×

แนะนำทีมในแต่ละกลุ่มของศึกฟุตบอลยูโร 2020

โดย THE STANDARD TEAM
09.06.2021
  • LOADING...
UEFA EURO 2020

เพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนลุยศึกฟุตบอลยูโร 2020 ที่จะเริ่มขึ้นในวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายนนี้ (แม้ยังไม่มีใครใจดีถ่ายทอดสดให้ดูก็ตาม) THE STANDARD แนะนำทีมที่เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 24 ทีม ให้ทุกคนได้รู้จักกันพอสังเขปสักหน่อย จะได้เอาไว้คุยกับเพื่อนได้

 

มีทีมอะไรกันบ้างนั้น มาดูกันเลย!

 

 

กลุ่ม A

 

อิตาลี

โค้ช: โรแบร์โต มันชินี

FIFA Ranking: 7

 

  • หลังตกต่ำในหลายปี ถึงขั้นพลาดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2018 โรแบร์โต มันชินี เข้ามากอบกู้ทีมจนสามารถกลับมาเล่นรอบสุดท้ายยูโร 2020 ได้สำเร็จ
  • เล่นในสไตล์สมดุล ไม่รุกแหลก และไม่รับลึก 
  • 30 นัดหลังสุด อิตาลีชนะ 21 นัด ค่าเฉลี่ยชัยชนะ (Win Ratio) ภายใต้การนำของมันชินีสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของทีมชาติ (70%)
  • ไม่มีซูเปอร์สตาร์แบบ ‘พระเอก’ แต่มีแกนหลักทั้งดาวรุ่งและตัวเก๋า เช่น เฟเดริโก เคียซา, จานลุยจิ ดอนนารุมมา, ลอเรนโซ อินซิเญ, ชิโร อิมโมบิเล
  • แต่ ‘หัวใจ’ ของทีมจริงๆ คือ มาร์โก แวร์รัตติ และ จอร์จินโญ ในแดนกลาง
  • ปกติแล้วนักเตะอิตาลีจะเป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลสาวๆ เป็นพิเศษ สำหรับฟุตบอลโลกครั้งนี้อาจจะเป็น ลอเรนโซ เปเยกรินี หนุ่มเมืองโรม ก็ได้…

 

สวิตเซอร์แลนด์

โค้ช: วลาดิเมียร์ เพตโควิช

FIFA Ranking: 13

 

  • นี่เป็นรายการระดับเมเจอร์ที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่ วลาดิเมียร์ เพตโควิช พาทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ผ่านเข้ารอบสุดท้ายต่อจากฟุตบอลยูโร 2016 และฟุตบอลโลก 2018 
  • สวิตเซอร์แลนด์ทำผลงานได้น่าประทับใจทั้งสองรายการดังกล่าว โดยผ่านเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ แม้ว่าจะไม่ได้ไปไกลกว่านั้นก็ตาม
  • จุดแข็งอยู่ที่ทีมชุดนี้เล่นด้วยกันมาอย่างยาวนาน มีเกมรับที่แข็งแกร่ง และมีผู้เล่นที่มีประสบการณ์อย่าง กรานิต ชากา, เชร์ดาน ชาคิรี และ ฟาเบียง แชร์
  • อีกคนที่น่าจับตามองคือ ฮาริส เซเฟโรวิช ศูนย์หน้าที่ร้อนแรงในลีกโปรตุเกส โดยทำไป 22 ประตู จากการลงสนาม 31 นัด ให้กับเบนฟิกา
  • ปัญหาใหญ่ของเพตโควิชคือหัวใจในเกมรับอย่างแชร์เจ็บหนักและเพิ่งหายกลับมา ขณะที่ชาคิรีคนที่มี ‘X Factor’ ก็แทบไม่ได้ลงสนามให้ต้นสังกัดอย่างลิเวอร์พูล
  • สมญานามจริงๆ ของทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์คือ ‘Rossocrociati’ หรือ Red Cross ตามธงชาตินั่นเอง

 

ตุรกี

โค้ช: เซนอล กูเนส

FIFA Ranking: 29

 

  • ว่ากันว่านี่คือทีมชาติตุรกีที่ดีที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี หรือนับตั้งแต่คว้าอันดับ 3 ในศึกฟุตบอลโลก 2002
  • ความมหัศจรรย์คือ ตุรกีคืนชีพได้อีกครั้งจากยอดโค้ชคนเดิม เซนอล กูเนส ที่กลับมาในปี 2019 และสามารถกอบกู้ตุรกีที่ตกต่ำอย่างหนักในช่วงหลายปีหลังอีกครั้งได้สำเร็จ
  • ในรอบคัดเลือกพวกเขาคว้ารองแชมป์กลุ่ม โดยเป็นรองเพียงแค่แชมป์โลกอย่างฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ ‘ไก่งวง’ ก็เก็บแต้มจาก ‘ตราไก่’ ได้ถึง 4 คะแนนด้วยกัน เรียกว่าไม่ธรรมดา
  • จุดเด่นของทีมชาติตุรกีชุดนี้คือเกมรับที่นำมาโดย ชากลาร์ โซยุนชู กองหลังจอมแกร่ง (ที่เห็นทีไรก็นึกว่ามาจากเผ่าเอลฟ์) และ เมรีห์ เดมิราล จากยูเวนตุส โดยในรอบคัดเลือกเสียไปแค่ 3 ประตู เก็บคลีนชีตได้ถึง 8 นัด
  • เกมรุกยังมี บูรัค ยิลมาซ เสือเฒ่าที่ร้อนแรงพาลีลล์คว้าแชมป์ลีกเอิงในฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันเขาคือฮีโร่ของทีมและของคนทั้งชาติด้วย
  • ความลับที่แฟนบอลทั่วไปส่วนใหญ่อาจไม่เคยรู้คือ ก่อนจะมาเป็นโค้ชฟุตบอล กูเนสเคยเป็นครูสอนหนังสือที่หมู่บ้านเล็กๆ บนยอดเขาในเมืองแทร็บซอน ทางชายฝั่งตะวันออกของทะเลดำมาก่อน!

 

เวลส์ 

โค้ช: โรเบิร์ต เพจ

FIFA Ranking: 17

 

  • 5 ปีก่อน ทีม ‘มังกรแดง’ สร้างตำนานยิ่งใหญ่ผ่านถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลยูโร 2016 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 58 ปีที่พวกเขาได้กลับมาแข่งขันในรายการระดับเมเจอร์
  • แต่เวลส์ชุดปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก และเป็นไปในทางที่ดี โดยผู้เล่นจาก 5 ปีก่อนเหลือในทีมชุดนี้เพียง 8 คนเท่านั้น
  • เวลส์มีดาวรุ่งดวงใหม่อย่าง แดเนียล เจมส์ ปีกจรวดจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, นีโก วิลเลียมส์ แบ็กขวา และ แฮร์รี วิลสัน ตัวริมเส้นจากลิเวอร์พูล โดยยังมีตัวประสบการณ์สูงอย่าง อารอน แรมซีย์ ประคองทีมอยู่
  • ความหวังสูงสุดอยู่ที่ แกเร็ธ เบล ซึ่งแม้จะเล่นตกลงไปจากเดิมมาก แต่ผลงานช่วงปลายฤดูกาลที่ผ่านมากับสเปอร์ส ยังแสดงให้เห็นว่าเขายังสามารถไว้ลายได้อยู่ ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าจบรายการนี้อาจจะแขวนสตั๊ด
  • ปัญหาใหญ่ไม่ใช่ผู้เล่นแต่เป็นโค้ช เมื่อ ไรอัน กิกส์ โค้ชตัวจริง กลายเป็นผู้ต้องหาคดีทำร้ายร่างกายผู้หญิง ทำให้ โรเบิร์ต เพจ ผู้ช่วย ต้องรับหน้าที่แทน ซึ่งแม้ว่าจะคุมทีมแทนมาสักพัก และถือว่าสอบผ่าน แต่การคุมทีมในรายการใหญ่ต้องรอดูกัน
  • เพราะยูโรเลื่อนออกมา 1 ปี ทำให้ ‘อันเดรีย ปีร์โล แห่งเวลส์’ โจ อัลเลน ได้โอกาสเล่นในรายการนี้ด้วย หลังจากที่เกือบฝันร้ายเพราะเอ็นร้อยหวายฉีกขาดเมื่อปีกลาย แม้จะไม่ได้เป็นตัวหลักแล้วก็ตาม

 

 

กลุ่ม B

 

เบลเยียม

โค้ช: โรเบร์โต มาร์ติเนซ

FIFA Ranking: 1

 

  • ทุกคน… นี่คือทีมอันดับ 1 ของโลกในทำเนียบ FIFA Ranking!! 
  • หลังเริ่มสร้างชื่อในวงการฟุตบอลระดับโลกมาหลายปี ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายยูโร 2016 ต่อด้วยเข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก 2018 ดังนั้นเป้าหมายต่อไปของทีม ‘ปีศาจแดง’ เบลเยียม มีอย่างเดียวเท่านั้นคือ การคว้าแชมป์ในรายการระดับเมเจอร์อย่างยูโรให้ได้
  • ผลงานรอบคัดเลือกของเบลเยียมถือว่าสุดยอดเหมือนเดิม ชนะ 10 นัดรวด ยิงได้ 40 เสียแค่ 3 ประตู
  • ขุนพลชุดนี้คือ Super Golden Generation ที่เบลเยียมใช้ความพยายามหย่อนเมล็ด รดน้ำ ฟูมฟัก เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ 
  • 3 ทหารเสือฮีโร่ของทีมอย่าง โรเมลู ลูกากู, เควิน เดอ บรอยน์ และ เอเดน อาซาร์ อยู่ในวัยถึงจุดพีกของชีวิตการเล่นแล้ว 
  • จุดอ่อนอยู่ที่เกมรับ 3 กองหลัง โธมัส แฟร์มาเลน, แยน แฟร์ตองเกน และ โทบี อัลเดอร์ไวเรลด์ เริ่มโรยราลงมาก
  • เบลเยียมเป็นทีมที่ส่งรายชื่อผู้เล่นตำแหน่งกองหน้ามากที่สุดในยูโรครั้งนี้ โดยมีถึง 10 คนด้วยกัน! แต่หลายๆ คนสามารถเล่นได้หลากหลายตำแหน่ง เช่น ยานนิค คาร์ราสโก หรือ ธอร์เกน อาซาร์

 

เดนมาร์ก

โค้ช: แคสเปอร์ ยูลมันด์

FIFA Ranking: 10

 

  • เดนมาร์กเป็นหนึ่งในทีมจากสแกนดิเนเวียที่ผ่านเข้ามาถึงรอบสุดท้าย และอยู่ในช่วงที่ทีมกำลังลงตัวดี
  • ดาวเด่นของทีมที่ทุกคนรู้จักคือ คริสเตียน อีริกเซน เพลย์เมกเกอร์คนสำคัญ
  • แต่สิ่งที่แข็งแกร่งจริงๆ คือ เกมรับของแบ็กโฟร์ แดเนียล วาสส์, ไซมอน เคียร์, แอนเดรียส คริสเตียนเซน และ โจอาคิม แมห์เล โดยคนที่ทำหน้าที่เฝ้าเสาคือ แคสเปอร์ ชไมเคิล และมี ปิแอร์-เอมิล ฮอยเบิร์ก เป็นมิดฟิลด์กันชนด้วย
  • จุดอ่อนคือกองหน้าที่ไม่เก่งมากนัก แต่ มาร์ติน เบรธเวท ดาวยิงบาร์เซโลนา ก็ตั้งใจจะลบคำสบประมาทให้ได้
  • เมื่อ 29 ปีที่แล้ว พวกเขาสร้าง ‘เทพนิยายเดนส์’ ให้โลกตะลึงมาแล้วในฟุตบอลยูโร 1992 โดยผู้รักษาประตูชุดนั้นคือ ปีเตอร์ ชไมเคิล พ่อของแคสเปอร์!

 

ฟินแลนด์

โค้ช: มาร์กกุ คาแนร์วา

FIFA Ranking: 54

 

  • นี่คือฟุตบอลยูโรครั้งแรกของชาวฟินแลนด์!
  • มาร์กกุ คาแนร์วา โค้ชคนปัจจุบัน เข้ามากอบกู้ฟินแลนด์จากยุคมืดที่ลงสนาม 11 นัดไม่ชนะใครเลยในรอบปี 2016 โดยสามารถเปลี่ยนให้เป็นทีมใหม่ได้อย่างเหลือเชื่อ ค่อยๆ เก็บชัยชนะทีละนัด จนได้สิทธิ์ผ่านเข้ารอบสุดท้ายยูโร 2020 
  • แกนของทีมชุดนี้คือ ลูกทีมเก่าของคาแนร์วาที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ฟุตบอลยูโร รุ่นอายุต่ำกว่า 21 ปี เมื่อปี 2009
  • สำหรับนักเตะชุดนี้ พวกเขาไม่ได้เป็นแค่เพื่อนร่วมทีม แต่เป็น ‘มิตรสหาย’ จริงๆ ในชีวิต และทีมสปิริตก็คืออาวุธที่ทรงพลังที่สุดสำหรับฟินแลนด์
  • นักเตะฟินแลนด์ชุดนี้แทบไม่มีใครรู้จัก ยกเว้นดาวเด่นอย่าง ตีมู ปุกกี กองหน้าตัวความหวังสูงสุดของทีม
  • เพราะนี่คือฟุตบอลยูโรครั้งแรก และเพราะนี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเขาจะได้เล่นด้วยกัน ดังนั้นสำหรับฟินแลนด์แล้ว นี่คือการผจญภัยครั้งสุดท้ายที่จะสนุกไปด้วยกัน

 

รัสเซีย

โค้ช: สตานิสลาฟ เชอร์เชซอฟ

FIFA Ranking: 38

 

  • เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 ไปได้ไกลแค่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเท่านั้น ก่อนจะมีการสร้างทีมชุดใหม่ขึ้นมา โดยตัวเก๋าอย่าง อิกอร์ อคินเฟเยฟ, เซอร์เก อิกนาเชวิช และ อเล็กซานเดอร์ ซาเมดอฟ อำลาทีมไป
  • จุดแข็งของทีม ‘หมีขาว’ ชุดนี้อยู่ที่แดนกลางที่มีนักเตะสไตล์ Box-to-Box และเพลย์เมกเกอร์เต็มไปหมด 
  • อีกจุดคือความยืดหยุ่นในแผนการเล่น ซึ่งเชอร์เชซอฟเคยจัดทีมเล่นในระบบ 4-2-3-1, 4-4-1-1, 3-5-1-1, 4-3-1-2 และ 3-4-2-1 มาแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเจอใคร
  • ปัญหาคือเกมรับที่เปราะบาง อ่อนประสบการณ์ และขาดตัวริมเส้นที่จัดจ้าน
  • ดาวเด่นของทีมชุดนี้คือ อาร์เต็ม ซูบา ศูนย์หน้าจอมเก๋าที่เคยเป็นข่าวอื้อฉาวเพราะมี ‘คลิปหลุด’ แต่สุดท้ายก็กอบกู้ชื่อเสียงได้ด้วยผลงานในสนาม
  • แฟนๆ รัสเซียครึ่งประเทศคลั่งไคล้ในตัวซูบามาก ถึงขั้นมีติ่งที่เรียกว่า (Dzyubamania) แต่อีกครึ่งหนึ่งก็เกลียดเขา

 

 

กลุ่ม C

 

ออสเตรีย

โค้ช: ฟรังโก โฟดา

FIFA Ranking: 23

 

  • นี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ออสเตรียได้เล่นในฟุตบอลยูโร แต่จะให้นับจริงๆ ก็ผ่านเข้ารอบมาแค่ครั้งที่ 2 (เพราะปี 2008 พวกเขาเป็นเจ้าภาพร่วม จึงไม่นับ)
  • ถึงจะไม่ได้เป็นตัวเก็งเต็งจ๋าหรือทีมที่น่าจับตามองอะไร แต่ทีมของ ฟรังโก โฟดา ผ่านเข้ารอบมาได้ในครั้งนี้อย่างน่าชื่นชม ด้วยขุนพลที่ว่ากันว่าแค่นี้ก็ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติแล้ว
  • ออสเตรียชุดนี้เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างดาวรุ่งกับนักเตะประสบการณ์สูง มีแกนหลักอยู่ครบทั้ง 3 แดน ไม่ว่าจะเป็นกัปตันทีม ดาวิด อลาบา, มาร์แซล ซาบิตเซอร์ มิดฟิลด์จอมฟิต และตัวรุกสุดเก๋าอย่าง มาร์โก อาร์เนาโตวิช
  • อย่างไรก็ดี ด้วยสไตล์การเล่นน่าอึดอัด ทำให้แฟนบอลออสเตรียไม่ค่อยชื่นชอบทีมของโฟดาสักเท่าไร
  • ในอดีตออสเตรียเคยมียอดนักเตะระดับโลกเจ้าของสมญา ‘โมสาร์ตลูกหนัง’ อันเดรียส แฮร์โซก แต่มันก็นานมาแล้ว

 

เนเธอร์แลนด์

โค้ช: แฟรงก์ เดอ บัวร์

FIFA Ranking: 16

 

  • ‘Oranje’ เป็นทีมขวัญใจมหาชนเสมอไม่ว่าจะยุคสมัยไหน แต่พวกเขาต้องเจอกับช่วงตกต่ำที่สุด เมื่อไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่รัสเซียได้
  • ปัญหาของเนเธอร์แลนด์ในยุคหลังคือ การที่ไม่มีนักฟุตบอลระดับ ‘เพชร’ ขึ้นมาประดับทีมเหมือนในอดีตที่มีให้เลือกมากมาย โดยเฉพาะหลังไปถึงนัดชิงฟุตบอลโลก 2010 ทุกอย่างก็ตกต่ำลง
  • แต่ แฟรงก์ เดอ บัวร์ ซึ่งรับงานในช่วงต้นปี 2018 ค่อยๆ ประกอบร่างทีมขึ้นมาใหม่ได้ และก่อนหน้านี้ก็เคยได้รองแชมป์เนชันส์ลีก รายการใหม่ของยูฟ่าด้วย
  • ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์ยังไม่มีสุดยอดนักเตะในระดับเดียวกับ เดนนิส เบิร์กแคมป์, มาร์ก โอเวอร์มาร์ส หรือ เวสลีย์ สไนจ์เดอร์ ขึ้นมา แต่ก็ได้ แฟรงกี เดอ ยอง กับ มัตไตส์ เดอ ลิกต์ สองนักเตะจากอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม มาเป็นดาวเด่นของทีม โดยที่อาจจะรวม ดอนนี ฟาน เดอ บีค ด้วย
  • นอกนั้นคือรุ่นพี่อย่าง เมมฟิส เดปาย ที่กลับมายอดเยี่ยมอีกครั้ง, จอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม ห้องเครื่องในแดนกลาง 
  • ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ การเสีย เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ไป ทำให้แนวรับอ่อนแอลงมาก (แต่ฟาน ไดจ์ค ก็จะมาร่วมทัพด้วย แม้ไม่ได้ลงสนาม โดยอยู่ในฐานะกองเชียร์และที่ปรึกษาของทีม)
  • ของดีเมืองกังหันลมที่คาดว่าจะเป็นดาวดังคนต่อไปที่น่าจับตาคือ ดอนเยลล์ มาเลน สายสปีดจากทีมพีเอสวี
  • คำว่า ‘ฮอลแลนด์’ คือชื่อเล่นของทีม และเป็นชื่ออย่างไม่เป็นทางการของเนเธอร์แลนด์

 

มาซิโดเนียเหนือ

โค้ช: อิกอร์ อังเจลอฟสกี

FIFA Ranking: 62

 

  • น้องใหม่แท้ๆ อีกทีมสำหรับฟุตบอลยูโร นี่คือการประเดิมครั้งแรกของพวกเขา!
  • มาซิโดเนียเหนือชนะเยอรมนีมาได้ในรอบคัดเลือก! และแม้ว่าผลงานจะชนะ 4 เสมอ 2 จาก 10 นัด พวกเขาก็ได้สิทธิ์เพลย์ออฟ และเอาชนะจอร์เจียมาได้
  • นักฟุตบอลส่วนใหญ่เป็นนักเตะในระดับลีกรอง โดยคนที่พอจะเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ โกรัน ปานเดฟ หัวหอกสุดเก๋าวัย 37 ปี
  • ครั้งหนึ่งปานเดฟเคยพูดเอาไว้ว่า “พร้อมจะแลกทุกถ้วยรางวัลที่เคยได้ กับการได้เล่นฟุตบอลยูโรสักนัด” วันนี้ความฝันเป็นจริงแล้ว
  • แต่คนที่เป็นความหวัง (ใหม่) ของทีมจริงๆ คือ เอลจิฟ เอลมาส เจ้าของสมญา ‘เพชรแห่งมาซิโดเนีย’ (เพราะชื่อของเขาในภาษาตุรกีแปลว่าเพชร) 
  • เอลมาสได้รับการยกย่องว่าเป็นนักฟุตบอลที่มีพรสวรรค์สูงสุดนับในประวัติศาสตร์ชาติมาซิโดเนีย
  • อีกคนที่น่าจับตามองคือ เอซกาน อาลิโอสกี กองกลางซ้ายธรรมชาติจอมขยันที่เล่นเป็นแบ็กซ้ายให้ลีดส์ ยูไนเต็ด
  • เดิมมาซิโดเนียเหนือชื่อว่ามาซิโดเนีย เป็นชาติแยกตัวออกมาจากยูโกสลาเวียเดิม ซึ่งถึงจะชื่อเหนือ แต่ประเทศอยู่ทางยุโรปตอนใต้

 

ยูเครน

โค้ช: อังเดร เชฟเชนโก

FIFA Ranking: 24

 

  • ยูเครนอาจจะเป็นทีมเดียวในยูโรครั้งนี้ที่โค้ชดังกว่านักเตะ
  • โค้ชของพวกเขาคือ ‘เชวา’ อังเดร เชฟเชนโก สุดยอดศูนย์หน้าในตำนานชาวยูเครน เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ในปี 2004 ซึ่งหลังประกาศเลิกเล่นฟุตบอลในปี 2012 ก็ได้หันเหชีวิตไปเล่นการเมืองแทน
  • เชฟเชนโกหวนกลับมาวงการฟุตบอลอีกครั้งในปี 2016 โดยรับบทผู้ช่วยโค้ชทีมชาติ ก่อนจะรับตำแหน่งแทน มาไคโล โฟเมนโก ที่โดนปลดหลังทีมตกรอบแรกยูโรปีนั้นที่ฝรั่งเศส และค่อยๆ กอบกู้จนพาทีมได้ผ่านมาเล่นยูโร 2020
  • เป้าหมายของยูเครนในฟุตบอลยูโรหนนี้คือ การเข้ารอบน็อกเอาต์ให้ได้ (และคาดว่าเชฟเชนโกจะลาออกหลังจบรายการนี้)
  • หลังขาดแคลนนักเตะฝีเท้าดีมาสักพัก ปัจจุบันยูเครนเริ่มมีนักเตะสายเลือดใหม่ที่โดดเด่นอย่าง ทาราส สเตปาเนนโก, รุสลาน มาลินอฟสกี และคนที่เด่นที่สุดแบบหลายคนงงคือ โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก แบ็กซ้ายแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่เล่นเป็นกองกลางตัวรุกในทีมชาติ!

 

 

กลุ่ม D

 

โครเอเชีย

โค้ช: ซลัตโก ดาลิช

FIFA Ranking: 14

 

  • นี่คือรองแชมป์โลก 2018 เชียวนะ!
  • เพียงแต่ขุนพลชุดประวัติศาสตร์บางคนบอกลาทีมชาติหรือบอกลาวงการไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือ ลูกา โมดริช ยอดกัปตันทีมที่ยังรักษามาตรฐานการเล่นยอดเยี่ยมเอาไว้ได้เหมือนเดิม
  • ไล่ชื่อแล้วยังมีนักเตะชื่อชั้นดีอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็น เดยัน ลอฟเรน (เจ้าของประโยคอมตะ “ผมคือกองหลังที่เก่งที่สุดในโลก”), มาร์เซโล โบรโซวิช, ซิเม เวอร์ซาลโก, อิวาน เปริซิช
  • แต่ที่ดีจริงๆ คือกลุ่มสายเลือดใหม่อย่าง มาเตโอ โควาซิช, อันเต เรบิช, บรูโน เพตโควิช, นิโกลา วลาซิช และกองหลังที่น่าจะเป็นเสาหลักในอนาคตอย่าง ดูเช ชาเลตา-ชาร์
  • พวกเขายังมียอดกุนซือคนเดิมคือ ซลัตโก ดาลิช ที่รับหน้าที่มาตั้งแต่ปี 2017 แม้ว่าหลังๆ ชื่อเสียงจะเริ่มเป็นชื่อเสีย เพราะผลงานโครเอเชียไม่ค่อยดีก็ตาม
  • โครเอเชียแจ้งเกิดบนเวทีโลกในรายการยูโร 1996 ที่อังกฤษ และพวกเขาจะลงเล่นนัดแรกของยูโร 2020 ที่เวมบลีย์ในการเจอกับอังกฤษ!

 

เช็ก

โค้ช: ยาโรสลาฟ ซิลฮาวี

FIFA Ranking: 40

 

  • เช็กคือทีมที่เคยเต็มไปด้วยซูเปอร์สตาร์อย่าง แพทริก แบร์เกอร์, คาเรล โพบอร์สกี, วลาดิเมียร์ ซมิเซอร์, พาเวล เนดเวด, โทมัส โรซิคกี หรือ แยน โคลเลอร์ แต่มันก็ผ่านพ้นไปนานแล้ว 
  • ทีมของ ยาโรสลาฟ ซิลฮาวี ทีมนี้ไม่มีสตาร์แบบวันวาน แต่เขาว่าก็ยังเป็นทีมที่คบไม่ได้ อันตราย!
  • สไตล์บอลดุดัน เล่น Hi-Pressing เปิดบอลสาดโด่งทีเดียวถึงประตู ไม่ใช่ของที่จะล้อเล่นด้วยได้
  • ความหวังของทีมคือ โทมัส ซูเช็ก กองกลางจอมถล่มประตู ที่เป็นหนึ่งในมิดฟิลด์ที่ดีที่สุดของพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลที่ผ่านมา และช่วยพาเวสต์แฮมได้ไปเล่นยูโรปาลีกสำเร็จ
  • ในปี 1996 เช็กเคยสร้างปรากฏการณ์เข้าชิงฟุตบอลยูโรได้สำเร็จ ก่อนจะพ่ายต่อเยอรมนีที่คว้าแชมป์ด้วยกฎ ‘ประตูทอง’ เป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ในช่วงของการต่อเวลาพิเศษ
  • ใครจะลืมลูกชิปของโพบอร์สกีในเกมกับโปรตุเกสในปีนั้นได้?

 

อังกฤษ

โค้ช: แกเร็ธ เซาท์เกต 

FIFA Ranking: 4

 

  • ทีมขวัญใจมหาชนคนทั่วโลก เพราะความผูกพันต่อฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ลีกฟุตบอลอันดับหนึ่งตลอดกาล
  • นี่เป็นการนำทีมลงเล่นรายการใหญ่เป็นครั้งที่ 2 ของ แกเร็ธ เซาท์เกต และเป็นครั้งที่พวกเขาคิดว่าพร้อมเสียยิ่งกว่าฟุตบอลโลก 2018 ที่ผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศด้วยซ้ำไป
  • ‘สิงโตคำราม’ ชุดปัจจุบัน ได้รับการยกย่องว่าเข้าสู่ ‘ยุคทอง’​ อีกครั้ง หลังผลิตนักเตะฝีเท้าดีรุ่นใหม่มากมาย ไล่ตั้งแต่ เบน ชิลเวลล์, รีซ เจมส์, จูด เบลลิงแฮม, ดีแคลน ไรซ์, เมสัน เมาท์, บูกาโย ซากา, จาดอน ซานโช, มาร์คัส แรชฟอร์ด และ ฟิล โฟเดน
  • พวกเขายังมีศูนย์หน้ากัปตันทีมที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลกอย่าง แฮร์รี เคน และนักเตะที่มีพรสวรรค์สูงสุดของประเทศนับตั้งแต่สิ้นยุค พอล แกสคอยน์ อย่าง แจ็ค กรีลิช ที่มีโอกาสจะโดดเด่นในยูโรหนนี้
  • ในกลุ่มดาวเด่นของอังกฤษส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงของฟอร์มการเล่นที่น่าประทับใจในฤดูกาลที่ผ่านมา ทำให้เซาท์เกตเองก็มีปัญหาในการจัดทีมเหมือนกัน (ก่อนนี้ก็เลือกแบ็กขวามา 4 คนก่อน เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ จะเจ็บแบบโชคร้าย)
  • จุดอ่อนของอังกฤษคือเรื่อง ‘ใจ’ ที่มักจะฝ่อและไม่สู้ในเกมใหญ่ ซึ่งไม่ใช่ใจของนักเตะนะ แต่เป็นใจของโค้ชอย่างเซาท์เกตนี่แหละ
  • ผลงานในยูโรที่ดีที่สุดของอังกฤษคือ การเข้ารอบรองชนะเลิศในปี 1996 ในบ้านเกิดของตัวเอง

 

สกอตแลนด์

โค้ช: สตีฟ คลาร์ก

FIFA Ranking: 44

 

  • สกอตแลนด์ห่างหายจากการลงเล่นฟุตบอลระดับทัวร์นาเมนต์ใหญ่มาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศส การกลับมาครั้งนี้ของพวกเขาจึงเป็นวันที่เหล่า ‘Tartan Army’ รอคอย
  • สไตล์การเล่นแบบดั้งเดิมของพวกเขาคือ สไตล์แบบโบราณ สาดโด่งไปลุ้นเอาข้างหน้า
  • แต่วันนี้ทีม ‘วิสกี้’ มีดีกว่านั้นเยอะ ถึงทีมจะไม่ได้เต็มไปด้วยเหล่าซูเปอร์สตาร์เหมือนอังกฤษ แต่นักเตะสายเลือดใหม่ของสกอตแลนด์ก็มีความโดดเด่นหลายคน เช่น เช อดัมส์, สจวร์ต อาร์มสตรอง, จอห์น เฟล็ก, คีแรน เทียร์นี, บิลลี กิลมัวร์ และทีเด็ดคือ จอห์น แมคกิน (ซ้ายผ่านตลอดของแอสตัน วิลลา) ซึ่งชื่อเหล่านี้คุ้นกันอย่างดีในฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
  • ผู้นำของทีมยิ่งแล้วใหญ่ แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน คือแบ็กซ้ายที่ก้าวจากคนตกงานมาเป็นนักเตะระดับโลกของจริง ความเป็นผู้นำของร็อบโบคือแหล่งพลังงานสำคัญของทีมชุดนี้ที่นำมาโดย สตีฟ คลาร์ก
  • พูดถึงแมคกิน สมญานามของเขาคือ ‘Meatball’ เพราะสมัยเป็นนักเตะดาวรุ่ง แม่ชอบตัดผมให้ และตัดออกมาทีไรหัวก็เหมือนมีตบอลทุกที!

 

 

กลุ่ม E

 

โปแลนด์

โค้ช: เปาโล ซูซา

FIFA Ranking: 21

 

  • นี่คือทีมของนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในโลกเวลานี้ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี
  • โปแลนด์ผ่านเข้ารอบสุดท้ายยูโรหนนี้ได้อย่างง่ายดาย เพียงแต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตำแหน่งโค้ชเมื่อ เยอร์ซี เบอร์เซคเช็ก ถูกปลดออก ให้ เปาโล ซูซา โค้ชชาวโปรตุเกส คุมทัพแทน (เฉยเลย)
  • ที่แย่คือผลงานของโปแลนด์ภายใต้การนำของซูซาก็ไม่ใช่ว่าจะดี
  • นอกจากเลวานดอฟสกีที่อันตรายทุกฝีก้าวแล้ว อีกหนึ่งสตาร์ที่มีโอกาสแจ้งเกิดเต็มๆ ในรายการนี้คือ ปีโอเตอร์ ซีลินสกี จอมทัพในแดนกลาง และ อาร์คาดิอุส มิลิก ศูนย์หน้าอนาคตไกล
  • ในบรรดานักฟุตบอล 26 คนของโปแลนด์ในยูโร 2020 มีนักฟุตบอลที่นามสกุลลงท้ายด้วย ‘สกี’ มากถึง 10 คน!

 

สโลวะเกีย

โค้ช: สเตฟาน ทาร์โควิช

FIFA Ranking: 36

 

  • สโลวะเกียผ่านเข้ายูโรรอบสุดท้ายมาได้ด้วยการเอาชนะไอร์แลนด์เหนือในรอบเพลย์ออฟ ซึ่งเป็นการผ่านเข้ารอบครั้งที่ 2 เท่านั้น หลังจากที่ผ่านเข้ารอบมาในครั้งที่แล้วที่ฝรั่งเศสในปี 2016
  • ปัญหาของสโลวะเกียก็เหมือนชาติเล็กๆ อื่นๆ ที่เมื่อทีมประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว จะขาดช่วงนักเตะสายเลือดใหม่ที่ขึ้นมาทดแทน ทำให้วันนี้คนที่ยังต้องแบกทีมอยู่คือ มาเร็ค ฮัมซิค มิดฟิลด์กัปตันทีมวัย 33 ปี
  • พูดง่ายๆ คือทีมของ สเตฟาน ทาร์โควิช จะเล่นออกหรือไม่อยู่ที่ว่าฮัมซิคฟิตหรือไม่ ซึ่งปัญหาคือเขาเจ็บบ่อย!
  • ถ้าฮัมซิคเล่นไม่ออก ก็อยู่ที่กองหน้าอนาคตไกลอย่าง โรเบิร์ต บอซนิช ดาวยิงวัย 21 ปีที่มีฮีโร่หลายคนทั้ง แฮร์รี เคน, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี, เซร์คิโอ อเกวโร และ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช
  • อีกคนที่หากได้ลงสนามก็อยากให้จับตาคือ โทมัส ซุสลอฟ นี่คืออนาคตของชาติอย่างแท้จริง
  • ทีมชาติสโลวะเกียเพิ่งเริ่มก่อตั้งในปี 1994 หลังแยกตัวจากเช็ก ซึ่งสมญานามของทีมเดิมคือ Repre ที่มาจากคำว่า Reprezentacia หรือทีมชาติ แต่ก็มีการเปลี่ยนชื่อใหม่ในปี 2016 ก่อนฟุตบอลยูโร โดยใช้สมญานามว่า Slovenski Sokoli หรือเหยี่ยวแห่งสโลวัก

 

สเปน

โค้ช: หลุยส์ เอ็นริเก

FIFA Rank: 6

 

  • หนึ่งในทีมเต็งตลอดกาล แต่ต้องยอมรับก่อนว่ายุคทองของทีม ‘กระทิงดุ’ มันผ่านไปนานแล้ว
  • สเปนอยู่ระหว่างการก่อร่างสร้างตัวใหม่ ซึ่งปัญหาก็เหมือนหลายๆ ชาติ คือ ไม่มีสายเลือดใหม่ที่โดดเด่นและเก่งเท่าอดีต โดยหลังสิ้นยุคของ อันเดรส อิเนียสตา, ชาบี เอร์นานเดซ, ดาบิด บียา, เฟอร์นานโด ตอร์เรส, ชาบี อลอนโซ และ การ์เลส ปูโยล สเปนก็ตกต่ำลงมาเรื่อยๆ
  • แต่พวกเขาก็ยังมี เซร์คิโอ บุสเกตส์ ที่ปัจจุบันเป็นผู้เฒ่าของทีม และ ติอาโก อัลกันตารา จอมจ่ายบอล อยู่ในทีม
  • กลุ่มนักเตะใหม่ที่ต้องพิสูจน์ตัวเองในเวทีระดับสูงคือ เคราร์ด โมเรโน ดาวซัลโวของทีม, อัลบาโร โมราตา, เฟร์ราน ตอร์เรส, โรดรี รวมถึง เซซาร์ อัซปิลิกูเอ​ตา, เปา ตอร์เรส และ อายเมอริค ลาปอร์ต ที่แปลงสัญชาติมาจากฝรั่งเศส
  • โค้ชอย่าง หลุยส์​ เอ็นริเก เองก็ผ่านช่วงเวลาสุดเลวร้าย เมื่อขอลาออกไปดูแลลูกสาวที่ป่วยหนัก ก่อนที่ลูกจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา 
  • ความหวังของสเปนไม่เยอะมาก แต่พื้นฐานการเป็นทีมคุณภาพแล้ว ใครประมาทระวังโดนขวิดไส้แตก!
  • อดามา ตราโอเร คือนักฟุตบอลเชื้อสายแอฟริกันคนเดียวในทีม ผู้ที่ยืนยันว่ามัดกล้ามทั้งหมดที่มีในร่างกายนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และแขนของเขาจะมันเสมอเมื่อลงสนาม เพราะทาเบบี้ออยล์ไว้กันคู่แข่งดึงแขน!

 

สวีเดน

โค้ช: แยนน์ แอนเดอร์สสัน

FIFA Ranking: 18

 

  • หลังผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลยูโร 2020 ได้สำเร็จ ชาวสวีเดนทั้งชาติก็ได้ข่าวดีที่สุด เมื่อ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ยอดศูนย์หน้าที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ ตัดสินใจกลับมาช่วยทีมชาติอีกครั้ง
  • ก่อนที่ซลาตันจะตัดสินใจไม่ขอเล่นฟุตบอลยูโรด้วยการทำให้ตัวเองบาดเจ็บ (ความจริงคือโชคร้ายที่อาการบาดเจ็บที่เข่าหายไม่ทัน)
  • สวีเดนชุดนี้มีความรู้สึกคล้ายกับสวีเดนชุดยูโร 1992 ที่เหมือนจะไม่มีอะไรเด่น แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีดี (ยุคนั้นมี มาร์ติน ดาร์ลิน, มาร์ติน โบรลิน, เคนเนธ แอนเดอร์สัน)
  • พวกเขามีนักเตะอย่าง เอมิล ฟอร์สเบิร์ก เป็นฮีโร่ของทีม มีจอมเก๋าอย่าง เซบาสเตียน ลาร์สสัน ประคองทีมแดนกลาง และ วิคเตอร์ ลินเดอเลิฟ ที่จะเป็นคีย์แมนในแนวรับ 
  • ทีมของ แยนน์ แอนเดอร์สสัน เองก็ได้รับคำชมว่าเล่นฟุตบอลเกมรุกมากขึ้นกว่าในอดีต
  • สวีเดนชุดนี้ยังเป็นทีมที่มีส่วนผสมของนักฟุตบอลหลากหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็น เคน เซมา, อเล็กซานเดอร์ อิซัค, จอร์แดน ลาร์สสัน, โรบิน เควสัน, เยนส์ คาชุสเต, เดยัน คูลูเซฟสกี
  • สีประจำชาติของสวีเดนคือสีเดียวกับ IKEA

 

 

กลุ่ม F

 

ฝรั่งเศส

โค้ช: ดิดิเยร์ เดส์ช็องป์ส

FIFA Ranking: 2

 

  • แชมป์โลกและเต็งหนึ่งของรายการตัวจริง
  • ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาคือยุค ‘เรเนสซองส์’ ของฝรั่งเศสที่จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยแม้จะอกหักในฟุตบอลยูโร 2016 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ แต่พ่ายต่อโปรตุเกสไปแบบสุดพลิกล็อกในรอบชิงชนะเลิศ แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 มาครองได้อย่างยิ่งใหญ่
  • ผู้เล่นฝรั่งเศสชุดนี้เต็มไปด้วยนักเตะชั้นดีแทบทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะแกนของทีมที่ไล่มาตั้งแต่ อูโก ยอริส, ราฟาเอล วาราน, เอ็นโกโล ก็องเต, พอล ป็อกบา และ คีเลียน เอ็มบัปเป้ กองหน้าดาวรุ่งที่เตรียมจะครองโลกในยุคต่อไป
  • แต่จุดที่น่าสนใจคือ การที่เดส์ช็องป์สเรียกตัว คาริม เบนเซมา กลับมาติดทีมอีกครั้ง หลังต้องคดีฉาวจนโดนแบนและหายไปจากทีมชาติร่วม 6 ปี ที่ถูกจับตามองว่าจะเป็นปัญหาหรือไม่?
  • The Secret Sauce ของฝรั่งเศส ภายใต้การนำของ ดิดิเยร์ เดส์ช็องป์ส คือความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะอดีตกัปตันทีมชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1998 รู้ดีว่าหากทีมมีตัวปัญหาขึ้นมา มีโอกาสที่ทีมจะพังเหมือนฟุตบอลโลก 2010 ที่ทะเลาะกันในแคมป์ทีมชาติจนเป็นข่าวอื้อฉาว
  • นี่คือโอกาสดีที่ฝรั่งเศสจะสานต่อความสำเร็จได้ เพราะชาติอื่นยังไม่ถึงกับพร้อมนัก
  • หนึ่งในนักเตะที่ได้รับการเรียกตัวติดทีมคือ มาร์คัส ตูราม กองหน้าลูกชายของ ลิลิยอง ตูราม แข้งแชมป์โลกชุดเดียวกับเดส์ช็องป์ส!

 

เยอรมนี

โค้ช: โยอาคิม เลิฟ

FIFA Ranking: 12

 

  • ยุคสมัยของทีม ‘อินทรีเหล็ก’ เดินทางมาถึงจุดสุดท้ายแล้ว เมื่อ โยอาคิม เลิฟ ที่รับบทบุนเดสเทรนเนอร์มาตั้งแต่ปี 2006 จะอำลาตำแหน่งหลังจบยูโรครั้งนี้ ก่อนจะยกตำแหน่งให้ ฮันซี ฟลิก คุมทีมแทน
  • นั่นหมายถึงนี่คืองานสุดท้ายของ ‘โยกี’ แล้ว และเขาย่อมอยากอำลาอย่างสวยงาม
  • เราจึงได้เห็นการกลับมาของจอมเก๋าอย่าง โธมัส มุลเลอร์ และ มัตส์ ฮุมเมิลส์ ที่เคยถูกหมางเมิน คราวนี้จะได้กลับมาประคองทีมร่วมกับ โทนี โครส, มานูเอล นอยเออร์ และ โจชัว คิมมิช
  • แต่ก็มีตัวดาวรุ่งที่น่าจับตามองสุดๆ ในระยะยาวอย่าง จามาล มูเซียลา ติดทีมด้วย
  • แนวรุกคือทีเด็ดของเยอรมนีชุดนี้ไม่นับมุลเลอร์ ก็ยังมีตัวจี๊ดอย่าง แซร์จ นาบรี, ลีรอย ซาเน​ จากบาเยิร์น มิวนิก และคู่เชลซี ไค ฮาเวิร์ตซ์, ติโม แวร์เนอร์ รวมถึง อิลคาย กุนโดกัน ด้วย
  • สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ดูเหมือนนักเตะจะไม่ตอบสนองต่อโค้ชที่อยู่มานานเกินไปอย่างเลิฟ เพียงแต่ขึ้นชื่อว่าเยอรมนีแล้ว พวกเขาเก่งเสมอในรายการใหญ่ ใครก็ประมาทไม่ได้

 

ฮังการี

โค้ช: มาร์โก รอสซี

FIFA Ranking: 37

 

  • ‘แม็กยาร์อันตราย’ อดีตโคตรทีมของโลกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาได้ด้วยการเอาชนะไอซ์แลนด์ในรอบเพลย์ออฟ
  • สไตล์การเล่นของฮังการีชุดนี้เน้นความเร้าใจ บุกแหลกแล้วแหกค่าย มีการตั้งชื่อกันแบบขำๆ ให้ว่า ‘Goulash-Pressing’ (กูลาชคือแกงประจำชาติฮังการี เหมือนที่คนจำต้มยำกุ้งของไทย)
  • แต่ข่าวร้ายสำหรับฮังการีคือ การที่พวกเขาเสียนักเตะที่ดีที่สุดอย่าง โดมินิค โซบอสซ์ไล ไปในวันเดียวกับที่มีการประกาศรายชื่อผู้เล่น เรื่องนี้ส่งผลต่อทั้งทีมและหัวใจอย่างมาก
  • ความหวังจึงอยู่กับบรรดาตัวเก๋าอย่าง ทามาส เซรี, เนมันยา นิโคลิช และ อดัม ซาไล
  • พวกเขาเป็น 1 ใน 11 ชาติเจ้าภาพด้วย ดังนั้นขั้นต่ำๆ ก็ได้เล่นในบ้านตัวเองให้แฟนบอลดู!

 

โปรตุเกส

โค้ช: แฟร์นานโด ซานโตส

FIFA Ranking: 5

 

  • แชมป์เก่าที่อาจจะเป็นทีมเดียวที่ดูมีขุมกำลังพอจะต่อกรกับฝรั่งเศสได้แบบถึงใจหน่อย
  • โปรตุเกสยุคนี้อาจจะดีกว่ายุคทองช่วง 90 ของ หลุยส์ ฟิโก, รุย คอสตา, เปาโล ซูซา, แฟร์นานโด คูโต และ ชูเอา ปินโต ไปแล้ว เพราะไม่ได้มีแต่ คริสเตียโน โรนัลโด เป็นพระเอกแบกทีมคนเดียวเหมือนเมื่อก่อน
  • วันนี้พวกเขามี บรูโน แฟร์นันด์ส, แบร์นาโด ซิลวา, รูเบน เนเวส, เปโดร กอนซัลเวส, ชูเอา เฟลิกซ์, ดีโอโก โชตา, รูเบน ดิอาส, ชูเอา กานเซโล เรียกได้ว่าแน่นทุกจุด
  • แต่ปัญหาของโปรตุเกสที่อาจจะทำให้พวกเขาไปไม่สุดทางคือ ทีมยังคงเล่นเพื่อโรนัลโดมากกว่าที่ คริสเตียโน โรนัลโด จะเล่นเพื่อทีม เป็นปัญหาแบบเดียวกับที่ยูเวนตุสเผชิญ
  • อยู่ที่โค้ชอย่าง แฟร์นานโด ซานโตส ผู้สุขุมนุ่มลึกว่าจะสามารถทำให้นักเตะคนอื่นๆ ในทีมปลดปล่อยพรสวรรค์ในตัวออกมาได้หรือไม่ โดยเฉพาะคนที่อาจตัดสินเกมได้อย่าง บรูโน แฟร์นันด์ส หรือ ดีโอโก โชตา
  • นักเตะอีกคนที่มีโอกาสกลับมาแจ้งเกิดเต็มๆ ในเวทีใหญ่คือ เรนาโต ซานเชซ ที่หลังแจ้งเกิดในยูโร 2016 แล้วก็ดับสนิทกับบาเยิร์น มิวนิก ก่อนจะกลับมาตั้งตัวใหม่ช่วยพาลีลล์คว้าแชมป์ลีกเอิงได้ ซึ่งถ้าได้เล่นและทำผลงานดี มีโอกาสที่จะโดนทีมใหญ่แย่งซื้อตัว เพราะค่าพลังความสามารถโกงมาก!
  • คนไทยอาจจะเรียกสมญาโปรตุเกสแบบน่ารักๆ ว่า ‘ฝอยทอง’ แต่สมญาจริงๆ คือ A Seleçáo (คนที่ถูกเลือก) หรือ Os Navegadores (คนนำทาง)

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising