สปอยล์บทสัมภาษณ์นี้ให้ฟังตั้งแต่ต้นเลยก็ได้ว่า ตุล ไวฑูรเกียรติ ในวัย 40 ปีไม่ได้รู้สึกจี๊ดใจกับบทกวีอย่างที่หลายคนนึกภาพไว้ อาจด้วยวัยหรือประสบการณ์อะไรก็แล้วแต่ทำให้ตุลในวัยนี้รู้สึกคลี่คลายและปล่อยวาง ซึ่งอาจขัดแย้งกับภาพร็อกแอนด์โรลสตาร์ที่เคยรับรู้
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่สนใจหนังสือและกวีอีก เพราะสิ่งนั้นกลายเป็นสิ่งที่วนเวียนและมีอิทธิพลอยู่กับชีวิตเขา ทั้งรับเข้าและส่งออก ซึ่งแม้อธิบายกันลำบาก แต่อย่างน้อยพลังงานเหล่านั้นก็พิสูจน์ตัวเองอยู่ในเพลงและตัวหนังสือของเขาเรียบร้อยแล้ว
ปกติเวลาพูดถึง ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า คนมักจะเห็นภาพนักร้อง นักแต่งเพลง และขณะเดียวกันก็มีความเป็นนักกวี อยากรู้ว่าคุณเริ่มสนใจกวีตั้งแต่เมื่อไร
ผมสนใจดนตรีร็อกครับ ก็คืออยากเป็นนักแต่งเพลงตั้งแต่เด็ก แล้วก็พยายามเขียนเพลงมาเรื่อยๆ เมื่อก่อนผมร้องเพลงกับเพื่อนในวงตอนมัธยม ยังไม่เคยคิดจะแต่งเพลง แต่ก็มีความหลงใหลในการเล่นดนตรีพอสมควร จนเมื่อได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ AFS ไปที่แคลิฟอร์เนีย ตอนนั้นอายุ 17 แล้วเพื่อนผมส่งซีดีมาให้ 2 แผ่น ชื่อ เจ้าหญิงแห่งดอกไม้ เจ้าชายแห่งทะเล ของ ปฐมพร ปฐมพร ซีดี 2 แผ่นนี้เป็นจุดกำเนิดที่ทำให้ผมอยากมีเพลงเป็นของตัวเอง นั่นแหละคือจุดแรกของงานเขียน ผมไม่อยากเขียนอย่างอื่นนอกจากจะเขียนเพลงก่อน
เมื่องานระยะแรกของคุณเกี่ยวข้องกับเพลง แล้วความเกี่ยวข้องกับหนังสือเริ่มมาตั้งแต่ตอนไหน
ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือแบบเรียนที่เราเจอในโรงเรียน การ์ตูน นวนิยาย หนังสืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าผมอยู่ใกล้ก็จะหยิบอ่าน คือเป็นสิ่งหนึ่งที่เราเสพอยู่แล้ว คล้ายกับเสพดนตรี แต่ว่าความเย้ายวนของการเป็นนักดนตรีมันมีเยอะกว่า ผมเลยจุดความหลงใหลจากตรงนั้น บังเอิญในเพลงมันมีภาษาอยู่ด้วยเลยปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเกี่ยวเนื่องกัน อย่างร็อกแอนด์โรลมันมีอารมณ์ มีเนื้อหา มีสิ่งที่อยากจะเล่า อยากจะระบาย ดังนั้นผมเริ่มจากการแต่งเพลง และหลังจากนั้นจึงเป็นงานเขียนในแบบที่ทุกคนได้เห็น การที่เอามาตีพิมพ์เป็นหนังสือกวีนั้นมันคือของแถม คือผลพลอยได้ที่เกิดจากการที่อยากจะเป็นนักแต่งเพลงมากกว่า
อะไรทำให้รู้สึกว่าจะแต่งเพลงได้
ไม่รู้เหมือนกันว่ามันมีอะไรดลบันดาล คงเป็นความบังเอิญด้วยแหละ บางทีผมตอบไม่ได้นะเรื่องพวกนี้ มันมีการส่งพลังงานอะไรบางอย่าง ลึกๆ ก็แอบเชื่อในผลงานของตัวเอง เพราะพอเราเห็นเพลงที่เราแต่ง เราก็เลยคิดว่าหน้าที่เราต้องทำให้เพลงพวกนี้มีคนฟัง มันน่าจะมีใครบางคนที่ได้ฟังเพลงของอพาร์ตเมนต์คุณป้าแล้วเป็นบ้าลุกขึ้นมาแต่งเพลง ผมเชื่อว่ามีอย่างนั้น อันนี้ก็คืออำนาจของศิลปะ มันสามารถส่งพลังงานให้กันได้
เพลงแรกที่งอกออกมาจากหัวผม มันออกมาเป็นเพลงเลย ออกมาเป็นประโยคร้อยเรียงต่อกันมา ตอนอัดก็เข้าไปในห้องน้ำ ร้องใส่เครื่องอัดเทปคาสเซ็ตต์ ยุคก่อนไม่มีโทรศัพท์ก็ใช้พวกนี้แหละอัดได้ เพลงแรกที่ผมแต่งในชีวิตชื่อ ชีวิตคือการเดินทาง ถ้าใครอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับพวกนี้ก็ไปหาอ่านได้ หนังสือ เพลงที่คุณไม่เคยได้ฟัง มันจะมีเรื่องพวกนี้อยู่เยอะ จะทราบว่าที่มาที่ไปของบทกวีเป็นอย่างไร และในหลายๆ ครั้งผมว่ามันก็เป็นความบังเอิญนะ เราอยู่ในที่ที่เหมาะสม อุณหภูมิเหมาะสม ความคิดมันมา และเราว่างพอดี เราสามารถที่จะวิ่งไปบันทึกความคิดนั้นได้พอดี ถ้าเกิดความคิดตอนนั้นมันเริ่มมาแล้วเราบันทึกมันไว้ไม่ได้ เราอาจจะไม่มีเพลงต่อๆ มาก็ได้นะ เรากลับมาอ่านเพลงแรกที่ตัวเองเขียนไว้ เราก็กลายเป็นแฟนเพลงของตัวเองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แล้วมันมีหนังสือเล่มไหนที่ทำให้คุณเกิดปิ๊งไอเดียแบบนั้นไหม
หนังสือผมก็แค่ชอบอ่าน ผมว่าแรงกระตุ้นของผมในชีวิตมันมาจากเรื่องของเพลงมากกว่าหนังสือ หนังสือก็เป็นสิ่งที่ผมอ่านอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่อาจจะมีเหมือนกันนะ อย่างครั้งแรกที่ผมรู้จักกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ผ่านหนังสือ ผมจำไม่ได้ว่าใครเขียน มันเป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจมาก คือผมไม่เคยรู้เรื่องราวในชีวิตของนักลงทุน แต่พอเราได้เห็นชีวิตของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มันทำให้เรารู้สึกว่าเขาคือร็อกแอนด์โรลสตาร์ด้านการลงทุน เขามีแนวคิดที่แบบเป็นเอกลักษณ์มากๆ
สิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องง่ายๆ แค่ยึดมั่นในสิ่งที่ทำ และก็ไม่ได้หวังไปที่ผลลัพธ์ คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ไม่ได้เป็นคนฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย แต่ว่าเขาเป็นนักลงทุน ดังนั้นจุดมุ่งหมายที่เขาลงทุนมันก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน มันก็อาจจะเป็นความสุขหรืออะไรบางอย่างที่เขาได้ทำ มันเป็นชีวิตที่เท่มาก
นักลงทุนก็สามารถเป็นร็อกแอนด์โรลสตาร์ได้
ใช่ ผมมองว่าสไตล์ของเขาเป็นแบบนั้น สำหรับผม วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นศิลปิน ในแง่ของการใช้ชีวิต การตัดสินใจทำอะไรหลายๆ อย่าง
หนังสือที่คุณถือมาวันนี้คือ เพลงรักคนพเนจร ของ แดนอรัญ แสงทอง คุณประทับใจอะไรในนั้น
แดนอรัญมีภาษาที่สวยงามมากนะ ผมว่าเขาเป็นคนโรแมนติก ปกติคนจะรู้จักแต่ เงาสีขาว หรือ อสรพิษ ซึ่งเป็นงานเขียนที่ดูเครียด แต่ว่าผมอ่านแดนอรัญใน เพลงรักคนพเนจร มันโรแมนติกมากเลย เหมือนเราได้ฟังเพลงรักดีๆ เพลงหนึ่ง ด้านกุ๊กกิ๊กของเขามันมีอยู่ แต่คนไม่ค่อยเห็นด้านนี้ มันเป็นความกุ๊กกิ๊กที่หวานปนเศร้า แล้วผมก็ชอบรสชาติประมาณนี้
มันส่งผลต่อตัวตนหรืองานของคุณอย่างไร
มันก็ไม่รู้หรอก บางทีหนังสือเราก็อ่านเป็นร้อยๆ เป็นพันๆ เล่ม มันคงส่งผลนิดๆ หน่อยๆ แหละ เหมือนบางทีเรากินอาหาร กินแอปเปิ้ลเข้าไป เราไม่รู้หรอกว่าเรารับวิตามินซีเข้าไปกี่มิลลิกรัม แต่มันก็เข้ามาในร่างกายเราใช่ไหม ไม่มากก็น้อย อย่างเพลงผมจะบอกได้ง่ายๆ เพราะอิมแพ็กมันแรงมาก อย่างอิมแพ็กที่ปฐมพรมีต่อผม ผมว่ามันเกินกว่างานวรรณกรรมเล่มหนึ่งเป็นไหนๆ งานของปฐมพรก็เหมือนงานวรรณกรรม ถือว่าเป็นงานวรรณกรรมก็ได้ แค่มันมีเสียงดนตรีประกอบ
หลังจากที่คุณเขียนเพลงมาแล้ว พอมาเขียนหนังสือมันแตกต่างกันไหมในแง่ของกระบวนการ
สิ่งที่ผมตั้งใจคือการเขียนเพลง สิ่งที่ผมไม่ตั้งใจคือการเขียนอะไรแบบนี้ที่ออกมาเป็นเล่ม คือตอนแรกเมื่อก่อนผมก็ไม่เคยคิดหรอกว่าพวกนี้จะมาตีพิมพ์หรือทำอะไรได้ พอมาทำแล้วก็ดีเหมือนกัน มันก็เป็นแง่มุมอะไรใหม่ๆ อีกแบบหนึ่งที่ว่า การที่เราจะสร้างงานแบบนี้โดยที่เราไม่ต้องมีทำนอง จังหวะมาตีกรอบไว้ มันก็อิสระอีกแบบหนึ่ง แต่ถามผมว่าตั้งใจผลิตงานพวกนี้ออกมาเป็นหนังสือแบบนี้ ผมว่ามันไม่ใช่เลย ผมตั้งใจจะเขียนเพลงนี่แหละ แต่ระหว่างทางบางครั้งมันมีงานเขียนที่เราคิดออกมาแต่มันไม่มีท่วงทำนอง มันก็เลยกลายมาเป็นสิ่งพวกนี้ ไร้ฉันทลักษณ์ ไม่มีรูปแบบ หลายๆ ครั้งก็มองเป็นการบำบัด
คนมักมองว่าหนังสือไร้ฉันทลักษณ์หรือกวีนิพนธ์แบบนี้อ่านยาก คุณมองอย่างไร
มันอ่านง่ายมาก เพราะมันไม่ต้องการความเข้าใจอะไรเลย คือปัญหาของคนที่อ่านอะไรเรื่องพวกนี้คือพยายามทำความเข้าใจกับมัน
ถ้าเราไม่ได้อ่านเพื่อทำความเข้าใจ แล้วเราอ่านเพื่ออะไร
เราก็อ่านไปเรื่อยๆ อ่านให้มันจบ จริงๆ อ่านบทกวีมันไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับมัน เหมือนเราดูภาพแอ็บสแตรกต์ เข้าใจก็ได้ ไม่เข้าใจก็ได้ เหมือนเรานั่งสมาธิปฏิบัติธรรม เหมือนเรานั่งมองจิตตัวเอง เราก็เห็นมันยุ่งเหยิงสับสน มันนิ่งก็ได้ ไม่นิ่งก็ได้เหมือนกัน ผมว่าบทกวีมันก็เป็นอย่างนั้น มันก็เป็นการอ่าน อ่านๆ ไปเถอะ ผมอ่านบทกวีเพื่อรู้สึก เพื่อได้อ่าน ไม่เคยคาดหวังอะไรกับมัน แล้วมันจะมีบางอันที่มันโดนเรา มันต่อยอัดแล้วก็จะเจ็บๆ
ในเมื่อเราไม่เข้าใจมัน แล้วมันจะ ‘โดน’ เราได้อย่างไร
เหมือนเราโดนต่อยเลย เจ็บๆ คันๆ แต่มันไม่ได้ต่อเนื่องนะ เหมือนเราเป็นนักวิ่ง เราวิ่งไประหว่างทาง สิ่งที่เราทำก็คือวิ่งไปเรื่อยๆ ถ้าเกิดเจอต้นไม้อยู่ทางขวา ดอกไม้ทางซ้าย นกจะบินมาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ดังนั้นการอ่านหนังสือกวีสักเล่ม เลยเหมือนเขาพาเราไปดาวพลูโต พาเราไปทำฆาตกรรม ไปมีเซ็กซ์ กินกาแฟ ดื่มไวน์ แก้ผ้า ทำได้หมด นั่นคืออิสระของบทกวีที่มันพาเราไป มันไม่มีกรอบ มันเลยสามารถดึงเราไปเที่ยวได้เรื่อยๆ และหน้าที่ของคนอ่านก็ตามใจคนเขียน เขาให้ไปไหนก็ไป ถ้าเกิดคุณไม่ชอบคุณก็วางมันลงแค่นั้นเอง ถ้าบอกว่ามันไม่รู้เรื่องก็ไม่ผิด บางทีคนเขียนยังไม่รู้เลยว่าเขียนอะไร
ผมคิดว่าการผจญภัยในการเขียนบทกวี คนเขียนกับคนอ่านก็งงพอๆ กันแหละ อาจจะมีกวีที่ไม่งงก็ได้ แต่ที่ผมเขียนออกไปมันคือการบำบัด ผมเขียนเพราะผมไม่รู้ ผมเขียนเพราะไม่เข้าใจ ถ้าผมรู้เรื่องทุกอย่างแล้วผมไม่เขียนหรอก
สมมติว่าต้องเขียนกวีหรือเล่าเรื่องอะไรก็ได้ออกมาหนึ่งเรื่องตอนนี้ อยากเล่าเรื่องอะไร
มีเรื่องหลายเรื่องมากที่อยากสื่อสาร แต่ว่าตอนนี้เราอยู่ในสังคมประหลาดๆ ที่สื่อสารไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้จะเป็นศิลปินที่พูดเป็นเพลงก็ตาม มันมีบางประเด็นที่อยากจะพูดกันตรงๆ โป้งๆ เลย แต่มันทำไม่ได้
สำหรับนักเขียน การถ่ายทอดออกมาคือการบำบัด กลับกันในฐานะคนอ่าน ถ้าเราไม่รู้จะคาดหวังอะไรกับมันแล้วทำไมเราต้องหยิบหนังสือเล่มนี้ออกมาอ่าน
จริงๆ เราไม่หยิบก็ได้ไง (หัวเราะ) ไม่มีใครมาบังคับ มันเหมือนฟังเพลง ฟังก็ได้ ไม่ฟังก็ได้ หนังสืออ่านไม่อ่านก็ได้ ผมไม่เคยคิดว่าการอ่านหนังสือเป็นของวิเศษ แต่อ่านแล้วมันก็เพลินดีนะ แล้วเราก็อย่าไปคาดหวังอะไรกับมัน เหมือนมันเป็นเพื่อนเราหรือสักคนที่เราคบ ดูแค่หน้าปกหนังสือแล้วตัดสินโดยยังไม่ทันอ่านข้างในไม่ได้หรอก บางทีหนังสือที่เราไม่ชอบอาจจะแอบให้อะไรเราลึกๆ ก็ได้นะ ไปอยู่ใต้จิตสำนึกของเรา ยิ่งเราเป็นศิลปิน เราสร้างงานด้วยอินพุตที่เข้ามาในตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ภาพยนตร์ แม้แต่ข่าวในหนังสือพิมพ์
การมีอินพุตเหล่านี้มันสำคัญกับการที่เราเป็นศิลปินมากน้อยแค่ไหน
มันไม่ได้เป็นการการันตีอะไรเลยว่ามีอินพุตเยอะแล้วจะสร้างงานได้ เอาง่ายๆ นะ ตอนนี้ผมมีอินพุตเยอะกว่าสมัยวัยรุ่นอีกนะ แต่ช่วงนี้ทำไมผมถึงทำงานน้อยลง มันก็ไม่แปลก ผมคิดว่าศิลปินมีหน้าที่สร้างงาน วัยหนุ่มสาวมันเป็นช่วงที่ถ้าศิลปินทำตัวแบลงก์ๆ งานจะออกมาตามธรรมชาติของมัน อย่าไปฝืน อย่าไปอะไรกับมัน ถ้าช่วงไหนที่ยังคิดว่าอารมณ์ตัวเองยังจี๊ดจ๊าดอยู่ก็รีบสร้างให้เยอะที่สุด เพราะว่ามันจะมาถึงช่วงที่รู้เยอะ เห็นมาเยอะ แต่ไม่จี๊ดจ๊าดแล้ว
ถ้าให้แบ่งเปอร์เซ็นต์คร่าวๆ อินพุตของคุณได้มาจากการอ่าน ดู หรือฟังมากน้อยกว่ากัน
เดี๋ยวนี้ฟังเพลงน้อยลง อ่านหนังสือน่าจะยังเป็นชั่วโมงที่เยอะอยู่ ถ้าสมัยก่อนตื่นมาก็จะชอบเปิดเพลงฟัง เดี๋ยวนี้ตื่นมาชอบนั่งสมาธิ นั่งเฉยๆ นั่งไม่นานครับ แต่นั่งทุกวัน แล้วก็มีออกกำลังกาย
อ่านหนังสืออะไรบ้าง
ช่วงนี้ผมไม่ค่อยอ่านกวีเท่าไร ผมชอบอ่าน Non-Fiction บทความ การเมือง เศรษฐกิจ สุขภาพ ล่าสุดเอาเล่มเก่ามาอ่านอีกรอบชื่อ เรื่องเล่าของร่างกาย เป็นวิทยาศาสตร์วิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ ทำไมเราถึงต้องทำอย่างนี้ โดยใช้เหตุผลง่ายๆ ว่าร่างกายเรามีกลไกอย่างไร
ตอนวัยรุ่นอารมณ์มันแปรปรวน แน่นอนมันมีงานเขียนที่วัยรุ่นต้องผ่าน ใครๆ ก็ต้องเคยอ่านอย่าง พันธุ์หมาบ้า, เจ้าชายน้อย หรืองานของ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน จนอายุมากขึ้นถึงจุดหนึ่งก็จะมีรสนิยมที่แตกต่างกันไป ตอนนี้ถ้าให้ไปเลือกซื้อหนังสือ ผมจะหยิบบทกวีน้อยมากเลยนะ ยกเว้นถ้าไปต่างประเทศผมจะซื้อพวกรวมฮิตเพื่อมาหาว่าคนไหนมีลีลาที่เราชอบ แต่มันไม่ค่อยมีอะไรมาจี๊ดใจคนอายุ 40 กว่าได้แล้ว
ในโลกหนังสือมันเปลี่ยนไปเยอะ ใครจะว่าคนยุคใหม่จะอ่านน้อยลงก็อาจจะไม่แฟร์สักทีเดียว แค่ว่าการอ่านมันเปลี่ยนแพลตฟอร์มไป ผมว่าการอ่านเป็นสิ่งที่ดี อ่านป้ายข้างทาง อ่านสิ่งที่สกรีนอยู่บนเสื้อ อ่านตัวหนังสือที่มันอยู่ริมถนน ริมกำแพง เราได้เรียนรู้พฤติกรรมมนุษย์จากการอ่านตลอดเวลา อย่าไปคิดว่าการอ่านต้องอ่านอยู่ในกระดาษ แต่ก็อย่าไปคาดหวังอะไรกับมัน แต่ชอบอ่านก็อ่าน ถ้าไม่ชอบอ่านก็ไม่ต้องอ่าน ผมว่าจริงๆ คนเรามันชีวิตมันแค่นี้ คือมันมีวิธีเสพหรือวิธีที่เราจะหาอินพุตใส่ตัวเองได้แค่ไหน หาทางที่เราชอบ ที่เราเอ็นจอย หนังสือคือทางหนึ่ง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
- LIT Fest เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ! ลงทะเบียนเข้างาน LIT Fest @LITFest2019 ได้ที่ www.zipeventapp.com/e/LIT-Fest-2019 หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน ZipEvent โชว์ QR Code ที่บูธ Registration เพื่อรับสายรัดข้อมือ สมุดโน้ต และโปสเตอร์ฟรี
- LIT Fest คือเทศกาลหนังสือสุดสนุกครั้งแรกของเมืองไทย อารมณ์ประมาณงานสัปดาห์หนังสือแต่งงานกับเทศกาลดนตรี แล้วมีลูกเป็นงาน LIT Fest เทศกาลหนังสือ ดนตรี ศิลปะ ในสวนที่คุณจะได้พบกับไอเดียบรรเจิดจากกว่า 30 สำนักพิมพ์ กระทบไหล่ชนแก้วปิกนิกกับนักเขียน นักแปล บรรณาธิการกว่า 100 คน เต้นรำชิลๆ กับ 15 วงดนตรี เอ็นจอยกับ Book Club ลับสมองจนไฟลุก สนุกกับหนัง ละครเวที แสงสีกลางแจ้งเคล้าลมหนาว ในบรรยากาศสบายๆ อิ่มอร่อยกับอาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ
- งานจัดวันที่ 18-20 มกราคม 2562 เวลา: งานภายในอาคารเริ่ม 13.00 น. และ งานกลางสนามเริ่ม 16.00-22.00 น. ที่มิวเซียมสยาม ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/LITFest.th/