×

Travel 101: นั่งตรงไหนดีบนเครื่องบิน… ไขเคล็ดลับการเลือกที่นั่ง เลือกอย่างไรให้ตรงกับไลฟ์สไตล์

20.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ไม่ว่าคุณจะซื้อตั๋วเครื่องบินชั้นไหนของสายการบินใด ข้อมูลที่นั่งของเที่ยวบินดังกล่าวจะถูกแนะนำผ่านเว็บไซต์กูรูด้านการบิน เช่น Seatexpert และ Seatguru
  • หากไฟลต์เป็นช่วงเวลากลางคืน และคุณหมายมั่นปั้นมือว่าจะนอนโดยไม่ให้ใครรบกวน ที่นั่งที่เหมาะที่สุดคือริมหน้าต่าง
  • ส่วนกลางลำบริเวณปีกถือเป็นจุดที่ปลอดภัยและนุ่มนวลที่สุด เนื่องจากเป็นจุดที่แข็งแรงที่สุดของเครื่องบิน
  • ผู้โดยสารแถวทางออกฉุกเฉินต้องศึกษาคู่มือความปลอดภัยอย่างละเอียด และมีหน้าที่เปิดประตูฉุกเฉินในกรณีที่เครื่องมีปัญหาร่วมกับพนักงานบนเครื่องบิน

ประเด็นที่นั่งบนเครื่องบินไม่ตรงใจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาโลกแตกของนักเดินทางทั้งใหม่และเก่า เพราะการที่คุณจับพลัดจับผลูไปเจอกับผู้โดยสารที่ไม่ชอบย่อมทำให้ชั่วโมงบินไร้ความสุข ไหนจะตำแหน่งที่นั่งที่มีเสียงดังวอแวตลอดเวลา อยากหลับตลอดทางก็ดันได้ที่นั่งติดทางเดินอีก ต้องคอยลุกให้เพื่อนร่วมแถวเข้าออกทุกเวลา

 

อันที่จริงสายการบินพาณิชย์ให้สิทธิ์ผู้โดยสารเลือกที่นั่งได้ตามชอบ ไม่ว่าคุณจะซื้อตั๋วแบบไหน ชั้นเฟิร์สคลาส ชั้นธุรกิจ หรือชั้นประหยัด (ยกเว้นสายการบินแบบโลว์คอสต์ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลือกที่นั่ง) ทว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่มักละเลย ด้วยคิดว่า “ฉันนั่งตรงไหนก็ได้ เหมือนกันนั่นแหละ” หรือเพิกเฉยและไม่ใส่ใจจนเกิดปัญหา แล้วเก็บความไม่พอใจเหล่านั้นมาบ่นในโลกโซเชียลยับเยิน

 

แล้วตำแหน่งไหนบนเครื่องคือตำแหน่งที่ดีที่สุดล่ะ คำตอบคืออยู่ที่ ‘ไลฟ์สไตล์’

 

ริมทางเดิน ตรงกลาง หรือริมหน้าต่าง (Aisle, Middle, Window seat)

เป็นที่ถกเถียงกันตลอดว่าที่นั่งริมทางเดินหรือริมหน้าต่างดีกว่ากัน

 

  • ริมหน้าต่าง หากไฟลต์เป็นช่วงเวลากลางคืน และคุณหมายมั่นปั้นมือว่าจะนอนโดยไม่ให้ใครรบกวน ที่นั่งเหมาะที่สุดคือริมหน้าต่าง เพราะได้พื้นที่กว้างกว่าที่นั่งอื่น ไม่ต้องหลบหลีกให้ใคร ในช่วงเวลากลางวัน ตำแหน่งนี้จะสามารถเห็นวิวท้องฟ้าได้สวยงามหากฟ้าเปิด แต่ข้อเสียคือคุณจะเข้าออกลำบากหากต้องการเข้าห้องน้ำหรือเดินไปส่วนอื่นของเคบิน
  • ริมทางเดิน เหมาะสำหรับผู้โดยสารที่ชอบลุกเดินไปไหนมาไหนตลอดไฟลต์ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ หยิบสัมภาระ หรือเดินไปขอขนมที่ครัวบ่อยครั้ง (ผู้เขียนนี่ล่ะที่ลุกเดินหาของกินตลอดเวลา) ข้อดีของที่นั่งตำแหน่งนี้คือลุกเดินไปไหนได้สะดวก ไม่ต้องเกรงใจผู้โดยสารคนอื่น ขายืดเหยียดได้ ข้อเสียคือความสะดวกต้องแลกมาด้วยการถูกรบกวนจากผู้โดยสารร่วมแถวเดียวกัน แถมยังอาจถูกเฉี่ยวชนจากรถเข็นของลูกเรือได้ในกรณีที่คุณไม่เก็บแขนขาให้เรียบร้อย
  • ตรงกลาง เป็นที่นั่งที่ผู้เขียนเรียกว่าไม่สะดวกใจนั่งที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแบบ 3 ที่นั่งหรือ 4 ที่นั่ง ยกเว้นเสียว่าคนที่นั่งข้างๆ เราตรงริมทางเดินจะเป็นคนรู้จัก ข้อเสียของตำแหน่งนี้มีเยอะแยะมาก เข้าออกลำบาก ไร้ซึ่งวิวทิวทัศน์ อึดอัดคับแคบเพราะถูกขนาบข้างด้วยคนอื่น ฯลฯ ส่วนข้อดีคือในกรณีเป็นแถวแบบ 4 ที่นั่ง คุณจะไม่โดนคนอื่นรบกวน แต่จะรบกวนเพียงคนอื่นเท่านั้น

 

 

 

ที่นั่งแถวประตูฉุกเฉินและแถวแรกของแต่ละโซน (Exit Row, Bulkhead seat)

ผู้โดยสารหลายคนชอบเลือกที่นั่งแถวทางออกฉุกเฉินหรือแถวแรกของแต่ละโซน ด้วยเหตุผลว่ามีพื้นกว้างกว่าส่วนอื่น สามารถนั่งเหยียดแข้งขาได้ราวกับชั้นธุรกิจ ทางเดินกว้างขวาง เดินเข้าออกสะดวก ไม่จำเป็นต้องรบกวนใคร แต่ที่นั่งบริเวณดังกล่าวต้องแลกมาด้วยความรับผิดชอบและข้อห้ามมากมาย

  • ห้ามวางกระเป๋าหรือสิ่งของกีดขวางทางเดิน กฎนี้มีไว้เพื่อให้เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถอพยพผู้คนได้ทันทีโดยไม่ติดสิ่งกีดขวางใดๆ
  • จอมอนิเตอร์เล็กกว่าตำแหน่งอื่น และเก็บอยู่ในที่วางแขนด้านขวา ในขณะที่ทุกคนยังสามารถดูภาพยนตร์เรื่องโปรดได้ระหว่างเครื่องบินขึ้นหรือลง แต่ผู้โดยสารบริเวณนี้ต้องพับจอเหล่านั้นเก็บให้เรียบร้อย เตรียมพร้อมก่อนผู้อื่นราว 30-45 นาที
  • ผู้โดยสารแถวทางออกฉุกเฉินต้องศึกษาคู่มือความปลอดภัยอย่างละเอียด และมีหน้าที่เปิดประตูฉุกเฉินในกรณีที่เครื่องมีปัญหาร่วมกับพนักงานบนเครื่องบิน
  • ที่นั่งหลังพาร์ทิชันหรือแถวแรกชั้นประหยัดเป็นที่ตั้งของเปลเด็ก บริเวณผนังแถวกลาง ตำแหน่ง D / E / F / G แถวแรกของชั้นประหยัด ถูกสำรองไว้ให้เด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ขวบ (โดยประมาณ) แน่นอนว่าหากคุณนั่งบริเวณนี้ย่อมมีโอกาสเจอความรำคาญจากเสียงเด็กร้อง หรือความวุ่นวายจากผู้คนที่มาเข้าห้องน้ำ
  • มักสงวนไว้ให้ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและไม่มีเด็กเล็ก เนื่องจากเป็นประตูฉุกเฉิน

 

ฉะนั้นหากคุณพึงใจยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ การนั่งบริเวณนี้คือสวรรค์ขนาดย่อมของไฟลต์ยาว

 

 

หลีกเลี่ยงที่นั่งใกล้ครัวหรือห้องน้ำในไฟลต์กลางคืน

ปกติหากบินในไฟลต์กลางวัน ผู้เขียนจะชอบนั่งใกล้ห้องน้ำหรือห้องครัว เพราะเดินไปขอของกินง่าย เข้าห้องน้ำก็สะดวก แต่ว่าช่วงกลางคืนบริเวณดังกล่าวมิได้น่าอภิรมย์นัก จากประสบการณ์ตรงด้วยการบิน 3 ปีก่อนที่เคยจับพลัดจับผลูไปเจอที่นั่งริมทางเดินตำแหน่งที่อยู่ตรงประตูห้องครัวพอดิบพอดี ชนิดที่ว่าแอร์เมาท์มอยใครก็ได้ยินราวกับไปอยู่กลางบทสนทนาด้วย แล้วยังมีแสงไฟแยงตาตลอดเวลา รำคาญมากจนทนไม่ไหว ต้องเอ่ยปากขอเปลี่ยนที่นั่ง ซึ่งแอร์ก็เข้าใจดี หาที่นั่งให้เราใหม่แบบดีเยี่ยม หลับสนิทเต็มตื่นตลอดคืน ไม่มีคนขนาบข้าง ไม่มีใครรบกวน ตั้งแต่นั้นก็เข้าใจเลยว่าทำไมที่นั่งบริเวณนี้ถึงควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะช่วงกลางคืน

 

บริเวณปีกกลางเครื่อง ตำแหน่งนุ่มนวลที่สุดในชั้นประหยัด

ตั้งแต่ห้องนักบินจรดปลายปีก ส่วนที่นิ่มและเงียบสงบที่สุดบนเครื่องบินอยู่บริเวณชั้นเฟิร์สคลาส ชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัด ตามลำดับ บริเวณท้ายเครื่องเป็นจุดที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะเสียงเครื่องยนต์ดังมากและสั่นอยู่ตลอดเวลา ส่วนกลางลำบริเวณปีกถือเป็นจุดที่ปลอดภัยและนุ่มนวลที่สุด เนื่องจากเป็นจุดที่แข็งแรงที่สุดของเครื่องบิน

 

 

ที่นั่งไหนเป็นอย่างไร ในเว็บไซต์มีข้อมูลบอก

ไม่ว่าคุณจะซื้อตั๋วเครื่องบินชั้นไหนของสายการบินใด ข้อมูลที่นั่งของเที่ยวบินดังกล่าวจะถูกแนะนำผ่านเว็บไซต์กูรูด้านการบิน เช่น Seatexpert และ Seatguru สองเว็บไซต์นี้ผู้เขียนใช้บ่อยที่สุด แต่ละเว็บไซต์จะบอกรายละเอียดของที่นั่งต่างๆ บนเครื่องบินว่าตำแหน่งไหนบนเครื่องบินของสายการบินนั้นๆ ควรหรือไม่ควรนั่งอย่างไร อย่าง Seatguru จะบอกรายละเอียดถึงขั้นว่าถ้าคุณนั่งตำแหน่งนี้อาจมีกลิ่นไม่พึงประสงค์จากห้องน้ำ เสียงชักโครก หรือเสียงงอแงจากเด็กเล็ก ที่นั่งมีความกว้าง (Width) และความห่างระหว่างแถวเท่าไร (Pitch) มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นหากคุณไม่มีที่นั่งในดวงใจ ลองเข้าไปดูข้อมูลเหล่านี้ได้เพื่อเสริมการตัดสินใจ

 

 

ภาพ: Shutterstock

ภาพประกอบ: Thiencharas W.

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising