×

Trumponomics 2.0: สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ไทยจะโดนอะไร

26.11.2024
  • LOADING...

การกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ สู่ทำเนียบขาวในปี 2025 กำลังจะจุดชนวนสงครามการค้าครั้งใหญ่ที่จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยในช่วงที่ผ่านมา การแต่งตั้งทีมเศรษฐกิจชุดใหม่อย่างรวดเร็วของทรัมป์สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยหลายฝ่ายมองว่ามีสามปัจจัยที่จะกำหนดอนาคตเศรษฐกิจโลก

 

  1. นโยบายแบบ ‘ทรัมป์’ ที่เน้นการปกป้องผลประโยชน์สหรัฐฯ: ในด้านบวก ทรัมป์ได้แต่งตั้ง อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของ Tesla และ วิเวก รามาสวามี นักธุรกิจรุ่นใหม่ ให้นำทีมปฏิรูประบบราชการผ่านหน่วยงานใหม่ที่เรียกว่า DOGE พร้อมสัญญาว่าจะลดงบประมาณรัฐถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี AI แต่ในทางกลับกัน นโยบายที่น่ากังวลคือการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนถึง 60% และจากประเทศอื่นๆ 10-20% รวมถึงแผนเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมายครั้งใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานและเงินเฟ้อพุ่งสูง

 

  1. อุปสรรคในทางปฏิบัติที่ต้องเผชิญ: แม้นโยบายจะฟังดูแข็งกร้าว แต่การนำไปปฏิบัติจริงอาจไม่ง่ายนัก การขึ้นภาษีนำเข้าต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งแม้แต่พรรครีพับลิกันเองก็อาจคัดค้าน ขณะที่การเนรเทศผู้อพยพจำนวนมากต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐต่างๆ ซึ่งหลายรัฐอาจปฏิเสธ

 

  1. ปัจจัยด้านบุคลิกภาพของทรัมป์: ทรัมป์เป็นที่รู้จักในเรื่องการตัดสินใจที่ไม่แน่นอนและการให้ความสำคัญกับตลาดหุ้น การดำเนินนโยบายจริงอาจแตกต่างจากที่ประกาศไว้ โดยเฉพาะหากส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน

 

แม้มีความเป็นไปได้ที่นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ยุค 2.0 จะทำได้ไม่เร็ว แต่ความเสี่ยงมีมาก โดยเฉพาะสงครามการค้า เมื่อสหรัฐฯ เตรียมขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 60% สูงกว่าประเทศอื่นที่จะถูกเก็บที่ 10-20% ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าอาจทำให้การนำเข้าจากจีนอาจดิ่งลงถึง 85% หากมาตรการนี้มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ โดยในฝั่งของจีน หลายฝ่ายมองว่าจีนพร้อมจะตอบโต้ด้วยการปล่อยค่าเงินหยวนอ่อนค่า ท่ามกลางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวต่อเนื่องกว่า 3 ปี ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจยอมให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเพื่อช่วยผู้ส่งออก ขณะที่หันไปเน้นการลงทุนในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น 9.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 เพื่อรองรับการส่งออกไปยังตลาดอื่นทดแทนสหรัฐฯ

 

เรามองว่าการที่เศรษฐกิจจีนซบเซาในประเทศ ประกอบกับตลาดสหรัฐฯ ที่กำลังจะปิดประตู ทำให้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของจีนต้องมุ่งเป้าไปที่การส่งออกไปยังประเทศที่สามเช่นไทยมากขึ้น โดยหากพิจารณาจากตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของไทยที่ขยายตัวดีที่ 3.0% แต่เมื่อพิจารณาไส้ในจะพบว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสขยายตัวดีนั้นมาจากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวแรงตามการเบิกจ่ายงบประมาณที่เร่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสุทธิเป็นส่วนทำให้ GDP ขยายตัวชะลอจากไตรมาสก่อนจากการนำเข้าที่มากขึ้น โดยการนำเข้าสินค้าที่ขยายตัวดีนั้นส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก คอมพิวเตอร์ หม้อแปลงและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า บ่งชี้การตีตลาดของจีน ซึ่งจะมีมากขึ้นหากสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น

 

ในภาพใหญ่ เราจับตาสินค้าต่างๆ ที่จะมีการทำสงครามการค้ารุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจีนก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเพิ่มการส่งออกจาก 1 ล้านคันในปี 2018 เป็น 5 ล้านคันในปี 2024 ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด ทำให้หลายประเทศเริ่มใช้มาตรการกีดกัน ทั้งสหรัฐฯ ที่เตรียมห้ามใช้ซอฟต์แวร์จีนในรถยนต์ ซึ่งเท่ากับห้ามนำเข้ารถยนต์จีนไปโดยปริยาย แคนาดาที่ตั้งกำแพงภาษี 100% และยุโรปที่กำลังถกเถียงเรื่องการเก็บภาษี 45% แต่เยอรมนีและฮังการีคัดค้านเพราะกลัวจีนตอบโต้ นอกจากนั้นบราซิล ชิลี และเม็กซิโก เพิ่มภาษีเหล็กนำเข้าจากจีน อินโดนีเซียที่ขู่เก็บภาษีสูงถึง 200% ในสินค้าบางหมวด เช่น เซรามิก สิ่งทอ และรองเท้า และมาเลเซียทบทวนมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดเหล็กจากจีน

 

ในส่วนของไทย การกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะประเด็นการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 19 ด้วยมูลค่า 3.28 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจทำให้ไทยเผชิญความท้าทายในประเด็นเครื่องกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) อย่างน้อย 3 ประการ คือ

 

  1. ปัจจุบันไทยยังคงถูกจัดอยู่ใน Watch List (WL) ในประเด็นการคุ้มครองและการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยสหรัฐฯ กังวลในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ การจำหน่ายสินค้าปลอมแปลง ความล่าช้าในกระบวนการจดสิทธิบัตร และการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มงวดเพียงพอ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ อาจนำประเด็นเหล่านี้มาเล่นงานได้

 

  1. ไทยถูกจัดให้อยู่ในสถานะประเทศที่ต้องจับตาในเกณฑ์ประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) ของสหรัฐฯ โดยเกณฑ์ดังกล่าวมี 3 ข้อหลัก และประเทศที่ถูกจับตาต้องเข้าเงื่อนไขอย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อ ซึ่งในปัจจุบันไทยเข้าเกณฑ์ 2 จาก 3 ข้อ คือมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 32,839 ล้านดอลลาร์ (เกินเกณฑ์ 20,000 ล้านดอลลาร์) และมีการสะสมทุนสำรองเพิ่มขึ้น 25,300 ล้านดอลลาร์ในช่วง 12 เดือน (เกินเกณฑ์ 2% ของ GDP) ซึ่งหากเราถูกจัดให้เป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ไทยอาจถูกบังคับให้ปรับนโยบายการเงินตามเงื่อนไขของสหรัฐฯ อาจนำไปสู่มาตรการกดดันทางการค้าและการลงทุนเพิ่มเติม และ

 

  1. สหรัฐฯ กดดันให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูที่ใช้สาร Ractopamine ซึ่งหากเราต้องยอมตาม จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยที่ปัจจุบันมีเกษตรกรรายย่อยกว่า 180,000 ราย มีฟาร์มขนาดกลางถึงใหญ่อีก 20,000 ราย และจะทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ 15-20% ซึ่งสหรัฐฯ อาจใช้ประเด็นนี้เป็นเงื่อนไขในการเจรจาการค้า โดยขู่ว่าจะขึ้นภาษีสินค้าไทยหากไม่ยอมเปิดตลาด

 

ในส่วนคำแนะนำการลงทุน เรามองว่านักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศและมีลักษณะป้องกันความเสี่ยง (Defensive Growth) เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม การท่องเที่ยว โรงพยาบาล และค้าปลีก ซึ่งได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

 

สำหรับหุ้นที่แนะนำสำหรับไตรมาส 1/25 มี 5 ตัว ดังนี้: ADVANC, AOT, BCH, CPALL และ HMPRO โดยจุดเด่นร่วมของหุ้นที่แนะนำ ได้แก่ 1. เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ 2. มีลักษณะ Defensive Growth (เติบโตแต่มีความเสี่ยงต่ำ) 3. ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4. มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และ 5. มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่ดี

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรระมัดระวังความเสี่ยงในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อาจกลับมา ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น

 

โดยสรุป เรามองว่าปี 2025 อาจเป็นปีแห่งโอกาสและความท้าทาย ผู้ลงทุนจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง

 

ขอให้นักลงทุนโชคดี

 

หมายเหตุ:

  • ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

 

อ้างอิง:

  • ‘CafeInvest’ แหล่งรวมข้อมูลการลงทุน และบทวิเคราะห์คุณภาพ โดย InnovestX: www.innovestX.co.th/cafeinvest
  • ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนักลงทุนกับ InnovestX เปิดบัญชีลงทุน: https://innovestx.onelink.me/23if/u2qmpt6r
  • รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก: https://linktr.ee/InnovestX
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X