×

การพบกันอีกครั้งของทรัมป์และปูติน ในวันที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียยังคงถูกตั้งคำถาม

13.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ‘มีสัญญาณไปในทิศทางบวก’ หลังผู้นำทั้งสองประเทศยืนยันว่า พวกเขาต่างมีบทสนทนาที่ดีแก่กันระหว่างที่เข้าร่วมประชุม APEC ที่เวียดนาม
  • ความสัมพันธ์ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ และวลาดิเมียร์ ปูติน เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายเฝ้าจับตามองมาโดยตลอด หลังจากที่มีข้อกล่าวหาว่ามีความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจเข้ามาพัวพันและแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 แม้ผู้นำทั้งสองประเทศจะยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

     ปิดฉากลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการประชุม APEC 2017 ที่เปิดโอกาสให้ผู้นำและตัวแทนเขตเศรษฐกิจกว่า 21 เขตในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้พบกันอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้นำทั้งสองประเทศเคยพบกันเป็นครั้งแรกในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

 

Photo: JORGE SILVA/AFP

 

บรรยากาศระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียในการประชุม APEC ที่เวียดนาม

     เป็นที่ทราบกันดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปในลักษณะที่ค่อนข้างตึงเครียดและมีวิวาทะกันแทบจะตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวโจมตีผู้นำรัสเซียว่ามีส่วนพัวพันและแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด และสนับสนุนให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง

     การพบหน้ากันระหว่างทรัมป์และปูตินในครั้งนี้เปิดโอกาสเล็กๆ ให้ผู้นำทั้งสองประเทศปรับความเข้าใจระหว่างกันเสียใหม่ โดยผู้นำทั้งสองประเทศต่างมีบทสนทนาที่ดีต่อกันในการพบกันครั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาไม่นาน เนื่องจากการจัดตารางและขั้นตอนต่างๆ ค่อนข้างกระชั้นชิด ด้านปูตินยังกล่าวด้วยว่าเขารู้สึกเสียดายที่การพูดคุยกับทรัมป์สั้นเกินไปด้วยระยะเวลาที่จำกัด ทั้งนี้ผู้นำทั้งสองประเทศยังชื่นชมซึ่งกันและกันออกสื่ออีกด้วย

     โดยทรัมป์ได้ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว (@realDonaldTrump) ใจความว่า “มีแต่พวกที่เอาแต่เกลียดชังและพวกโง่ที่ไม่รู้ว่าการมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียเป็นสิ่งที่ดี ผมต้องการที่จะแก้ไขปัญหาเกาหลีเหนือ ซีเรีย ยูเครน การก่อการร้าย และรัสเซียเองก็พร้อมที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่”

 

 

     นอกจากนี้ทั้งทรัมป์และปูตินยังเห็นชอบต่อมาตรการปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ในซีเรียร่วมกัน โดยชี้ว่าปฏิบัติการด้านการทหารอาจไม่ได้นำไปสู่ทางออกของปัญหา พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพเจนีวาเพื่อยุติปัญหาและไฟสงครามนี้ร่วมกัน

 

 

ข้อกล่าวหาและความสัมพันธ์ที่ถูกตั้งคำถาม

     กลายเป็นประเด็นร้อนในการเมืองสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและโดนัลด์ ทรัมป์ นับตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2016 ซึ่งทั้งทรัมป์และปูตินต่างปฏิเสธว่ารัสเซียไม่ได้เข้าแทรกแซงการเมืองสหรัฐฯ ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้นำรัสเซียยังเผยว่าเขารู้สึกแย่ที่ถูกดูหมิ่นด้วยข้อกล่าวหาดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

     หลังจากที่ เจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการ FBI ที่ถูกทรัมป์ปลดออกจากตำแหน่งขณะสืบค้นหาความจริงเรื่องอีเมลของฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งคนสำคัญจากพรรครีพับลีกัน รวมถึงต้นตอความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจจะเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงการกระทำของทรัมป์เป็นวงกว้าง

 

Photo: Mikhail/AFP

 

     ที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ จะแต่งตั้งให้ โรเบิร์ต มุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการ FBI คนก่อนหน้า ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษในกระบวนการไต่สวนหาความจริงถึงความสัมพันธ์ระหว่างทีมหาเสียงของทรัมป์และรัสเซีย และได้เริ่มมีการดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับอดีตผู้ช่วยของทรัมป์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้วหลายคน

     ข้อกล่าวหามีอยู่ว่า รัสเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการล้วงข้อมูลสำคัญของพรรคเดโมแครต และเผยแพร่ข้อมูลในอีเมลส่วนตัวของฮิลลารีในโลกออนไลน์ พร้อมทั้งสมรู้ร่วมคิดกับทีมงานของทรัมป์เพื่อที่จะดิสเครดิตคู่แข่งและนำไปสู่ชัยชนะในที่สุด แม้จะมีการสอบสวนและตั้งคณะกรรมการพิเศษอย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดและสามารถฟันธงได้ว่ารัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จริง

     ปูตินยังยืนยันว่าตนไม่มีส่วนพัวพันกับข้อกล่าวหาดังกล่าวในโอกาสที่พบทรัมป์อีกครั้งในการประชุม APEC ครั้งนี้ ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่าข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นเป็นการจ้างวานของพรรคเดโมแครตที่แพ้การเลือกตั้ง และข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศแต่อย่างใด

 

Photo: Olga MALTSEVE/AFP

 

ความคืบหน้าของการค้นหาข้อเท็จจริง

     ภายหลังจากที่มุลเลอร์ได้รับการแต่งตั้ง หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ทั้ง CIA และ FBI ต่างสรุปผลในสำนวนคดีเบื้องต้นของตนว่า มีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งจริงเพื่อหนุนให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาถูกสอบสวนไปแล้วเป็นจำนวนมาก

     หนึ่งในผู้ถูกสอบสวนคือ โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ ลูกชายและหนึ่งในทีมงานหาเสียงของทรัมป์ ที่ข้อความในอีเมลของเขาเป็นหลักฐานยืนยันว่าทีมงานของทรัมป์ติดต่อกับทางรัสเซียจริง และจะมีการให้ข้อมูลของคู่แข่งคนสำคัญอย่างฮิลลารี แต่ทั้งนี้ทรัมป์ยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการรวบรวมข้อมูลของคู่แข่งตามปกติเพื่อวางหมากในการเดินเกมการเมืองเท่านั้น

 

Photo: JORGE SILVA/AFP

 

     และเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศในทีมหาเสียงของทรัมป์อย่าง จอร์จ ปาปาโดปูลอส ให้ปากคำว่า เขายอมรับผิดที่กล่าวเท็จขณะเข้าให้การกับทีมหน่วยข่าวกรองเมื่อตอนต้นปี เพื่อปกปิดความจริงที่ว่าทีมหาเสียงของทรัมป์ติดต่อกับรัสเซียในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งจริง โดยเขาได้ติดต่อกับล็อบบี้ยิสต์ถึง 2 คนเพื่อช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้พบปะกัน

     ภายหลังโฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซาราห์ แซนเดอร์ส แถลงโต้แย้งถึงกรณีดังกล่าวว่า ปาปาโดปูลอสเป็นผู้ที่มีบทบาทน้อยมากในช่วงหาเสียงครั้งที่ผ่านมา โดยเธอยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่มีการติดต่อกับทางรัสเซียโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทีมหาเสียงของทรัมป์อย่างแน่นอน

     แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าขอบข่ายของการสืบสวนจะขยายวงกว้างและครอบคลุมประเด็นต่างๆ เพิ่มมากขึ้น การสืบสวนและค้นหาความจริงภายใต้การนำของอดีตผู้อำนวยการ FBI ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญและสร้างความกังวลใจให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ไม่น้อย เพราะถ้าหากยิ่งสอบสวนและยิ่งค้นพบหลักฐานจนพิสูจน์ได้ว่าทรัมป์มีส่วนรู้เห็นและร่วมมือกับรัสเซียเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งจนทำให้เขาได้รับชัยชนะในครั้งที่ผ่านมาจริง อาจจะส่งผลให้ทรัมป์ต้องยุติบทบาทการเป็นประธานาธิบดีลงในที่สุด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X