หากไม่นับสหรัฐอเมริกา ‘ญี่ปุ่น’ กำลังจะเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากเยอรมนี ที่มีการติดตั้ง ‘คอมพิวเตอร์ควอนตัม’ (Quantum Computer) สำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ของ IBM โดยมีเป้าหมายเพื่อค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการใช้เพื่อพัฒนาวัสดุแบบใหม่
การติดตั้งคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่มีค่าใช้จ่ายหลายพันล้านเยนในครั้งนี้เป็นการทุ่มทุนโดยกลุ่มที่ชื่อว่า Quantum Innovation Initiative Consortium นำโดยมหาวิทยาลัยโตเกียว และมีบริษัท 12 แห่งในแดนซามูไรเข้าร่วม ในจำนวนนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota, Mitsubishi Chemical, Hitachi, Toshiba และ Sony Group อยู่ด้วย สำหรับกลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งการวิจัยและพัฒนาจากการคำนวณควอนตัม
คอมพิวเตอร์ควอนตัมเครื่องดังกล่าวจะถูกติดตั้งที่ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจคาวาซากิ (KBIC) ในจังหวัดคานากาวะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของโตเกียว โดยระบบมีกำหนดจะเปิดใช้งานภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
จากรายงานของ Nikkei Asia ระบุว่า IBM ตั้งเป้าที่จะทำงานร่วมกับบริษัทญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาการประมวลผลควอนตัม โดยหนึ่งในทิศทางที่จะใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ควอนตัมเครื่องนี้อยู่ในอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งหวังว่าจะสร้างวัสดุที่เป็นนวัตกรรมใหม่โดยใช้การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์
Mitsubishi Chemical หวังว่าจะสามารถพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียม-แอร์ (Lithium-air Battery) ซึ่งมีศักยภาพในการเก็บไฟฟ้ามากกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Lithium-ion Batteries) ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนและยานพาหนะไฟฟ้าในปัจจุบันหลายเท่าตัว
ขณะที่ Toyota เตรียมใช้สำหรับพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ ผ่านการประมวลข้อมูลที่นำมาจากการเดินทางด้วยรถยนต์ในปัจจุบัน โดยหวังว่าจะสามารถใช้เพื่อนำทางยานพาหนะไปตามเส้นทางเฉพาะเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด
ในสหรัฐอเมริกา การคำนวณควอนตัมเริ่มใช้แล้วในภาคการเงิน Goldman Sachs ได้ประเมินว่า จะนำอัลกอริทึมที่สามารถเร่งการประเมินความเสี่ยงและการคาดการณ์ราคาสำหรับเครื่องมือทางการเงินมาใช้ภายใน 5 ปี
อย่างไรก็ตามมีการคาดว่า ในขณะที่คอมพิวเตอร์ควอนตัมสามารถคำนวณได้ผลลัพธ์ในทันที แต่เมื่อเทียบกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดก็ต้องใช้เวลาหลายร้อยล้านปีจึงจะประมวลผลได้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งด้วยการคำนวณที่ไม่คาดฝันนี้จะเข้ามาช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับบริษัทญี่ปุ่นในด้านด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมต่างๆ
ภาพ: https://www.ibm.com/quantum-computing/
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง: