ทุกๆ ปีพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดจะทำการเลือกคำศัพท์แห่งปีเพื่อสะท้อนถึงความเคลื่อนไหว ความรู้สึกนึกคิด กระแสสังคม หรือภาพรวมเหตุการณ์โลกในแต่ละปี โดยในปี 2018 นี้ทางออกซ์ฟอร์ดก็ได้ประกาศคำศัพท์แห่งปีออกมาแล้วคือ Toxic ที่แปลเป็นไทยว่า เป็นพิษ
ออกซ์ฟอร์ดให้เหตุผลว่า Toxic เป็นคำที่ถูกพูดถึงมากที่สุด มีการค้นหาเพิ่มมากขึ้นถึง 45% ใน oxforddictionaries.com และมีผลกระทบเชิงวัฒนธรรมอย่างมีนัยสำคัญ โดยคำคุณศัพท์นี้แปลตรงตัวก็คือ เป็นพิษ อันตราย หรืออาจทำให้เสียชีวิต ส่วนความหมายในเชิงเปรียบเทียบนั้นมีได้หลายแบบ เช่น กัดกร่อน บ่อนเซาะ ทั้งในแง่ของการเมือง วัฒนธรรม หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ เพราะคำที่ Toxic มักจะจับคู่ด้วยคือ Masculinity (ความเป็นชาย), Culture (วัฒนธรรม) และ Air (อากาศ)
ออกซ์ฟอร์ดยังเขียนด้วยว่า Toxic เป็นคำที่ใช้อย่างแพร่หลายในข่าวดังระดับโลก เช่น การวางยาพิษสายลับรัสเซียในอังกฤษ มลพิษทางอากาศที่ย่ำแย่ในหลายพื้นที่ ไปจนถึงกระแส #Metoo ที่จุดติดมาจากการคุกคามทางเพศของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ซึ่งทำให้ ‘ความเป็นชาย’ กลายเป็นสิ่งที่อันตรายและน่ากลัวหากใช้มันผิดวิธีกับเพศตรงข้าม โดยมีคำเฉพาะว่า Toxic Masculinity
นอกจาก Toxic แล้วยังมีอีกหลายคำที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย เช่น Techlash หมายความว่ากระแสแง่ลบโต้กลับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่เริ่มมีอำนาจมากเกินไป เช่น Facebook, Google
Cakeism มาจากสำนวนว่า Having one’s cake and eating it too. (การจับปลาสองมือ) ซึ่งสะท้อนถึง Brexit ที่มีความยากลำบากและลักลั่นในการเจรจาออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดเคยยกให้ Youthquake เป็นคำศัพท์แห่งปี 2017 มีความหมายว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง หรือวัฒนธรรมที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นจากคนรุ่นใหม่ โดยสะท้อนจากการตื่นตัวของคนยุคมิลเลนเนียลที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงทั่วโลกในรอบปี และ Post-truth เป็นคำศัพท์แห่งปี 2016 หมายถึงสภาวะที่ความเป็นจริงไม่มีผลต่อความคิดเห็นของสาธารณชนมากเท่ากับความรู้สึกและความเชื่อส่วนบุคคล
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: