×

อังกฤษแต่งตั้ง ‘รัฐมนตรีด้านความเหงา’ คนแรกของประเทศ หวังบรรเทาความเหงาให้ประชาชน

19.01.2018
  • LOADING...

คุณเคยรู้สึกเหงาบ้างไหม? ไม่ชอบการอยู่ตัวคนเดียว กินข้าวคนเดียว ไปไหนมาไหนคนเดียว

 

แน่นอน คุณต้องเคยเหงา เพราะ ‘ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็ตาม ความเหงาไม่เคยเลือกปฏิบัติ’

 

นี่คือคำพูดของโจ ค็อกซ์ (Jo Cox) สมาชิกรัฐสภาอังกฤษ สังกัดพรรคแรงงานที่จัดตั้งหน่วยงานขึ้น เพื่อกำกับดูแลปัญหาเรื่องความเหงาของพลเมืองอังกฤษโดยเฉพาะ ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตจากการถูกสังหารจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ในช่วงรณรงค์ให้มีการลงประชามติถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป เมื่อปี 2016

 

หน่วยงาน Jo Cox Commission on Loneliness ที่เกิดขึ้นจากแรงผลักดันของเธอ เผยรายงานการวิจัยชิ้นล่าสุดเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาระบุว่า อังกฤษกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านความเหงา โดยมีพลเมืองอังกฤษมากกว่า 9 ล้านคนที่มักรู้สึกเหงาบ่อยๆ หรือรู้สึกเหงาแทบจะตลอดเวลา กลายเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสังคมที่ต้องได้รับการเยียวแก้ไข

 

 

เมื่อการบรรเทาความเหงาให้ประชาชน กลายเป็นวาระแห่งชาติ

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (17 ม.ค.) นางเทเรซา เมย์ (Theresa May) นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้แต่งตั้งให้ นางสาวเทรซีย์ เคราช์ (Tracey Crouch) วัย 42 ปี สมาชิกรัฐสภา สังกัดพรรคอนุรักษ์นิยม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านความเหงาคนแรกของประเทศ เพื่อกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านความเหงาที่สังคมเมืองผู้ดีกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

 

“สำหรับใครหลายๆ คน ความเหงาคือความเป็นจริงอันน่าเศร้าของชีวิตสมัยใหม่ ฉันต้องการจะเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้ โดยพวกเราจะเน้นบรรเทาความเหงาให้กับคนสูงอายุ ผู้ดูแลผู้ป่วย คนที่สูญเสียคนที่รัก ใครก็ตามที่ไม่รู้จะพูดคุยหรือแชร์ความคิดและเรื่องราวของเขากับคนอื่นๆ”

 

 

นางเมย์กล่าวว่า น.ส.เคราช์ ที่รับผิดชอบงานด้านการกีฬาและภาคประชาสังคมอยู่แล้ว จะขึ้นมาเป็นผู้นำที่สานต่อสิ่งที่นางโจ ค็อกซ์ ได้ผลักดันไว้ โดยเธอจะเป็นคนกำหนดแนวนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาด้านความเหงาโดยเฉพาะ ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่จะเข้ามาช่วยเหลือด้านทฤษฎีและการวัดปริมาณความเหงาในสังคม รวมถึงเรื่องงบประมาณที่จะได้รับจากรัฐบาลและองค์กรการกุศลต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการแก้ไขปัญหา

 

ด้านราเชล รีฟส์ (Rachel Reeves) และซีมา เคนเนดี้ (Seema Kennedy) สองนักกฎหมาย แกนนำคนสำคัญของ Jo Cox Commission รู้สึกดีใจที่รัฐบาลให้การตอบรับเสียงสะท้อนจากรายงานของพวกเขาแทบจะในทันที โดยเขาระบุว่า ตลอดปี 2017 ที่ผ่านมาได้ยินพ่อแม่ เด็กๆ ผู้พิการ คนดูแลผู้ป่วย ผู้อพยพรวมถึงกลุ่มผู้สูงวัยเล่าถึงประสบการณ์ความเหงาที่พวกเขามีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

มาร์ค โรบินสัน (Mark Robinson) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ของ Age UK องค์กรการกุศลที่ทำงานกับผู้สูงอายุที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษเผยว่า ปัญหาความเหงานี้อาจจะรุนแรงถึงขั้นนำไปสู่ความตาย เคยมีการทดสอบว่า บางครั้งความเหงาก็ส่งผลเสียเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่อย่างน้อย 15 มวนต่อวันเลยทีเดียว แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราเอาชนะความเหงาได้ โดยเริ่มจากการเข้าใจต้นตอของความเหงา

 

 

เสียงสะท้อนของความเหงา จากผู้สูงอายุในสังคมอังกฤษ

รัฐบาลอังกฤษพบว่า มีผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 200,000 คน ตกอยู่ในภาวะเหงา ไม่ได้พูดคุยกับญาติๆ หรือเพื่อนสนิทมานานมากกว่า 1 เดือน สร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่น้อย

 

แครอล เจนกินส์ (Carol Jenkins) อดีตพยาบาลวัยเกษียณจากเบิร์กเชียร์ (Berkshire) เล่าว่า เธอเริ่มรู้สึกเหงา หลังจากที่ลูกชายย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ เธอจึงจำเป็นต้องย้ายมาพักที่บ้านที่มีขนาดเล็กลงในเขตข้างเคียง

 

“เหตุผลด้านการเงินเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฉันตัดสินใจย้ายบ้าน ปัญหาที่ตามมาคือ ฉันไม่พร้อมที่จะสร้างเพื่อนใหม่ วันเดือนผ่านไปโดยไม่ได้พบหน้าเพื่อนฝูงหรือคนในครอบครัว ฉันรู้สึกเหงาและหดหู่มากๆ”

 

 

เธอเริ่มสมัครเล่นเฟซบุ๊กและเข้ากลุ่มที่รวมตัวคนเหงาของอังกฤษ ความรู้สึกที่เริ่มอยากจะมีเพื่อนทำให้เธอเริ่มอยากออกจากบ้านพักมากยิ่งขึ้น เธอเล่าว่า ไม่บ่อยที่เธอจะนัดพบผู้คนทางอินเทอร์เน็ตและได้พบเพื่อนใหม่ แต่เครือข่ายเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการให้แนวทางกับเธอในการจัดการกับปัญหา

 

“ที่น่าสนใจคือ นักเรียนนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว บ่อยครั้งที่พวกเขาขังตัวเองไว้ในห้อง เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะหรือปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมไม่ได้ เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญ อาจจะต้องหาวิธีบรรเทาความเหงานั้น ก่อนที่ความเหงาจะกลายเป็นภาวะซึมเศร้า หดหู่ ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์ต่างๆ แก้ไขได้ยากยิ่งขึ้น”

 

 

ถ้าเป็นคุณ คุณจะจัดการกับความเหงานี้อย่างไร

 

แล้วจะดีมากน้อยแค่ไหน ถ้ารัฐเข้ามาดูแลทุกข์สุข รวมถึงจัดการเรื่องความเหงาให้กับตัวคุณ

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X