จากงานแถลงดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน FETCO Investor Confidence Index ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้กล่าวถึงวิกฤตแบงก์ล้มในสหรัฐฯ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับความเสียหายจาก Perfect Storm ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2022 และวิกฤตดังกล่าวอาจยังไม่จบลง
กอบศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่ช่วงที่ 3 หรือครึ่งทางของ Perfect Storm หรือพายุลูกใหญ่ที่กำลังโหมกระหน่ำใส่เศรษฐกิจโลกระหว่างปี 2022-2025 โดยช่วงแรกในปี 2022 เป็นช่วงที่นักลงทุนเร่งขายสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศว่ายุคดอกเบี้ยต่ำได้จบลงแล้วและจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดสถิติ 10 อันดับการล้มละลายครั้งใหญ่ของแบงก์ในสหรัฐฯ
- แม้รอดพ้นผลกระทบวิกฤตแบงก์ล่มได้ แต่ธนาคารในอาเซียนกำลังเผชิญความเสี่ยงด้านสินเชื่อ และปัญหารายได้จากดอกเบี้ยที่ลดลงแทน
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยันไทยไม่ซ้ำรอย ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ แม้บาทอ่อน เหตุทุนสำรองสูง-เงินทุนไหลเข้าสุทธิ
หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงที่ 2 ที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อสู้กับเงินเฟ้อจนเงินเฟ้อเริ่มลดลง ก่อนที่ Fed จะส่งสัญญาณอีกครั้งว่าการขึ้นดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดที่ตั้งใจไว้หรืออาจจะถึงจุดนั้นแล้ว
ส่วนช่วงที่ 3 ซึ่งจะเป็นช่วงที่เราจะเห็นว่าผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยจะนำไปสู่อะไรบ้าง อย่างภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง รวมถึงปัญหาในภาคธนาคาร โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรปที่ได้รับความเสียหายจากการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ซึ่งหลายแบงก์ที่มีอายุยาวนานต้องจบลงในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หลังจากนี้เราน่าจะเริ่มเห็นเงินเฟ้อลดลงสู่ระดับ 2% อีกครั้ง แต่ก่อนที่เราจะผ่านช่วงนี้ไปอาจจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี
และช่วงสุดท้ายคือช่วงที่ 4 เป็นช่วงที่ Fed จะกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงอย่างน้อยคือกลางปีหน้า
กอบศักดิ์กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ขนาดของแบงก์ในสหรัฐฯ ที่ล้มลงในรอบนี้ทั้ง First Republic, Silicon Valley Bank และ Signature Bank ถือเป็นแบงก์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2-4 ที่ล้มลงในสหรัฐฯ นับแต่ปี 2000 เป็นรองเพียงแค่ Washington Mutual ที่เป็นแบงก์ใหญ่ที่ล้มลงในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008
“ผมคิดว่าปัญหาเรื่องแบงก์ในสหรัฐฯ ยังไม่จบง่าย แบงก์เหล่านี้เหมือนเรือเดินสมุทรขนาดกลาง หากล่มลงไปได้มันสะท้อนว่าต้องมีคลื่นที่แรงพอสมควร และคลื่นดังกล่าวยังอยู่เพราะฉะนั้นก็อาจจะเห็นแบงก์อื่นๆ ล้มตามมาได้อีก เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งตายใจและต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า โดยอาจจะติดตามจากดัชนีที่ชื่อว่า KRX”
สำหรับ 3 แบงก์สหรัฐฯ ที่ล้มลงล่าสุด ถือเป็นธนาคารอันดับ 14, 16 และ 29 จากธนาคารนับ 4,000 แห่งในสหรัฐฯ ซึ่งแบงก์เหล่านี้เป็นแบงก์ท้องถิ่น (Regional Bank) ที่เน้นปล่อยกู้ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางในท้องถิ่น เช่น ศูนย์การค้า, อาคารพาณิชย์, คอนโดมิเนียม, บ้านจัดสรร
“ปัจจุบันภาคอสังหาของสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงขาลง เราเริ่มเห็นราคาบ้านเริ่มปรับตัวลดลง หลังจากที่เพิ่มขึ้น 50% ภายในเวลาแค่ 2 ปี นับแต่ปี 2019 และถ้าราคาลดลงมาก ทำให้คนที่ซื้อบ้านและแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อต้องเสียหาย ทำให้แบงก์เหล่านี้จะถูกกดดันในช่วงครึ่งปีหลังจากการปรับตัวของภาคอสังหา”
สถานการณ์ของวิกฤตอสังหาในสหรัฐฯ จะเริ่มถูกกล่าวถึงมากขึ้น หลังจากยอดขายบ้านที่เฉลี่ย 1 ล้านหลัง ลดลงมาอยู่ที่ราว 6 แสนหลัง ขณะที่บ้านมือสองที่เคยขายปีละ 6.5 ล้านหลัง ลดลงมาเหลือประมาณ 4 ล้านหลัง ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงต่ำสุดของวิกฤตซับไพรม์
ขณะที่ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านอายุ 30 ปี จากเคยต่ำ 3% ช่วงโควิด พุ่งไปที่ 6.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี
นอกจากนี้ เรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เราอาจเห็น Fed คงดอกเบี้ยไว้ในระดับนี้ต่อไปอีก 1 ปี คล้ายกับในอดีตอย่างปี 2007 ที่คงดอกเบี้ยไว้ 15 เดือน หรือช่วงปี 1999-2000 ที่คงดอกเบี้ยไว้ 7 เดือน จนกว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณของเงินเฟ้อที่ลดลงมากกว่านี้ และเศรษฐกิจที่เริ่มอ่อนแอ
อย่างไรก็ดี ปีนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุน ณ จุดใดจุดหนึ่ง เพราะตลาดหุ้นมักจะผ่านจุดต่ำสุดก่อนเศรษฐกิจเสมอ สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะพอไปได้ GDP น่าจะเติบโตราว 3% โดยประมาณ หนุนจากภาคท่องเที่ยว ซึ่งในส่วนนี้อยากเสนอให้รัฐบาลปลดล็อกค่าวีซ่าและปรับเกณฑ์ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้
อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือเรื่องของการเลือกตั้ง ซึ่งตลาดหุ้นมักจะชอบความแน่นอนหลังการเลือกตั้ง หากตั้งรัฐบาลไม่ได้ตลาดจะปั่นป่วน แต่ถ้าเลือกตั้งแล้วมั่นคง มีนโยบายชัดเจน ตลาดจะปรับตัวได้ดี
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.09 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.1% จากเดือนก่อนหน้า โดยยังอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ นักลงทุนมองว่าการเลือกตั้งในประเทศจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือความคาดหวังต่อการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รองลงมาคือสถานการณ์การเมืองในประเทศในช่วงเลือกตั้ง และสถานการณ์เงินเฟ้อ