×

ล้อการเมือง… เรื่องแรกที่ผู้มีอำนาจควรรับได้ คุยกับประธานล้อฯ ธรรมศาสตร์ก่อนเคลื่อนทัพ

25.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • อีกไม่กี่สัปดาห์งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์จะเริ่มขึ้นแล้ว ไฮไลต์สำคัญคือขบวนพาเหรดล้อการเมืองที่จัดเต็มและเป็นหมัดเด็ดเพื่อบอกเล่าปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองมาโดยตลอด
  • ในบรรยากาศที่พื้นที่ทางการเมืองหดแคบ ‘ล้อการเมืองธรรมศาสตร์’ ยังคงพยายามรักษา ‘เส้น’ ของตัวเองที่จะสะท้อนปัญหาบ้านเมือง ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมืองธรรมศาสตร์มองว่า นี่เป็นเรื่องแรกที่ผู้มีอำนาจควรจะรับได้
  • การเมืองอยู่ในชีวิตของคนทุกระดับ การสะท้อนปัญหาให้ผู้มีอำนาจรับรู้น่าจะเป็นเรื่องดี ลัทธพลพูดชัดว่า งานบอลมีความหลากหลายอยู่ในนั้น ถ้าถูกขยายออกไปก็เป็นเรื่องดี

ขบวนพาเหรด ‘ล้อการเมือง’ ถือเป็นไฮไลต์เด็ดทุกครั้งของงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 72 แล้ว

หากมองย้อนกลับไปไม่กี่ปี ในห้วงบรรยากาศบ้านเมืองที่พื้นที่การแสดงออกหดแคบลง ความพยายามในการสะท้อนปัญหาต่างๆ มักถูกผู้มีอำนาจขีดเส้นตีกรอบให้ปฏิบัติตาม ซึ่งแน่นอนว่า…เมื่อถูกควบคุมจึงไม่สามารถพูดอะไรได้มาก

ขณะที่ ‘ล้อการเมือง’ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อาศัยอารมณ์ขันมาช่วยให้ภาพของปัญหาถูกพูดถึงในมิติที่หลายคนมีเส้นของความ ‘กลัว’ คอยเบรกไว้ โดยมุ่งไปที่ปัญหาต่างๆ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

กิจกรรมเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มนักศึกษา แม้ครั้งก่อนๆ มีความพยายามจากผู้มีอำนาจที่จะเข้ามาตรวจสอบก็ตาม

THE STANDARD บุกไปยังฐานทัพของพวกเขา พูดคุยกับ ลัทธพล ยิ้มละมัย หรือ ทรัมเป็ต นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อตามหาความคิดอ่าน และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่อีกกี่สัปดาห์นี้

…เส้นของผู้มีอำนาจทางการเมืองจะขยับออกไปให้เส้นเรามีพื้นที่แสดงออกมากขึ้น หรือเขาจะขยับเส้นของเขาเข้ามาในเส้นของเรา…

 

เล่าให้ฟังหน่อย ล้อการเมืองตอนนี้ทำงานได้กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว?
ขออธิบายขั้นตอนหลักๆ เพื่อให้เห็นภาพการทำงาน ขั้นตอนแรก หาคนด้วยวิธีการประชาสัมพันธ์ อันที่สองก็รวมคนมาเริ่มประชุม วางธีมงาน วางคอนเซปต์ จัดโครงสร้างภายในองค์กร แล้วก็มาคุยกันว่าอยากทำหุ่นแบบไหน เริ่มจากการเคาะประเด็น ค่อยๆ มาทีละเรื่อง ตามจากข่าว ประเด็นสังคม โพสต์สเตตัสถามในเฟซ บุ๊กผ่านเพจ กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ผู้คนสนใจ สำหรับตอนนี้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ครับ

แล้วตำแหน่งประธานกลุ่มอิสระล้อการเมืองเลือกกันอย่างไร ทำไมต้องเป็นเรา?
เนื่องจากมันมีโครงสร้างของล้อการเมือง แล้วไม่รู้ว่าเป็นประเพณีหรือเปล่า เขาพูดกัน ประธานล้อการเมืองมีหน้าที่หลักๆ อยู่ 3 อย่างคือ หนึ่ง ทำให้งานมันเสร็จ สอง ให้เกิดกระแสตามความคาดหวัง สาม ให้องค์กรมันเดินต่อได้ในปีต่อไป

ต้องมองแคนดิเดต มองว่าปีต่อไปจะจัดอย่างไร ซึ่งทุกปีพอจบงาน ก่อนใกล้ๆ จะถึงช่วงงานบอลในปีต่อไป ประธานก็จะเรียกประชุม (บรีฟกัน) มีการดำเนินการ จัดให้มีการร่วมเสนอผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานเป็นแคนดิเดต เป็นระบบเลือกตั้งจากสมาชิกล้อทั้งหมดครับ (ผมมาจากการเลือกตั้งนะครับ)

 

พอเราวางคอนเซปต์แล้วไปหาทุน เวลาไปคุยกับแหล่งทุนคุยอย่างไร เพราะว่ากิจกรรมเป็นเรื่องการเมืองพอสมควร?
คือล้อการเมือง ชื่อเป็น ‘กลุ่มอิสระ’ ก็จริง แต่เราไปแสดงในงานฟุตบอลประเพณีฯ ซึ่งผู้ร่วมจัดก็คือ ‘สมาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ฯ’ เราไปใช้พื้นที่งานเขา เราก็ขออุดหนุนงบประมาณ ทุกอย่างจากทางนั้นเป็นหลัก เป้าหมายหลักเขาก็ไม่อยากให้งานวุ่นวายกำหนดการล่าช้า แล้วก็ล้อเลียนจนเป็นการหมิ่นประมาท ซึ่งก็เข้าใจกัน

 

 

ปีนี้จะมีอะไรที่เป็นสีสันหรือต่างจากปีที่ผ่านมาบ้าง? (เท่าที่บอกได้)
คอนเซปต์ที่เราวางเป็นการล้อเลียน ใช่ แต่ว่ามุมมองการล้อเลียน ถ้ามองแง่ไม่ดี มองว่าเด็กพิเรนทร์มาด่า ไม่มีอะไรทำ ด่ากันเล่นๆ หรือเปล่า แต่ถ้ามองว่าการแสดงออกทางการเมืองมันมีทางเลือกวิธีแสดงออกที่ต่างกันออกไป แล้วแต่สถานการณ์ ซึ่งเราในสถานะนักศึกษา ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ การล้อเลียนมันจะเป็นการไม่เสี่ยงเกินไป (มันได้หมายความว่าเราเซนเซอร์ตัวเองนะ) เราไม่ได้พูดถึงตรงๆ แต่ให้สังคมคิด และมันก็มันเสพง่าย คนที่ไม่ได้ตามติดการเมืองโดยตลอดก็อาจสนใจ

ถามว่าครั้งนี้มันพิเศษกว่าอย่างไร ก็คือเราได้ยินว่าผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลบอกว่าเราต้องการปฏิรูป ยุคนี้เป็นการปฏิรูป เพราะฉะนั้นการล้อเลียนในแง่หนึ่งเหมือนเป็นการแสดงออกถึงปัญหาทางสังคม ปัญหานั้นคือข้อมูลของการปฏิรูป หมายความว่าการแสดงออกทางการเมืองคือ คนกำลังแสดงออกว่าสังคมมีปัญหาอะไร การเมืองมีปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะมาในรูปแบบไหน เราออกมาในรูปแบบการล้อ ไม่ใช่การดูหมิ่น แต่กำลังเสนอว่าเห็นปัญหาอะไรอยู่ แค่มาในรูปแบบนี้เท่านั้นเอง

การแสดงออกของล้อการเมืองใต้คอนเซปต์ที่พูดคุยกันเป็นแบบไหน?
ขอแยกประเด็นก่อน คือเรื่องบุคคลที่เราจะพูดถึงและประเด็นที่จะพูดถึง โดยเฉพาะบุคคลที่เราจะพูดถึง ต้องแยกว่าถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลทั่วไป การดำเนินชีวิต การใช้จ่ายเงินของบุคคลทั่วไป กับอันนี้คือเรื่องส่วนตัว การดำเนินชีวิต การใช้จ่ายเงินของบุคคลซึ่งอยู่ในสถานะผู้มีอำนาจ ผู้นำทางการเมือง มันต่างกัน

บุคคลทั่วไปกิจวัตรของเขามันเกิดผลกับคนหนึ่งคน กับครอบครัวเขา แต่ถ้าในสถานะผู้มีอำนาจทางการเมือง กิจวัตรประจำวันของเขามันเกิดผลกับคนทั้งประเทศ เขาได้เข้าไปสู่สถานะที่เป็นบุคคลสาธารณะหรือนักการเมือง เสร็จแล้วทีนี้จะเริ่มเห็นแล้วว่า เราไม่ใช่พูดถึงเรื่องส่วนตัวเขานะ เรากำลังพูดถึงเรื่องส่วนรวม ก็คือตามข้อเท็จจริง ตรงไปตรงมา

คนที่มาทำงานล้อการเมืองเป็นคนแบบไหน ถึงมารวมกันได้?
โห (เสียงสูง) สมาชิกในล้อการเมืองมาจากแทบจะทุกคณะครับ มาจากสายสุขภาพ หมอ ทันตกรรม ศิลปศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สหเวชศาสตร์ ที่เป็นสายวิทย์กีฬา ก็อยู่ในตำแหน่งโครงสร้างบริหารด้วย ซึ่งผมว่านักศึกษาเขาก็มีเป้าหมายต่างๆ บางคนก็อยากทำกิจกรรมทางการเมือง บางคนอยากมีเพื่อน บางคนต้องการทั้งสองอย่างแล้วก็ต้องการความปลอดภัยด้วย

ล้อการเมืองน่าจะรักษาพื้นที่ตัวเอง หลักๆ คือเป็นพื้นที่ที่นักศึกษาสะดวกใจมาทำ สอง เป็นกรอบที่ปลอดภัย รับความเสี่ยงได้ เพราะทุกคนมันรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากันในการทำกิจกรรมทางการเมือง

บางคนก็อยากแค่มาตอกไม้ มาหาเพื่อน ตามผู้หญิงคนนั้นมา ตามผู้ชายคนนี้มา อยากมีแฟน เราเคยพีอาร์มาทำล้อการเมืองแล้วได้แฟน (หัวเราะ) บรรยากาศการประชาสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องการเมือง เรื่องประชาธิปไตย ให้มันตอบโจทย์คนหลายๆ คน หลายๆ แบบ

 

 

ความคาดหวังจากล้อการเมือง ถูกจับตาดูมาทุกปีๆ การเลือกหัวข้อเอาเรื่องนี้ขึ้นมา คุยกันอย่างไร เลือกอย่างไร ตกผลึกร่วมกันอย่างไร?
อันนี้ดุเดือด ต้องมานั่งคุยกัน บรรจุวาระกันเลย วาระนำเสนอประเด็นหุ่น เพื่อนอาจเตรียมประเด็นอย่างเดียว นึกรูปร่างหุ่นไม่ออก บางคนนึกออกก็พูดมาด้วย ก็คงตั้งจากรอบปีที่ผ่านมาหรือในอนาคต เรื่องสำคัญสุดคืออะไร หรือสำคัญต่ออนาคต ก็ลิสต์มา แล้วก็มาดูว่าที่ลิสต์มาอันไหนเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า ระบบภาษีเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำเกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์รัฐกับกลุ่มนักธุรกิจไหม คือผ่านการระดมสมอง การคิดมาพอสมควร เรียกว่าประชุมกันหนักสุด

ถึงตอนนี้ก็จะใส่อารมณ์ขันเข้าไป ตอนแรกเข้ามาจริงจัง วิชาการ ไม่อยากให้เป็นการโจมตีกล่าวหา ก็ทำให้มีฐานจากวิชาการ ใส่มุก เปรียบเทียบ ออกมาเป็นหน้าตา ซึ่งทุกคนต้องรอดูนะครับ

บางคนมองว่ามันเป็นแค่ความสนุกสนานหรือเปล่า? คนทำคาดหวังอะไร?
ถ้าในระดับองค์กร สำหรับสมาชิกล้อการเมือง ทำแล้วมีเพื่อน ไม่รู้สึกเบื่อ ในระดับภายนอกก็น่าจะเป็นคนติดตาม สื่อให้ความสนใจ อันนี้เป็นระยะแรกๆ หลังวันงาน

แต่ว่าถ้าอยากได้จริงๆ ผมรู้สึกว่าบรรยากาศการเมืองก่อนรัฐประหาร แม้จะวุ่นวายแต่ไม่ว่าใครก็ตื่นตัวทางการเมือง ไม่ว่าฝั่งไหน อยากไปนู่นไปนี่ ไปม็อบ อยากทั้งหลายแหล่ แต่พอจุดหนึ่ง เหมือนมันไม่มีใครพูดเรื่องการเมือง ถ้าเกิดล้อการเมือง ทำแบบใส่อารมณ์ขันเข้าไป คนมันสนใจ มองเป็นเรื่องปกติ บรรยากาศการพูดถึงทางการเมืองมันจะกระจัดกระจาย คนจะตื่นตัวอีกครั้ง


คิดว่าทำไมอารมณ์ขัน ทำให้ผู้มีอำนาจจะฟัง มันมีพลังอย่างไร?
เท่าที่ทราบมา ปีก่อนๆ ในรัฐบาล คสช. ผู้มีอำนาจก็ไม่อยากให้มีเรื่องแบบนี้ มีการขอความร่วมมือ อย่าพูดถึงตรงๆ อย่าโจมตีกันเลย ก็ใช่ ล้อการเมืองเป็นอย่างนั้นมาตลอด พูดตรงๆ เราก็เลี่ยงด้วยการใส่มุกตลกเข้าไป ถ้าเกิดแบบนี้ยังรับไม่ได้ ก็น่าตั้งคำถามว่าทำไม

แล้วคนตั้งคำถามอาจไม่ใช่แค่นักศึกษา สังคมก็ตั้งคำถามว่า เฮ้ย! เป็นตัวการ์ตูน เป็นการเปรียบเทียบ ไม่ใช่คุณนะ เป็นรูปอื่น เป็นนิทาน แล้วทำไมคุณเข้าใจว่าเป็นคุณ คุณทำอย่างนั้นหรือเปล่า มันชวนให้มีการตั้งคำถามนะ

แสดงว่าอารมณ์ขันหรือการล้อมีพลังสูง ที่เราประเมิน มันทำให้คนมาสนใจ เพราะพูดอะไรตรงไปตรงมาไม่ได้

จะได้เห็นอะไรในขบวนล้อการเมืองบ้าง?
อย่างแรก เรื่องการเมืองที่ไม่มีใครพูดมันจะถูกพูด เรื่องที่เป็นปัญหาในองค์กรของรัฐ ที่ถูกครหาว่าทำหน้าที่ตรงไปตรงมาหรือเปล่า ล้อการเมืองก็อาจทำหน้าที่นั้น แล้วก็ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่รู้เหมือนกันนะว่าทำไม เพราะประเพณีหรือเปล่า นักศึกษาไม่ว่าใคร มันพร้อมจะออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง

อย่างที่พูดไปแล้ว นักศึกษาที่จะออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองมีต้นทุนต่างกัน บางวิธี เราเห็นคนไปร่วมน้อย เราเห็นคนวิพากษ์วิจารณ์ คำถามคือวิธีการแสดงออกทางการเมืองแบบนี้ทำไมมันถึงได้รับความสนใจ ถ้าตัวชี้วัดคือจำนวนนักศึกษา มันก็มีนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทางการเมืองหลายรูปแบบ แต่รูปแบบนี้มีคนเข้าร่วมค่อนข้างเยอะ แบกหุ่นตัวหนึ่งก็ 40-50 คน 5 ตัวก็ 200 แล้วนะครับ

ถ้าขยายพื้นที่ของประเพณีออกไป ไม่อยู่แค่จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ประเพณีแบบนี้เกิดขึ้นทั้งประเทศ ความสนุกมันมีความสร้างสรรค์ มีเรื่องความสวยงาม มีเรื่องของการเมือง เรื่องเหล่านี้ผมว่าอยู่ในชีวิตของทุกคน

 

จะอธิบายถึงการทำกิจกรรมของตัวเอง สำหรับอีกฝ่ายที่มองเราไม่ดีอย่างไร หรือมองว่าเป็นพวกพยายามป่วน?
ก็ต้องมองว่าล้อการเมืองมีเส้นของเรามาตลอด ตั้งแต่ปีแรกถึงปีนี้ คือเราพูดถึงผู้ใช้อำนาจทางการเมือง อำนาจของเขามีผลกับคนทั้งประเทศ เราก็ใช้เส้นตรงนี้ เราไม่เคยด่า เรามีข้อมูล มีหลักวิชาการ เราคิดออกมา ตกผลึก เพียงแต่ว่า…เส้นของผู้มีอำนาจทางการเมืองจะขยับออกไปให้เส้นเรามีพื้นที่แสดงออกมากขึ้น หรือเขาจะขยับเส้นของเขาเข้ามาในเส้นของเรา…

ถ้าเขาขยับพื้นที่เส้นของเขาเข้ามาในเส้นของเรา ซึ่งเราเชื่อว่าเราทำภายใต้เส้นนี้มาโดยตลอด ถ้าการใช้เสรีภาพของเรา เส้นเรามันน้อยลง ก็ต้องมาดูแล้ว มันไม่ได้เป็นเพราะเรา เป็นเพราะเขาหรือเปล่าที่บีบเส้นเข้ามา ก็ต้องถามต่อว่า ในสังคมที่เราอยากให้มันเป็น ที่เราอยากเห็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางการเมือง การเมืองมั่นคง มีประชาธิปไตย ประชาชนอยู่ดีกินดี ในสังคมที่เป็นนั้น เขามีเส้นต่อเรื่องเสรีภาพอย่างไร แล้วถ้าเราต้องการสังคมแบบนั้นรัฐให้เส้นเราแค่ไหน เล็กๆ เนี่ย เราจะเป็นปัญหาหรือรัฐจะเป็นปัญหา ต้องดูว่าเขาจะตีกรอบแค่ไหน ก็เป็นเรื่องปกติ

ถามตรงๆ กลัวไหม?
ก็กลัวนะ แต่ว่าเราทำงาน เราก็รู้สึกว่ามีเพื่อน และเราก็บริสุทธิ์ใจ ก็อย่างที่พูดไป ใช้กรอบปกติ เป็นเรื่องปกติ ถามว่าใครบ้างดูข่าวแล้วไม่เมาท์ ก็ใครเป็นรัฐบาล คุณก็โดนอยู่แล้ว ระบบประชาธิปไตยมันมีเสียงข้างมากเสียงข้างน้อย ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลมันก็มีเสียงอีกข้างที่คอยมอง ติฉินนินทา กลับกัน ในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจ มันควรเป็นเรื่องแรกที่ควรจะรับได้ด้วยซ้ำ ถ้ารับไม่ได้ก็…

มีคนหลายคนที่รู้สึกแบบเรา แต่สุดท้ายก็ถูกอำนาจเข้ามาจัดการควบคุม?
ในเบื้องต้นก็ตั้งกรอบกันไว้กับทีมงานว่า ไม่พูดถึงตัวบุคคลด้วยการเอ่ยชื่อ ไม่พูดถึงอะไรที่ล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวในทางหมิ่นประมาท ซึ่งกรอบเหล่านี้ก็เป็นอะไรที่ลองมาคุยไหม เจ้าหน้าที่ก็ลองมาแนะนำว่าควรทำแค่ไหนหน่อยสิ 72 ปีก็ทำมาแบบนี้ ถ้าอยากได้น้อยกว่านี้ก็มาบอกได้ อย่าไปบอกที่งานเลย จะลำบากผู้ใหญ่ที่เขาจัดงานด้วย

เราก็แค่อยากเสนอว่าเรื่องพวกนี้ควรจะปฏิรูปอะไร เรื่องนี้มันเป็นปัญหาอยู่ พี่ฟังสิ ถ้าพี่เปิดมากก็จะได้ข้อมูลมาก ถ้าเปิดน้อยก็จะได้ข้อมูลจากเราน้อย มันเป็นเรื่องที่ต่อไปจะได้ข้อมูลไม่กี่ฝั่ง

 

 

ทำมา 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว มีคนมาคุยบ้างไหม?
มี มีมาถ่ายรูป ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ไม่รู้ผมคิดไปเองหรือเปล่านะ แต่ลักษณะดูเป็นชายรูปร่างกำยำ ตัดผมสั้นเกรียน มาแชะ แชะ แชะ แชะ

แสดงว่าเขามีการสอดส่องเราอยู่?
ใช่ แล้วมีเจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุยว่ามีหุ่นกี่ตัว อะไรบ้าง แต่ถึงขั้นลงไปในเนื้อหายังไม่มี ก็เป็นแต่ผู้ใหญ่ที่จัดงาน ที่เขาก็อยากให้งานมันราบรื่น ซึ่งเราก็เข้าใจได้ แต่ขอบเขตของเขาก็ยังไม่ชัดเจน

พูดถึงงานบอลฯ บางคนบอกว่าเป็นงานสายลมแสงแดด เต้นหลีด โชว์สวย โชว์หล่อ ถ้าในมุมเราคิดว่ามันเป็นพื้นที่โอกาสอย่างไร?
อันนี้สำคัญ ด้วยความที่สังคมไทยเป็นอะไรที่ประเพณีเยอะ อะไรทำต่อกันมาก็ทำได้ ก็มีพื้นที่ประเพณีอย่างนี้แล้ว นอกจากการเตะฟุตบอล ส่งเสริมสุขภาพเด็กๆเห็นอยากออกกำลังกาย มองอีกแง่หนึ่งพื้นที่ประเพณีคนยอมรับร่วมกันแล้ว เราสามารถทำอะไร สร้างค่านิยมอะไรเพิ่มเข้าไปได้ไหม

อย่างทำให้เห็นว่าเราแสดงออกทางการเมือง พูดถึงเรื่องสิทธิ เรื่องของประชาชน เรื่องของพวกเรา เรื่องของการเมืองคือเรื่องของเราทุกคน สามารถพูดถึงได้ ซึ่งงานฟุตบอลประเพณีฯ เป็นเรื่องปกติ

ถ้าขยายพื้นที่ของประเพณีออกไป ไม่อยู่แค่จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ประเพณีแบบนี้เกิดขึ้นทั้งประเทศ ความสนุกมันมีความสร้างสรรค์ มีเรื่องความสวยงาม มีเรื่องของการเมือง เรื่องเหล่านี้ผมว่าอยู่ในชีวิตของทุกคน บันเทิง ดูกีฬา สาวๆ น่ารักๆ ก็ชอบ ทุกๆ มุมของชีวิตอยู่ในประเพณี ถูกขยายไปทั้งประเทศ อยู่ในบรรยากาศของงานแบบนี้ก็โอเค เป็นเรื่องที่ผมว่าดี เรามีคอนเซปต์ประเทศไทยในอุดมคติ เป็นแบบนี้เลย ประเทศกูจะเป็นแบบงานนี้นะ ถ้าขยายก็ดี

 

 

ที่มาทำตรงนี้คิดว่าได้อะไร?
อาจพูดแทนเพื่อนๆ ไม่ได้หมด แต่ในฐานะส่วนตัวที่มาเรียน เข้า มธ. เรียนรัฐศาสตร์ สอบติดมา ก่อนหน้านั้นก็เป็นคนสนใจการเมืองอยู่แล้ว

ก็เป็นการได้ทำกิจกรรมการเมือง อยากเห็นสังคมพูดถึง มีเสรีภาพ ตามประสาอุดมคติของวัยผม

แล้วก็อีกมุม เรามองว่าที่นี่มันปลอดภัย มันอยู่ในที่ทางผู้หลักผู้ใหญ่ของทางมหาวิทยาลัยก็โอเค เด็กๆ ไปแสดงความคิดเสรีภาพ อีกอย่างหนึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่มันฝึกการทำงานของตัวเองด้วย เราจะพาองค์กรไปอย่างไร บริหารอย่างไร ประสานของบประมาณได้เท่านี้ เราจะใช้พอไหม เราจะใช้ในกรอบเงินเท่านี้อย่างไร

แล้วก็ให้เพื่อนร่วมงานได้ตอบโจทย์ตามเป้าหมายขององค์กร ได้ทั้งเรื่องการเมือง ได้ทั้งฝึกการทำงาน ไม่ได้มาโจมตีทางการเมือง ปีหนึ่งมีครั้งหนึ่ง ไม่ได้เป็นปกติ ก็เหมือนอย่างวันสงกรานต์ ถ้าจะมองคือในชีวิตประจำวันเราก็ไม่ได้เล่นน้ำกันเป็นปกติหรอก แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ชอบ ใครๆ ก็ทำได้ในวันนั้น ถ้าไปสาดน้ำคนวันปกติก็คงโดนด่า ถ้าเรามาในงานนี้มันก็โอเค ถ้าพูดถึงเรื่องการเมืองได้ในทุกๆ วันมันก็จะดีกว่านี้ ไม่ใช่แค่วันเดียว

เท่าที่สัมผัสจากเพื่อนวัยเรียน เราคิดว่าคนวัยนี้ยังสนใจการเมืองอยู่เยอะไหม สะท้อนผ่านอะไร?
ส่วนตัวนะครับ คิดว่าคนเราสนใจการเมืองตลอดเวลา แต่ต้องเข้าใจว่าการเมืองมีหลายระดับ ระดับชาติ ระดับการปกครองท้องถิ่น ระดับจังหวัด หรือว่าการเมืองในมหาวิทยาลัย ในห้องเรียน เรื่องของกติกาของชีวิตทางสังคมว่าควรเป็นอย่างไหนดี

ถ้าเรามองการเมืองระดับชาติอย่างเดียว เราอาจไม่เห็นนัก ถ้าจะเห็น นักศึกษาสนใจการเมืองระดับชาติอย่างเดียว อย่าลืมว่าถ้าเรามองยุคอย่าง 14 ตุลา เรื่องที่อาจจะเกี่ยวข้องกับชีวิตเขามากที่สุดอาจเป็นการเมืองระดับชาติ แต่วันนี้มันมีเรื่องรอบตัวที่ปวดหัวจะตายอยู่แล้ว แต่ผมมองว่ามีความเป็นการเมือง เช่น ทำไมค่าเทอมขึ้น หรืออย่างอธิการบดีมาอย่างไร นักศึกษาไม่มีส่วนร่วมเลย บางคนก็สนใจเรื่องอย่างนี้ ถ้ามองในกรอบว่าการเมืองอยู่หลายระดับ คนมันสนใจการเมือง แล้วทำไมถึงมีคำถามว่า ทำไมคนไม่สนใจการเมือง? มีการบอกว่า นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ผมว่าพื้นที่การแสดงออกนี่แหละ อย่างการเมืองระดับชาติเงียบไป พื้นที่การแสดงออกมันไม่มี ทำแล้วโดนจับ มันอาจมาอยู่ในห้อง ในฝูงเพื่อน ซุบซิบ  ทำไมมันอยู่แค่ในห้อง การซุบซิบมันต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างแล้วล่ะ แสดงว่าการซุบซิบเป็นพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองที่เขาเข้าได้ตลอด ออกได้ตลอด ปลอดภัยที่สุด

แต่จะซุบซิบกลางสนามหลวง กลางสนามราชมังคลากีฬาสถาน อันนี้พื้นที่มันถูกปิดลงผมเห็นว่ามันก็ยังมี คนที่ต่อต้านโรงไฟฟ้า ผมก็มองว่าเขาก็ออกมา เขาก็โดนจับ พื้นที่มันปิดลง

 

 

หัวรุนแรงหรือเปล่า?
หัวรุนแรงไหม อาจเพราะเรียนรัฐศาสตร์มาหรือเปล่าไม่รู้นะ คือต้องนิยามความรุนแรงก่อนหรือเปล่า ถ้าเอาความรุนแรงทั่วๆ ไป อย่างกว้างก็น่าจะอะไรอย่างนั้นนะ บ้านเราการแสดงออกอาจเคยชินอยู่ไม่กี่อย่าง แต่ว่าถ้านึกภาพ พื้นที่การพูดมันไม่มี เราก็ต้องสร้างพื้นที่ อย่างเรื่องถนน ถนนลูกรัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่มาสร้างสักที ไปร้องเรียนแล้วไง

ต้องเข้าใจว่าการไปร้องเรียนคนที่รับรู้ปัญหามีแค่ผู้ที่เกี่ยวข้อง คนไปร้องเรียน ทีนี้ถ้ามันเงียบ เขาไปร้องเรียนไม่รู้สึกว่าได้อะไร ชาวบ้านที่ถนนพัง เอาต้นไม้ไปปลูกกลางถนน มันเห็นว่าเขาย้ายพื้นที่การแสดงออก พื้นที่การเรียกร้องที่เป็นปกติ ที่เรามองว่าสุภาพเรียบร้อย ออกมาสู่การปลูกต้นไม้ ซึ่งมันมีคำถามว่า บ้าหรือเปล่า มาปลูกต้นไม้กลางถนน ซึ่งถ้ามองดีๆ จะเห็นว่ามีที่มา

ที่มาที่ผมว่าสำคัญก็คือ พื้นที่ทางเลือกมันไม่มี แล้วทางเลือกที่คนชอบ ที่มันสงบเรียบร้อย มันไม่ได้ผล ก็ต้องมองว่าวิธีปกติ รัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องมองว่าวิธีที่คุณชอบมันแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ต้องพัฒนาปรับปรุงให้ดี

เรากำลังทำเรื่องสะท้อนปัญหา ขณะที่อีกนัยยะคือเรื่องท้าทายอำนาจหรือเปล่า?
ผมว่าแค่ล้อเลียนอำนาจก็มองว่าท้าทายแล้ว อาจเพราะผมอยู่ในธรรมศาสตร์ เลยมองว่าการพูดถึงการเมืองมันปกติ ใครก็พูด มีปัญหาใครก็บอก เงียบอยู่ปัญหาไม่ถูกแก้หรอก แต่ถ้าคนข้างนอกมอง คนนอกจะแบบ เฮ้ย น่ากลัวนะ ท้าทายอยู่หรือเปล่า เส้นแบ่งควรเป็นยังไง แสดงว่าเรามองว่าการแสดงออกมันเป็นเรื่องไม่ปกติ แสดงว่าอำนาจมันเริ่มมีปัญหากับเรื่องปกติ

การพยายามสร้างสิ่งเหล่านี้ผ่านอารมณ์ขัน เราคิดว่ามันทำให้บรรยากาศของพื้นที่แสดงออกเรื่องการเมือง มันง่ายขึ้นไหม?
แน่นอน เราเชื่ออย่างนั้นโดยตลอด ถึงทำมาหลายสิบปีนะครับ นึกภาพ เราเห็นเพื่อนมีปัญหาอะไรกัน เราไปด่าเลย มันจะโหดร้าย เราพูดถึงการเมืองเราไปด่าเขาเลย ก็จะโหดร้ายกับทางรัฐบาลเกินไป ทำให้มันตลก น่าฟัง คนที่เรารู้สึกว่าเป็นปัญหา เราทำให้เป็นเรื่องตลก น่าเอ็นดู

ก็ต้องเข้าใจว่าความเข้าใจในแต่ละเรื่องของบางคนไม่เท่ากัน บางทีจากอะไรที่ง่ายที่สุดมันก็เก็ตเลย คือเหมือนอ่านหนังสือ หนาๆ ถ้ามีแต่ตัวหนังสือ อาจไม่ใช่ทุกคนชอบ ถ้าเราเพิ่มอะไรเข้าไป รูปการ์ตูน เขียนให้เป็นนิยาย กับเขียนให้เป็นวิชาการ วิจัย มันก็ไม่รู้นะ รู้สึกว่าน่าสนใจขึ้น อาจจะตอบยากว่ามันดึงดูดยังไง ต้องรอดู เดี๋ยวก็จะรู้

 

 

อยากฝากอะไรถึงผู้มีอำนาจ เกี่ยวกับล้อการเมือง?
สังคม ประชาชนภายนอก เราเห็นประเพณีหนึ่ง ที่มีการแสดงออกทางการเมือง แล้วทุกๆ ปีมันไม่เคยมีอะไรเสียหาย สังคมพูดถึง เฮ้ย มันเป็นปัญหาจริงหรือเปล่า เฮ้ย ถ้าเราพูดถึงทางการเมืองมันก็ปกตินี่ ก็อยากให้มีการถ่ายทอดสดนะ ก็เรามองว่าปกตินี่นา

ถ้าจะฝากถึงผู้มีอำนาจ ก็เขาเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง เข้ามาใช้ภาษี เพื่อให้เกิดการพัฒนา เพราะฉะนั้นการพัฒนามี 2 อย่าง แก้ไขของเดิม ก็ต้องรู้ปัญหาว่าจะต้องแก้อะไร แล้วก็ถ้าให้ยั่งยืน มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนเนี่ย ก็คงต้องรู้ว่าเราอยากทำอะไรในอนาคต ก็ต้องมีการวางแผน ถ้ามีคนช่วยคิด

ต้องอย่าลืมว่ารัฐบาลมาบริหารประเทศให้คนจำนวนมาก ถ้าคนจำนวนมากพูดเรื่องการเมือง เขาก็มีข้อมูล

เหมือนอย่างการแสดงออกของนักศึกษาในงานฟุตบอลฯ เราก็เพิ่มจำนวนคนที่พูดถึงการเมือง พูดถึงปัญหาเข้าไป เราก็เสนอเข้าไป เรื่องนี้ เรื่องที่ชาวธรรมศาสตร์ ชาวจุฬาฯ อยากทำมากที่สุด อยากมอง มองว่าเป็นปัญหามากที่สุด ก็เอาไปทำ ไปแก้ มองว่าประชาชนต้องการอะไร ไม่ใช่ไปด่าผู้มีอำนาจอยู่แล้ว

ก็เราล้อนโยบาย ล้อประเด็นสังคมการเมือง เราล้อเรื่องที่กระทำแล้วกระทบคนจำนวนมาก ซึ่งคนที่ทำเรื่องแบบนี้ก็คือผู้ที่อยู่ในฐานะของฝ่ายบริหาร ก็ต้องยอมรับอยู่แล้วว่าทำอะไรก็ต้องมีคนที่พอใจและไม่พอใจ ทำทางด่วน เวนคืน คนที่โดนเวนคืนคือคนที่ไม่พอใจ คนที่พอใจคือคนที่ใช้รถใช้ถนน รถไม่ติด เป็นปกติ

ผมเห็นว่า เป็นเรื่องแรกที่ผู้มีอำนาจควรจะรับได้

FYI
  • งานฟุตบอลประเพณีระหว่างสองมหาวิทยาลัยคือ จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ศึกฟาดแข้งครั้งนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 72 แล้ว โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ โดยมีกำหนดจัดงานในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 ณ สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising