×

ผู้นำตุรกีเล็งแบน iPhone ตอบโต้สหรัฐฯ ขึ้นภาษีเหล็ก

15.08.2018
  • LOADING...

ตุรกีเตรียมแบน iPhone ในประเทศ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ กรณีประกาศขึ้นภาษีเหล็กนำเข้าจากตุรกี ขณะที่เศรษฐกิจตุรกีกำลังระส่ำระสายจากภาวะเงินเฟ้อและการถูกโจมตีค่าเงินสกุลลีราจนร่วงลงกว่า 20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สืบเนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงกดดันตุรกีอย่างต่อเนื่องด้วยมาตรการต่างๆ เพื่อให้ทางการตุรกีปล่อยตัวบาทหลวงชาวอเมริกันที่ถูกควบคุมตัวนานเกือบ 2 ปี

 

ประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดอัน ประกาศกร้าวว่า ประเทศของเขาซึ่งมีประชากรราว 80 ล้านคนจะหยุดซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากอเมริกา ซึ่งรวมถึงสมาร์ทโฟนยอดนิยมอย่าง iPhone ด้วย หากสหรัฐฯ ยังคงดื้อแพ่งเรียกร้องให้ตุรกีปล่อยตัวบาทหลวง แอนดรูว์ บรุนสัน ซึ่งถูกจับข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ทางการตุรกีเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งในตุรกี

 

แอร์โดอันกล่าวว่า “ใครที่มุ่งร้ายต่อตุรกีจะต้องได้รับผลตอบสนอง” อย่างไรก็ตาม ผู้นำตุรกีไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าจะเริ่มบังคับใช้กฎแบนเมื่อใดและอย่างไร เพียงแต่แนะนำให้ประชาชนเลือกซื้อสมาร์ทโฟนจาก Samsung Electronics แทน iPhone หรือใช้แบรนด์ Venus Vestel ที่ผลิตในประเทศ

 

นอกจากนี้แอร์โดอันยังประณามสหรัฐฯ ว่าเป็นตัวการที่โจมตีเศรษฐกิจตุรกีจนเกิดความระส่ำระสายในขณะนี้ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งให้ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากตุรกี รวมถึงประกาศคว่ำบาตรรัฐมนตรีตุรกี 2 คน จนทำให้นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนกและส่งผลให้ค่าเงินลีราร่วงลงถึง 25% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

การที่เงินสกุลลีราอ่อนค่าลงอย่างมาก ทำให้หนี้สาธารณะที่สะสมในรูปเงินตราต่างประเทศมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศก็กำลังบอบช้ำจากภาวะเงินเฟ้อซึ่งพุ่งแตะระดับ 15% ในเดือนกรกฎาคม ทว่าธนาคารกลางกลับไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ดังใจนึก เพราะประธานาธิบดีแอร์โดอันต้องการให้แบงก์ชาติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

 

สหรัฐฯ และตุรกีขัดแย้งกันเรื่องอะไร

สองประเทศในกลุ่มพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) มีเรื่องระหองระแหงกันมาตั้งแต่เหตุการณ์ที่กองทัพตุรกีพยายามก่อรัฐประหารเพื่อโค่นอำนาจประธานาธิบดีแอร์โดอันเมื่อปี 2016 โดยรัฐบาลตุรกีปักใจเชื่อว่า เฟตุลเลาะห์ กูเลนผู้นำทางศาสนา ซึ่งเวลานี้อาศัยอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะส่งตัวกูเลนกลับตุรกีเพื่อดำเนินคดี

 

ส่วนชนวนบาดหมางล่าสุดเกิดจากกรณีที่ตุรกียืนกรานไม่ยอมปล่อยตัวบาทหลวง บรุนสัน ซึ่งทางการตุรกีเชื่อว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเคลื่อนไหวของกูเลนที่พยายามก่อรัฐประหารครั้งนั้นด้วย

 

สถานการณ์ค่าเงินลีรา

ถึงแม้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯ จะยังไม่ทุเลาลง แต่ค่าเงินลีราของตุรกีดีดตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งสัปดาห์เมื่อวานนี้ โดยลีราแข็งค่าขึ้น 5.9% สู่ระดับ 6.5028 เหรียญ ที่ตลาดปริวรรตเงินตราอิสตันบูลเมื่อเวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

 

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลตุรกีปรับตัวลดลง 132 จุดสู่ระดับ 21.37%

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising