×

ทรัมป์เตรียมเสนอผู้หญิงขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ แทน รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก

โดย THE STANDARD TEAM
20.09.2020
  • LOADING...

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าเขาจะเสนอชื่อผู้หญิงเพื่อขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ แทน รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 กันยายน) ด้วยโรคมะเร็ง

 

การประกาศดังกล่าวของทรัมป์ได้เพิ่มความร้อนแรงทางการเมืองเกี่ยวกับประเด็นการสรรหาผู้ที่จะมารับตำแหน่งแทนกินส์เบิร์ก 

 

โดย โจ ไบเดน ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตแย้งว่า การตัดสินใจว่าใครจะมารับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงต่อจากกินส์เบิร์กควรจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่า ผู้พิพากษาศาลศาลสูงคนใหม่จะต้องทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งโดยเร็วที่สุด ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายเดโมแครตเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกรงว่าดุลอำนาจในศาลฎีกาสหรัฐฯ ซึ่งผู้พิพากษาที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมครองเสียงข้างมากมายาวนานนับทศวรรษนั้นจะยิ่งเอนเอียงไปทางฝั่งรีพับลิกัน ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมเช่นกัน

 

ทั้งนี้การถ่วงดุลอำนาจในศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 9 คน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินชี้ขาดเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่มีความสำคัญที่สุดในกฎหมายสหรัฐฯ 

 

“ผมจะเริ่มเสนอชื่อผู้รับตำแหน่งในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเป็นผู้หญิง” ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่เมืองฟาเยตต์วิลล์ ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา “ผมคิดว่าผู้ที่จะมารับตำแหน่งนี้ควรเป็นผู้หญิง เพราะผมชอบผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย”

 

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ชื่นชมผู้พิพากษาหญิงสองคนจากศาลอุทธรณ์ ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าอาจเป็นตัวเลือกที่ทรัมป์มองไว้ โดยผู้พิพากษาทั้งสองคน ได้แก่ เอมี โคนีย์ บาร์แรตต์ และ บาร์บารา ลาเกา มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ซึ่งจะทำให้ดุลอำนาจในศาลสูงสุดเอียงไปทางฝ่ายรีพับลิกัน

 

พรรคเดโมแครตคัดค้านการเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาคนใหม่ก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยย้อนเกล็ดว่ารีพับลิกันเองก็ได้เคยขัดขวางอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในการเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ เมื่อปี 2016

 

ในเวลานั้น มิตช์ แม็กคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา ได้ให้เหตุผลคัดค้านการเสนอชื่อว่า เนื่องจากเป็นปีเลือกตั้ง แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส.ว. แม็กคอนเนลล์กลับกล่าวว่า เขาจะดำเนินการรับเรื่องการเสนอชื่อของประธานาธิบดีทรัมป์ และนำชื่อขึ้นโหวตในวุฒิสภาก่อนวันเลือกตั้ง 

 

กินส์เบิร์กเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนระยะแพร่กระจายที่บ้านของเธอในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เธอเป็นไอคอนแห่งเสรีนิยม เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี และเธอเป็นผู้พิพากษาหญิงคนที่ 2 เท่านั้นในประวัติศาสตร์ศาลสูงสหรัฐฯ 

 

การแต่งตั้งผู้พิพากษาในสหรัฐฯ นับเป็นปัญหาทางการเมือง (Political Question) ซึ่งหมายความว่าประธานาธิบดีเสนอชื่อผู้ที่จะมารับตำแหน่ง จากนั้นวุฒิสภาลงมติเพื่อรับรองหรือปฏิเสธ 

 

กินส์เบิร์กซึ่งดำรงตำแหน่งมานาน 27 ปี เป็นหนึ่งในผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยม 4 คนจากผู้พิพากษาทั้งหมด 9 คนในศาลฎีกาสหรัฐฯ ดังนั้นหากรีพับลิกันเป็นฝ่ายโหวตเลือกผู้ที่จะมารับตำแหน่งแทนกินส์เบิร์ก ดุลอำนาจในศาลก็จะเอียงไปทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างเด็ดขาด 

 

ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเลือกผู้พิพากษาศาลสูงมาแล้ว 2 คนตระหนักดีว่า หากผู้ที่ตนเสนอชื่อได้รับการลงมติรับรองโดยวุฒิสภา ก็จะทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมครองอำนาจในการตัดสินใจที่สำคัญๆ ในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า เนื่องจากผู้พิพากษาเป็นตำแหน่งตลอดชีพ เว้นเสียแต่ผู้พิพากษาท่านนั้นๆ จะตัดสินใจเกษียณอายุ 

 

ด้าน ส.ว. แม็กคอนเนลล์ได้ระบุในแถลงการณ์ภายหลังการเสียชีวิตของกินส์เบิร์กว่า “ผู้ที่ประธานาธิบดีทรัมป์เสนอชื่อจะได้รับการลงมติในชั้นวุฒิสภาสหรัฐฯ”

 

ท่าทีล่าสุดของ ส.ว. แม็กคอนเนลล์นั้นขัดแย้งกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2016 โดยในครั้งนั้นเขาระบุว่า “ชาวอเมริกันควรมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกผู้พิพากษาศาลสูงคนใหม่” ซึ่งหมายความว่า “ตำแหน่งที่ว่างลงนี้ควรว่างต่อไปจนกว่าเราจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่” แต่ตอนนี้เขากลับบอกว่าวุฒิสภามีสิทธิ์ที่จะดำเนินการลงมติ เพราะพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ และประธาธิบดีทรัมป์เป็นประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน

 

ฟากฝั่งเดโมแครตออกมาตอบโต้ด้วยการนำถ้อยคำที่แม็กคอนเนลล์เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2016 มาย้อนซ้ำ โดย ชัค ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา ได้ทวีตข้อความที่ ส.ว. แม็กคอนเนลล์เคยกล่าวไว้เมื่อ 4 ปีก่อน ขณะที่ไบเดนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ไม่มีอะไรต้องสงสัย ผมขออธิบายชัดๆ ว่า ประชาชนเลือกประธานาธิบดี และประธานาธิบดีเลือกผู้พิพากษาเพื่อให้วุฒิสภาพิจารณา”

 

นอกจากนี้ตัวของกินสเบิร์กก็ได้แสดงความรู้สึกของเธอเองอย่างชัดเจนในช่วงก่อนที่เธอจะเสียชีวิตว่า 

 

“ความปรารถนาแรงกล้าที่สุดของดิฉันคือ จะไม่มีใครมาแทนที่ดิฉันจนกว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ” เธอกล่าวในแถลงการณ์ที่มอบให้กับหลานสาวของเธอ จากการเปิดเผยของ National Public Radio (NPR)

 

การเสียชีวิตของ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก หญิงแกร่งผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและความเท่าเทียมกันทางเพศ ทำให้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีมีปัจจัยชี้ชะตาเข้ามาเพิ่ม นั่นคือประเด็นเรื่องสิทธิการทำแท้ง (คดี Roe v. Wade) ซึ่งเป็นใจกลางความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน

 

โดยในการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อปี 2018 ทางพรรคเดโมแครตสามารถคว้าที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจากเขตการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันกันสูง (Swing District) แถบชานเมือง ซึ่งให้ความสำคัญกับการที่ผู้หญิงควรมีสิทธิ์ตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง 

 

ขณะที่ผ่านมาสตรีกลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะผู้นับถือศาสนาคริสต์อีแวนเจลิคัล มีความกังขาเกี่ยวกับบทบาทของทรัมป์ สตรีกลุ่มนี้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิในการมีชีวิต (Right to Life) ซึ่งหากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงเป็นผู้หญิง ก็อาจช่วยให้ทรัมป์ดึงคะแนนโหวตจากกลุ่มผู้หญิงกลับคืนมาได้ หลังจากที่โพลสำรวจความคิดเห็นแสดงให้เห็นว่า คะแนนสนับสนุนจากกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดี 

 

สำหรับปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐฯ เผชิญกับความวุ่นวายสารพัดเหตุการณ์ ทั้งการระบาดของโควิด-19 และการประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิว ประเด็นเรื่องการทำแท้งกำลังกลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญล่าสุดที่อาจชี้ชะตาการเลือกตั้งปลายปีนี้ 

 

ศาลสูงสุดสำคัญอย่างไร?

ในหลายกรณี ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ จะทำหน้าที่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับกฎหมายที่มีการโต้แย้งกันสูง ข้อพิพาทระหว่างรัฐและรัฐบาลกลาง

 

ตัวอย่างกฎหมายสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้มีบทบาท เช่น การรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันในทั้ง 50 รัฐ การอนุญาตให้คำสั่งห้ามเดินทางของประธานาธิบดีทรัมป์มีผลบังคับใช้ และการชะลอแผนการของสหรัฐฯ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ยังมีการอุทธรณ์กันอยู่ 

 

นอกจากนี้ศาลฎีกายังต้องรับผิดชอบประเด็นสำคัญๆ เช่น สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (Reproductive Rights) ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักๆ ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลุ่ม Pro-life หรือกลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านการทำแท้งต้องการถ่วงดุลอำนาจจากฝ่ายเสรีนิยม

 

ใครเป็นตัวเต็ง?

– บาร์บารา ลาเกา: ชาวอเมริกันเชื้อสายคิวบาแห่งศาลอุทธรณ์ 11th Circuit Court of Appeals ในแอตแลนตา เธอเป็นผู้พิพากษาเชื้อสายฮิสแปนิกคนแรกในศาลฎีกาฟลอริดา และเป็นอดีตพนักงานอัยการกลาง 

 

– เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์: สมาชิกของศาลอุทธรณ์ 7th Circuit Court of Appeals ในชิคาโก เธอเป็นนักอนุรักษ์นิยมผู้เคร่งศาสนา และเป็นที่รู้จักจากการแสดงความเห็นเรื่องการต่อต้านการทำแท้ง เธอเป็นนักเรียนทุนกฎหมายจาก Notre Dame Law School ในรัฐอินดีแอนา

 

– เคต คัมเมอร์ฟอรด์ ทอดด์: รองที่ปรึกษาทำเนียบขาว ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนมากในทำเนียบขาว เธอเป็นอดีตรองประธานอาวุโสและหัวหน้าที่ปรึกษา US Chamber Litigation Center ซึ่งเป็นบทบาทที่ทำให้เธอเป็นที่เคารพนับถือ

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising