×

กางแผน 5 ปีของ ‘BJC-Big C’ เทงบลงทุน 6 หมื่นล้านบาท หวังปั้นยอดขายให้ทะลุ 2.7 แสนล้านบาท

29.03.2022
  • LOADING...
กางแผน 5 ปีของ ‘BJC-Big C’ ธุรกิจค้าปลีกในเครือ ‘เจ้าสัวเจริญ’ เทงบลงทุน 6 หมื่นล้านบาท หวังปั้นยอดขายให้ทะลุ 2.7 แสนล้านบาท

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เป็นธุรกิจเก่าแก่ของไทยที่มีอายุกว่า 140 ปี ได้ประกาศแผนระยะกลาง 5 ปี โดยใช้งบลงทุนรวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท หวังปั้นยอดขายให้ทะลุ 2.7 แสนล้านบาท

 

ตั้งแต่ปี 2565-2569 BJC ใช้เงินเฉลี่ยปีละ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาทสำหรับการลงทุน โดยงบหลักกว่า 70% จะถูกใช้กับการขยาย Big C ซึ่งเป็นกลุ่มค้าปลีกที่ทำรายได้หลักให้กับเครือ จะมีทั้งการเปิดสาขาใหม่ในไทยและ CLMV ตลอดจนรีโนเวตสาขาเดิม อีก 20% จะเป็นการลงกับธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง และ 10% จะเป็นธุรกิจอื่นๆ 

 

เหตุผลที่ลงทุนกับ Big C เป็นจำนวนมากเพราะนี่คือรายได้หลัก ซึ่งปีที่ผ่านมากลุ่มสินค้าและบริการทางค้าปลีกสมัยใหม่ทำรายได้ 91,302 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 60% ที่สำคัญยังเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าในเครือ ซึ่ง BJC นั้นมีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยได้มีการวางเป้ารายได้เฮาส์แบรนด์ให้ถึง 5 หมื่นล้านบาทภายในปี 2569

 




ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 


ตามแผนการขยายร้านค้าภายในปี 2569 ประกอบด้วย ในไทย ขยาย บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต เพิ่มเป็น 160 สาขา จากปัจจุบัน 153 สาขา, บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 2,853 สาขา จากปัจจุบัน 1,352 สาขา, บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต และขายส่ง เพิ่มเป็น 84 สาขา จากปัจจุบัน 59 สาขา 

 

ในกัมพูชา ขยาย บิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ต เพิ่มเป็น 6 สาขา จากปัจจุบัน 1 สาขา, บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 276 สาขา จากปัจจุบัน 1 สาขา ใน สปป.ลาว ขยาย บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต 2 สาขา, บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 245 สาขา จากปัจจุบัน 57 สาขา ขณะที่ธุรกิจในเมียนมาก็ใกล้ที่จะเปิดตัวแล้ว 

 

“เราต้องการเติบโตเฉลี่ย 11-16% ต่อปี โดยคาดว่าในปี 2569 จะมีรายได้รวม 2.7 แสนล้านบาท” อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่ม BJC กล่าว “รายได้นี้ยังไม่รวมกับธุรกิจ MM ในเวียดนาม ซึ่งหากรวมจะทำให้รายได้ไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท”

 

ปี 2564 BJC มีรายได้รวม 150,139 ล้านบาท ลดลง 4.8% จากที่ทำได้ 157,708 ล้านบาทในปี 2563 และมีกำไรสุทธิ 4,286 ล้านบาท ลดลง 5.8% จากที่เคยทำได้ 4,552 ล้านบาท

 

BJC ซึ่งปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 146,284 ล้านบาท เป็นธุรกิจภายใต้อาณาจักรของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปี 2544 ก่อนที่ในปี 2559 จะทุ่มเงินกว่า 2 แสนล้านบาทเข้าซื้อ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ Big C เพื่อเข้ามาเสริมธุรกิจปลายน้ำ

 

สิ่งที่ต้องจับตาหลังการประกาศแผนธุรกิจในครั้งนี้จะทำให้ ‘สมรภูมิไฮเปอร์มาร์เก็ต’ ร้อนแรงมากขึ้นแค่ไหน เพราะข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่าในปี 2561 ตลาดนี้มีมูลค่า 284,900 ล้านบาท โดย Lotus’s (รีแบรนด์จาก Tesco Lotus หลังการเข้าซื้อจากเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ด้วยมูลค่า 338,445 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2563) มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 70.4% ขณะที่ Big C มีส่วนแบ่งอยู่ราว 28.3%

 

ยิ่งการที่ Lotus’s ถูกควบรวมมาอยู่ภายใต้ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้อาณาจักรค้าปลีกของเจ้าสัวธนินท์แข็งแรงมากขึ้นไปอีก เพราะเป็นการนำธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจค้าส่งมารวมอยู่ด้วยกัน

 

ตามบทวิเคราะห์ของ บล.โนมูระ ระบุถึงทิศทางของ MAKRO ในปี 2565 ที่วางแผนใช้งบลงทุน 2.88 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เน้นใช้ขยายสาขาเป็นหลัก โดยธุรกิจค้าส่งมีแผนเปิดสาขาในกัมพูชาและอินเดียเพิ่ม 2-3 แห่งต่อประเทศ จากปัจจุบันมีสาขาในต่างประเทศทั้งหมด 7 แห่ง ส่วน Lotus’s มีแผนเปิดสาขาขนาดใหญ่เพิ่ม 4 แห่งและ 250 ร้านขนาดเล็กจากสิ้นปี 2564 มี 222 สาขาขนาดใหญ่ และ 2,197 ร้านขนาดเล็ก

 

พร้อมประเมินว่า MAKRO จะมีกำไรในปีนี้อยู่ที่ 1.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 78% เฉพาะธุรกิจ Lotus’s คาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไร 5.3 พันล้านบาท จากที่ขาดทุน 500 ล้านบาทในปี 2564 

 

ด้าน BJC ตั้งเป้าขยายสาขาที่เน้นเปิดร้านค้าขนาดเล็ก (บิ๊กซี มินิ รวมกัมพูชา) 200-350 แห่ง จากสิ้นปีก่อนมี 1,353 แห่ง ส่วนสาขาใหญ่จะเปิด 2-3 แห่ง จากสิ้นปีก่อนมีทั้งหมด 154 แห่ง โดยแม่ทัพของ BJC ประเมินว่าปีนี้จะมีรายได้รวมอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising