×

ทรัมป์พบคิม ใครได้ใครเสียจากซัมมิตสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ

14.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • นักวิเคราะห์ไทยและเทศมองว่า การประชุมสุดยอดระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์กับคิมจองอึนที่สิงคโปร์เป็นเพียงเวทีโฆษณาชวนเชื่อที่อวดอ้างเกินจริงของผู้นำ เพราะไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้
  • ผู้ชนะที่แท้จริงคือจีน ซึ่งได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ ยุติการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ และโอกาสทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือ
  • การรวมชาติเกาหลียังเป็นเรื่องที่ห่างไกล แต่น่าจับตาว่า หากภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์หมดไปแล้ว การสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ อาจเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและตลาดแรงงานขนาดใหญ่ในเกาหลีเหนือ
  • ญี่ปุ่นอาจไม่ได้อะไรเลยจากซัมมิตทรัมป์-คิมครั้งนี้ เพราะยังคงเผชิญภัยคุกคามจากขีปนาวุธพิสัยใกล้ของเกาหลีเหนือ และยังไม่ทราบชะตากรรมของชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวในเกาหลีเหนือ

แม้จะผ่านพ้นไปแล้วสำหรับซัมมิตครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กับคิมจองอึน ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสู่สันติภาพที่ทั่วโลกรอคอย แต่ก็ยังมีควันหลงจากเวทีประชุมที่ผู้คนหยิบยกมาถกกัน รวมถึงเกิดคำถามขึ้นตามมามากมายว่า ซัมมิตครั้งนี้ประสบความสำเร็จจริงๆ หรือ

 

ถึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศคู่อริ ทว่านักวิเคราะห์ทั้งไทยและเทศจำนวนมากมองตรงกันว่า ความสำเร็จที่ได้จากการประชุมสุดยอดที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมาเป็นเพียงนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ มิหนำซ้ำยังถูกมองเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของทรัมป์และคิมจองอึนที่ส่งผลดีต่อตัวผู้นำประเทศเท่านั้น

 

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อาจารย์สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การประกาศความสำเร็จของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นการอวดอ้างผลงานเกินจริง หรือสร้างภาพให้ดูดีเกินจริง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นจากตลาดหุ้นที่ไม่ได้พุ่งขึ้นขานรับซัมมิตครั้งนี้มากนัก เนื่องจากนักลงทุนส่วนมากก็มองออกว่าสิ่งที่สองผู้นำตกลงกันเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เพราะประเด็นสำคัญเกี่ยวกับรายละเอียดขั้นตอนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ยังไม่ได้ตกลงกัน

 

แม้สองฝ่ายจะลงนามในความตกลงฉบับประวัติศาสตร์ ซึ่งเรียกว่าเอกสารฉบับครอบคลุม (Comprehensive Document) แต่ผู้สันทัดกรณีมองว่า เนื้อหาในนั้นไม่ได้ครอบคลุมทุกมิติตามชื่อ แต่เป็นแค่ข้อตกลงแบบหลวมๆ ที่ไม่มีรายละเอียดแน่ชัด

 

เราย้อนกลับไปดูเอกสารฉบับดังกล่าวกันสักนิดว่าทรัมป์และคิมตกลงอะไรกันบ้าง

 

  • สองฝ่ายจะสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีรูปแบบใหม่
  • ผลักดันสันติภาพให้เกิดอย่างยั่งยืนและมั่นคง
  • ทำงานร่วมกันเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรอย่างสมบูรณ์ภายใต้ ‘ปฏิญญาปันมุนจอมว่าด้วยสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และเอกภาพบนคาบสมุทรเกาหลี’ ที่ผู้นำเกาหลีเหนือจัดทำร่วมกับผู้นำเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา
  • เกาหลีเหนือจะกู้ศพทหารและเชลยศึกสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตในสงครามเกาหลีระหว่างปี 1950-1953 และส่งกลับคืนไปให้สหรัฐฯ

 

จะเห็นได้ว่าข้อตกลงแบบลายลักษณ์อักษรที่ผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือจัดทำร่วมกันไม่ใช่เรื่องใหม่หรือมีความคืบหน้าจากเดิมไปมาก แต่ประเด็นที่น่าจับตาและนำมาพินิจพิเคราะห์ก็คือ อะไรคือกุศโลบายแท้จริงของโดนัลด์ ทรัมป์และคิมจองอึนในการเจรจาครั้งนี้ และใครเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์หรือเพลี่ยงพล้ำ ซึ่งล้วนแต่เป็นคำถามที่ทุกคนอยากรู้คำตอบ

 

 

สหรัฐฯ ถูกมองว่ายอมอ่อนข้อ

สื่อต่างประเทศมองว่าสิ่งที่ดูจะคืบหน้าที่สุดในกระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีก็คือวาทะสวยหรูที่สองฝ่ายได้สร้างไว้ในที่ประชุม สำหรับทรัมป์แล้ว ซัมมิตครั้งนี้ทำให้เขาสามารถป่าวประกาศผลงานตัวเองในการเจรจากับผู้นำเกาหลีเหนือแบบที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เคยทำได้มาก่อน

 

แต่คนภายนอกอาจมองว่า สหรัฐฯ ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเกาหลีเหนือหลายช่วงตัวกลับยอมอ่อนข้อให้เกาหลีเหนือในประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดและเป็นปัญหาพิพาทกันมาเนิ่นนาน นั่นก็คือการยอมยุติซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการยั่วยุจนทำให้คาบสมุทรเกาหลีร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง

 

แต่ทรัมป์ชี้แจงว่าการตัดสินใจเช่นนี้จะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถประหยัดงบประมาณจำนวนมากที่ใช้ไปกับการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ในแต่ละครั้ง เพราะแค่การส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดจากฐานทัพบนเกาะกวมไปร่วมซ้อมรบทางอากาศในเกาหลีใต้แต่ละเที่ยว ก็มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและการซ่อมบำรุงเป็นเงินหลักล้าน ซึ่งทรัมป์มองว่าไม่คุ้มภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่

 

อย่างไรก็ดี ดร.สมชาย มองว่า สหรัฐฯ ไม่ได้อะไรมากนักจากซัมมิตครั้งนี้และแค่สอบผ่านแบบฉิวเฉียด เพราะจากการแถลงข่าวของทรัมป์ เรายังไม่เห็นว่าสหรัฐฯ สามารถตกลงกับเกาหลีเหนือในเรื่องขอบเขตการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นวาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ เพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องสร้างความกระจ่างว่า การปลดอาวุธนิวเคลียร์ หรือ Denuclearization ในที่นี้มีความครอบคลุมมากแค่ไหน

 

เพราะนอกจากการทำลายฐานทดสอบนิวเคลียร์ที่เหลืออยู่และยุติการทดสอบระเบิดปรมาณูและขีปนาวุธแล้ว ยังมีคำถามว่าจะมีการทำลายเตาปฏิกรณ์และเครื่องหมุนเหวี่ยงที่ใช้สำหรับเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมในโครงการนิวเคลียร์ และหยุดสะสมแร่ยูเรเนียมบริสุทธิ์ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ รวมถึงทำลายอาวุธที่มีในครอบครองทั้งหมด ตลอดจนอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้าไปตรวจสอบคลังอาวุธได้หรือไม่ นี่ยังไม่รวมโนว์ฮาวเกี่ยวกับนิวเคลียร์ ซึ่งเกาหลีเหนือจะจัดการกับมันอย่างไร แน่นอนว่าเกาหลีเหนือคงไม่อยากทำลายอาวุธนิวเคลียร์ในคลังทั้งหมด เพราะเป็นอำนาจต่อรองหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่เพื่อรับประกันความปลอดภัยของระบอบผู้นำเกาหลีเหนือ

 

 

ดังนั้นการที่สหรัฐฯ มีอำนาจต่อรองมากกว่า แต่กลับได้อะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันจากซัมมิตครั้งนี้มากนัก จึงถือว่าแค่ทำดีเสมอตัว อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐฯ มองว่าพวกเขาได้สิ่งแลกเปลี่ยนจากเกาหลีเหนือก่อนหน้าการประชุมแล้ว ทั้งการปล่อยตัวนักโทษอเมริกัน 3 คนในเกาหลีเหนือ และการรื้อถอนฐานทดสอบนิวเคลียร์ปุงกเยรีในจังหวัดฮัมกยองเหนือ

 

รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ทรัมป์เป็นเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์และเป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์โชกโชน ดังนั้นเขาจึงมีศิลปะในการต่อรองสูง ทรัมป์ย่อมทราบดีว่าสหรัฐฯ จะได้อะไรจากดีลกับเกาหลีเหนือ ซึ่งเบื้องหลังอาจมีข้อตกลงที่เรายังไม่รู้อีกมาก

 

ในระหว่างแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นซัมมิตที่สิงคโปร์ ทรัมป์ยืนยันเองว่าปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญจะเป็นวาระหลักที่จะถูกบรรจุเป็นหัวข้อการประชุมกับผู้นำเกาหลีเหนือในโอกาสต่อๆ ไปอย่างแน่นอน ดังนั้นประโยชน์ที่สหรัฐฯ จะได้จากการต่อรองในเรื่องนี้ยังเป็นสิ่งที่เราจะต้องจับตาดูกันต่อไป

 

 

เวทีพรีเซนต์ผู้นำเกาหลีเหนือ

คิมจองอึนเดินเข้าสู่โต๊ะเจรจาแบบเสียเปรียบช่วงชกแต่แรก เขาเป็นคนง้อทรัมป์ให้เปลี่ยนใจกลับมาจัดประชุมหลังจากที่ตัดสินใจยกเลิกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเกาหลีเหนือต้องการเจรจากับผู้นำสหรัฐฯ อย่างมาก พวกเขายอมระเบิดทำลายฐานทดสอบนิวเคลียร์ปุงกเยรีเพื่อแสดงความจริงใจ และส่งมือขวาคนสนิทของคิมจองอึนเป็นทูตสันถวไมตรีไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อผลักดันซัมมิตให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาก็ทำได้สำเร็จ

 

แม้เกาหลีเหนือจะมีนิวเคลียร์เป็นเครื่องต่อรองเพียงอย่างเดียวและเป็นไพ่เด็ดใบสุดท้าย แต่พวกเขาก็ทำให้เห็นว่าสามารถคว้าหลักประกันด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ ได้ในระดับหนึ่งจากการที่ทรัมป์ประกาศระงับการซ้อมรบกับเกาหลีใต้ โดยเกาหลีเหนือยังไม่ได้เสียอะไรเพิ่ม นอกจากคำมั่นสัญญาว่าจะปลดอาวุธนิวเคลียร์แบบเดียวกับที่เพิ่งตกลงกับเกาหลีใต้ในระหว่างการประชุมสุดยอดของคิมจองอึนและมุนแจอินเมื่อเดือนเมษายน

 

คิมยังสามารถเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นผู้นำที่มีอำนาจบารมีพอที่จะทาบรัศมีผู้นำโลกเสรีได้ด้วย หลังพยายามไต่เต้าบนถนนสายการทูตในเวทีโลก เริ่มจากการเยือนจีนเพื่อพบปะประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ต่อด้วยการประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีมุนแจอินของเกาหลีใต้ และการต้อนรับการมาเยือนของ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้

 

และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีผู้นำโลกอีกหลายคนที่รอพบหารือกับคิม รวมถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นด้วย เรียกได้ว่ามีแขกที่ต้องการมาเยี่ยมเยียนชนิดหัวกระไดบ้านไม่แห้งเลยทีเดียว

 

ประโยชน์เด่นชัดที่คิมได้จากเวทีนี้ก็คือโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่เวทีโลกอย่างสง่าผ่าเผย ซึ่งจะกรุยทางสำหรับเกาหลีเหนือในการคบค้าสมาคมกับประเทศอื่นๆ และแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือข้อตกลงแลกเปลี่ยนต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกาหลีเหนือไม่ต้องง้อสหรัฐฯ หรือพึ่งพาจีนมากอีกต่อไป

 

ศาตราจารย์บรูซ เบคโทล แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Angelo State University ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับเกาหลีเหนือหลายเล่ม ให้ทัศนะว่า คิมจองอึนแทบไม่เสียอะไรจากซัมมิตครั้งนี้เลย เพราะสิ่งที่เขาลั่นวาจาในที่ประชุม เช่น จะยุติการทดสอบขีปนาวุธและทำลายฐานทดลองนิวเคลียร์เพิ่มเติมก็เป็นข้อตกลงที่มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว ขณะที่ตัวซัมมิตเองก็เป็นผลลัพธ์ความสำเร็จที่คิมจองอึนสามารถนำไปโฆษณาชวนเชื่อในประเทศของเขาได้

 

อย่างไรก็ตาม คิมจองอึนยังไม่ได้รับหลักประกันความอยู่รอดของระบอบผู้นำจากทรัมป์บนโต๊ะประชุมรอบนี้ นอกจากนี้เบคโทลยังเตือนว่า แถลงการณ์ร่วมของทรัมป์และคิมที่มีลักษณะกำกวมอาจสร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มคนที่จงรักภักดีต่อคิมและกำลังจับตาคิมทุกฝีก้าว   

 

จีนคือผู้ชนะอย่างแท้จริง

เกาหลีเหนือถูกมองเป็นรัฐกันชนของจีนในทางภูมิรัฐศาสตร์มาตลอด ดังนั้นการที่เกาหลีเหนือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ อาจไม่ส่งผลดีต่อจีนนัก เพราะจะทำให้จีนถูกปิดล้อมโดยกลุ่มประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ทันที

 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนเองก็ต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีมั่นคงและมีเสถียรภาพ เพราะหากเกิดศึกสงครามย่อมสร้างความโกลาหลขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้เกิดวิกฤตผู้อพยพไหลทะลักเข้าจีนผ่านทางชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้เศรษฐกิจและการค้าในบริเวณชายแดนก็พลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

รศ.ดร.สมชาย ให้ทัศนะว่า เมื่อมองถึงตรงนี้ จีนเป็นผู้ชนะที่แท้จริงจากซัมมิตระหว่างทรัมป์และคิมครั้งนี้ เพราะอย่าลืมว่าในอดีตที่ผ่านมาจีนเรียกร้องมาตลอดให้สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ยุติการซ้อมรบร่วมทางทะเลเพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี ดังนั้นการที่ทรัมป์รับปากยอมงดซ้อมรบในบริเวณนี้จึงทำให้จีนเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ เพราะได้รับการตอบสนองในเรื่องผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และความมั่นคง

 

แต่จีนคงไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะหากมีซัมมิตระหว่างทรัมป์กับคิมครั้งถัดๆ ไป จีนอาจกดดันให้มีการบรรจุประเด็นการถอนทหารสหรัฐฯ จากฐานทัพในเกาหลีใต้เข้าสู่วาระการประชุม หลังทรัมป์ออกมาแย้มแล้วว่าท้ายที่สุดแล้วเขาต้องการให้ทหารอเมริกันกลับบ้าน

 

หรืออย่างน้อยที่สุดจีนอาจต้องการให้เปลี่ยนบทบาทของทหารอเมริกัน 28,000 คนในเกาหลีใต้ให้เป็นกองกำลังรักษาสันติภาพแทน

 

แต่ถ้าสหรัฐฯ ยอมถอนทหารทั้งหมดออกจากคาบสมุทรเกาหลีจริง ย่อมหมายถึงโอกาสทองของจีนในการแผ่ขยายอิทธิพลในเอเชียแบบไม่ต้องพะวงหลังบ้านเหมือนแต่ก่อน เพราะสหรัฐฯ มีฐานทัพขนาดใหญ่และยุทโธปกรณ์ครบครันที่นั่น การถอนตัวของสหรัฐฯ จะทำให้จีนถูกบีบคั้นน้อยลงจากแนวปิดล้อมของฐานทัพสหรัฐฯ ซึ่งมีอยู่ในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเกาะกวม

 

สำหรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จีนจะได้ประโยชน์อย่างมากหากเกาหลีเหนือเปิดประเทศ โดยเฉพาะโอกาสเข้าถึงตลาดแรงงานราคาถูก แต่ถึงแม้สหรัฐฯ จะกลับลำหันมาเพิ่มแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือด้วยมาตรการคว่ำบาตร ก็ไม่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกาหลีเหนือมากไปกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากจีนมีมูลค่าการค้ากับเกาหลีเหนือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 90% เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ และที่ผ่านมามาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติก็เพิ่งใช้ได้ผลหลังจากที่จีนยอมเล่นไม้แข็งงดนำเข้าแร่เหล็ก ถ่านหิน และอาหารทะเลจากเกาหลีเหนือเมื่อปีที่แล้ว เพราะถูกกดดันจากมติของสหประชาชาติ

 

ปัจจุบันจีนและเกาหลีเหนือมีการจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมและเขตการค้าเสรีในบริเวณชายแดน นอกจากนี้ยังมีโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่รออยู่ข้างหน้า แต่แค่นั้นอาจยังไม่พอ เพราะจีนยังต้องการทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการค้ากับเกาหลีเหนือให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในแถบมณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กำลังชะลอตัว

 

ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าทันทีที่ทรัมป์และคิมจองอึนจรดปากกาลงนามในเอกสารความตกลงฉบับครอบคลุมร่วมกัน จีนก็ออกมาเรียกร้องให้นานาชาติเร่งผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ

 

รศ.ดร.สมชายยังมองว่า หากกระบวนการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ยิ่งยืดเยื้อนานเท่าไร จีนก็ยิ่งได้ประโยชน์ เพราะจีนจะสามารถเข้ามามีอิทธิพลหรือบทบาทในการช่วยเจรจา ซึ่งจะทำให้สถานะของจีนมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ

 

 

เกาหลีใต้ได้มากแต่ก็เสียมาก

หลังเกาหลีถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ประเทศภายใต้ 2 ขั้วอุดมการณ์ทางการเมืองในยุคสงครามเย็นเมื่อกว่า 7 ทศวรรษก่อน เกาหลีใต้ก็เผชิญกับภัยคุกคามจากเพื่อนบ้านร่วมสายเลือดมาตลอด โดยถูกจ่อด้วยปืนใหญ่และขีปนาวุธที่เล็งมาที่กรุงโซล แม้ว่าสองฝ่ายจะทำสนธิสัญญาหยุดยิงในสงครามเกาหลีเมื่อปี 1953 ก็ตาม

 

แต่การพบกันระหว่างคิมจองอึนและมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่หมู่บ้านพักรบปันมุนจอมในเขตปลอดทหารเกาหลีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ที่เคยตึงเครียดคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น กระทั่งซัมมิตระหว่างทรัมป์และคิมได้ตอกย้ำพันธกรณีของเกาหลีเหนือที่มีต่อ ‘ปฏิญญาปันมุนจอมว่าด้วยสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และเอกภาพบนคาบสมุทรเกาหลี’ ซึ่งทำให้เกาหลีใต้มีความหวังมากขึ้นว่าจะเกิดสันติภาพบนคาบสมุทรอย่างถาวร หากเกาหลีเหนือเดินหน้ากระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์

 

หลังการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือสิ้นสุดลง มุนแจอินได้แสดงความยินดีกับความสำเร็จที่เกิดขึ้น โดยยกเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่การยุติปัญหาขัดแย้งที่ยังหลงเหลืออยู่จากยุคสงครามเย็น พร้อมกับเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งสันติภาพและความร่วมมือบนคาบสมุทรเกาหลี

 

กระนั้นก็ดี แม้ว่าเกาหลีใต้จะเห็นแสงสว่างแห่งความหวังที่ปลายทาง แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่หวาดวิตกว่าอาจคว้าน้ำเหลวในการเจรจาสันติภาพ เนื่องจากข้อตกลงต่างๆ ที่เกาหลีเหนือทำร่วมกับสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ยังมีลักษณะที่เป็นนามธรรม ไม่มีรายละเอียดหรือข้อปฏิบัติที่ชัดเจน

 

มิหนำซ้ำสิ่งที่ทำให้เกาหลีใต้ต้องคิดหนักในเวลานี้ก็คือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกาหลีเหนือจะต้องใช้ในกระบวนการสร้างสันติภาพและฟื้นฟูประเทศ ซึ่งทรัมป์เผยแล้วว่า เกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่เกาหลีเหนือในเรื่องนี้ เพราะเกาหลีเหนืออยู่ในสภาพถังแตกหลังจากถูกนานาชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลายสิบปี

 

แต่คำถามคือ ใครจะออกเงินเท่าไร เพราะบิลนี้มีมูลค่าหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

 

ส่วนเรื่องการรวมชาติที่ใครหลายๆ คนวาดฝันเอาไว้นั้น ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ และกรรมการบริหารหลักสูตรเกาหลีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่า เป็นเรื่องอีกยาวไกล เพราะกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลานานมาก เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่สุดของการรวมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของออสเตรีย เวียดนาม หรือเยอรมนี ในอดีตก็คือเจตจำนงของคนในประเทศว่าต้องการรวมชาติหรือไม่ และต้องผ่านการลงประชามติด้วย

 

คำถามคือ คนเกาหลีเหนือต้องการรวมกับเกาหลีใต้ไหม ตรงนี้ไม่มีใครรู้ เพราะเราไม่เคยได้ยินเสียงสะท้อนจากคนเกาหลีเหนือ แล้วคนเกาหลีใต้ล่ะต้องการรวมชาติไหม?

 

คำตอบคือ ณ ปัจจุบันคนที่สนับสนุนประธานาธิบดีมุนแจอินส่วนใหญ่คือคนในวัย 30 ปีลงมา ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ออกไปประท้วงขับไล่ ปาร์คกึนฮเย ที่ลานหน้าพระราชวังคยองบก คนกลุ่มนี้ไม่ได้รู้สึกผูกพันกับเกาหลีเหนืออีกต่อไป เพราะคนที่รู้สึกว่าเกาหลีเหนือเป็นญาติพี่น้องคือคนหลังวัยเกษียณส่วนใหญ่ หรือพูดง่ายๆ คือเป็นวัยรุ่นในช่วงปี 1950 ลองนึกดูว่าถ้าคุณอายุ 20 ในปี 1950 ปัจจุบันคุณจะต้องมีอายุมากกว่า 80 ปี เพราะฉะนั้นคนพวกนี้จึงไม่มีบทบาทอะไรแล้ว และก็เหลือจำนวนน้อยลงเต็มที ขณะที่กลุ่มคนวัยรุ่นในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มองว่าการรวมชาติอาจสร้างภาระให้กับเกาหลีใต้ด้วยซ้ำ

 

ดังนั้นการรวมชาติจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยสนับสนุนที่สุกงอมจริงๆ เช่น เกาหลีใต้เข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ขาดแรงงานหรือทรัพยากรขั้นรุนแรง แล้วชาวเกาหลีใต้เห็นว่าเกาหลีเหนือมีศักยภาพเพียงพอที่จะตอบโจทย์เหล่านี้ได้ เมื่อนั้นจึงจะมีโอกาสรวมชาติกันได้สำเร็จ

 

 

ญี่ปุ่นที่ถูกลืม

ดูเหมือนญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ถูกลืมในกระบวนการเจรจาสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยคุกคามของเกาหลีเหนือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเกาหลีใต้ เพราะเกาหลีเหนือมองญี่ปุ่นเป็นศัตรูคู่อาฆาตมาตลอด ต่างจากเกาหลีใต้ที่เกาหลีเหนือยังคิดรวมชาติ และที่ผ่านมาเกาหลีเหนือก็มีการทดสอบยิงขีปนาวุธขู่ญี่ปุ่นหลายครั้ง โดยหลายลูกมีการยิงข้ามหัวญี่ปุ่นไปตกในทะเลญี่ปุ่นหรือมหาสมุทรแปซิฟิกโดยที่ไม่แยแสต่อความรู้สึกของคนญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย

 

เราจะเห็นได้ว่านายกฯ ชินโซ อาเบะ ได้บินไปวอชิงตันเพื่อหารือกับทรัมป์ก่อนซัมมิตจะเปิดฉากขึ้นเพียงไม่กี่วัน เพื่อขอหลักประกันจากสหรัฐฯ ว่า ผลประโยชน์ของพวกเขาจะไม่ถูกลืมบนโต๊ะเจรจากับคิมจองอึน

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้สูงที่คิมอาจยกเลิกโครงการขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ซึ่งมีพิสัยการโจมตีไกลถึงเมืองสำคัญๆ ของสหรัฐฯ แต่การยกเลิกโครงการขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยใกล้ ซึ่งมีรัศมีทำการครอบคลุมทั่วประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเชื่อว่าคิมยังไม่พร้อมที่จะละทิ้งข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้แน่

 

ดังนั้นแม้ว่าคิมจะยุติโครงการสร้างหัวรบนิวเคลียร์ แต่หัวรบธรรมดาๆ จากขีปนาวุธพิสัยใกล้ก็มีอานุภาพเพียงพอที่จะทำลายเป้าหมายต่างๆ ในญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นยังต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลังอยู่ดี

 

ผศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า การเจรจาที่ผ่านมายังไม่มีใครเอ่ยถึงการลดหรือทำลายขีปนาวุธพิสัยใกล้ของเกาหลีเหนือที่เรียกว่า Rodong เลย และเกาหลีเหนือก็มีอาวุธนำวิถี Rodong อยู่มากกว่า 100 ลูก

 

สิ่งที่น่าจับตาก็คือหากเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ไม่ได้เป็นศัตรูกันอีกต่อไป คู่แค้นฝังใจอย่างญี่ปุ่นอาจถูกดึงขึ้นมาเพื่อใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือ Re-Construct ประวัติศาสตร์ โดยการหาศัตรูร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้ในช่วงสงครามเย็น

 

ดังนั้นสิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการมากที่สุดก็คือการให้นานาชาติเดินหน้าคว่ำบาตรเกาหลีเหนือขั้นรุนแรงต่อไป จนกว่าจะแน่ใจได้ว่าภัยคุกคามเหล่านี้ได้หมดสิ้นไปแล้ว

 

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังกังวลด้วยว่า ที่ประชุมระหว่างทรัมป์และคิมอาจตกหล่นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวญี่ปุ่นที่ถูกอุ้มหายสาบสูญในเกาหลีเหนือเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความบาดหมางร้าวลึกระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีเหนือ

 

 

เอเชียตะวันออกจะไม่เหมือนเดิม

ในมุมมองของ ผศ.ดร.ปิติ นั้น ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศในเอเซียตะวันออกอาจพลิกโฉมหน้าไปจากเดิมหลังการประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์และคิม

 

หากลองมองย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีมีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันอยู่ตลอดเวลา เริ่มจากคิมจองอึนส่งสัญญาณเป็นมิตรโดยส่งทัพนักกีฬาและกองเชียร์ไปร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้, การประกาศยุติการทดสอบ ICBM และนิวเคลียร์, การเดินทางไปพบสีจิ้นผิงถึง 2 ครั้ง 2 ครา ไปจนถึงการพบปะกันครั้งแรกระหว่างคิมจองอึนและมุนแจอิน ผู้นำเกาหลีใต้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงสถานภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

 

จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างก็ได้อานิสงส์จากทิศทางการเมืองโลกใหม่ที่ได้จากเวทีซัมมิตทรัมป์-คิมครั้งนี้ แต่การแข่งขันกันด้านยุทธศาสตร์และการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของแต่ละประเทศอาจสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ในช่วงหลายเดือนหรือหลายปีข้างหน้า

 

ที่ผ่านมาเหตุการณ์ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีได้นำไปสู่การกระทบกระทั่งกันบ่อยครั้งระหว่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเดิมก็ไม่ค่อยจะถูกคอกันอยู่แล้วจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลที่มีการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกัน เช่น การแย่งชิงเกาะทาเคชิมะ หรือดอกโด ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลี และหมู่เกาะเซนกากุ หรือเตียวหยู ระหว่างญี่ปุ่นและจีน

 

ผศ.ดร.ปิติ มองว่า หากสองเกาหลีสามารถก้าวข้ามขวากหนามสู่การรวมชาติได้สำเร็จ จะทำให้จีนและญี่ปุ่นถูกท้าทายตำแหน่งผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแบบไม่ต้องสงสัย เมื่อคำนึงจากขนาดพื้นที่ของประเทศเกาหลีเดียว รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และตลาดแรงงานขนาดใหญ่ นอกจากนี้เกาหลียังมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำสมัย และมีกองทัพที่เกรียงไกรพร้อมเทคโนโลยีโนฮาวของนิวเคลียร์ที่สามารถนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมแขนงอื่นๆ ได้ ซึ่งจะทำให้เกาหลีเป็นประเทศที่เปรียบเหมือน ‘เสือติดปีก’

 

การรวมประเทศยังอาจช่วยเกาหลีใต้แก้ปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงานและสังคมสูงอายุ เพราะเกาหลีเหนือมีประชากรกว่า 25 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นตลาดแรงงานราคาถูก ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของเกาหลีในด้านต้นทุน

 

นี่ยังไม่รวมถึงอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นของเกาหลีที่มีต่อญี่ปุ่นและจีนด้วย

 

หากรวมชาติกันได้ เกาหลีจะมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์สำหรับการเป็น Hub ของระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยสามารถเชื่อมโยงเกาหลีใต้กับจีนและรัสเซียได้ และจะทำให้เกาหลีใต้สามารถเดินหน้าสร้างระเบียงเศรษฐกิจอีก 3 ระเบียงใหญ่ ได้แก่ Pan Yellow Sea Economic Belt, Pan East Sea Economic Belt และการเชื่อมโยงระบบรางอีก 3 เส้นทางระหว่างจีน เกาหลี และรัสเซียเข้าด้วยกัน

 

สหรัฐฯ กับโอกาสเข้าถึงขุมทรัพย์ทรัพยากรในเกาหลีเหนือ

ผศ.ดร.ปิติ บอกว่า ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลในเกาหลีเหนือคือสิ่งที่ทุกคนหมายมั่น โดยเฉพาะในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่ต้องการแหล่งซัพพลายสินแร่เพื่อป้อนอุตสาหกรรมไฮเทคอย่างไม่ขาดสาย เกาหลีเหนือเป็นเจ้าของแหล่งแร่ ‘แรร์เอิร์ธ’ (Rare Earth) หรือแร่หายากที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจาก Bloomberg)

 

แรร์เอิร์ธประกอบด้วยแร่ธาตุมีค่าต่างๆ อาทิ ซีเซียม, ดิสโพรเซียม, เออร์เบียม, ยูโรเพียม, แกโดลิเนียม, โฮลเมียม, แลนทานัม, ลูทีเทียม, นีโอดิเมียม, เพรซีโอดิเมียม, โพรมีเทียม, ซามาเรียม, สแกนเดียม, เทอร์เบียม, ทูเลียม, อิตเทอร์เบียม และอิตเทรียม

 

หากจะอธิบายให้เห็นภาพง่ายขึ้นก็คือ แร่ธาตุเหล่านี้คือวัตถุดิบหลักที่ใช้ในงานวิศวกรรมอากาศยานและอวกาศ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ แสงเลเซอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อน รวมถึงอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์และพลังงาน นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังอุดมไปด้วยแหล่งทองคำ เหล็ก ทองแดง เงิน สังกะสี แมกนีไทต์ และแหล่งน้ำมันดิบทั้งในทะเลตะวันออกและทะเลตะวันตก

 

ดังนั้นคำถามที่ผุดขึ้นในหัวตามมาก็คือ การที่สหรัฐฯ พยายามจะเจรจากับผู้นำเกาหลีเหนือให้ลุล่วง หรือพยายามเข้ามามีอิทธิพลเหนือเกาหลีเหนือ จะเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรล้ำค่าเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องติดตามดูกันต่อไป

 

แต่ในอดีต เราจะเห็นว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกของรัฐบาลสหรัฐฯ เกือบทุกชุด รวมทั้งการตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าไปสู้รบในต่างประเทศ มักถูกมองว่าผูกโยงกับโอกาสเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติหรือจุดยุทธศาสตร์สำคัญ รวมถึงกรณีการส่งทหารเข้าไปในอิรักเพื่อโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งถูกเคลือบแคลงมาตลอดว่าแฝงด้วยเจตนาซ่อนเร้นเรื่องแหล่งน้ำมันดิบในอิรัก

 

สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องกังวลหากภัยคุกคามบนคาบสมุทรเกาหลีหมดไป

อย่างที่โดนัลด์ ทรัมป์เพิ่งประกาศไปเมื่อวานนี้ว่า เกาหลีเหนือไม่ใช่ภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ อีกต่อไป ถึงแม้วอชิงตันยังคงกดดันเปียงยางด้วยกรอบเวลาให้ปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2020 ก็ตาม แต่คำถามที่ตามมาก็คือ หากไร้ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกขึ้นบัญชีโดยสหรัฐฯ ว่าเป็นแกนแห่งความชั่วร้าย (Axis of Evil) ร่วมกับอิรักและอิหร่านในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แล้ว สหรัฐฯ จะมีข้ออ้างอะไรในการกลับเข้ามาขยายบทบาทและอิทธิพลทางทหารในเอเชียแปซิฟิกอีก

 

แต่เหนือสิ่งอื่นใดในเวลานี้ก็คือปัญหาความไม่แน่นอน ขณะที่การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือก็ยังไม่จบลงง่ายๆ เพียงเท่านี้ ไม่ต่างจากปัญหาขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อและต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการหาทางออก ประกอบกับทรัมป์และคิมมีความบ้าบิ่นทั้งคู่ ยิ่งทำให้คาดเดานโยบายได้ยากลำบาก ดังนั้นจึงต้องจับตาดูชนิดวันต่อวัน แม้จะมีสัญญาณบวกเกิดขึ้น แต่ผลประโยชน์แห่งชาติไม่เข้าใครออกใคร และไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวรในทางการเมือง  

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising