การระบาดของโรคโควิดตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องสรรหากลยุทธ์เพื่อดึง ‘เงิน’ ในกระเป๋าของลูกค้าออกมาให้ได้มากที่สุดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งสำหรับ Tops Supermarket ได้เลือกที่จะใช้กลยุทธ์ ‘ป้ายเหลืองล็อกราคา’
กลยุทธ์นี้ถูกหยิบมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 2563 ซึ่งวิจัยกรุงศรีประเมินธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่หดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ถึง 10-12% ด้วยกัน เทียบกับที่ขยายตัว 4.0% ในปีก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กางแผน ‘ท็อปส์’ ปี 2565 สยายปีกออกนอกเครือเซ็นทรัล ไปเปิดใน ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ หรือ ‘ปั๊มน้ำมัน’ มากขึ้น
- กางแผน 5 ปีของ ‘BJC-Big C’ เทงบลงทุน 6 หมื่นล้านบาท หวังปั้นยอดขายให้ทะลุ 2.7 แสนล้านบาท
สุจิตา เพ็งอุ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ Large Format บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ฉายภาพว่า กลยุทธ์ ‘ป้ายเหลืองล็อกราคา’ ในปี 2563 มีสินค้าที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 40 รายการ มีระยะเวลา 3 เดือน ส่วนปี 2564 เพิ่มเป็น 70 รายการ และเพิ่มระยะเวลาเป็น 6 เดือน
สำหรับปี 2565 ได้เพิ่มเป็น 190 รายการ โดยลด 6-66% แม้เมื่อเทียบกับสินค้าที่ Tops จำหน่ายกว่า 18,000-50,000 รายการแล้วแต่พื้นที่สาขา จะดูเป็นตัวเลขที่น้อยนิด แต่สุจิตาย้ำว่าสินค้าที่เข้าร่วมนั้นล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้บริโภค
“ป้ายเหลืองล็อกและลดราคา เราพบว่ามีสัดส่วนลูกค้าราว 20% ที่ซื้อสินค้ากลุ่มนี้ สำหรับในปีนี้เราคาดหวังให้เพิ่มเป็น 30% ส่วนหนึ่งมาจากการที่เราขยายเวลาโปรโมชันเป็น 1 ปี”
ขณะเดียวกันนอกจากกลยุทธ์ดังกล่าวแล้ว ยังมีการทำโปรโมชันอื่นๆ หมุนเวียนลดพิเศษทุกๆ 5 วัน โดยมีสินค้าแต่ละรอบไม่ต่ำกว่า 3,000 รายการ
สิ่งที่น่าจับตาคือ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ นั้นเน้นจับกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลาง-สูง ขณะที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่จับลูกค้ากลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลางลงมาก็เลือกใช้ ‘การลดราคา’ มาดึงลูกค้าเช่นเดียวกัน
อย่าง Lotus’s ของเครือ CP ก็ได้จัดแคมเปญราคามหาชน โดยลดราคาสินค้า 500 รายการ สูงสุด 50% นาน 7 สัปดาห์ ทั้งในร้านค้ากว่า 2,100 สาขาทั่วประเทศ และช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม – 20 เมษายน 2565
กระนั้นสุจิตาก็มองว่า “ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตไม่เหมือนไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งการล็อกราคาของ Tops นั้นได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะสำหรับลูกค้า ราคาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ”