×

พบเครื่องดื่ม 3-in-1 ชนิดผงบางยี่ห้อมีไขมันทรานส์สูงเกินคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

02.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • หลังจากมีผลการวิจัยที่บ่งชี้ว่าไขมันทรานส์เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสารพัดโรค เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง ทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข อยู่ในระหว่างจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ซึ่งก็คือไขมันทรานส์
  • นิตยสารออนไลน์ ฉลาดซื้อ ทำการทดสอบสุ่มหาไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทรีอินวันชนิดผงจำนวน 22 ตัวอย่างจาก 15 ยี่ห้อ พบว่ามี 1 ยี่ห้อที่มีไขมันทรานส์สูงเกินคำแนะนำของอนามัยโลก

เครื่องดื่มทรีอินวัน (3-in-1) ชนิดผงสำเร็จรูปยี่ห้อต่างๆ เป็นที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เพราะทั้งแสนง่ายในการฉีกซอง เท เติมน้ำ แล้วชงดื่ม แม้จะทำให้ชีวิตง่ายและสะดวกขึ้น แต่มันดีกับสุขภาพเพียงไหนกัน

 

นิตยสารออนไลน์ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับไขมันทรานส์ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง โดยทำการสุ่มหาปริมาณไขมันทรานส์ (Trans Fat) ในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทรีอินวันชนิดผงจาก 15 ยี่ห้อใน 22 ตัวอย่างว่าเกินคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้หรือไม่ (จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าไม่ควรบริโภคไขมันทรานส์เกินกว่า 2.2 กรัมต่อวัน หรือไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค) และผลลัพธ์ที่ได้จากการสุ่มตรวจหาไขมันทรานส์ผลิตภัณฑ์พบว่า มีเครื่องดื่มทรีอินวันของไทย 1 ยี่ห้อที่พบปริมาณไขมันทรานส์เกินคำแนะนำ


ภารกิจการสุ่มหาไขมันทรานส์ในครั้งนี้จัดทำโดยนิตยสารออนไลน์ ฉลาดซื้อ โดยเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทรีอินวันชนิดผงมาจำนวน 22 ตัวอย่างจาก 15 ยี่ห้อ ดังนี้

 

  • โกเด้นท์ เป็นเครื่องดื่มข้าวกล้องงอกผสมธัญพืช 7 ชนิด สูตรไม่ผสมน้ำตาล ซองละ 13 บาท
  • โอวัลติน เครื่องดื่มมอลต์ผสมนมปรุงสำเร็จ เนเจอร์ ซีเล็คท์ ไวท์ มอลต์สูตรไขมันต่ำผสมคอลลาเจน ซองละ 7.6 บาท
  • Royal Myanmar Teamix เครื่องดื่มรสชา ซองละ 6 บาท
  • เรนอง ที ชาไทยปรุงสำเร็จชนิดผง ซองละ 11.9 บาท
  • บลูมูส เครื่องดื่มรสช็อกโกแลตปรุงสำเร็จชนิดผง ซองละ 10.7 บาท
  • มัช ชานมปรุงสำเร็จชนิดผง ซองละ 6.8 บาท
  • โกโก้ดัทช์ เครื่องดื่มดัทช์โกโก้ปรุงสำเร็จชนิดผง ซองละ 10 บาท
  • เนสที ชานมไทยปรุงสำเร็จชนิดผง ซองละ 6.9 บาท
  • ไมโล เครื่องดื่มช็อกโกแลตมอลต์ปรุงสำเร็จชนิดผง แอคทีฟโก สูตรน้ำตาลน้อยกว่า ซองละ 7.5 บาท
  • เนสวิต้า เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูป รสดั้งเดิม ซองละ 7.5 บาท
  • โอวัลติน เครื่องดื่มมอลต์สกัดทรีอินวันเย็น ครั้นช์ชี่ช็อกโก รสช็อกโกแลต ปรุงสำเร็จ ซองละ 6.6 บาท
  • โอวัลติน นมถั่วเหลืองปรุงสำเร็จชนิดผง (น้ำเต้าหู้ผง) เนเจอร์ซีเล็คท์ ซอยย์ ซองละ 7.6 บาท
  • ซองเดอร์ เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปผสมงาดำ หวานน้อย ซองละ 9  บาท
  • เอ็ก ซอง ชาปรุงสำเร็จรสนมชนิดซอง ซองละ 9.4 บาท
  • เนสวิต้า เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปรสมัทฉะลาเต้ ซองละ 10.5 บาท

 

ผลการสุ่มตรวจหาไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทรีอินวันชนิดผงทั้ง 22 ตัวอย่าง พบว่ามี 1 ยี่ห้อที่มีไขมันทรานส์เกินคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ โกเด้นท์ (Godent) ​เครื่องดื่มข้าวกล้องงอกผสมธัญพืช 7 ชนิด สูตรไม่ผสมน้ำตาล ซึ่งมีไขมันทรานส์มากที่สุดถึง 2.43 กรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งเกินไปถึง 0.7 ต่อหน่วยบริโภค (โดยค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 0.5 ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค) ตัวอย่างที่เหลืออีก 21 ตัวอย่างนั้นพบว่าแม้จะมีไขมันทรานส์อยู่ แต่ก็เป็นปริมาณที่น้อยและไม่เกินคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

 

สามารถดูค่าการสุ่มตรวจหาไขมันทรานส์ของทั้ง 15 ยี่ห้อใน 22 ตัวอย่างได้ที่นี่

 

เหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องใส่ใจค่าของไขมันทรานส์ว่าสูงหรือไม่
เพราะไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กำลังอยู่ในระหว่างจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร (ฉบับที่ 3) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5(1) และมาตรา 6(5) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยให้เพิ่มความลงในข้อ 2 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ข้อ 2.13 “ห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ไขมันทรานส์) ‘ยกเว้น’ การใช้ในการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก”

 

การที่กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องร่างประกาศเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างเร่งด่วนก็เพราะก่อนหน้านี้มีผลการวิจัยที่บ่งชี้ว่าไขมันทรานส์เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค เราจึงควรตระหนักถึงสิ่งที่พึงระวังเมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์แบบทรีอินวันชนิดผง โดยหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันทรานส์สูงเกินคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกอันก่อให้เกิดผลเสียและอันตรายได้

 

ไขมันทรานส์เกิดจากอะไร พบได้ที่ไหนบ้าง

ทั้งนี้ก่อนจะไปรู้จักโทษของไขมันทรานส์ มารู้จักที่มากันก่อนดีกว่า ไขมันทรานส์เป็นไขมันแบบไม่อิ่มตัวซึ่งพบไม่บ่อยในธรรมชาติ จึงมีการแปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัวให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัวสูงด้วยวิธีการเติมไฮโดรเจนลงไปในโมเลกุลที่ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวและถูกเปลี่ยนคุณสมบัติ เช่น ในน้ำมันพืช เมื่อเติมไฮโดรเจนลงไปก็จะเรียกว่าเป็นกระบวนการไฮโดรจีเนชัน (Hydrogenation) ทำให้เหม็นหืนช้าลง เก็บได้นานขึ้น ไม่เป็นไข และทนความร้อนได้ดี แถมยังมีรสชาติที่ใกล้เคียงกับไขมันจากสัตว์ แต่ได้ราคาที่ถูกกว่า จึงลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า เราจึงพบเห็นว่าตามร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดต่างๆ นิยมใช้เป็นน้ำมันในการทอด หรือทำขนมต่างๆ อย่างแพร่หลาย

 

โทษของไขมันทรานส์

องค์การอนามัยโลกระบุว่าไม่ควรบริโภคไขมันทรานส์เกินกว่า 2.2 กรัมต่อวัน หรือไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค

 

ขณะที่สถาบันทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (Institute of Medicine) มีข้อแนะนำเมื่อปี 2548 ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับองค์กรอนามัยโลกว่าให้บริโภคไขมันทรานส์น้อยกว่า 1% ของพลังงาน หรือ 2 กรัมต่อพลังงาน 1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน เพราะหากเกินไปกว่านั้น ระดับของคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นจนไปลดระดับของคอเลสเตอรอลชนิดดีให้ต่ำลง

 

ด้วยคุณสมบัติของไขมันทรานส์ที่เกิดจากการแปรรูปทำให้ย่อยสลายได้ยากกว่าไขมันชนิดอื่นๆ ผลก็คืออาจก่อให้เกิดสภาวะผิดปกติกับร่างกาย ตับทำงานผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งเป็นผลจากงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน

 

หากเป็นไปได้ ก่อนจะเลือกซื้อเครื่องดื่มทรีอินวันชนิดผง ควรตรวจดูฉลากและเช็กค่าไขมันทรานส์ว่าเกินค่ามาตรฐานหรือไม่กันสักนิด เช่นเดียวกับการอ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์ให้รู้ว่าเรากำลังบริโภคอะไรเข้าไปในร่างกายบ้างเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว รวมถึงบอกต่อคนในครอบครัวและคนที่เรารักให้ได้ตระหนักและระวังโทษของไขมันทรานส์ที่อยู่ใกล้ตัวเราเหลือเกิน แต่อันตรายมากกว่าที่คิด

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

FYI
  • ประเทศที่มีการตื่นตัวและได้มีการออกกฎข้อบังคับให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนมีการระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากโภชนาการอย่างชัดเจน และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการจำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนคือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ฯลฯ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising