×

ทุกเรื่องควรรู้ของไขมันทรานส์ ตัวร้ายที่เคยเป็นพระเอกในศตวรรษที่ 19

18.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ไขมันทรานส์มีทั้งในธรรมชาติและสังเคราะห์ ในธรรมชาติมาจากกระบวนการย่อยของสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย ส่งต่อผ่านนมในปริมาณที่น้อย ส่วนตัวปัญหาคือไขมันทรานส์ที่มาจากการสังเคราะห์
  • มีรายงานจากประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันว่า หากลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์เพียงครึ่งเดียว จะสามารถป้องกันการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ร้อยละ 10-12 และหากไม่รับประทานเลย จะป้องกันได้ถึงร้อยละ 18-22
  • พอโลกรู้ว่าไขมันทรานส์เป็นโทษมากกว่าไขมันอิ่มตัวถึง 10 เท่า ผู้ประกอบการในไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม เนยเทียมต่างๆ ก็หันมาจับเข่าคุยกันตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วว่าต้องมีการปรับสูตรให้ปราศจากไขมันทรานส์ ก่อนองค์การอนามัยโลกและกฎหมายในบ้านเราจะประกาศเสียอีก

กำลังเป็นประเด็นร้อนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษา ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ‘อาหารที่มีไขมันทรานส์’ ในไทยทุกชนิด โดยมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน หรือ 6 เดือนข้างหน้า สร้างความตื่นตระหนก ตื่นกลัวให้แก่เหล่านักชิมทุกเพศวัยว่า สิ่งใดบ้างที่เราบริโภคได้ และสิ่งใดไม่สมควรกิน แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ผู้บริโภคฝ่ายเดียวที่ตื่นตัว ทางด้านผู้ประกอบการเองก็กลัวจะเสียลูกค้า ต่างจูงมือออกมาประกาศว่า ‘ผลิตภัณฑ์ของฉันปลอดภัยนะ พวกเราไม่ได้ใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ในการผลิต’

 

และเพราะเรื่องกินคือเรื่องใหญ่ ความสบายใจของปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ THE STANDARD จึงรวบรวมข้อมูลประเด็นเด่นๆ ของไขมันทรานส์มาแบบครบทุกข้อสงสัย โดยสายตรงคุยกับ ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ และหัวหน้าโครงการวิจัยการสำรวจสถานการณ์การปนเปื้อนของกรดไขมันชนิดทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อข้อมูลที่ถูกต้อง

 

ทุกอย่างเริ่มต้นที่ชาติตะวันตก

ไขมันทรานส์ หรือ Trans Fat คือกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ผ่านกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ด้วยการใส่ไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oil) ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวแปรเปลี่ยนเป็นไขมันอิ่มตัวสูงขึ้น ซึ่งไขมันชนิดนี้จะมีคุณสมบัติกระตุ้นให้ไขมันชนิดไม่ดีเพิ่มปริมาณมากขึ้นในร่างกาย ขณะเดียวกันก็ลดไขมันชนิดดี ซึ่งหากบริโภคไปเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะภาวะหัวใจขาดเลือด

 

อันที่จริงไขมันทรานส์มีทั้งในธรรมชาติและสังเคราะห์ ในธรรมชาติมาจากกระบวนการย่อยของสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย ส่งต่อผ่านนมในปริมาณที่น้อย ส่วนตัวปัญหาคือไขมันทรานส์ที่มาจากการสังเคราะห์ ทั้งหมดเริ่มต้นที่ฝั่งตะวันตก ซึ่งนิยมบริโภคของทอดกรอบ อาหารบางอย่างที่ใช้อุณหภูมิสูงในการอบ เช่น เบเกอรี พัฟ พายต่างๆ แรกเริ่มเดิมทีก็ใช้เนยแท้เป็นส่วนผสมและน้ำมันหมูในการประกอบอาหารนี่แหละ ทว่าเมื่อความต้องการมากขึ้น ประกอบกับความกังวลเรื่องคอเลสเตอรอลที่ได้จากไขมันอิ่มตัวเพิ่ม นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามตั้งคำถาม และทดลองหาไขมันมาทดแทน เพื่อให้ไขมันราคาถูก อร่อย ไม่หืน และใช้ได้นาน

 

“ประเด็นคือทางฝั่งตะวันตกมีไขมันอิ่มตัวน้อยประเภทกว่าบ้านเรา บ้านเรามีทั้งน้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ในขณะที่บ้านเขาส่วนใหญ่เป็นไขมันพืชประเภทไม่อิ่มตัว ซึ่งเมื่อนำมาประกอบอาหารประเภททอด ทอดไม่นานก็ควันขึ้นแล้ว นักวิทยาศาสตร์จึงแก้ปัญหาด้วยการนำไขมันไม่อิ่มตัวพวกนั้นใส่ไฮโดรเจนลงไปบางส่วน ถ้าใส่มากก็จะแข็งจนกินไม่ได้ ใส่น้อยลงมาหน่อยก็จะกลายเป็นเนยเทียม มาร์การีน และน้ำมันทนความร้อน ซึ่งพวกนี้ก็จะอยู่ในอาหารจำพวกเบเกอรี ขนมอบ และของทอดที่ต้องใช้น้ำมันซ้ำๆ หลายครั้งในร้านฟาสต์ฟู้ด” อาจารย์วิสิฐกล่าว

 

 

กินไขมันทรานส์บ่อยๆ ก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง

เรามักเห็นสหรัฐอเมริกาออกมากโจมตีไขมันอิ่มตัวอย่างน้ำมันหมูว่ามีคุณสมบัติกระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มไขมันชนิดไม่ดี (LDL) มากขึ้น และรณรงค์ให้ใช้น้ำมันพืชชนิดไม่อิ่มตัวในการประกอบอาหาร รวมถึงไขมันทรานส์ที่ผลิตจากน้ำมันดังกล่าวด้วย ทว่านานวันเข้า มีผลวิจัยออกมาว่า จริงๆ แล้วไขมันทรานส์นี่แหละ! เลวร้ายกว่าน้ำมันหมูเสียอีก เหตุก็เพราะว่าในขณะที่น้ำมันหมูกระตุ้นให้มีทั้งไขมันดี (HDL) และไม่ดี

 

ในขณะที่ไขมันทรานส์กลับเพิ่มไขมันชนิดไม่ดีเพียงอย่างเดียว แถมยังลดปริมาณไขมันดี (HDL) ในร่างกายด้วย

 

ฉะนั้นการบริโภคไขมันทรานส์สะสมอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นโรคอ้วน ภาวะของตับทำงานผิดปกติ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด เป็นต้น

 

“มีรายงานจากประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันว่า หากลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์เพียงครึ่งเดียว จะสามารถป้องกันการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ร้อยละ 10-12 และหากไม่รับประทานเลย จะป้องกันได้ถึงร้อยละ 18-22”

 

 

ใครได้รับผลกระทบที่สุดในการออกประกาศครั้งนี้

หลังจากมีผลงานวิจัยที่ออกมาสะเทือนความเชื่อเกี่ยวกับไขมันทรานส์ องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้กำหนดให้อาหารทุกประเภทที่จัดจำหน่ายภายในประเทศ ต้องระบุปริมาณของกรดไขมันทรานส์น้อยกว่า 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคไว้บนฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์ แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมเป็นผู้ผลิตเนยเทียม น้ำมันปรุงแต่งชนิดพิเศษ ร้านเบเกอรี และอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใช้น้ำมันในการทอดตลอดวัน

 

“พอโลกรู้ว่าไขมันทรานส์เป็นโทษมากกว่าไขมันอิ่มตัวถึง 10 เท่า ผู้ประกอบการในไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม เนยเทียมต่างๆ ก็หันมาจับเข่าคุยกันตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วว่าต้องมีการปรับสูตรให้ปราศจากไขมันทรานส์ ก่อนองค์การอนามัยโลกและกฎหมายในบ้านเราจะประกาศเสียอีก พวกเขาเชื่อว่าอย่างไรต้องมีการห้ามและกระทบต่อธุรกิจตนเองในไม่ช้า ก็เลยมีการพัฒนาสูตรขึ้นมาใหม่ แต่เราแทบไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยากเลย เพราะบ้านเรามีไขมันอิ่มตัวให้เลือกเยอะแยะไปหมด เป็นที่มาของกระบวนการที่เรียกว่า Oil Blending ผสมน้ำมันอิ่มตัวหลากชนิดให้ได้สูตรที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องเติมไฮโดรเจนให้ไขมันอิ่มตัวเหมือนตะวันตก

 

“ฉะนั้นเบเกอรีที่ใช้ส่วนผสมที่ผลิตในบ้านเราแทบไม่มีปัญหาแหละ ที่ยังพบคือน้ำมันที่ใช้ทอดโดนัทบางสูตร ซึ่งผู้ประกอบการไม่ยอมเปลี่ยน ถ้ากฎหมายออกมาบังคับเมื่อไรก็ต้องเปลี่ยน”

 

 

อาหารชนิดไหน อะไรกินได้บ้าง ไม่ได้บ้างกันนะ

“อย่างที่บอกไปว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยแทบไม่กระทบต่อการประกาศ เพราะส่วนใหญ่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้พูดคุยกับผู้ประกอบการไว้แล้ว แต่ถ้าเรายังไม่สบายใจ ก็สมควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกทอดจากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมที่มีส่วนผสมของเนยเทียม มาร์การีน โดยเฉพาะโดนัท คุกกี้นำเข้าจากต่างประเทศ” หรือถ้าให้ชัวร์ ผู้เขียนแนะนำให้ดูฉลากโภชนาการข้างกล่องว่า Trans-fats เป็น 0 หรือระบุว่า ‘Non-Partially Hydrogenated Oil’ หรือ Trans-fats Free หรือเปล่า

 

“สำหรับขนมจำพวกเบเกอรีหรือคุกกี้ต่างประเทศอาจมีราคาแพงสูงขึ้นในอนาคต น้ำมันพืชและส่วนประกอบของขนมหลายอย่างที่ใช้ส่วนวัตถุดิบจากตะวันตกอาจมีปรับเปลี่ยน ชนชั้นกลางและล่างอาจมีผลกระทบต่อราคาสินค้าในบางหน่วย”

 

แต่ถึงแม้จะตอนนี้จะมีหลายประเทศในยุโรปที่ออกมาแบนอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันทรานส์ ทว่าอาจารย์วิสิฐกลับบอกว่านั่นยังไม่ใช่ทั้งหมด

 

“ถ้าให้ดีต่อสุขภาพ นอกจากค่าฉลากโภชนาการแล้ว ผู้บริโภคสมควรใช้น้ำมันให้ถูกประเภทกับการประกอบอาหารด้วย เช่น ถ้าเป็นของทอดก็ควรใช้น้ำมันปาล์มหรือน้ำมันมะพร้าว เพื่อให้เอาน้ำมันไม่อิ่มตัวมาทอดอาหารแล้ว นอกจากจะไม่กรอบอร่อย ยังเสี่ยงต่อสารก่อมะเร็ง เลือกให้เหมาะสม กินของทอดไม่เยอะมาก และออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพและอนามัยที่แข็งแรง”

 

Photo: Shutterstock

อ้างอิง:

FYI
  • ตอนนี้มีหลายผู้ประกอบการออกมาแจ้งว่า ผลิตภัณฑ์ตนเองปราศจากไขมันทรานส์ เช่น สินค้าเบเกอรีในแผนกของ Big C ทั้งหมด นมข้นหวานตรามะลิ แมคโดนัลด์ มาร์การีน เบสท์ฟู้ดส์ และไก่ทอด KFC
  • องค์การอนามัยโลกมีแผนกำจัดไขมันทรานส์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมอาหารโลกภายในปี 2023 และเชื่อว่าจะสามารถรักษาชีวิตประชากรโลกได้กว่า 10 ล้านคน
  • จากการหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า เลข Trans-fats เป็น 0 กรัม มิใช่ไม่มีค่าไขมันทรานส์หลงเหลือในอาหาร แต่มีอยู่ต่ำมากในระดับที่ยอมรับได้ว่าเป็น 0 กรัม ส่วน 0.5 หน่วยต่อกรัม คือปริมาณไขมันทรานส์ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising