเดียวกันนั้นทรัมป์ยังได้เชิญนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเยือนทำเนียบขาว ขณะที่ไทยยังอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการรัฐประหารปี 2557 ทรัมป์ไม่เคยกดดันให้ คสช. คืนประชาธิปไตยให้ประชาชน ต่างจากผู้นำคนก่อนหน้าอย่าง บารัก โอบามา ที่กดดันรัฐบาลทหารไทยอย่างต่อเนื่อง  

 

 

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ก็ไม่ได้ปิดปากเงียบต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยบนเวทีนานาชาติเสียทีเดียว เขาเลือกที่จะประณามปัญหาดังกล่าวต่อประเทศที่เขามองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ อย่างโจ่งแจ้งเท่านั้น เช่น จีน เวเนซุเอลา อิหร่าน และคิวบา แต่หลายครั้งก็ถูกสงสัยว่าอาจไม่ใช่การประณามที่จริงใจหรืออาจมีประเด็นแอบแฝง อย่างในกรณีที่ทรัมป์ได้ประณามและลงนามกฎหมายคว่ำบาตรบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าทรัมป์น่าจะทำขึ้นเพื่อกลบเกลื่อนข่าวที่ จอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ออกมาแฉก่อนหน้านั้นไม่กี่วันว่าทรัมป์เคยพูดสนับสนุนให้ผู้นำจีนสร้างค่ายกักกันชาวอุยกูร์ต่อไป และอีกไม่กี่วันต่อมาทรัมป์ก็ยกเลิกการคว่ำบาตรโดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้การเจรจาเรื่องสงครามการค้ากับจีนคืบหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ทรัมป์เองยังเคยชื่นชมการรวบอำนาจของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ว่าทำให้แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

หากประธานาธิบดีทรัมป์เอาชนะไบเดนจนได้ครองอำนาจต่อเป็นสมัยที่ 2 การดำเนินนโยบายต่างประเทศก็มีแนวโน้มจะยังคงเป็นเหมือนเดิม คือไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในชาติอื่นๆ มากนัก ซึ่งอาจทำให้เหล่าผู้นำเผด็จการมีโอกาสกุมอำนาจเบ็ดเสร็จขึ้นไปอีก และประชาคมโลกก็อาจมีประเทศที่ตีตัวออกห่างจากประชาธิปไตยเสรีไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเผด็จการมากขึ้น

ไบเดน ความหวังกอบกู้ประชาธิปไตยโลก?
ขณะที่ทรัมป์เลี้ยวขวา ไบเดนกลับเลี้ยวซ้าย ก่อนที่ไบเดนจะมาเป็นคู่ชิงทำเนียบขาวกับทรัมป์ในปีนี้ เขาเคยเป็นรองประธานาธิบดีคู่ใจของโอบามา ซึ่งเป็นยุคที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั่วโลกมาก นโยบายต่างประเทศในยุคสมัยของโอบามายึดถือหลักการพวกนี้แบบแน่วแน่ หลายคนมองว่าหากไบเดนได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ การเดินหน้านโยบายต่างประเทศก็อาจไม่ต่างจากสมัยโอบามามากนัก และอาจเป็นความหวังที่จะทำให้สหรัฐฯ กลับมายืนอยู่ในสถานะผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตยได้อีกครั้งหนึ่ง


ไบเดนเองก็ได้ประกาศจุดยืนมาตลอดช่วงการหาเสียงว่าเขามุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยของสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศทั่วโลกด้วย เขาแสดงความคิดเห็นด้วยว่าหลักการประชาธิปไตยทั้งในสหรัฐฯ และหลายประเทศกำลังด้อยค่าลงไป และถูกครอบงำด้วยแนวคิดอำนาจนิยม ชาตินิยม และผลประโยชน์ส่วนตน จนทำให้แต่ละชาติไม่สามารถร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่จะต่อกรกับปัญหาระดับโลกต่างๆ อย่างภาวะโลกร้อน การก่อการร้ายข้ามชาติ สงครามไซเบอร์ และล่าสุดก็คือโรคระบาด ไบเดนมองว่านี่คือความจำเป็นที่สหรัฐฯ จะต้องกอบกู้หลักประชาธิปไตยทั่วโลก และสหรัฐฯ จะต้องกลับมาเป็นผู้นำโลกเสรีเพื่อนำพาทั่วโลกต่อสู้กับความท้าทายต่างๆ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา

ไบเดนยังได้ประกาศวิสัยทัศน์เอาไว้ว่าหากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เขาจะจัดการประชุมระดับโลกด้านประชาธิปไตย (Global Summit for Democracy) ทันทีตั้งแต่ปีแรกที่ดำรงตำแหน่ง โดยจะเชื้อเชิญบรรดาชาติประชาธิปไตยทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมเพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตยมากขึ้น พร้อมยึดหลักการ 3 ประการคือ การต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน การปกป้องคุณค่าประชาธิปไตยจากระบอบอำนาจนิยม และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

ไบเดนยังเผยแนวคิดของเขาด้วยว่างานประชุมนี้จะเชิญองค์กรภาคประชาสังคมทั่วโลกที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาเข้าร่วมด้วย และจะเรียกร้องไปถึงภาคเอกชน โดยเฉพาะบรรดาบริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีและสื่อโซเชียลมีเดียให้คุ้มครองหลักเสรีประชาธิปไตยและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ รวมทั้งต้องสร้างความมั่นใจได้ว่าแพลตฟอร์มของพวกเขาจะไม่ก่อให้เกิดเผด็จการดิจิทัลที่คอยสอดส่องประชาชน ละเมิดความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ เผยแพร่ข้อความเท็จ ข้อความสร้างความเกลียดชัง หรือข้อความที่นำไปสู่ความรุนแรงและปราบปรามประชาชน โดยไบเดนมุ่งเป้าไปที่รัฐบาลจีนเป็นหลัก

ภารกิจฟื้นฟูประชาธิปไตยของไบเดนไม่ใช่เรื่องง่าย
ในงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 สำคัญต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในเอเชียหรือไม่’ (The 2020 US Presidential Election: Will it matter for democracy and human rights in Asia?) ที่จัดร่วมกันระหว่างเอ็นจีโอหลายองค์กรเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่าถึงแม้ไบเดนจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าโลกจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้แบบง่ายๆ

เจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคขององค์กรคลังปัญญา Asia Centre มองว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทำลายหลักการประชาธิปไตยในสหรัฐฯ ลงไปมากพอสมควร ทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถคงภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำโลกเสรีได้ และเปิดช่องให้ระบอบเผด็จการเข้มแข็งขึ้นในหลายชาติทั่วโลกจนอยู่ในจุดที่ยากจะหวนกลับ และนี่ทำให้ไบเดนจะไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่ทรัมป์ทำไว้ได้ในเวลาอันสั้น เขาจะต้องใช้เวลาปัดกวาดเช็ดถูพอสมควรก่อนที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้

โกเมซยังโยงไปถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าอาจทำให้บรรดาเอ็นจีโอต่างๆ ทั่วโลกที่ทำงานเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเจอปัญหาเงินขาดมือจนไม่สามารถดำเนินงานต่างๆ ได้อย่างเดิม ขณะที่ เจมส์ ทิมเบอร์แมน ผู้อำนวยการ Freedom House ประจำภูมิภาคเอเชีย ก็พูดถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจเหมือนกัน โดยบอกว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เจอปัญหาขาดสภาพคล่องทางงบประมาณจนไม่สามารถให้การสนับสนุนบรรดาองค์กรหรือเอ็นจีโอให้ทำงานเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้เต็มที่

ทิมเบอร์แมนยังให้ความเห็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งว่าการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ไบเดนอาจไม่สามารถส่งเสริมประชาธิปไตยทั่วโลกได้ ประธานาธิบดีทรัมป์ล้มเหลวที่จะรักษาอำนาจของสหรัฐฯ ในหลายจุดยุทธศาสตร์ทั่วโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปิดโอกาสให้จีนแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปแทนที่ นี่ทำให้ไบเดนจำเป็นจะต้องเดินหน้าฟื้นฟูความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศต่างๆ เพื่อคานอิทธิพลจีนจากที่ล้มเหลวในยุคของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงหลายประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยด้วยเพื่อรักษาดุลอำนาจของสหรัฐฯ ในพื้นที่ต่างๆ ไว้ และนั่นอาจทำให้ไบเดนจำใจต้องมองข้ามปัญหาสิทธิมนุษยชนและความไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้นไปบ้างเพื่อให้ง่ายต่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์ ไบเดนอาจต้องยอมหลับตาข้างหนึ่งเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ เองเป็นอันดับแรก

เราจึงไม่อาจมั่นใจได้ว่าไบเดนจะเป็นวีรบุรุษขี่ม้าขาวมากอบกู้ประชาธิปไตยให้กับโลกเสรีได้จริง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

ภาพ: Shutterstock, Getty Images
อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising