×

สหราชอาณาจักรและ EU บรรลุข้อตกลงการค้าหลัง Brexit ฉบับประวัติศาสตร์ หลังเจรจาหลายเดือน

25.12.2020
  • LOADING...
สหราชอาณาจักรและ EU บรรลุข้อตกลงการค้าหลัง Brexit ฉบับประวัติศาสตร์ หลังเจรจาหลายเดือน

หลังจากเจรจากันมาหลายเดือน ในที่สุดสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (EU) ก็บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันได้สำเร็จเมื่อวานนี้ (24 ธันวาคม) หรือเพียง 1 สัปดาห์ก่อนถึงเส้นตายสิ้นสุดระยะเปลี่ยนผ่านหลัง Brexit ในวันที่ 31 ธันวาคม โดยเมื่อเวลา 22.00 น. ค่ำคืนที่ผ่านมาตามเวลาประเทศไทย อูร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเปิดแถลงข่าวจากกรุงบรัสเซลส์ โดยระบุว่าทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงระหว่างกัน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ยุติธรรมและสมดุล เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่าย

 

สำหรับรายละเอียดข้อตกลงนั้น เธอระบุว่าการแข่งขันทางการค้าจะเป็นไปอย่างยุติธรรม กฎเกณฑ์และมาตรฐานของสหภาพยุโรปจะได้รับการเคารพ รวมถึงมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองหากการแข่งขันที่เป็นธรรมนั้นถูกบิดเบือนไป

 

“พวกเราเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนาน” เลเยนระบุ พร้อมยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กันต่อไป

 

ในการแถลงข่าวดังกล่าวยังมี มิเชล บาร์เนียร์ หัวหน้าคณะเจรจาของสหภาพยุโรปร่วมแถลงด้วย โดยเขากล่าวยกย่องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ต่างมีบทบาทสำคัญในการเจรจาที่ผ่านมา ตั้งแต่คณะเจรจา ประชาชน นักการเมือง ไปจนถึงสื่อมวลชน

 

“วันนี้เป็นวันแห่งความโล่งใจที่ถูกแต่งแต้มไว้ด้วยความเศร้าบางอย่าง เมื่อเราเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้า กับสิ่งที่รออยู่ในอนาคต” บาร์เนียร์กล่าว

 

ระหว่างนั้นเอง ฝั่งสหราชอาณาจักรก็มีการเผยแพร่ภาพของบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กำลังรับฟังการแถลงข่าวของฝั่งสหภาพยุโรปผ่านจอโทรทัศน์ด้วยท่าทางสดใส นอกจากนี้ยังปรากฏภาพของจอห์นสันยิ้มและชูนิ้วโป้งขึ้นมา ซึ่งถูกโพสต์ใน Twitter ของจอห์นสันพร้อมข้อความว่า ‘The deal is done’ ด้วย และหลังจากฝั่งบรัสเซลส์แถลงข่าวเสร็จสิ้นไม่นานนัก ก็เป็นจอห์นสันที่เปิดแถลงข่าวจากฝั่งสหราชอาณาจักรต่อ

 

ระหว่างการแถลงข่าว จอห์นสันระบุว่าได้มีการบรรลุข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 6.6 แสนล้านปอนด์ เขายืนยันข้อดีของข้อตกลงดังกล่าว เช่น จะช่วยปกป้องตำแหน่งงานในสหราชอาณาจักร อนุญาตให้สินค้าของสหราชอาณาจักรวางขายในสหภาพยุโรปโดยไม่มีภาษีศุลกากรและการกำหนดโควตา เอื้อต่อการทำธุรกิจและการส่งออก ช่วยให้สหราชอาณาจักรกลับมาควบคุมกฎ ข้อบังคับ และโชคชะตาของตนเองได้อีกครั้ง 

 

นอกจากนี้ จอห์นสันยังชี้ว่านี่เป็นข้อตกลงที่ดีสำหรับทั้งยุโรป และยังกล่าวถึงการออกจากสหภาพศุลกากรและระบบตลาดเดียวในสหภาพยุโรป การสิ้นสุดของเขตอำนาจศาลยุติธรรมยุโรปในดินแดนสหราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 เป็นต้นไป และระยะเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมประมงเป็นเวลา 5 ปีครึ่งด้วย

 

“เราจะเป็นเพื่อนของคุณ เป็นพันธมิตรของคุณ เป็นผู้สนับสนุนของคุณ และที่ลืมไม่ได้อย่างแน่นอนก็คือ เป็นตลาดอันดับหนึ่งของคุณ” ผู้นำอังกฤษกล่าวในตอนท้ายของการแถลงข่าว

 

ปฏิกิริยาจากแคว้นต่างๆ ในสหราชอาณาจักรนั้นแตกต่างกันออกไป มาร์ค เดรกฟอร์ด นายกรัฐมนตรีของเวลส์ไม่ได้แสดงความพอใจต่อข้อตกลงนี้เท่าไรนัก พร้อมบอกว่าธุรกิจในเวลส์จะต้องพบกับกำแพงทางการค้าใหม่ๆ หลังจากวันที่ 31 ธันวาคมนี้ แต่เขาก็บอกว่าการมีข้อตกลงนี้ ‘ดีกว่าไม่มีข้อตกลงใดๆ เลย’ 

 

ส่วนอาร์ลีน ฟอสเตอร์ นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์เหนือบอกว่า ผู้บริหารของไอร์แลนด์เหนือจะตรวจสอบรายละเอียดของข้อตกลงการค้ารวมถึงประเด็นอื่นๆ เช่นเรื่องความมั่นคงต่อไป ขณะที่นิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ซึ่งไม่เห็นด้วยกับ Brexit ระบุผ่าน Twitter ว่าไม่มีข้อตกลงใดที่จะชดเชยกับสิ่งที่ Brexit ได้พรากไปจากสกอตแลนด์ได้ และยังย้ำว่านี่เป็นเวลาที่สกอตแลนด์จะต้องกำหนดอนาคตของตนเองในฐานะชาติยุโรปที่เป็นอิสระ

 

และความเคลื่อนไหวฝั่งพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเลเบอร์นั้น เซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรค ระบุว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ให้ความคุ้มครองอย่างเพียงพอในเรื่องตำแหน่งงาน การผลิต การบริการทางการเงิน และสิทธิในสถานที่ทำงาน และไม่ใช่ข้อตกลงที่รัฐบาลสัญญาเอาไว้ แต่เขาระบุว่าจะโหวตรับข้อตกลงนี้ เนื่องจากไม่มีเวลาในการเจรจาข้อตกลงใหม่อีกแล้ว และการไม่มีข้อตกลงจะส่งผลอย่างร้ายแรงต่อประเทศ ซึ่งพรรคเลเบอร์ไม่อาจปล่อยให้เกิดขึ้นได้

 

สำหรับขั้นตอนนับจากนี้ในฝั่งสหราชอาณาจักร จอห์นสันยังแสดงความหวังว่าจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติให้สัตยาบันข้อตกลงนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม ส่วนกระบวนการในฝั่งสหภาพยุโรปนั้น ข้อตกลงจะต้องได้รับการอนุมัติจากทั้งผู้นำ 27 ชาติสมาชิกและจากสภายุโรป แต่การลงมติฝั่งสภายุโรปอาจจะเกิดขึ้นหลังเข้าปีใหม่ 2021 ไปแล้ว

 

ทั้งนี้ชาวสหราชอาณาจักรลงคะแนนเสียงประชามติเมื่อเดือนมิถุนายน 2016 เพื่อกำหนดอนาคตของสหราชอาณาจักรว่าจะอยู่ต่อหรือจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และผลคือคะแนนเสียงร้อยละ 52 โหวตให้ถอนตัว และเมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 มกราคม 2020 ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรสิ้นสุดสมาชิกภาพในสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ตามมาด้วยระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมนี้

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising