×

ตึกโดม ธรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมแห่งสัญญะการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคไทยใหม่ มรดกคณะราษฎร

โดย THE STANDARD TEAM
24.06.2021
  • LOADING...
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตั้งตระหง่านหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญของมหาวิทยาลัยที่ชาวธรรมศาสตร์เรียกกันว่า ‘แม่โดม’ 

 

สำหรับผู้ออกแบบคือ หมิว อภัยวงศ์ หรือ จิตรเสน อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักและรับรู้ในแวดวงวิชาการทางสถาปัตยกรรมในประเทศไทยที่สนใจอาคารในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เนื่องจากมีผลงานมากมาย ในการออกแบบอาคารสำคัญ เช่น ตึกไปรษณีย์กลาง บางรัก หรือตึกแถว 10 หลังริมถนนราชดำเนินกลาง เป็นต้น

 

หมิวได้ออกแบบตึกโดมโดยมีการกล่าวว่า ปรีดี พนมยงค์ ได้ให้แนวคิดว่า ตึกที่จะสร้างควรมีลักษณะโดดเด่น สะท้อนอุดมการณ์ของคณะราษฎร ดังหลักข้อที่ 6 ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่กล่าวว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ซึ่งได้นำไปสู่การออกแบบรูปทรงกรวยยอดแหลม 2 ชั้น โดยที่ฐานของทรงกรวยออกแบบเป็นหกเหลี่ยม อันหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ยอดแหลม หมายถึงการบรรลุความปรารถนาสูงสุด และอาคารปีก 2 ปีกด้านท่าพระจันทร์และท่าพระอาทิตย์หมายถึงการศึกษาที่แผ่ขยายวงกว้างในหมู่ราษฎร ดังคำกล่าวรายงานของปรีดีในวันเกิดตึกโดมอย่างเป็นทางการว่า

 

“…มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา…”

 

ขณะที่อีกด้านหนึ่งมองว่า เป็นการสร้างตามกระแสนิยมสถาปัตยกรรมยุโรปในช่วงดังกล่าวคือยุคฟื้นฟูโกธิก จึงไม่แปลกที่หมิวจะเลือกใช้รูปแบบดังกล่าว เพราะหมิวจบการศึกษาจากฝรั่งเศส ซึ่งหลักสูตรมุ่งเน้นไปที่แนวทางคลาสสิกและสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟู ขณะที่ปรีดีก็เป็นนักเรียนฝรั่งเศส

 

ในหนังสือศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ ของ ชาตรี ประกิตนนทการ ระบุว่า หากพิจารณาเฉพาะในเชิงรูปแบบ ถ้าจะเชื่อมโยงกับหลัก 6 ประการ ก็น่าจะเป็นเพียงส่วนหน้าต่างที่ยื่นเล็กๆ ออกมาจากหลังคาโดม 4 ด้านมากกว่า ซึ่งปรากฏว่ามี 6 ช่อง เพราะฐานโดมเป็นแปดเหลี่ยม มิใช่หกเหลี่ยม 

 

แต่หากการสร้างตึกโดมไม่ได้ตั้งใจสะท้อนหลัก 6 ประการ รูปทรงสถาปัตยกรรมโดยรวมที่แตกต่างจากจารีตในอดีต มีความแปลกตาและดูทันสมัย ก็ทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นบรรยากาศของยุคสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้อย่างชัดเจน อันเป็นบรรยากาศแห่งยุคสมัยที่ผู้คนในสังคมถูกทำให้เชื่อว่าตนเองกำลังก้าวย่างสู่สังคมรูปแบบใหม่ที่เจริญก้าวหน้าสู่ ‘ยุคไทยใหม่’ ที่แตกต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิง

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising