×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: เปิดประวัติ โจ ไบเดน 36 ปีในวุฒิสภา สู่ขุนพลสำคัญของโอบามา และการต่อสู้เพื่อตำแหน่งประธานาธิบดี

12.10.2020
  • LOADING...
Joe Biden

สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีบทบาททางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจอย่างสูงในระดับโลก กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งหนึ่งในผู้สมัครคือ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ชายผู้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งวุฒิสมาชิกแห่งสหรัฐอเมริกาด้วยอายุที่น้อยเป็นอันดับต้นๆ ชีวิตของเขาผ่านทั้งความสูญเสีย ความพ่ายแพ้ จนก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในฐานะรองประธานาธิบดีผู้ทำงานเคียงข้าง บารัก โอบามา ได้ถึง 2 สมัย และวันนี้เขากลับมาเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งในสนามเลือกตั้งปี 2020

 

Joe Biden

 

นี่คือ ‘โจ ไบเดน’

ในห้วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 20 พฤศจิกายน 1942 บุตรชายคนโตของโจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดน ซีเนียร์ และยีน ฟินเนแกน ไบเดน ก็ได้ลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก หลังพวกเขาแต่งงานกันในปีก่อนหน้า เด็กชายคนนี้มีชื่อว่า ‘โจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดน จูเนียร์’ หรือที่คนทั่วโลกจะรู้จักเด็กชายคนนี้ในอีกหลายสิบปีถัดมา ในฐานะ ‘โจ ไบเดน’ ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาถึง 2 สมัย

 

วัยเด็กของ โจ ไบเดน เริ่มต้นที่เมืองสแครนตันในรัฐเพนซิลวาเนีย แต่เมื่อไบเดน ซีเนียร์ ผู้เป็นพ่อ ประสบปัญหากับการหางานในเมืองดังกล่าว ครอบครัวไบเดนจึงตัดสินใจย้ายไปยังเมืองวิลมิงตันในรัฐเดลาแวร์เพื่อหาโอกาสที่ดีกว่า ที่นั่นโจเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนคาทอลิกสองแห่ง ตามด้วยโรงเรียนมัธยมอาร์ชเมียร์ อคาเดมี โจ ไบเดน มีปัญหาในวัยเด็กคือการพูดติดอ่าง ซึ่งพ่อแม่ของโจเคยส่งเขาไปพบนักบำบัดแต่ไม่ค่อยเป็นผล เขาเคยถูกล้อเลียนเรื่องนี้ และพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการฝึกท่องข้อความยาวๆ หน้ากระจก และต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งกว่าที่ปัญหานี้จะทุเลาลงระหว่างวัยเรียน

 

แต่หากการพูดติดอ่างทำให้เขาต้องสูญเสียความมั่นใจ การเล่นกีฬาก็เป็นสิ่งที่เรียกกำลังใจของเขากลับคืนมาได้เป็นอย่างดี เขาเล่นอเมริกันฟุตบอลให้กับทีมของโรงเรียน และมีส่วนร่วมจนทีมของเขาทำสถิติไร้พ่ายตลอดฤดูกาล เขายังเล่นบาสเกตบอลและเบสบอลด้วย นอกจากนี้ ไบเดนยังมีความเป็นผู้นำจนได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียนในชั้นจูเนียร์และซีเนียร์

 

จากนั้นเขาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเดลาแวร์ในปี 1961 โดยเลือกวิชาเอกด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ ทว่าในเวลานั้น สุนทรพจน์ของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ในวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มีส่วนทำให้เขาเริ่มต้นความคิดที่จะเข้าสู่เส้นทางสายการเมือง เขาเริ่มค้นประวัติของสมาชิกสภาคองเกรส และพบว่าสมาชิกจำนวนมากล้วนมาจากการเป็นนักกฎหมาย นั่นจึงนำมาซึ่งการตัดสินใจที่จะเดินหน้าศึกษาต่อด้านกฎหมายเพิ่มเติม 

 

และในระหว่างชีวิตการเรียนที่มหาวิทยาลัยเดลาแวร์ ครั้งหนึ่งไบเดนมีจังหวะเดินทางไปพักผ่อนยังต่างเมือง ครั้งนี้เองที่เขาได้พบกับ นีเลีย ฮันเตอร์ ผู้ซึ่งกำลังจะจบจากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ทั้งคู่คบหาดูใจกันจนกระทั่งไบเดนตัดสินใจมาศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวหลังสำเร็จการศึกษาที่เดลาแวร์ และระหว่างศึกษากฎหมาย ทั้งสองก็แต่งงานกันในปลายเดือนสิงหาคม ปี 1966 

 

แต่ชีวิตของไบเดนก็ต้องพบกับปัญหาที่จะย้อนกลับมาส่งผลเสียต่อตัวเขาในเวลาต่อมา นั่นคือระหว่างการศึกษากฎหมายปีแรก ไบเดนกระทำผิดเรื่องการอ้างอิงผลงานทางวิชาการ แม้ว่าเขาจะให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยไม่เจตนาและเกิดจากการขาดความเข้าใจจนทำให้เขาอ้างอิงงานวิชาการอย่างไม่เหมาะสม แต่เรื่องนี้ก็ถูกนำกลับมาเปิดเผยต่อสาธารณะระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกของเขาในปี 1988

 

ไบเดนเรียนจบจากโรงเรียนกฎหมายในอีกราว 2 ปีหลังจากแต่งงานด้วยผลการเรียนที่ไม่ค่อยดีนัก และเริ่มทำงานในสำนักงานกฎหมายของเอกชน ไปจนถึงสำนักงานทนายความของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ ชีวิตการทำงานในสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งชักนำเขาไปสู่การเริ่มต้นทำงานการเมืองในระดับท้องถิ่นกับพรรคเดโมแครตในที่สุด จนต่อมาเขาชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นในระดับเคาน์ตีในย่านที่เขาอาศัยอยู่ เขามีรายได้เสริมจากการจัดการอสังหาริมทรัพย์ และเขาก็ยังตั้งสำนักงานกฎหมายของตัวเองขึ้นมาด้วย

 

และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง ก็เป็นช่วงที่เขามีลูกกับนีเลีย ตั้งแต่โบและฮันเตอร์ ลูกสองคนแรกซึ่งเป็นชาย และนาโอมิ ลูกสาวคนต่อมา จากนั้น โจ ไบเดน ในวัยอายุย่างสามสิบปี ก็ตัดสินใจลงชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ของรัฐเดลาแวร์ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปี 1972 ซึ่งเขาคว้าชัยชนะเหนือคู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 2 สมัยได้ในที่สุด

 

แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการเลือกตั้ง โจ ไบเดน ก็ต้องพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ก่อนวันคริสต์มาส นีเลีย ภรรยาของเขา พร้อมลูกๆ ทั้งสามซึ่งได้แก่ โบ ฮันเตอร์ และนาโอมิ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ นีเลียและนาโอมิเสียชีวิต ส่วนลูกชายสองคนที่เหลือได้รับบาดเจ็บ โจ ไบเดน เกือบตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ส.ว. เพื่อมาดูแลบุตรชายทั้งสองแต่ถูกโน้มน้าวเอาไว้ ในที่สุดวันที่ 5 มกราคมปี 1973 โจ ไบเดน ก็ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ส.ว. อย่างเป็นทางการ 

 

ในปี 1975 โจ ไบเดน พบรักครั้งใหม่กับ จิลล์ เทรซี เจคอบส์ ผู้มีอาชีพเป็นครู พวกเขาแต่งงานกันในโบสถ์แห่งหนึ่งที่เมืองนิวยอร์กในอีก 2 ปีให้หลัง และมีลูกสาวด้วยกันอีกหนึ่งคนชื่อว่า แอชลีย์

 

 

 

 

โจ ไบเดน ทำหน้าที่ ส.ว. แห่งรัฐเดลาแวร์ยาวนานถึง 36 ปี ระหว่างนี้เขาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในกรรมาธิการหลายชุด ทั้งกรรมาธิการยุติธรรม ซึ่งเขามีผลงานสำคัญ อาทิ การมีส่วนผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมฉบับปี 1994 ซึ่งมีเนื้อหาเช่นการเพิ่มจำนวนตำรวจ เพิ่มงบประมาณแก่เรือนจำและเพิ่มโทษจำคุก หรือการผลักดันกฎหมายป้องกันความรุนแรงต่อสตรี เป็นต้น นอกจากนี้เขายังดำรงตำแหน่งสำคัญในกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ เป็นเวลานานกว่าทศวรรษ มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายการต่างประเทศ ทั้งประเด็นการก่อการร้าย อาวุธทำลายล้างสูง ยุโรปหลังสงครามเย็น ภูมิภาคตะวันออกกลาง และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

Joe Biden

 

ไบเดนตัดสินใจลงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 1988 แต่ต่อมาก็ต้องถอนตัวจากกรณีการนำบางประโยคที่นักการเมืองอังกฤษเคยปราศรัยมาใช้ในคำปราศรัยของตัวเขาเอง โดยไม่ได้อ้างอิงกลับไปยังต้นฉบับ เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้น ปัญหาการอ้างอิงผลงานทางวิชาการระหว่างที่เขาศึกษาวิชากฎหมายปีแรกที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ก็ถูกเปิดเผยขึ้นมาอีกครั้งด้วย รวมถึงการกล่าวถึงประวัติทางการศึกษาของตัวเขาเองที่เกินจริง คำแถลงส่วนหนึ่งที่เขาประกาศถอนตัวจากการลงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคระบุว่า “ข้อผิดพลาดของเขาได้เริ่มบดบังแก่นแท้ของการลงสมัครและแก่นแท้ของตัวเขาเองแล้ว” อย่างไรก็ตาม เขายังยืนยันว่ายังมีการต่อสู้อื่นในอนาคตที่เขาจะสามารถกลับมาลงสนามได้อีก

 

และในที่สุดเขาก็กลับมาจริงๆ ในสนามเลือกตั้งปี 2008 เขามีคู่แข่งสำคัญในการชิงตำแหน่งตัวแทนพรรค เช่น ฮิลลารี คลินตัน, บารัก โอบามา และจอห์น เอ็ดเวิร์ดส์ หนึ่งในนโยบายสำคัญของไบเดนในครั้งนั้นคือแผนที่จะถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักอย่างเป็นขั้นตอน และมีการฝึกฝนชาวอิรักเกี่ยวกับการป้องกันตนเอง รวมถึงการใช้ระบบสหพันธรัฐในอิรัก ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแนวคิดจากที่เขาเคยโหวตสนับสนุนการใช้กำลังทหารบุกอิรักเมื่อปี 2002 อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งขั้นต้นแบบคอคัสในรัฐไอโอวาเมื่อต้นปี 2008 ซึ่งเขาได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 5 ทำให้เขาตัดสินใจยุติเส้นทางการชิงตำแหน่งตัวแทนพรรค กระทั่งในเวลาต่อมา บารัก โอบามา ตัดสินใจเลือกไบเดนให้เป็นรองประธานาธิบดีหากเขาชนะการเลือกตั้ง 

 

แม้ว่าจากนั้นจะมีสื่อมวลชนขุดคุ้ยเรื่องราวในแง่ลบที่เกี่ยวกับโจ ไบเดน และสมาชิกในครอบครัวในกรณีต่างๆ และวาทะต่างๆ ของไบเดนก็ถูกตรวจสอบโดยสื่อ แต่จากการศึกษาโดยสำนักวิจัยช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2008 ราว 2 เดือนก็พบว่าแคมเปญหาเสียงของไบเดนไม่ได้ครองพื้นที่สื่อมากเท่าใดนัก และท้ายสุดแล้ว บารัก โอบามา ก็เป็นฝ่ายได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ส่งให้โจ ไบเดน ได้ตำแหน่งรองประธานาธิบดีไปครอง

 

4 ปีถัดมา ไบเดนยังคงลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีกับโอบามาในสมัยที่ 2 เมื่อปี 2012 แม้จะมีรายงานข่าวว่ามีความพยายามอย่างลับๆ โดยหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวของโอบามาที่จะทำโพลสำรวจความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนตัว ฮิลลารี คลินตัน มาแทนที่โจ ไบเดน ในทีมโอบามาในศึกเลือกตั้งสมัยที่ 2 แต่ทำเนียบขาวก็ออกมาปฏิเสธรายงานนี้พร้อมยืนยันว่าโอบามาไม่เคยพิจารณาแนวคิดนี้แต่อย่างใด ในที่สุด โอบามาเอาชนะมิตต์ รอมนีย์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และไบเดนก็ได้นั่งเก้าอี้รองประธานาธิบดีอีกสมัย

 

โจ ไบเดน ในฐานะรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องการมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาแก่โอบามา นอกจากเขาจะอยู่ร่วมในหลายการประชุมสำคัญกับโอบามา เขายังมีเวลาหารือกับโอบามาเป็นการส่วนตัวด้วย ไบเดนมีบทบาทสำคัญในการให้มุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอัฟกานิสถาน เช่น การส่งหรือถอนกองกำลังทหาร รวมถึงให้ความเห็นในกรณีปฏิบัติการสังหารบิน ลาดิน เมื่อปี 2011 เขายังมีบทบาทในด้านกฎหมาย เช่น การเจรจากับฝ่ายนิติบัญญัติ การกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงบประมาณ ไปจนถึงการทำสนธิสัญญาควบคุมการใช้อาวุธระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต รวมถึงมีบทบาทเกี่ยวกับนโยบายในเอเชียและอีกบางประเทศ เช่น ยูเครน นอกจากนี้เขายังได้รับมอบหมายจากโอบามาในการให้ความสำคัญกับประเด็นอิรักด้วย และด้วยบทบาทสำคัญเหล่านี้เอง ทำให้โอบามาถึงกับเคยเอ่ยปากในปี 2013 ว่า ไบเดนนั้น “อยู่เคียงข้างเขาเสมอในทุกการตัดสินใจที่ยากลำบาก”

 

ไบเดนตัดสินใจไม่ลงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 หลังการสูญเสียลูกชายคนโต โบ ไบเดน วัย 46 ปี จากโรคมะเร็งสมอง ก่อนจะให้การสนับสนุนฮิลลารี คลินตัน ให้เป็นตัวแทนพรรคในเวลาต่อมา

 

Joe Biden

 

เหลืออีกก้าวเดียวสู่ตำแหน่งสูงสุดในทำเนียบขาว

วันที่ 25 เมษายน ปี 2019 โจ ไบเดน ประกาศลงชิงชัยเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020 เขาได้ชัยชนะเหนือคู่แข่งในพรรค เช่น เบอร์นี แซนเดอร์ส, เอลิซาเบธ วอร์เรน หรือไมเคิล บลูมเบิร์ก และรับการเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการในที่ประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 เพื่อไปต่อสู้กับโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมี คามาลา แฮร์ริส ส.ว. จากรัฐแคลิฟอร์เนียเข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย 

 

ตัวอย่างนโยบายของไบเดนก็เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19, เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและพลังงานสะอาด, แก้ไขนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของทรัมป์ที่เขาระบุว่าเป็นอันตราย, ยกเลิกการห้ามชาวมุสลิมที่เคยถูกห้ามเดินทางเข้าประเทศ, ปกป้องกลุ่มดรีมเมอร์ ซึ่งเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายที่เข้ามาในสหรัฐฯ ในขณะเป็นเยาวชนและถูกคุ้มครองโดยโครงการที่ชื่อว่า DACA ของโอบามา, การป้องกันความรุนแรงที่เกิดจากอาวุธปืน, ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยขจัดความไม่เสมอภาคทางเชื้อชาติและประกันบทลงโทษที่เป็นธรรม, ปกป้องและพัฒนาแผนโอบามาแคร์ และกระชับความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรโดยเฉพาะ NATO เป็นต้น

 

ท่ามกลางศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ไบเดนเผชิญกับข้อกล่าวหาต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการประกาศตัวลงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรค ทั้งกรณีที่ผู้หญิงหลายคนออกมาระบุว่าไบเดนแตะเนื้อต้องตัวพวกเธออย่างไม่เหมาะสม ซึ่งไบเดนระบุว่าเขาต้องมีสติและเคารพในพื้นที่ส่วนตัวของผู้อื่นให้มากขึ้น ไปจนถึงเรื่องที่เขาถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศหนึ่งในทีมงานของเขาเมื่อปี 1993 ขณะดำรงตำแหน่ง ส.ว. ซึ่งไบเดนปฏิเสธว่าไม่เคยเกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ทรัมป์ไปกดดันผู้นำยูเครนให้สอบสวนไบเดน โดยอ้างว่าไบเดนกดดันยูเครนขณะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เพื่อให้ยูเครนปลดอัยการสูงสุดที่สอบสวนบริษัทพลังงานแห่งหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับลูกชายของไบเดน ที่ต่อมาก็ทำให้ทรัมป์ถูกยื่นถอดถอนเองด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม ผลโพลหลายสำนักชี้ว่าไบเดนมีคะแนนนิยมเหนือทรัมป์ระหว่างการหาเสียงมาอย่างต่อเนื่อง คำถามที่คงต้องรอดูคำตอบในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ก็คือ ผลการเลือกตั้งจะหักปากกาโพลหรือไม่

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising